เชื่อเหลือเกินว่ามนุษย์ชาวไทยทุกคนจะต้องเคยดู ‘ละครไทย’ บ้างอย่างน้อยก็หนึ่งเรื่อง หรืออย่างน้อยที่สุดไปอีกหนึ่งซีน อาจเคยดูผ่านทีวีหรือผ่านการไถเจอคลิปใน TikTok ที่คนตัดซีนฮา ๆ ของละครไทย ที่อาจจะไม่ได้ฮาด้วยเนื้อหา แต่ฮาด้วยบริบทบางอย่างมาบ้าง ทั้งความเกินจริงในบางแง่ รูปแบบภาษาที่แสนประดิษฐ์ และอากัปกิริยาที่สุดประหลาด ทั้งหมดหลอมรวมให้ภาพลักษณ์ของสื่อบันเทิงที่นำเสนอด้วยการแสดงในไทยยุคก่อนหน้ากลายเป็นการโชว์ความไม่จริงขึ้นไปเรื่อย ๆ

ในทางกลับกัน ด้วยยุคสมัยที่แปรผันไป ทำให้ละครไทยหรือซีรีส์ไทยยุคนี้เต็มไปด้วยรูปแบบที่ตอบสนองการแสวงหาความจริง ไม่ก็เรื่องแต่งที่มีลีลาที่ฉูดฉาดไปเลย ทั้งในแง่เนื้อหา ไอเดีย ฐานคิดในการทำงาน หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อนำมาซึ่งชื่อเสียง กระแสความนิยม และการให้ความสนใจแบบต่อเนื่อง หรือเรียกให้ง่ายกว่านั้นว่ากลายเป็น ‘ไวรัล’

ตัวอย่างที่ดีของกรณีเหล่านี้คือละครเรือธงในระดับหัวเมืองของช่อง ‘one31’ ที่หากพูดถึงชื่อละครเหล่านี้ทีไร ภาพของการเป็นไวรัลในแต่ละช่วงของกระแสสังคมก็ผุดขึ้นมาให้เห็นเด่นชัด ทั้ง ‘พิษสวาท’ (2559), ‘ล่า’ (2560), ‘เมีย 2018’ (2561), ‘เมืองมายา Live’ (2561), ‘วันทอง’ (2564), ‘ใต้หล้า’ (2565) จนมาถึงซีรีส์ ‘บางกอกคณิกา’ (2567) และละคร ‘สงครามสมรส’ (2567) ที่เพิ่งออนแอร์จบไปไม่นาน

ทั้งหมดคือผลงานของ ‘สันต์ ศรีแก้วหล่อ’ ผู้กำกับมากฝีมือที่เป็นแนวหน้าของผู้สร้างหน้าตาบทประพันธ์บนแผ่นกระดาษให้กลายเป็นความจริงบนหน้าจอ ซึ่งกว่าที่เขาจะมายืนบนจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย

เราจะพาคุณย้อนไปยังแต่ละซีนในช่วงชีวิตของเขา ตั้งแต่การอยู่ในวงการละครเวที กระโดดมาวงการภาพยนตร์ และกระโจนเข้าสู่โลกของวงการละครไทยผ่านผลงานต่าง ๆ กว่า 23 ปี เพื่อทบทวนว่ามีสิ่งไหนที่สร้างให้เป็น ‘สันต์’ ในทุกวันนี้บ้าง

คนอ่านพร้อมมั้ย

คนสัมภาษณ์พร้อมนะ กดอัดเสียงไว้หรือยัง ซาวด์

โอเค ทุกฝ่ายพร้อม

เทปเดิน กล้องสปีด แอนด์ แอคชัน!

สันต์ ศรีแก้วหล่อ, ผู้กำกับละคร, ช่อง one31, SUM UP

ก่อนเข้ามาทำงานผู้กำกับ เรียนทางด้านไหนมาบ้าง

จริง ๆ ไม่ได้เรียนทางนี้เลย ตอนมัธยมฯ เรียนที่เทพศิรินทร์ แล้วก็ตอนที่เรียนมีรุ่นพี่ชวนทําละครโรงเรียน จนมาถึงช่วงหนึ่งก็มาก่อตั้งเป็นชมรมการแสดงในโรงเรียนเทพศิรินทร์ ในบรรดาคนทํากิจกรรมนักเรียนจะมีหลายแนว บางคนทําแนวอนุรักษ์ บางคนเน้นเป็นกรรมการ เราทําแนวละคร

สมมติโรงเรียนจะจัดงานอะไรขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง มันต้องมีฝ่ายทําละคร เลยได้ลองทำ ได้ศึกษาไปเรื่อย ๆ จนเจอกับรุ่นพี่ที่พาไปเล่นละคร Thesis ตามมหาวิทยาลัย บางทีเราก็ไปร่วม Workshop กับเขา มันได้ความรู้มาแบบไม่รู้ตัว พอมาก ๆ เข้าเลยเริ่มไป Audition งานละครเวที แล้วก็เราก็จะได้ไปเจอกับอาจารย์ที่เขาสอนทางด้านนี้ มันสะสมมาเรื่อย ๆ

พอเข้าช่วงมหาวิทยาลัยก็ไปเรียนบริหารที่รามคำแหง เราก็มาตั้งกลุ่มละครของเราเอง ยุคนั้นมันมีกลุ่มมะขามป้อม กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวอะไรพวกนี้ เราก็ตั้งกลุ่มเหมือนกับเขาแล้วตั้งชื่อว่า ‘กลุ่มม้าก้านกล้วย’ แล้วก็ทําละครเร่ไปตามโรงเรียน ตามบ้านเด็กกําพร้า มีช่วงหนึ่งไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกันทั้งก๊วนเพื่อทำละคร มันก็เลยผูกพันกับการแสดงพอสมควร

