รายการ สาระแน

ถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปในช่วงยุค 2000 เราคงจะพบกับช่วงเวลาอันเฟื่องฟูของรายการทีวีไทย ซึ่งหนึ่งในนั้นจะต้องมีรายการตลกสุดฮาในตำนานอย่างรายการ “สาระแน” เป็นแน่ ที่มีจุดเด่นคือการแกล้งแขกรับเชิญ แบบไม่ให้แขกรับเชิญรู้ตัวแกล้งหนัก แกล้งแรงเล่นใหญ่ จนในบางครั้งก็เกิดดราม่า

จากจุดเริ่มต้นของ วิลลี่-เปิ้ล-หอย ที่ร่วมทุนกันเปิดบริษัท บริษัท ลักษ์ 666 จำกัด เพื่อผลิตรายการทางทีวี และรายการแรกของบริษัทก็คือรายการสาระแน ที่ออกอากาศครั้งแรกทางไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2541

การแกล้งในความทรงจำ

การ “แกล้ง” ในบางบริบทอาจเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก ในมุมของผู้ถูกกระทำ แต่มนุษย์อย่างเราก็ยังเลือกเสพความบันเทิงจากการได้เห็นคนอื่นถูกแกล้งอยู่เสมอ สังเกตได้จากรายการแนวแกล้งคนที่ยังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้ แต่ถูกเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย และหากให้หยิบยกสักหนึ่งตอนของรายการสาระแนมา ตัวผู้เขียนคงนึกถึงในตอนของ “ตั๊ก บริบูรณ์” ที่นับว่าเป็นการแกล้งกันที่รุนแรงพอสมควร กับการถูกหลอกว่าเป็น “โรคซาร์ส” โรคระบาดที่รุนแรงมากในยุคนั้น

โดยเป็นเหตุการณ์ที่ตัวของ ตั๊ก บริบูรณ์ มาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบินไปที่ประเทศอังกฤษ ที่ตัวเขาตั้งใจจะไปเรียนต่อที่นั่น และ ระหว่างตรวจสุขภาพ เขาก็เจอกับคุณหมอที่ตรวจโรคด้วยวิธีสุดเพี้ยนพิสดาร

หลังจากตรวจเสร็จผลวินิจฉัยก็ออกมาว่าตัวเขาเป็นโรคซาร์ส

ซึ่งความสนุกของรายการสาระแนนั้นอยู่ที่การที่เราให้ได้เห็น React ของแขกรับเชิญที่ถูกแกล้ง และลุ้นไปกับเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ว่าการแกล้งในครั้งนี้จะไปสิ้นสุดที่จุดไหน ซึ่งหลายครั้งรายการก็พาเราไปได้ไกลกว่าที่คิด ถึงขั้นมีระเบิด คนเจ็บตัว หรือ การยิงกันก็มีมาแล้ว เรียกได้ว่าเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้นในชีวิตจริง คุณจะพบเจอได้ในรายการสาระแนทั้งหมด

การ Parody ที่ทำให้เราขำจนไหล่สั่น

นอกจากเรื่องการแกล้งที่เป็นจุดเด่นของสาระแนแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่โดดเด่นและได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นคือการ “Parody” หรือการล้อเลียน มิวสิกวิดีโอ และ โฆษณาที่เป็นกระแส ณ ตอนนั้น ซึ่งมีหลายชิ้นมากที่ตัวผู้เขียนนั้นชื่นชอบ

เริ่มมาจาก “ไอ้นิดซำบายดีบ่อ” (ต้นฉบับ i need somebody – บี้ สุกฤษฎิ์) ที่ทำให้ตัวผู้เขียน (ที่ ณ ขณะนั้นมีอายุได้ 9 ปี) นั่งขำอยู่หน้าทีวีแบบหยุดยั้งไม่ได้เป็นเวลา 15 นาที และทำให้เกิดเป็นประเด็นไปพูดคุยกันต่อในเช้าวันต่อมาที่โรงเรียนกับเพื่อน ๆ อีกด้วย

การ Parody อาจจะดูเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่าตื่นตาตื่นใจอะไรนัก แต่ถ้าเราลองสำรวจให้ลึกลงไปเราจะเห็นถึงความ “ครีเอทีฟ” ของทีมงานสาระแน การแปลงเนื้อร้อง การแต่งเติมเส้นเรื่องใหม่ของมิวสิกวิดีโอ และการทำออกมาให้ตลกและถูกใจคนดู นับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องใช้พลังความสร้างสรรค์อย่างสูง เพื่อผลิตผลงานออกมาแต่ละชิ้น

“สาระแน” เปรียบเสมือนเป็นลิ้นชักความทรงจำ ที่เปิดเมื่อไรก็ทำให้เราหวนนึกถึงช่วงเวลาดี ๆ ในยุค 2000 ที่บางคนอาจจะยังเป็นเด็ก หรือ บางคนอาจเริ่มทำงานแล้ว ซึ่งในบางวันเราอาจจะพบเจอเรื่องแย่ ๆ ที่ทำให้เราไม่มีความสุข แต่ความตลกและเสียงฮาที่ได้จากรายการนั้น ก็เป็นสิ่งเล็กน้อยที่ทำให้เราสามารถมีความสุขและขับเคลื่อนชีวิตไปต่อได้

อ้างอิง