อาจจะมีอะไรให้ส่องดูมากกว่ากะเทยตบกันข้ามชาติ กับเหตุการณ์ “วันกะเทยผ่านศึก” ที่เกิดขึ้นในช่วงดึกของวันที่ 4 มีนาคม 2567 จนถึงช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 5 มีนาคม 2567 

เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ซอย สุขุมวิท 11 เมื่อเหล่ากะเทยจำนวนนับพันคน มารวมตัวกันบริเวณหน้าอพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พักของกะเทยฟิลิปปินส์ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มกะเทยต่างชาติ เพื่อรอคำตอบจากการที่กะเทยต่างชาติเข้ารุมทำร้ายกะเทยไทยในคืนก่อนหน้า จนกลายเป็นคลิปไวรัลสุดอื้อฉาวตามโซเชี่ยลมีเดีย และกลุ่ม Community กะเทยไทย จนนำไปสู่คอมเมนต์เหยียดเชื้อชาติสูและเกิดความรุนแรงในที่สุด ล่าสุดคู่กรณีทั้งไทยและฟิลิปปินส์ กำลังเข้าสู่การดำเนินคดีตามกฎหมายที่ สน.ลุมพินี 

หากเราส่องดูความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นศึกระหว่างกะเทยสองประเทศบนสมรภูมิผืนแผ่นดินไทย จะพบว่าสิ่งที่กะเทยทั้งสองประเทศนั้นต้องวัดความแรงใส่กัน ชิงกันในความเป็นตัวแม่ของกะเทยอาเซียน ที่ต่างฝ่ายจะมาตุ๊บที่สุขุมวิท 11 ไม่ได้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ความหมิ่นเหม่ในเรื่องความผิดฐานค้าแรงงานผิดกฎหมายข้ามชาติ หรือการทำร้ายร่างกายกันเท่านั้น หากแต่เป็นการสะท้อนสภาวะล้มเหลวของสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของทั้งสองประเทศที่มีปัญหาสะสมมาอย่างยาวนาน จนทำให้กะเทยทั้งสองชาติ ต้องฉกฉวยเอาความเป็นมนุษย์คืนจากอีกฝ่ายอีกด้วย

เมื่อส่องดูไทม์ไลน์ความก้าวหน้าของเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของ LGBTIQ+ ของทั้งสองประเทศนั้น จะพบว่าไทยและฟิลิปปินส์ ตกอยู่ในสภาวะที่ไม่ต่างกันนัก คือเป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศในลักษณะ Tolerance หรือ ภาวะจำยอมอดทน กล่าวคือทั้งสองประเทศเมื่อเห็นกะเทยจะไม่ถึงกับเข้ารุมทำร้าย แต่ก็จะทำเป็นมองไม่เห็น หรือไม่ยอมรับการมีตัวตนอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นสภาวะที่พบเห็นได้ทั่วไปในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือทั่วทั้งเอเชีย ซึ่งจะต่างจากกลุ่มประเทศตะวันตก ที่เดินหน้าเข้าสู่สังคมที่ Acceptence หรือ ยอมรับได้อย่างเท่าเทียมแล้ว

นอกจากนั้นในด้านอัตลักษณ์ร่วมทางเพศ สังคมไทยและฟิลิปปินส์ ก็มีความคล้ายคลึงกันในลักษณะของสังคมที่แบ่ง Binary อย่างชัดเจน หรือสังคมที่มีขั้วทางเพศชายและหญิงที่เข้มข้น ซึ่งจะกำหนดอัตลักษณ์ภายนอกทางเพศเอาไว้ เช่น ฝ่ายชายต้องเป็นสุภาพบุรุษ เป็นผู้นำ ฝ่ายหญิงต้องสวยงาม โอดองค์ เมื่อมายาคติเหล่านี้ฝังรากในสังคมทั้งสองฝ่าย เมื่อถูกแปรสภาพมาอยู่ในสังคมของ LGBTIQ+ ความหลากหลายจึงออกมาในรูปแบบของกะเทยแต่งหญิงหรือสาวข้ามเพศ ที่กะเทยไทยและกะเทยฟิลิปปินส์จะมีความใกล้เคียงกันมาก ในการพยายามไปสู่ความเป็นหญิงสวย หรือพยายามสร้างสังคมกะเทยด้วยกันอย่างแข็งแรงขึ้นมา เพื่อปกป้องพื้นที่ที่มีจำกัดของตัวเองเอาไว้ และรวมไปถึงการไม่ยอมให้เกิดการรุกล้ำพื้นที่กะเทย หรือสร้างวัฒนธรรมกะเทยขึ้นมาให้ต้องสมาทานร่วมกัน

ซึ่งมายาคติ “ความกะเทย” ที่ทั้งสองประเทศต่างยึดถือร่วมกัน เมื่อสังคมกะเทยสองเชื้อชาติมีการรุกล้ำพื้นที่ของกันและกัน ก็เกิดการกระทบกระทั่งกันจนกลายเป็นความรุนแรง ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับความรุนแรงของทางฝั่ง “สถาบันชายแท้” หรือ “สงครามนางงาม – เมียน้อย” เพื่อปกป้องทรัพยากรของตัวเองอีกที