มีช่วงหนึ่งอยากเป็นคนทำหนังด้วย

สมัยเด็ก ๆ ประมาณ ม.6 ปี 1 ที่ทำละครเวทีมณเฑียร คณะละคร 28 อะไรแบบนี้ ตั้งหลักเอาไว้ว่าอยากเป็นผู้กํากับละคร แต่ว่าในองค์ความรู้เรามีแค่ละครเวทีที่รู้จัก เลยคิดว่าอยากเป็นผู้กํากับละครเวที

ช่วงนั้นละครเวทีจะมีเป็นแบบ 3-4 ปีมีครั้ง เราได้ไปทำละครเวทีเรื่อง ‘แรด’ ที่ศาลาเฉลิมกรุง งานนั้นพี่หง่าว (ยุทธนา มุกดาสนิท) ไปเล่นด้วย เลยได้เจอกัน แกเลยชวนไปทําหนัง ‘คู่กรรม’ (2538) ที่พี่เบิร์ด-ธงไชย กับ อุ๋ม-อาภาศิริ เล่น ให้ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ พอได้ไปทำก็ไปเจอพี่ป้อน (นิพนธ์ ผิวเณร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตละคร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)) เพราะพี่ป้อนเป็นผู้กํากับร่วมกับพี่หง่าวในเรื่องนั้นครับ หลังจากรู้จักกัน เราก็ทําหนังมาอีกสัก 7-8 ปี เป็นผู้ช่วยผู้กํากับบ้าง เป็นไลน์โปรดิวเซอร์บ้าง ของแกรมมี่ฟิล์ม แล้วก็มีออกไปทําของไท เอนเตอร์เทนเมนต์บ้างนิดหน่อย งานในการทำหนังมาทำให้เราได้เจออีกโลกหนึ่งเลย

เราเป็นคนดูหนังเยอะมาก เอาเข้าจริงดูละครโทรทัศน์น้อยกว่าในสมัยนั้น ตามประสาวัยรุ่น มันก็นัดไปดูหนังกัน ดูเรื่องนี้-มาคุยกัน ดูเรื่องนั้น-มาคุยกัน เลยกลายเป็นคนชอบดูหนังไป พอได้ไปอยู่ในกองหนัง มันเลยเกิดความฮึกเหิมที่อยากจะเป็น อยากจะทําขึ้นมา

หากนึกเร็ว ๆ มีหนังเรื่องไหนที่ชอบที่สุด

อาจจะเป็น ‘Dead Poets Society’ (2532) เราชอบประเด็นที่บอกให้ออกมาจากห้องเรียน ออกไปเรียนรู้โลกข้างนอกที่มันไม่ได้มีแค่ในห้องสี่เหลี่ยมนั้น มันทำให้เรารู้สึกขบถกับขนบบางอย่างได้เลย

แล้วมาเริ่มต้นการเป็นผู้กำกับละครได้ยังไง

มีคนชวนมาทําละครหลังจากทำงานกองถ่ายภาพยนตร์ได้สักพัก ตอนแรกมาทําสาย Producer นี่แหละ ของ ITV เรื่องแรกคือ ‘ทะเล จําปี ดนตรี ทราย’ (2544) ตอนนั้นมีบี๋-ธีระพงษ์เล่น แล้วหลังจากนั้นเขากําลังจะเปิดโปรเจกต์หนึ่ง ผู้จัดเลยเราชวนให้มากํากับร่วม เลยได้มาลองเป็นผู้กำกับละครเรื่อง ‘หน้าต่างบานแรก’ (2544) เป็นเรื่องแรก (กำกับร่วมกับ ‘ตั้ม-อิทธิพัทธ์ รัตนภาณุ’ – ผู้เขียน)

ระหว่างทําได้สักครึ่งเรื่อง พี่ป้อนก็โทรมาชวนให้ทําของ Exact คือเรื่อง ‘ฟ้าเพียงดิน’ (2544) ที่ได้กำกับซ้อนกันประมาณ 2 เดือน หรือ 3 เดือนสุดท้ายของโปรเจกต์หน้าต่างบานแรก

หลังจากมาทำวงการละครจริงจัง ได้กลับไปทำวงการหนังอีกหรือเปล่า

ช่วง 4-5 ปีแรกที่มาเป็นผู้กํากับละคร มีวกกลับไปทําหนังบ้าง 2-3 เรื่อง ไปช่วยพี่ปุ๊ก-พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ทําเรื่อง ‘ไอ้ฟัก’ (2547) ไปช่วยพี่คิง-สมจริง ศรีสุภาพ ทํา ‘แม่เบี้ย’ (2544) แล้วก็ ‘ซาไกยูไนเต็ด’ (2547) เรียกว่าสลับขากันเลย เพราะช่วงแรกเราก็จะรู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นคนทําหนังอะไรแบบนี้ กลัวว่ามาทําละครมากเข้าจะลืม ถ้ามันจัดสรรเวลาได้ เลยพยายามอยากไปอยู่ในกองหนังด้วย

