เท้าความกันก่อน สมัยที่ไทยยังเรียกว่า “สยาม” ในตอนที่สร้างถนนสายแรกของเมืองไทยอย่าง “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งตอนนั้นพื้นถนนใช้อิฐมาปูพื้นแบบเรียงตะแคงกัน ทำให้พื้นชำรุดอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้รถม้าและรถลากในขณะนั้นเดินทางไม่สะดวก และมันก็ไปสะกิดใจนายฝรั่งสองท่านอย่าง พระนิเทศชลธี (หรือกัปตันอัลเฟรด จอห์น ลอฟตัส) และพระยาชลยุทธโยธินทร์ (หรือ อ็องเดร ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ) พวกเขาเห็นแล้วทนไม่ไหวจึงมุ่งตรงไปขอสัมปทานนำรถรางเข้ามาในไทยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยตอนนั้นรัชกาลที่ 5 ก็ทรงเห็นด้วยเลยมีพระบรมราชานุญาตให้จอห์นเริ่มทำรถรางในไทยได้เลย
วันคืนล่วงเลยผ่านไป หนึ่งปีหลังจากที่ทั้งสองขอสัมปทาน ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 จอห์น ได้ทำพิธีเปิดเดินรถรางในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยจะเริ่มเดินรถจากบางคอแหลม ผ่านศาลหลังเมือง ไปสุดที่บริษัทอู่กรุงเทพ ยานนาวา (หรือ อู่ฝรั่ง Bangkok Dock ในอดีต) และขยายไปจนถึงถนนตก สุดถนนเจริญกรุงในเวลาต่อมา แต่ที่น่าตกใจคือในตอนนั้นรถรางใช้ม้า 8 ตัวในการลากรถไป ซึ่งตามการเดินรถแล้วก็ต้องมีรถคันที่สอง สามตามมาเพื่อความสะดวก แต่สุดท้ายม้าก็ทนไม่ไหว หมดแรงและผอมโซเพราะถูกใช้งานอย่างหนัก ถึงแม้ว่าจะมีม้าตัวอื่นมาสับเปลี่ยน แต่ก็จะโดนรถรางคันอื่นจี้หลังมาตลอด ถึงแม้ว่าจะดูสะดวกสบายแต่รถรางที่ใช้ในขณะนั้นมีราคาตั๋วที่แพง จนคนทั่วไปไม่ค่อยนิยมใช้สักเท่าไหร่
หลังจากรถรางเปิดให้บริการมา 4 ปี พระนิเทศชลธีเห็นแล้วว่าธุรกิจนี้เริ่มขาดทุน เลยตัดสินใจโอนสัมปทานรถรางให้กับริษัทบางกอก แทรมเวย์ต่อ ซึ่งแน่นอนว่ารถรางยังใช้ม้าลากอยู่ บริษัทก็บริหารด้วยเงินที่ขาดทุนอย่างนี้เรื่อยๆ จนเวลาล่วงเลยไป 3 ปี บริษัทเดนมาร์กเจ้าหนึ่งทนไม่ไหว ตัดสินใจเทคโอเวอร์บริษัทและเปลี่ยนระบบรถรางแบบยกเครื่อง จากการใช้ม้ามาเป็นการใช้ไฟฟ้าแทน แต่ความฮาอยู่ตรงที่เวลารถมันเคลื่อนมันก็มีไฟฟ้าแลบให้เห็นด้วย จากปัญหาตั๋วแพงที่ชาวบ้านไม่อยากขึ้น กลายมาเป็นปัญหากลัวกระแสไฟฟ้าดูดแทน จนเจ้าของต้องขึ้นมานั่งให้ชาวบ้านดูเป็นขวัญตา อีกทั้งยังเปิดให้บริการฟรีอยู่ช่วงหนึ่งจนชาวบ้านถึงกล้านั่งรถรางกัน
แน่นอนว่าเมื่อรถใช้ไฟฟ้าก็ต้องมีผู้ผลิตให้ โดยรถรางได้ไฟฟ้าจากบริษัทอีเลคทริค ซิตี้ ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีบริษัทรถรางไทยมาเปิดให้บริการที่สายดุสิตแข่ง ผู้ใช้งานก็สามารถแบ่งได้เลยว่ารถคันนี้บริษัทไหนเพราะรถของบริษัทรถรางไทยจะทาสีแดง และรถของอีกบริษัทจะทาสีเหลือง จนทางบริษัทอีเลคทริค ซิตี้ เห็นว่ารถรางไฟฟ้ามีแต่ได้กับได้ จึงตัดสินใจควบรวมกับสองบริษัทที่ทำรถรางในขณะนั้นจนเป็นบริษัทไฟฟ้าสยามขึ้นมา และเนื่องจากตอนนั้นคนกรุงฯ ยังไม่ค่อยเยอะทำให้ธุรกิจรถรางล้มลุกคลุกคลานพอสมควรจนผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 คนกรุงฯ ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลังจากนั้นรถรางก็ขยายจนมีถึง 11 สายในช่วงยุค 1920s แต่แล้วในปีพ.ศ. 2470 ก็มีเหตุให้บริษัทไฟฟ้าสยาม ต้องโอนธุรกิจให้กับบริษัท ไฟฟ้าไทย คอปอเรชั่น
รถรางก็ได้รับความนิยมขึ้นมาเรื่อย ๆ จนผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 บริการขนส่งสาธารณะก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนรถรางเสื่อมความนิยมลง และรถรางก็ย้ายไปอยู่กับรัฐบาลในนามของบริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2493 (หรือการไฟฟ้ามหานครที่รู้จักกัน) เพราะสัมปทานการเดินรถของเอกชนได้หมดลง ซึ่ง 18 ปีต่อมารัฐบาลตัดสินใจหยุดให้บริการรถรางเพราะได้ข้อสรุปออกมาว่ารถรางนั้นกินพื้นที่ถนนไปพอสมควร ประกอบกับรถเริ่มมีสัญจรมากขึ้นในช่วงนี้ รัฐบาลกังวลว่าอุบัติเหตุอาจจะเกิดมาขึ้น จึงทยอยหยุดการเดินรถรางทีละสาย จนสุดท้ายกรมโยธาเทศบาลและกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้รถรางทุกสายยกเลิกการเดินถาวรในปีพ.ศ. 2511 เป็นอันปิดตำนานรถรางในประเทศไทยไป
หากใครอยากตามรอยมรดกรถรางไทย ก็ยังมีหลงเหลืออยู่บนถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นรางของรถรางสายแรกของไทย จะเห็นรางขึ้นมาชัดเจนอยู่ระหว่างหน้าศาลหลักเมืองและกระทรวงกลาโหม และอีกสองจุดที่น่าเสียดายคือ บริเวณหน้าวัดอุภัยราชบำรุง ตรงตลาดน้อยที่โดนลาดยางทับไปตอนปี พ.ศ. 2558 และป้ายหยุดรถรางที่การไฟฟ้านครหลวงปลดออกจากหน้าร้านแสงทองแมชชีนเนอรี่ บริเวณเวิ้งนาครเษมแถวเยาวราชในปี พ.ศ.2562 ซึ่งป้ายนี้ทางการไฟฟ้านครหลวงจะจัดแสดงไว้ในศูนย์การเรียนรู้พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้านครหลวงต่อไป
CREATED BY
สิ่งมีชีวิตที่หยิบเรื่องรอบตัวมาเขียนมาเล่าให้คนอื่นอ่านและฟัง ส่วนตัวคนเขียนนั้นการอ่านอันดับสอง การนอนอันดับหนึ่ง