หากพูดถึงเรื่องของความสัมพันธ์แล้ว คำว่า ‘คนคุย’ เพิ่งจะมาฮิตในช่วงไม่นานมานี้ ซึ่งผู้ใหญ่ที่โตขึ้นมาหน่อยอาจจะสงสัยว่า คนคุย คืออะไร? และคุยอะไรกันหรอ? หรือคุยกันขนาดนี้ใกล้ชิดกันขนาดนี้ไม่ใช่ว่าเป็นคู่รักกันหรือแฟนกันหรือ? เด็ก ๆ ก็จะรีบตอบเลยว่า ไม่ใช่จ้ะ! เป็นแค่คนคุย โดยความสัมพันธ์นี้ถูกเรียกว่า ‘Situationships’ หรือ ความสัมพันธ์ตามสถานการณ์ หากจะอธิบายให้เห็นภาพขึ้นมาหน่อยก็คือ ‘มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน’
คำว่า ‘Situationship’ ถูกบัญญัติขึ้นในปี 2017 โดยมาจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการใช้แอพหาคู่ ความหมายจะคล้าย ๆ กับ FWB หรือ friends-with-benefits คือ การใช้เวลาร่วมกัน มีความรักซึ่งกันและกัน แต่ไม่มีการวางแผนความสัมพันธ์ระยะยาวหรือจริงจัง ซึ่งจะต่างจากตรง FWB ที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องประโยชน์ของ Sex โดยไม่มีความโรแมนติกเข้ามาเกี่ยวข้อง การเกิดขึ้นของคำว่า ‘Situationship’ ก็เพื่อมานิยามความสัมพันธ์ที่ไม่มีชื่อเรียกอีกทีหนึ่ง คล้าย ๆ กับเพลงที่มีท่อนร้องว่า “ไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน ไม่ต้องหาคำคำไหนมาเพื่ออธิบาย”
ความสัมพันธ์แบบ ‘Situationship’ ได้รับความนิยมมากในหมู่คน GEN Z จากข้อมูลของทาง Real Research Media ได้สรุปตัวเลขเอาไว้ว่า 43.1% มองว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่คนเจนปัจจุบันใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา และอีก 40% มองว่า ความสัมพันธ์แบบ Situationship ควรเป็นความสัมพันธ์ที่จริงจังไปเลย เพราะไม่ได้ต่างไปจากคู่รักหรือแฟน และอีก 30.34% คนรุ่นปัจจุบันชอบความสัมพันธ์แบบ Situationship มากกว่าความสัมพันธ์ที่จริงจัง
ทำไมกันนะ? ที่ความสัมพันธ์แบบ Situationship ถึงได้รับความนิยมในปัจจุบัน
หนึ่งสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยในความสัมพันธ์ก็คือ ‘ความกดดัน’ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่จริงจัง ซึ่งข้อดีของความสัมพันธ์นี้คือการลดแรงกดดันและความคาดหวังที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่จริงจังออกไป เพราะพวกเราไม่ได้มีข้อตกลงเรื่องสิทธิ์ในตัวกันและกัน จึงมีความเป็นอิสระสูงมากในสถานะความสัมพันธ์นี้
นอกจากนี้ในช่วงที่สังคมและเศรษฐกิจมีปัญหา เด็กรุ่นใหม่โตมากับความไม่แน่นอนทั้งทางด้านสังคมและการเมือง รวมไปถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น สภาวะสงคราม ภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะโรคระบาด พวกเขาจึงรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่ได้มีความมั่นคงขนาดนั้น ทำให้เรื่องนี้ส่งผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์ โดยจะสังเกตได้จาก แนวคิดของคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีการวางแผนเพื่อสร้างครอบครัวอย่างจริงจังเท่าคนเจนอื่น ๆ รวมถึงความสัมพันธ์แบบ Situationship เป็นเพียงอีกหนึ่งวัฒนธรรมการออกเดตในวันที่คนเรานิยมออกเดตกันผ่านทางออนไลน์นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ไม่มีใครสามารถตัดสินได้ว่าความสัมพันธ์แบบ Situationship ผิดหรือถูก เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อตกลงของคนสองคน แต่ความสัมพันธ์รูปแบบนี้มีข้ออันตรายอยู่อย่างหนึ่งตรงที่เมื่อใดก็ตามที่ความคิดของใครสักคนในความสัมพันธ์รูปแบบนี้เปลี่ยนไป (ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะความรู้สึกมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์และฮอร์โมน) ก็อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงกับทางจิตใจได้ และการจบความสัมพันธ์รูปแบบนี้ก็สร้างความเจ็บปวดไม่ได้ต่างไปจากความสัมพันธ์รูปแบบอื่น ๆ เพราะมนุษย์มักจะหลั่งฮอร์โมน Oxytocin หรือฮอร์โมนของความผูกพันธ์ทางอารมณ์ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ความสัมพันธ์นี้จบลง ใครสักคนหนึ่งในความสัมพันธ์ก็อาจจะสูญเสียจุดยืนทางอารมณ์ของตนและคิดไปไกลเกินกว่าขอบเขตความสัมพันธ์แบบ ‘Situationship’ นั่นเอง
อ้างอิง
- https://www.letsmend.com/posts/why-does-a-situationship-breakup-hurt-so-much
- https://realresearcher.com/media/over-43-percent-view-situationships-as-gen-zs-pragmatism/
- https://www.dictionary.com/e/slang/situationship/