ตอนนี้ยังมีความรู้สึกกลัวการลืมบรรยากาศนั้นอยู่บ้างมั้ย

อาจจะไม่ค่อยได้คิดทํานองนั้นแล้ว จริง ๆ เรากํากับละครมาราว ๆ 22-23 ปี พอไปถึงจุดหนึ่งสัก 10 ปี รู้สึกว่ารสนิยมเราน่าจะไม่ตรงกับหนังในการมองหรือการดูล่ะ สมมติหากเราไปถ่ายทำอะไรสักอย่าง การที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสําหรับหนัง หรือสิ่งที่ดีที่สุดสําหรับละครมันต่างกัน สำหรับหนังเล่าแค่นี้ก็พอ เพราะคนดู-ดูอีกแบบหนึ่ง แต่สําหรับละครเล่าแค่นี้เกิดคําถาม เพราะคนดูบางทีไม่ได้ตั้งใจดู หรือบางทีมันต้องการการขยายความมากกว่านั้น

สันต์ ศรีแก้วหล่อ, ผู้กำกับละคร, ช่อง one31, SUM UP

วงการละครไทยในยุคนั้้นเป็นยังไงบ้างในสายตาเรา

ใช้คําว่าเป็นละคร Melodrama แบบเต็ม ๆ หรือจะใช้คําว่าละครน้ําเน่าก็ได้นะ แล้วแต่คนจะเรียก แต่มันอยู่ในหมวดหมู่นั้น หมวดหมู่ละครประโลมโลก ไม่ได้หมายความว่าไม่มีประเด็นหรือไม่สื่อสาร แต่ว่าทิศทางของละครและรสนิยมของคนดูเป็นแบบนั้น เน้นสื่ออารมณ์ เน้นพล็อตที่มันเป็นชีวิต เป็นเรื่องดรามา เป็นโซนแถว ๆ นี้ที่จะทํา แล้วเราก็จะสังเกตเห็นว่าหากย้อนเวลากลับไป มันจะเป็นละครที่ประสบความสําเร็จอยู่เสมอ ๆ

เล่าความแตกต่างของการทำงานละครเวที กองถ่ายภาพยนตร์ และกองถ่ายละครให้เราฟังหน่อย

ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยทําละครเวทีอาจจะบู๊หน่อย มันมีความขรุขระ ลําบากลําบน ไม่สบายเหมือนสมัยนี้ มันเป็นการลุยไปด้วยความอยากอย่างเดียวเลย ทุกคนจะต้องรวมกลุ่มอยู่กินด้วยกัน เป็นพี่เป็นน้อง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คิดว่าเป็นการทำงานที่สนุกเอาการ

พอมาอยู่ในระบบการทำหนังหรือระบบการทำละคร มันมีความเป็นธุรกิจ เป็นอุตสาหกรรมอยู่พอสมควร การทํางานหรือการพูดคุยกันบางทีมันไม่ได้อยู่ในประเด็นของหนังหรือละครสักอย่างเดียว มันมีหลายอย่างให้ต้องคิดด้วย แต่ตอนทําละครเวทีเมื่อสมัยนู้น มันไม่ได้คิดสิ่งนี้เลย เราคิดแค่ความอยากทํา อยากบอกอะไร ก็แค่ทําสิ่งนั้น

อยากลองทําละครเวทีที่รัชดาลัยสักครั้งมั้ย 

ไม่ คิดว่าคงทําไม่ได้

ทําไมถึงมองแบบนั้น

เราน่าจะไม่เข้าใจการทำงานแล้ว ถ้าให้ไปนั่งดูละครเวทีรัชดาลัยมันก็ว้าว เฮ้ย คิดได้ไงวะ ซึ่งเราไม่มีต่อมในการคิดสิ่งเหล่านั้นเหลืออยู่แล้ว สิ่งที่เหมือนกันอย่างเดียวคือแค่การแสดง แต่ถ้าเจาะเข้าไปจริง ๆ การแสดงก็ต่างกัน

เสียดายมั้ยที่ต่อมละครเวทีมันหายไปจากเรา

ไม่ถึงกับเสียดายนะ แต่รู้สึกว่าเราภูมิใจที่อย่างน้อยมันคือพื้นฐานที่ทําให้เรามีทุกวันนี้ ในมุมหนึ่งเรารู้สึกว่าการที่งานของตัวเองมาถึงทุกวันนี้ได้ อาจเพราะเราได้เปรียบผู้กํากับคนอื่น ๆ หน่อยจากพื้นฐานการแสดงละครเวทีที่ค่อนข้างแข็งแรงอยู่แล้ว มันทั้งเล่นด้วย ทั้งทำด้วย

ในเรื่องความสวยงามด้านภาพเราอาจจะอ่อนกว่าผู้กํากับละครคนอื่น แต่พอเราอยู่กับการแสดงละครเวที มันเลยทําให้เราจับตัวละครแม่น จับประเด็นตรง แล้วก็พาตัวละครไปสู่จุดหมายของละครเรื่องนั้นได้ชัดเจนโดยไม่ออกทะเลไปไหน

เล่าการทำละครกับ Exact เรื่องแรกอย่าง ‘ฟ้าเพียงดิน’ หน่อย

ยุคนั้น Exact เขาเป็นแนวใหม่ของละครใน พ.ศ.นั้น มันแหลมออกมาจากช่องอื่นที่เขาเป็น มันทําลายขนบบางอย่างไป แต่ตอนนั้นเรายังใหม่มาก ยังไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร พอเขาให้เราไปทำ เราก็ทําตาม Sense ตามความสนุกที่เราอยากทํา

