หากใครได้เดินทางไปยัง ‘โล้วเฮียบเส็ง (Lou Hieb Seng)’ แถวท่าเตียนในช่วงนี้ ก็อาจจะแปลกใจไปสักหน่อยว่าทำไมพื้นที่ที่เคยเป็น Experimental Space กลับกลายไปเป็นร้านหนังสือเสียแล้ว เพราะมีโต๊ะที่วางจำหน่ายหนังสือหน้าตาเหมือน ๆ กันไปหมดตั้งอยู่กลางร้าน
จนได้เดินเข้าไปดูใกล้ ๆ เราถึงได้รู้ว่าเจ้าหนังสือเหล่านี้ แท้จริงแล้วคือชิ้นงานศิลปะที่ทำออกมาเป็นหนังสือหลอกหลากหลายปก ซึ่งล้วนแล้วแต่จิกกัด ล้อเลียน และเสียดสีผู้คนในโลกยุคนี้ได้จนรู้สึกคล้อยตามไปกับใจความสำคัญของนิทรรศการนี้ได้อย่างง่ายดาย



นี่คือนิทรรศการที่ชื่อ ‘Sigmund Fraud’s Fake Bookshop’ ซึ่งเป็นงานรวมศิลปะของศิลปินอย่าง ‘Sigmund Fraud’ นักจิตวิทยาสมมติที่ตั้งตนผ่านการเลียนแบบแก่นแท้ของ ‘ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ (Sigmund Freud)’ (1856-1939) ผู้เป็นบิดาแห่งจิตวิเคราะห์และเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์การบำบัดสมัยใหม่อีกทีหนึ่ง เขานิยามตัวเองว่าเป็น “most trusted fake psychologist” หรือนักจิตวิทยาจอมปลอมผู้น่าเชื่อถือที่สุดบนโลกใบนี้ และมุ่งเน้นทำงานศิลปะที่ตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์บนโลกทุนนิยมด้วยหลากหลายแง่มุม จากความคิดในจินตนาการที่เขาลองคิดว่าจะเป็นอย่างไร หากซีคมุนท์ยังคงมีชีวิตอยู่บนโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างบ้าคลั่งในทุกประเด็นแบบนี้
ร้านหนังสือจอมปลอมแห่งนี้เป็นงานนิทรรศการที่ 2 ของเขา ซึ่งยังคงทำงานสร้างสรรค์เชิงเสียดสีสังคมด้วยแนวคิดดังกล่าว ภายในนิทรรศการประกอบไปด้วยหนังสือปลอมที่ทำจากไม้สนอัดเคลือบสีขาวสว่าง และวาดความหนาบนกระดาษ พร้อมชื่อหนังสือ รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ ทั้งบนปกหน้า ปกหลัง และสันปกด้วยสีอะคริลิกกับปากกามาร์กเกอร์เส้นเล็กสีดำล้วน ซึ่งขับเน้นความมินิมอลท่ามกลางประเด็นที่หนักแน่น แต่เล่าออกมาด้วยความปั่น จนเราอดอมยิ้มมุมปากกับชื่อหนังสือแต่ละเล่มไม่ไหว
จากชื่อหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind (เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ) ของยูวาล โนอา ฮารารี่ ถูกเปลี่ยนเป็น Sapiens: A Brief history from single cell to taxation (เซเปียนส์ ประวัติโดยย่อจากเซลล์เดี่ยวสู่การเก็บภาษี) หรือจากหนังสือ The Little Prince (เจ้าชายน้อย) ของอ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ถูกเปลี่ยนเป็น The Grown-up Little Prince (เจ้าชายน้อยวัยโต) ที่เจ้าชายเปลี่ยนจากการยืนมองท้องฟ้า นั่งสูบบุหรี่และมองท้องฟ้าอันแสนว่างเปล่าแทน
ผลงานศิลปะหนังสือปลอมกว่า 100 ชิ้นในงานจิกกัดประเด็นสังคม 100 ประเด็นที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราภายใต้โลกทุนนิยมที่มีทั้งคุณและโทษ ทั้งเรื่องการทำงาน ความต่างระหว่างวัย การเงิน ทุนสีเทา สังคมสูงวัย เทคโนโลยี การจัดการเวลา เรียกได้ว่าอ่านแล้วต้องมีสะอึกกันบ้าง แต่สะอึกเสร็จแล้วก็ขำออกมาด้วยความขมขื่นกับความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้แทน และนอกจากจะขำจนอยากบันทึกความทรงจำไว้ด้วยการถ่ายภาพแล้ว งานศิลปะทุกชิ้นในนิทรรศการนี้ยังซื้อกลับบ้านได้อีกด้วย
หากใครอยากมองชีวิตอย่างลึกซึ้งผ่านแว่นตลกร้าย ก็ไม่ควรพลาดนิทรรศการครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ‘Sigmund Fraud’s Fake Bookshop’ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2568 ที่ Lou Hieb Seng (โล้วเฮียบเส็ง) ซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 11.00 – 19.00 น. (หยุดทุกวันอังคาร)









