วันนี้ (2 กรกฎาคม 2567) ที่ย่านเยาวราช ‘เอกวรัญญู อัมระปาล’ โฆษกของกรุงเทพมหานคร และ ‘พินิจ กาญจนชูศักดิ์’ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ลงพื้นที่พาสื่อมวลชนชมการพัฒนาขั้นต่อไปของย่านแห่งการท่องเที่ยว และย่านแห่งประวัตตศาสตร์อันยาวนานอย่าง ‘เยาวราช’ ในงบประมาณทั้งสิ้น 31 ล้านบาท
การเดินเท้าสำรวจความคืบหน้าในครั้งนี้ เน้นหนักไปที่การเปลี่ยนทางเท้าใหม่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จไปหลายช่วงถนน โดยทางเท้าใหม่นี้ถูกปูด้วยกระเบื้องขนาด 40 คูณ 40 เซนติเมตร ลาย ‘ดอกโบตั๋น’ โดยเป็นลายที่คิดขึ้นมาจากตัวตนของเยาวราช ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ทางกรุงเทพฯ อยากพัฒนาเมืองเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตภายในย่านให้ดีขึ้นตามลำดับ
อีกทั้งกระเบื้องลายนี้ถูกทำขึ้นด้วยแนวคิดที่อยากให้มีความคงทน และสวยงาม จากการใช้เทคโนโลยีการพ่นผิวในการสร้างลวดลายที่คงทนกว่าการพ่นสีแบบทั่วไป รวมถึงยังลดความลื่น เพิ่มความปลอดดภภัยต่อคนเดินเท้าอีกด้วย
ตลอดทั้งย่านนับตั้งแต่วงเวียนโอเดียน ไปถึงคลองโอ่งอ่างในย่านวังบูรพา กทม. จัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงทางเท้าทั้งระบบไว้ทั้งสิ้น 31 ล้านบาท โดยชี้แจงกับสื่อมวลชนว่าตัวงบทั้งหมดถูกแบ่งสำหรับงานหลายส่วน ทั้งงานพื้นผิว, ฝาท่อระบายน้ำ, งานปูผิวจราจรขอบทางเท้าทั้ง 2 ฝั่งถนน, งานใช้ยางเย็นโดยรอบต้นไม้ รวมถึงงานก่อสร้างใต้ทางเท้า เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก, งานวางท่อร้อยสาย เป็นต้น ซึ่งนอกจากงานส่วนดังกล่าว ยังมีอีกหลากหลายส่วนแยกย่อยลงไปอีก
ระหว่างที่เราเดินทางชมทัศนียภาพใหม่ที่ทาง กทม. พาเราไปสำรวจ สายตาเราก็ยังเห็นปัญหาอีกมากมายที่ยังคงรอการแก้ไข อย่างฝั่งถนนตรงข้ามที่เรายืนอยู่นั้น ทางเท้าลายดอกโบตั๋นที่ว่าก็กลับกลายเป็นที่อยู่ที่นอนของคนไร้บ้าน หรือในขณะเดียวกันก็กลายเป็นแหล่งน้ำขังอยู่เหมือนเดิม จากการที่บริเวณทางเท้ายังคงเป็นพื้นที่ขายของของพ่อค้าแม่ค้าเสมอมา
แม้แต่การเดินสำรวจในครั้งนี้ ตลอดเส้นทางก็เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าโครงการนี้พัฒนามายาวนานมาก แต่ยังไม่เสร็จสิ้นสักที เพราะโครงการทั้งหมดถูกจัดสรรปันส่วนเป็น 9 ช่วง ที่ทยอยทำ ทยอยเสร็จอย่างค่อยเป็นค่อยไป
และเริ่มทำโครงการนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 และคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 และทาง กทม. ชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมว่าที่ต้องใช้เวลานาน เพราะการต้องทำงานคู่ขนานไปกับการวางท่อประปาและการวางท่อร้อยสายสื่อสารด้วย การปรับปรุงเป็นช่วง ๆ จึงถูกใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหาในการทำงานครั้งนี้
อย่างไรก็ตามทาง กทม. ขอบคุณ ‘LISA’ ที่ปลุกเยาวราชให้ลุกเป็นไฟไปทั่วโลก การพัฒนาในครั้งนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในการเตรียมพร้อมเพื่อต้อนรับผู้คนที่กำลังหลั่งไหลมาท่องเที่ยวในพื้นที่ และรองรับการใช้งานอย่างรอบด้านของผู้คนที่ใช้ชีวิตและทำมาค้าขายอยู่ในเยาวราชอีกด้วย