จําได้ว่าตอนทําฟ้าเพียงดิน มี Reference ในใจอยู่สองเรื่อง คือ ‘บ้านทรายทอง’ กับ ‘Gone with the Wind’ เพราะฟ้าแผ่นดินเป็นเรื่องของเด็กสาวในตระกูลของนายพล แล้วต้องถูกจับไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะว่ามีพี่น้องแกล้งกัน แล้ววันหนึ่งก็ต้องกลับมาหาตระกูลเพื่อทวงสิทธิ์ของตัวเอง มันเป็นการผจญภัยของเด็กสาวคนนี้ ความรู้สึกมันมีความ ‘พจมาน’ อยู่ ส่วน Gone with the Wind เราดูแล้วชอบภาพ ชอบบรรยากาศของมันเลยหยิบมาผสมกัน

เราไม่รู้หรอกว่ามันแตกต่างหรือเหมือนกันกับชาวบ้านชาวช่องเขามั้ย แต่ทําเสร็จปุ๊บ จําได้ว่ามันมีคอมเมนต์จากพี่ ๆ บอกว่ามันเป็นส่วนผสมที่ดีระหว่างความ Melodrama จัด ๆ กับความใหม่ของยุคนั้น มันไม่ไปทางใดทางหนึ่งทีเดียว เลยทําให้เป็นละครที่มีเรตติ้งและประสบความสําเร็จอยู่พอสมควร

มีเรื่องไหนของค่าย Exact ที่ได้กำกับแล้วรู้สึกชอบบ้างในยุคฟรีทีวี

น่าจะ ‘เลือดขัตติยา’ (2546) มั้ง เป็นเรื่องที่ 3 ถัดจากเรื่องแรกคือฟ้าเพียงดิน (2544) เรื่องสองคือเสือ (2546) เรื่องใหม่นี้เป็นละครที่แบบ โอ้โห ลําบากลําบน เพราะเป็นเมืองสมมติ ทุกอย่างต้องสร้างขึ้นหมด ทั้งคอสตูม เสื้อผ้า หน้าผม บ้านเรือน มันใช้พลังงานมหาศาลมาก

จําได้ว่ามีถ่ายฉากแบบเกาะกลางน้ําที่เขื่อนศรีนครินทร์ ด้วยความบ้าของวัยรุ่นก็ไปถ่ายบนเกาะจริง แล้วก็จําได้วันที่ไปบล็อกช็อตเราขึ้นมาอยู่บนเกาะแล้ว เรามองไปยังเท้งบรรทุกรถที่แล่นมาหาเรา ในนั้นประกอบด้วยรถขนไฟ รถขนกล้อง รถขนคอสตูม รถทุกคันในโปรดักชันอยู่ในนั้นหมดเลย เราว่ามี 50 – 60 ล้านบาท

เรายืนดูอยู่บนเกาะแล้วในใจก็ เชี่ย กูทําไรอยู่วะ แล้วช่วงนั้นเจอพายุด้วยตอนที่ไปถ่าย เท้งเข้าฝั่งไม่ได้อะไรต่าง ๆ นานา มันหลายอย่าง เราก็ลุยไป พอมันผ่านมาได้ มองย้อนกลับมันก็กลายเป็นมาสเตอร์พีซชิ้นหนึ่งของเรา

มีละครเรื่องหนึ่งที่อยากชวนคุย คือ ‘ชิงชัง’ (2552) เรื่องนี้ยากไหมในการทำงาน

ยากอยู่ เพราะมันยาวและตัวละครสําคัญมันเยอะ อย่างเรื่องอื่นตัวละครสําคัญมีแค่ 2-3 ตัว พระเอก นางเอก หรือตัวร้ายนิดหน่อยวนกันอยู่เท่านี้ แต่ชิงชังมันเป็นเรื่องที่ตัวละครหลัก ๆ คือผู้หญิง 4 คน ที่เป็นพี่น้องกัน จะตีแย่งผู้ชายอะไรว่าไป มันเลยลามไปถึงการมีผู้ชายอีก 4 คน พอตีกันเสร็จ มันก็แยกเส้นเรื่องตัวเองกันไปเลย แล้ววันหนึ่งมันก็กลับมาเจอกันอีก

โอ้โห มันเหมือนทําหนัง Epic แบบใหญ่ ๆ โต ๆ เรื่องหนึ่งเลย มันยากที่จะประคองให้มันสนุกสนานและเข้าใจไปได้ทั้งเรื่อง แต่โชคดีที่เรื่องนั้นนักแสดงดี ทั้งฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย และตัวละครพ่อแม่ที่ดูแลเด็กผู้หญิงเหล่านี้ ผู้คนที่แวดล้อมเส้นเรื่องมันดีมาก ทำให้เรื่องนั้นน่าะเป็นละครเรตติ้งดดีของช่อง 5 ในปีนั้นเลย

จุดแข็งของภาพลักษณ์ละครช่อง 5 ในยุคที่มีงานของ Exact เป็นแกนคืออะไร

มันเป็นการศึกษาร่วมกันของทุกคนนะ เพราะผู้กํากับในช่องสมัยนั้นมีการประชุม Brainstorm กัน ช่วยกันวิเคราะห์-วิจารณ์ว่า เอ๊ะ ละครแบบไหนมันถึงจะดี จะได้เรตติ้ง จะสนุก เพราะฉะนั้นผมมองว่าจุดแข็ง ณ ช่วงเวลานั้นน่าจะมาเพราะการทํางานกันเป็นทีม

