ยาสลบถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1846 โดยนักเคมีชาวอังกฤษ วิลเลียม โธมัส มอร์ตัน (William Thomas Morton) แล้วคุณเคยจินตนาการกันหรือไม่ว่า ก่อนการมาถึงของยาชาหรือยาสลบ ผู้คนในอดีตเขาผ่าตัดหรือรักษากันอย่างไร หากไร้ซึ่งตัวยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายด้านชา ความจริงแล้วก็มีมากมายหลายวิธี ส่วนใหญ่ก็เป็นวิธีที่อันตรายและไม่มีประสิทธิภาพ แต่หนึ่งในการชะลอความเจ็บปวดระหว่างผ่าตัดที่เคยได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือการไม่ใช้ยาอะไรเลย แต่ใช้ ‘ความเร็ว’ ในการผ่าตัดแทน
โรเบิร์ต ลิสตัน (Robert Liston) เป็นศัลยแพทย์ที่ได้รับการขนานนามว่าผ่าตัดได้รวดเร็วที่สุด โดยเขาเชื่อว่ายิ่งผ่าตัดได้ไวเท่าไหร่ ยิ่งลดความเจ็บปวดระหว่างผ่าตัดของผู้ป่วยได้เท่านั้น ซึ่งชื่อเสียงของเขาก็แพร่กระจายออกไปจนทำให้ใครหลายคนสนใจที่จะมารักษากับเขา ด้วยบุคลิกที่มีเมตตาต่อคนไข้ที่ยากไร้ มีวาทะศิลป์อันเป็นเลิศ ประกอบกับการกล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยงบนเตียงผ่าตัด จึงไม่แปลกที่ใครหลายคนเลือกรักษากับเขา ถึงแม้วิทยาการทางการแพทย์ในสมัยนั้นจะยังไม่มีประสิทธิภาพก็ตาม
โรเบิร์ตมีชื่อเสียงมาจากการผ่าตัดแขนและขาที่ใช้เวลาเพียงสองนาทีครึ่ง ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับศัลยแพทย์ในวงการ แต่ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นคือ การผ่าตัดอันรวดเร็วของเขาสร้างอัตราการเสียชีวิตของคนไข้ถึง 300% เนื่องจากต่อให้ผ่าตัดได้ไวขนาดไหน แต่ก็ไม่สามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือความผิดพลาดที่เกิดจากการผ่าตัดได้ ทำให้มีศัลยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาตำหนิถึงการรักษาของโรเบิร์ตอยู่บ่อยครั้ง แต่ถึงกระนั้นเขาก็มักจะโต้แย้งและโต้เถียงอยู่เสมอ
คุณอาจสงสัยว่าทำไมอัตราการเสียชีวิตจากนายแพทย์โรเบิร์ตคนนี้ถึงพุ่งทะลุ 300% นั่นอาจเป็นเพราะว่าในการผ่าตัดของเขาไม่ได้มีแค่ผู้ป่วยที่ถูกลงมีดเสียชีวิต แต่เป็นผู้คนโดยรอบของเขาด้วยที่ต้องพบกับความตายขณะผ่าตัด ด้วยความที่ชื่อเสียงด้านการรักษาที่รวดเร็วจนน่าประหลาดใจ ทำให้หลายครั้งการผ่าตัดของเขาคล้ายกับการแสดงโชว์รูปแบบหนึ่ง ผู้คนบางกลุ่มจึงเดินทางมาดูการผ่าตัดของเขาอย่างใกล้ชิด และตอนนั้นเองที่ใบมีดอันรวดเร็วของเขาเผลอไปกรีดชายเสื้อผู้ชมท่านหนึ่งเข้า ทำให้เขาตกใจจนหัวใจวายเสียชีวิต
นอกจากนี้เขายังเคยเผลอตัดนิ้วของผู้ช่วยคนหนึ่งโดยบังเอิญ ขณะทำการตัดขาของคนไข้บนเตียงผ่าตัด ซึ่งอุบัติเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความเร็วในการผ่าตัดของเขา แต่ถึงอย่างนั้นเขายังคงมีชื่อเสียงในฐานะศัลยแพทย์เลื่องชื่อ กระทั่งเขาเสียชีวิตในวัย 53 ปี จากโรคหลอดเลือดโป่งพอง ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1847 หรือเพียง 1 ปี หลังจากมีการค้นพบยาสลบเพื่อใช้ในทางการแพทย์ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากโรเบิร์ตมีโอกาสได้ใช้ยาสลบร่วมกับการผ่าตัด เขาอาจกลายเป็นศัลยแพทย์ที่เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้คนมากกว่าสูญเสียก็ได้
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าวิทยาการทางการแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่ดีเท่าทุกวันนี้ ต่อให้ใช้ยาสลบก็มีโอกาสเสี่ยงต่อชีวิตเหมือนกัน ด้วยเจตนาความเป็นแพทย์ผู้อยากช่วยชีวิตคน เขาก็พยายามหาวิถีทางต่าง ๆ ในการชะลอความเจ็บปวดให้กับคนไข้ ไม่ต่างจากแพทย์คนอื่น ๆ ประวัติศาสตร์จึงเปรียบเสมือนเครื่องบันทึกที่ย้ำเตือนว่า กว่าการแพทย์เราจะดีเหมือนทุกวันนี้ ก็เคยมีความผิดพลาดและสูญเสียมากมายมาก่อน
ที่มา