ย้อนกลับไปช่วงปี พ.ศ. 2553 สถานการณ์ทางการเมืองไทยค่อนข้างวิกฤต เพราะมีการรวมตัวชุมนุมจำนวนมหาศาลของ ‘คนเสื้อแดง’ หรือกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ’ (นปช.) เพื่อเรียกร้องให้ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ เพราะผู้ชุมนุมมองว่ากองทัพไทยอาจจะอยู่เบื้องหลังการยุบพรรคไทยรักไทยและจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำทีมโดยพรรคประชาธิปัตย์ จนเกิดเป็นรัฐบาลที่มีนายกชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีรองนายกฯ ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ

การชุมนุมดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ 14 มีนาคม 2553 ลากยาวไปจนถึงช่วงพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการเดินทางของคนต่างจังหวัดเข้ามาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้การชุมนุมในปี 2553 นับว่าเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย แต่ทว่าการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลของรัฐบาลนำมาซึ่งความรุนแรง ส่งผลให้มีคนบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมกว่า 2,100 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 99 คน โดยนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาวิเคราะห์ถึงความรุนแรงของการสลายการชุมนุมครั้งนี้ว่า ระดับความรุนแรงเข้าข่าย ‘การสังหารหมู่’ ได้เลย นอกจากนี้ การสูญเสียที่สำคัญของขบวนการคนเสื้อแดงก็คือ แกนนำคนสำคัญของคนเสื้อแดง อย่าง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ ‘เสธ.แดง’ ได้ถูกลอบสังหารขณะที่กำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศอยู่ 

ในช่วงที่มีการพยายามขอคืนพื้นที่จากมวลชนคนเสื้อแดง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ใช้มาตรการกระชับพื้นที่เพื่อกดดันคนเสื้อแดงด้วยการตัดน้ำ ตัดไฟ และห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่ ‘เสธ.แดง’ ซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญที่เข้ามาดูแลความปลอดภัยของคนเสื้อแดง คอยตรวจตราดูบังเกอร์ และวางแผนป้องกันไม่ให้ทางรัฐบาลยึดคืนพื้นที่ได้ โดย ‘ขัตติยา สวัสดิผล’ หรือลูกสาวของเสธ.แดง ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงคุณพ่อของตนว่า เสธ.แดงเป็นคนชอบการเมืองและอยากจะปูอนาคตทางการเมืองให้แข็งแรง จึงได้ก่อตั้ง ‘พรรคขัตติยะธรรม’ ขึ้นมา และช่วงเวลาของการตั้งพรรคการเมืองเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงที่มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงพอดี ทำให้ช่วงนั้นเสธ.แดงเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองกับคนเสื้อแดงมากขึ้น

เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 หรือเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาประมาณ 19.20 น. ขณะที่เสธ.แดงกำลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศบริเวณรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสีลม บริเวณแยกศาลาแดง เสธ.แดงได้ล้มลงขณะให้สัมภาษณ์กับนักข่าว เนื่องจากถูกซุ่มยิงเข้าและกระสุนพุ่งเข้าบริเวณศรีษะท้ายทอยขวา เสธ.แดงถูกส่งตัวไปรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ซึ่งความรุนแรงของการถูกลอบยิงครั้งนี้ทำให้เสธ.แดงได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตหลังจากรักษาตัวได้เพียง 4 วันเท่านั้น

การลอบสังหารเสธ.แดงที่โหดเหี้ยมสร้างความเสียใจให้กับมวลชนคนเสื้อแดงเป็นอย่างมาก รวมถึงทำให้เกิดข้อถกเถียงที่ว่า ใครคือผู้บงการเรื่องนี้? โดยมีการเชื่อมโยงถึงศัตรูเสธ.แดงหลากหลายส่วน และแบ่งออกมาได้ ดังนี้ กลุ่มรัฐบาล ณ ขณะนั้น, แกนนำเสื้อแดงด้วยกันเอง, ผู้มีอำนาจในกองทัพ, กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 14 ปีเต็ม การเสียชีวิตของเสธ.แดงและการเสียชีวิตของประชาชนที่มาจากการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 นั้น ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครได้รับความเป็นธรรมหรือได้รับการเยียวยา หรือสามารถจับตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีได้เลย 

อ้างอิง