คืออย่างแต่ก่อนผู้กํากับมักจะแยกไปทํา พอได้งานมาผู้กํากับก็นั่งดูด้วยกัน แล้วก็คุยว่าอันนี้ดีนะ ไม่ดีนะ เพราะอะไร จะแก้ไขหรือช่วยกันยังไง เฮ้ย อันนี้บางคนไม่ถนัดหรอก ต้องส่งเสริมกันยังไงวะ มันคือการแลกเปลี่ยนกัน

ในยุคที่เป็นช่องวัน 31 รสชาติเดิมของละครสมัย Exact มันเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

โดยหลักการมันก็ยังทําตามความรู้สึกเดิม เพียงแต่ผมว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปมันเป็นเพราะตลาดของคนดูมากกว่า รสนิยมของเขาเปลี่ยนไป ต้องยอมรับว่าแต่ก่อนความบันเทิงในบ้านมันมีเท่านั้น ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ถ้าไม่ดูละครไทย ก็ดูหนังจีนกําลังภายใน หรือหนังฝรั่ง ไม่ก็เช่าวีดีโอมาก็มี

แต่ปัจจุบันทางเลือกมันเยอะกว่านั้นมาก ขณะเดียวกันมันก็ได้เห็นเนื้อหาในแบบต่าง ๆ ที่ทำให้มันไม่ได้มีอะไรว้าวอีกต่อไปแล้ว คือคนดูรู้มากขึ้น แบบนี้ฉันเคยดูแล้ว ไม่ดูหรอก จะดูทําไม สมัยนี้เลยต้องตีลังกาคิดพล็อตกันแล้ว มันต้องเป็นพล็อตอะไรที่มันพิสดารขึ้นถึงจะได้รสชาติใหม่ ๆ

แบบนั้นจุดแข็งของละครในยุคช่องวัน 31 มันต่างจากเดิมมั้ย

ณ ปัจจุบัน จุดแข็งที่สุดน่าจะเป็นความยืดหยุ่นของของนโยบายการผลิตมากกว่า ในความรู้สึกเรานะ เพราะว่าเราไม่ไปยึดติดกับความสําเร็จในอดีต ว่าถ้าทําแบบนี้ได้ แล้วเราก็จะทําแบบนี้อีก พอมันยึดติดไม่ได้ ทั้งผู้บริหารและคนทําก็ต้องยืดหยุ่นที่จะเจอกับอะไรใหม่ ๆ สมมติเราเห็นว่าแบบนี้เป็นแฟชั่นที่กําลังมาแล้วกระโดดเข้าไปทํา อีกเกือบ 1 ปีนะมันถึงจะได้ออนแอร์ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องคิดล่วงหน้าไปด้วย

ความยืดหยุ่นเหล่านี้มันทําให้ได้ทดลอง แล้วก็ได้ความหลากหลายที่เกิดขึ้นในงาน มันไม่ได้ประสบความสําเร็จทุกเรื่องหรอก แต่มันก็ได้ลอง แล้วก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าทําแนวนี้ต้องระวังนะ จะแก้ไขมันด้วยอะไร ซึ่งท้ายที่สุดจุดแข็งแรกของการพูดคุยช่วยเหลือกันเป็นก็ยังอยู่นะ หลายหัวดีกว่าหัวเดียวอยู่แล้ว

ได้ลองดูเนื้อหาอะไรเพิ่มเติมมั้ย ที่จะทำให้เราเป็นผู้กํากับที่ยังเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

ดู แต่ดูไม่ทั้งหมด ดูเรื่องที่เราชอบเท่านั้น สมมติดูซีรีย์สตรีมมิ่งนะ คือไม่ใช่นักดู ไม่ใช่สายดู คือเป็นคนเป็นโรคจิต ดูสั้น ๆ ดูแล้วค้างไว้ไม่ได้ ต้องจบ ดูจนรู้เรื่อง

กลายเป็นว่าสมมติดูไปสองตอนแล้วไม่ชอบบางทีก็ไม่ทิ้งนะ ก็ดูต่อ ไหนดูสิมันจะเล่าอะไร มันรู้สึกค้างคาใจ หรือสมมติถ้าจะดูเพื่อวิจารณ์ ดูไม่หมดจะรู้ได้ไง ฉะนั้นในการดูแต่ละครั้งมันใช้เวลาพอสมควร ก็เลยจะเลือกดูเฉพาะที่ตัวเองชอบจริง ๆ แต่ก็ไม่อยากดูมากไป เพราะว่าบางทีมันมีภาพติดมาในหัว แล้วพอไปทํางานมันจะเอาออกมาเองโดยอาจจะไม่ได้ตั้งใจ เลยเน้นดูเอาเรื่องมากกว่า

เอาง่าย ๆ ‘เมีย 2018’ (2561) ถูกวางเป็นละครคั่นเวลา จําได้เลยถ่ายไปสัก 2 เดือน แล้วเพิ่งรู้ว่าต้องออนแอร์ เพราะไม่มีอะไรออนแอร์ ไม่ได้แบบอยู่ในไลน์อัพรอวันออนเลย แล้วบังเอิญว่าเสียงตอบรับมันได้ ใครจะไปรู้ล่ะ ทุกเรื่องคิดเหมือนกัน ตั้งใจเหมือนกันทุกฝ่ายนั่นแหละ

สันต์ ศรีแก้วหล่อ, ผู้กำกับละคร, ช่อง one31, SUM UP

มีเรื่องหนึ่งเราคาดว่าต้องทำงานยากแน่ ๆ คือ ‘เมืองมายา Live’ (2561) ที่ 15 นาทีสุดท้ายของละครจะเป็นการแสดงสด เล่าการทำงานนี้ให้เราฟังหน่อย

