‘รถไฟฟ้า’ คือ ขนส่งสาธารณะอันดับต้น ๆ ที่คนกรุงเทพฯ เลือกใช้กันเป็นหลัก เพราะความสะดวกสบาย และสามารถช่วยลดเวลาบนท้องถนน ทำให้รถไฟฟ้าเป็นที่นิยมของคนทุกวัย แต่ราคาของรถไฟฟ้าในประเทศไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีราคาสูงเกินไป จึงอยากชวนมาเปิดราคาของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (คูคต-เคหะ) ที่ทางกรุงเทพฯ เพิ่งมีการปรับราคาเก็บส่วนต่อขยายไปเมื่อ วันที่ 2 มกราคม 2567 ว่ามีอัตราค่าโดยสารเป็นอย่างไรบ้าง
- อัตราค่าโดยสาร 1 สถานี 17 บาท
- อัตราค่าโดยสาร 2 สถานี 25 บาท
- อัตราค่าโดยสาร 3 สถานี 28 บาท
- อัตราค่าโดยสาร 4 สถานี 32 บาท
- อัตราค่าโดยสาร 5 สถานี 35 บาท
- อัตราค่าโดยสาย 6 สถานี 40 บาท
- อัตราค่าโดยสาร 7 สถานี 43 บาท
- อัตราค่าโดยสาร 8 สถานี 47 บาท
ส่วนต่อขยายราคาสูงสุดอยู่ที่ 15 บาท (ขึ้นอยู่กับประเภทบัตร) ดังนั้นหากคำนวณการเดินทางในอัตราสูงสุดเท่ากับ 8 สถานี 47 บาท+15 บาท ราคารวมจะอยู่ที่ 62 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงหากเทียบเคียงกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่เฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาทต่อวัน และหากเทียบเคียงกับประเทศใกล้ ๆ บ้านเราก็จะพบข้อเท็จจริงอีกข้อหนึ่งว่าประเทศไทยถือว่ามีราคารถไฟฟ้าสูงเกือบที่สุด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ราคารถไฟฟ้าประเทศไทยเทียบเคียงกับประเทศเวียดนาม ราคาสูงสุดของอัตราค่ารถไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 22 บาท ต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 17 บาท และหากเทียบเคียงกับมาเลเซีย ราคาสูงสุดของอัตราค่ารถไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 69 บาท และต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 6 บาท โดยประเทศมาเลเซียถือว่ามีราคาที่ใกล้เคียงกับบ้านเราทั้งค่าแรงขั้นต่ำและอัตราค่ารถไฟฟ้า และหากเทียบเคียงกับฟิลิปปินส์อัตราค่ารถไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ 19 บาท และต่ำสุดอยู่ที่ 7 บาท

ความคืบหน้าล่าสุด ‘นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’
นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน โดยวางไว้ว่าจะใช้งบประมาณ 48,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตอนที่ทางพรรคเพื่อไทยออกมาอภิปรายนโยบายนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองอื่น ๆ รวมถึงประชาชนว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างสูง บวกกับราคาค่ารถไฟฟ้าปัจจุบันเหยียบไปถึง 60 กว่าบาทแล้วจะสามารถลดลงมาเหลือแค่ 20 บาทได้อย่างไร
โดยความคืบหน้าล่าสุดของนโยบายนี้ ได้ทดลองกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วง (คลองบางใหญ่-เตาปูน) โดยเริ่มทดลองนโยบาย 1 ปี โดยอนุมัติเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 และบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567
อย่างไรก็ดี การทำนโยบายเรื่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน และอาจจะเป็นนโยบายที่ใช้เวลาอยู่พอสมควรในการจัดทำนโยบาย เพราะในช่วงทดลองลดราคาของทั้ง 2 สายนี้ รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการอุดหนุนค่าส่วนต่างที่ลดราคาไปกับทางรถไฟฟ้าประมาณปีละ 130 ล้านบาทนั่นเอง
ที่มา
- ประกาศกรุงเทพฯ เรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- https://www.bbc.com/thai/articles/ck7w7nv1wz7o