มายาคติทางสังคมเหล่านี้ เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศที่เกิดจากโครงสร้างหลักใหญ่ของประเทศต้นทาง ซึ่งทั้งไทยและฟิลิปปินส์ มีทั้งส่วนที่เหมือน และส่วนที่แตกต่างกันไป ของไทยนั้น เมื่อเข้าสู่ปี 2024 ก็ต้องยอมรับว่ามีความเปิดกว้างมากกว่าฟิลิปปินส์ในแง่ของกฎหมาย ซึ่งในไทยเมื่อช่วงปลายปี 2023 สภาก็เพิ่งมีการผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับไป ในวาระที่ 1 ซึ่งปัจจุบันกำลังปรับร่างเพื่อพร้อมเข้าพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป ในขณะที่ทางฟิลิปปินส์ ศาลฎีกาก็เพิ่งจะประกาศ ‘แบน’ กฎหมายแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันไปเมื่อปี 2020 นี้เอง ทำให้การขับเคลื่อนด้าน LGBTIQ+ ของฟิลิปปินส์ถอยหลังลงไปอีก

ในด้านของสังคม ของไทยและฟิลิปปินส์นั้นแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นสังคมที่เกี่ยวพันกับศาสนาที่กีดกัน LGBTIQ+ เหมือนกันทั้งสองประเทศ ทำให้การจะมีตัวตนอยู่ในสังคมนั้น จะเปิดกว้างแต่เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ซึ่งในฟิลิปปินส์ก็ยังมีพื้นที่ที่อันตรายต่อ LGBTIQ+ ไม่ต่างจากบางจังหวัดของประเทศไทยเช่นเดียวกัน รวมถึงบางศาสนาที่อ่อนไหวต่อการเปิดตัวของกลุ่มความหลากหลายทางเพศก็ยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม

แต่ในด้านสื่อและการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม ต้องยอมรับว่าประเทศไทยนั้นเปิดกว้างสำหรับกลุ่ม LGBTIQ+ มากกว่า ทั้งการเกิดขึ้นของซีรีส์วายที่หยิบยืมอัตลักษณ์ทางเพศในเชิงโรแมนติกมาเป็น Soft Power ของไทยก็ต้องเรียกว่า “ทำถึง” ได้มากกว่า รวมถึงการมีพื้นที่สื่อของสาว-หนุ่มข้ามเพศของไทยนั้นก็ปรากฎให้เห็นมาอย่างยาวนานมาก ซึ่งบทบาททางสื่อเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการเรียกร้องประเด็นทางเพศ จนสามารถต่อยอดมาถึงการจัดงาน Pride Month ของไทยในทุกเดือนมิถุนายนได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนสามารถวางเป้าหมายไปสู่การเป็น World Pride ในปี 2030 ที่ดูจะมีที่ทางที่หายใจสะดวกกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และจากการจัดงาน Pride Parade ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเมืองไทยสามารถเป็นพื้นที่ของ LGBTIQ+ ได้ เพราะคนจากหลายประเทศก็เข้ามาร่วมงานกันอย่างคึกคักไม่น้อยเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดดูดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ Benchmarking Gender Gaps, 2023 ที่จัดโดย WEF เพื่อวัด 4 มิติที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศ ได้แก่ โอกาสทางเศรษฐกิจ, การศึกษา, ความเป็นอยู่ที่ดี และการมีบทบาททางการเมือง พบว่าฟิลิปปินส์นั้นมีช่องว่างทางเพศต่ำกว่าไทย มีค่าความเสมอภาคทางเพศอยู่ในอันดับที่ 16 ในขณะที่ประเทศไทยนั้นอยู่อันดับที่ 74 ซึ่งก็นับว่าห่างกันพอสมควร แม้ว่าไทยจะเพิ่มขึ้นมา 5 อันดับจากปีก่อนแล้วก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่าในการกระจายความเสมอภาคระหว่างชาย-หญิง ของฟิลิปปินส์นั้นยังทำได้ดีกว่าไทย แต่สภาวะของ LGBTIQ+ นั้น ทั้งสองประเทศกลับไม่ต่างกัน

จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่กะเทยฟิลิปปินส์บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาค้าแรงงานที่ไทยจนเกิดเป็นเหตุพิพาทระหว่างกันนั่นเอง

AUTHOR

นักคิด นักเขียน นักสร้างคอนเทนต์ ตัวปัญหาของกระแส ชาวเกย์ผู้แปลกแยก และนักเล่าเรื่องในรูปแบบที่แตกต่าง หลงใหลวัฒนธรรม Pop ทั้งหนังสือ ภาพยนตร์ ซีรีส์และดนตรี และยังเป็นผู้กำกับอิสระ นักดนตรีและนักแต่งเพลง รวมถึงแอดมินเพจที่ประสบความสำเร็จในโซเชียลอีกด้วย เก่งซะไม่มี