ตอนนั้นอยากทํามาก พอเห็นโปรเจกต์ว่าเขาอยากทําไลฟ์ แพชชันมาเต็ม เพราะเราก็ทําละครมาพอสมควร ถึงจุดหนึ่งมันก็ต้องหาความท้าทายอื่น ๆ ให้กับตัวเองบ้าง แล้วพอบริษัทคิดอยากจะทําอะไรแบบนี้ มันก็คือเป็นการทดลองอะไรใหม่ ๆ บ้าง มีการให้คนดูเลือกว่าอยากจบด้วยแบบ A หรือแบบ B

พอได้ทํา มันก็สนุกจริง ๆ แต่ว่าเขาคงไม่ทําแล้ว คือการลงทุนอาจจะไม่คุ้ม จำได้แม่นเลยว่าวันสุดท้ายที่ถ่ายหน้าตึกแกรมมี่ ผู้บริหารและคนอื่น ๆ ลงมาดูกันทั้งตึก คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมก็ลงมา ทุกคนอยากรู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง มันก็บันเทิงดีนะ แต่พอมันทําเป็น Live ก็มีข้อจํากัดอยู่ อย่างฉากยิงกัน ฟันกัน อาจจะไม่ได้หรูหราครบความเหมือนเวลาทำละครอัดเทป

อย่างเรื่อง ‘ล่า’ (2560) ที่มีความหนักของเนื้อเรื่อง ทำงานยากมั้ย

จริง ๆ เราก็มีภาพจําของล่าอยู่พอสมควร สมัยที่ทราย-อินทิรา เจริญปุระ เล่นเป็นเด็ก แล้วพี่นก-สินจัย เปล่งพานิช เล่นเป็นแม่ เราก็เล่นด้วยนะในเวอร์ชันเก่า ตอนนั้นเป็นลิเกบ้า แต่ว่าในเวอร์ชันใหม่ไม่มี

ตอนนั้นเป็นนักศึกษา ก็มีรุ่นพี่เป็นผู้ช่วยผู้กํากับเขาก็มาชวนไปเล่น เป็นรุ่นพี่ที่ทําละครเวทีด้วยกันนั่นแหละ ลิเกบ้าตอนนั้นบทคือมีเราไปเห็นการข่มขืน แล้วฝั่งนางเอกก็เอาลิเกบ้าไปเป็นพยานในศาลว่าเห็นการข่มขืน แต่เราก็ต้องแต่งตัวให้กลายเป็นคนไม่บ้า แล้วค่อยไปบ้าในศาล ประมาณนั้น

พอได้มาทําเวอร์ชั่นใหม่กับพี่หมิว-ลลิตา ปัญโญภาส กับน้องเซียงเซียง-พรสรวง รวยรื่น เขาก็คุยกับพี่เกด-พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ คนเขียนบทเลยว่าไม่ทําดาร์กเท่าของเดิม อาจจะเพิ่มแฟนตาซีเข้ามานิดหน่อยจากการแปลงร่างของพี่หมิว แต่ท้ายที่สุดผมก็ดาร์กอยู่ดี เพราะมันเล่าความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ผ่านการแก้แค้นตัวละครแต่ละตัว มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ถ้าถามว่ามันแฟนตาซีขนาดนั้นมั้ยในอีกมุม เราว่าแฟนตาซีนะ การแปลงร่างต่าง ๆ ก็ดูเหนือจริง และวิธีการฆ่าก็ไม่ฆ่าแบบเรียลซะเกินไป พยายามคิดวิธีที่เป็นการ์ตูนหรือพวกหนังซูเปอร์ฮีโร่ขึ้นมาหน่อย ถึงแม้ว่าภาพมันจะออกมาน่ากลัวก็ตาม สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเพลิดเพลิน เลยทําให้ประเด็นที่เราอยากพูดถึงเรื่องการข่มขืน = ประหาร มันเลยได้ถูกขับออกมาอย่างชัดเจน

แล้วเรื่องล่าสุดที่เพิ่งจบไปอย่าง ‘สงครามสมรส’ (2567) การทำงานเป็นยังไงบ้าง

เอาเข้าจริงเรื่องนี้ต้องยกความดีที่มันเกิดขึ้นให้ทั้งบทประพันธ์ และบทโทรทัศน์ ทั้งบทประพันธ์จากพี่ไผ่-เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ (หรือนามปากกา เวฬุวลี) แล้วก็ทีมบทโทรทัศน์ พี่เกด-พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์, พี่โอ๊ะ-วรรณถวิล สุขน้อย, พี่ปอย-พิมสิรินทร์ พงษ์วานิชสุข คือจับประเด็นแข็งแรงมาก ๆ แล้วก็ย่อยทุกอย่างออกมาเป็นละครผัวเมียที่ดูสนุก

พอสองสิ่งนี้มันแข็งแรงแล้ว มันพลาดยาก เราจะตีความผิดเพี้ยนหรือพาออกนอกลู่นอกทางได้ยาก เพราะบทมันดีมาแล้ว มีประเด็นตรงนั้นตรงนี้ไว้เรียบร้อย ทีมนักแสดงก็แข็งแรง หรือประสบการณ์เราเองก็มี ส่วนความดังที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทุกคนดีใจมาก เพราะว่าก่อนมาทํามันมีคําปรามาสเอาไว้แล้วว่า “ละครหรือหนังที่พูดเรื่องกฎหมายทำในเมืองไทยไม่ได้ เพราะมันยากที่จะเข้าใจ ไม่มีคนดูจะเอาด้วย ทําไปก็ไม่ได้อะไรหรอก” มันมีคํานี้อยู่ตอนตั้งแต่ก่อนทํา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดนะ เพราะว่าที่ผ่านมามันก็ไม่ได้จริง ๆ

อะไรที่เป็นซีนห้องพิจารณาคดี ดรามาหนัก ๆ มันยังไม่มีเป็นเรื่องเป็นราว มันเข้าถึงยากด้วย ภาษา ด้วยข้อกฎหมาย แต่พอบทเขาย่อยออกมาจนเข้าใจได้แบบง่ายขึ้น แล้วมันทำให้กลายเป็นบทแอคชั่นแทนการตบตี ไล่ล่าฆ่าฟันกันได้ ไม่เหมือนกับละครผัว ๆ เมีย ๆ ที่ต้องมีฉากตบกันแล้วคนดูก็รอดู แต่สงครามสมรสเอา ‘ศาล’ มาทําหน้าที่นั้นแทน และทําให้คนดูอินไปกับสิ่งนี้ได้ มันก็ถือว่าประสบความสําเร็จ

สันต์ ศรีแก้วหล่อ, ผู้กำกับละคร, ช่อง one31, SUM UP

กดดันมั้ย กับการที่ละครของเรามักเป็นเรื่องที่ถูกวางเป็นละครเรือธงเสมอ ๆ 

กดดันแหละ แต่ว่าท้ายที่สุดในอาชีพนี้มันต้องทําสิ่งนี้ อย่างไรเสียเมื่อทํางานออกมามันก็ควรจะมีชื่อเสียง หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นยังไงมันต้องอยู่กับความกดดันนี้ ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน แล้วทุกครั้งเราก็พยายามจะหาแรงบันดาลใจในแต่ละเรื่องให้เจอว่าเรื่องนี้เราอยากทําอะไร ที่ทําให้เราอยากอยู่กับมันไป 8 เดือน 10 เดือน ถ้าหากเจอ เราจะไปอยู่กับมันได้

ส่วนเรื่องที่มองว่าหลังจากออนแอร์ไปแล้วมันจะกดดันตัวเองแค่ไหน มันคาดเดายาก แต่เราก็ทําเต็มที่ของเรา เอาองค์ความรู้ที่ตัวเองมีมาทําให้งานมันดีที่สุด มีหลายครั้งที่ทําละครแล้วฟันธงว่าปังแน่ ๆ แต่แป๊กสนิทก็มี ละครบางเรื่องไม่คาดหวัง อยู่ดี ๆ ดังขึ้นมาก็มี

แล้วแรงบันดาลใจของตัวเองในการทำงานเรื่อง ‘บางกอกคณิกา’ (2567) และ ‘สงครามสมรส’ (2567) คืออะไร

แรงบันดาลใจของสงครามสมรส คือการอยากทํา จากการที่มีคนชอบพูดว่าละครไทยไม่มีอาชีพ รู้สึกว่าคนเป็นพ่อ เป็นแม่ พระเอก นางเอกทําธุรกิจนู่นนี่เฉย ๆ ไม่มีอาชีพในเรื่อง มีช่วงหนึ่งชอบ ‘Doctor Romantic’ (2016) ดูทุกซีซั่นเลย พอมันมาเรื่องนี้ที่มันเป็นละครกฎหมาย เราว่าเป็นลครที่ชัดเรื่องอาชีพทนายความ ผู้พิพากษา สิ่งนี้เลยเป็นแรงบันดาลใจที่อยากทํามันออกมาให้ได้ 

อย่างบางกอกคณิกา ตอนแรกที่รู้ว่าจะต้องทํา เรารู้สึกสนใจในประเด็นของเขาเรื่องความเท่าเทียมของคนในสังคม การเรียกร้องให้ทุกคนเท่ากันโดยเอาชีวิตของ ‘กะหรี่’ มาเป็นตัวตั้งให้ทุกคนได้เห็นว่าในยุคหนึ่งกะหรี่ไม่ได้อยู่ในสถานะของความเป็นคน หรือในยุค ๆ หนึ่งกฎหมายก็ไม่ได้ให้ความสําคัญกับคนหลายจําพวก เราไม่ได้ไปพูดเพื่อตำหนิประวัติศาสตร์ แต่เราพูดเพื่อเอามายกตัวอย่างในปัจจุบันว่าเราอยากให้ทุกคนมีความเท่าเทียมเสมอภาคเท่านั้นเอง

ภาพลักษณ์ละครไทยยุคนี้มันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

เราว่าเปลี่ยนไปเยอะมาก ยิ่งปีที่ผ่านมาถ้าเราเห็นงานที่ดัง ๆ ออกสู่สาธารณะ เราจะรู้สึกเลยว่ามันเปลี่ยนไป มาตาลดาเนี่ย เราว่าย้อนกลับไปสัก 10 ปี ไม่มีใครกล้าทําหรอก แล้วก็ไม่มีทางน่าจะดัง เพราะเป็นละคร Feel Good เบา ๆ บาง ๆ ไม่มีอะไรฉูดฉาด แต่ว่าพอได้ฉาย คนดูรัก คนดูอิน กับสิ่งนั้นถล่มทลาย หรืออย่างสงครามสมรส ที่บอกไปว่าละครกฎหมายไม่มีคนดูหรอก กลายเป็นว่าคนชอบกัน แปลว่ามันเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ

ความหลากหลายเหล่านั้นทำให้คนทำงานแบบเราสร้างสรรค์งานยากขึ้นมั้ย

ยากขึ้นมาก จากเดิมที่เคยทําแล้วมั่นใจว่าได้แน่ ๆ มาถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่มั่นใจล่ะ แต่ก็พยายามทํากันต่อไปให้ดีที่สุด เมื่อคนดูมีทางเลือกมากขึ้น ความคิดที่เปลี่ยนแปลงเยอะขึ้น อะไรที่เป็นแบบเดิม ๆ มันไม่น่าจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้นตัวเราเองก็ต้องลองไปอยู่ในที่ ๆ ไม่ซ้ําเดิม ถึงน่าจะพอรอด จากศึกสงครามละครครั้งนี้ไปได้

สมมุติในแง่ผู้กํากับ ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องไปนั่งรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป แต่เราก็ต้องรู้ว่าจะมีใครมาช่วยเราที่จะทําให้เราเห็น Lifestyle ใหม่ ๆ ในการทํางาน เราอาจจะเอาน้อง ๆ เข้ามาเขียนบทเยอะหน่อย มันอาจจะได้มุมที่เราคาดไม่ถึงหรือมองไม่เห็น อาจจะมีบ้างที่โครงสร้างเรื่องหรือประเด็นไม่แข็งแรง แต่มันอาจจะมีสถานการณ์บางสถานการณ์ที่เราไม่เคยเห็น ถ้ามันผสมผสานกันได้ มันก็น่าจะทําให้เราพอที่จะสู้ต่อไปได้

สันต์ ศรีแก้วหล่อ, ผู้กำกับละคร, ช่อง one31, SUM UP

ในฐานะผู้กํากับรุ่นพี่ อยากแนะนำอะไรรุ่นน้องที่กําลังจะเข้ามาทำงานด้านนี้

อันดับแรกต้องถามตัวเองให้ชัดก่อนว่าอยากเป็นจริง ๆ ไม่อยากทําอย่างอื่นแล้ว ปักธงสิ่งนี้ให้แน่ก่อน เพราะว่าทุกอาชีพไม่มีใครประสบความสําเร็จได้ภายใน 1 หรือ 2 ปี มันต้องใช้เวลา คุณต้องอยู่กับความเจ็บปวดพอสมควรกว่าที่มันจะประสบความสําเร็จ

สมมุติคุณได้ไปกำกับละครเรื่องหนึ่ง ออนแอร์ออกมาแล้วเรตติ้งไม่ได้ กระแสไม่มี ละคร Fail ไปเลย คุณอยู่กับความรู้สึกนั้นได้มากน้อยแค่ไหน

หากตอบตัวเองชัด ๆ ได้แล้ว เราจะคิดแค่ว่าผู้กํากับคือนักเล่าเรื่องให้คนดูฟัง เมื่ออยากจะเป็นนักเล่าเรื่อง ก็ไปหาทางให้ตัวเองไปอยู่ในจุดที่จะเป็นนักเล่าเรื่องให้ได้ พาตัวเองไปรู้จักการแสดง รู้จักการถ่ายทํา รู้จักเพลง พาตัวเองไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ที่ทําให้เราหยิบเอาบางสิ่งกลับมาเล่าเรื่องได้ ถ้าทําสิ่งเหล่านี้ได้ก็น่าจะเป็นผู้กํากับที่ดีได้

ผ่านความเจ็บปวดเหล่านั้นมาได้ยังไง

ก็ต้องเรียนรู้และยอมรับมันให้ได้ อย่ามีข้อแม้ เมื่องานออกสู่สาธารณะ เขามีสิทธิ์จะทุบจะตีมัน และเขาก็มีสิทธิ์ตัดสินว่ามันดีไม่ดียังไงก็ได้ หน้าที่เราก็คือเรียนรู้

เมื่อมันดี ก็ดีใจไปกับมัน แล้วก็เรียนรู้ให้ได้ว่ามันดีเพราะอะไร แต่เมื่อมันเลวร้าย ก็ยอมรับมันให้ได้ว่ามึงพลาด พลาดอะไรล่ะ ไปดูสิ หามันให้เจอ นั่นน่าจะเป็นวิธีประคบประหงมตัวเองให้ดีได้ดีที่สุด

การเป็นผู้กํากับละครตลอด 23 ปี ทําให้ได้เรียนรู้หรือเข้าใจอะไรบ้าง

รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ทํางานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ในอาชีพที่ตัวเองอยากทํามาตั้งแต่เด็ก สมัยมัธยมปลายอยากเป็นผู้กํากับ แล้วปัจจุบันก็ได้เป็น แล้วก็ได้ดูแลชีวิตทุกคนในครอบครัว 

ถ้าจะบอกว่าได้เรียนรู้อะไร ก็คงเรียนรู้แค่ว่าอยากเป็นอะไร อยากทําอะไร ก็ให้จริงจังกับมัน เราไม่รู้หรอกว่าอีก 20 – 30 ปีข้างหน้ามันจะเป็นยังไง แต่ถ้าเราจริงจัง ณ วันนี้เลย โอกาสที่มันจะประสบความสําเร็จนั้นมีแน่นอน

สันต์ ศรีแก้วหล่อ, ผู้กำกับละคร, ช่อง one31, SUM UP

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป