ใช้ชีวิตคนเดียวไม่ใช่เรื่องแย่ แค่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่แต่ไม่ได้พร้อมที่จะแชร์ความสุข พื้นที่ส่วนตัวให้กับใครมากพอ เพราะฉันยังรักความเป็นอิสระ รวมถึงเหตุผลด้านความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในหน้าที่การงาน ประเด็นเหล่านี้ทำให้คนหนุ่มสาวยุคใหม่มีแนวโน้มครองตัวเป็นโสดกันมากขึ้น และหลายประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ที่ระบุว่าในปีที่ผ่านมา (2023) มีคนโสดทั่วโลกมากถึงราว 2.12 พันล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3 พันล้านคน ภายในปี 2030 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากพฤติกรรมของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่นิยมครองโสดกันมากขึ้น ทำให้ในหลายประเทศโดยเฉพาะเอเชียเกิดเทรนด์ร้านอาหารสำหรับรับประทานคนเดียวหรือ “Solo Dining” และถือเป็นอีกหนึ่งกระแสธุรกิจคนโสดที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ยังพบว่าคนโสดมีพฤติกรรมการใช้จ่ายในเรื่องอาหารการกินมากกว่าคนที่มีคู่ และส่วนใหญ่เลือกทานอาหารนอกบ้าน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้กลุ่มคนโสดกลายเป็นลูกค้าชั้นดีของเหล่าบรรดาร้านอาหารต่าง ๆ และส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น
พฤติกรรมนี้มีจุดเริ่มต้นในแถบประเทศเอเชียก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการใช้ชีวิตแบบ Social Distancing ซึ่งยิ่งเข้ามาช่วยกระพือให้กระแสการทานข้าวคนเดียวได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในเกาหลีใต้วัฒนธรรมเรียกว่า “ฮนบัพ” (Honbap) หรือการทานข้าวคนเดียว กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก ทำให้ร้านอาหารหลายแห่งในเกาหลีมีการปรับตัวตามเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น เช่น มีเมนูอาหารสำหรับทานคนเดียว (Solo-friendly menus) ที่มีการปรับ Portion-sized ให้เป็นอาหารจานเดียวที่ทานพออิ่มปริมาณไม่เยอะเกินไปและราคาสมเหตุสมผล หรือแม้แต่ร้านอาหารในเครือห้างล็อตเต้ก็มีการปรับตัวด้วยการลดจำนวนโต๊ะอาหารสำหรับลูกค้ากลุ่มใหญ่ และแทนที่ด้วยโต๊ะยาวและเก้าอี้แยก รวมทั้งการใช้ฉากกั้นเพื่อแบ่งสัดส่วนพื้นที่ สำหรับให้บริการลูกค้าที่มาทานอาหารคนเดียวมากขึ้นแทน
นอกจากนี้ บางร้านยังมีการจัดโต๊ะสำหรับลูกค้าที่มาคนเดียวไว้ตามมุมต่าง ๆ ในร้าน (Corner table) เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจและมีความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังมีการตั้งทีวีให้ลูกค้าดูเล่นแก้เหงาและสร้างความเพลิดเพลินเหมือนนั่งทานอาหารอยู่ที่บ้านตัวเองอีกด้วย
เช่นเดียวกับในญี่ปุ่น กระเส Ohitorisama ยังได้สร้างแรงกระเพื่อมมายังธุรกิจร้านอาหารเพื่อตอบโจทย์บริบททางสังคมและทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปโดยหันมาเน้นความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้น จนทำให้เทรนด์การทานข้าวคนเดียวเป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไปและเริ่มชินตามากขึ้น และทำให้เกิดแนวคิดของร้านอาหารสำหรับนั่งทานคนเดียว อย่างการกินปิ้งย่างคนเดียวหรือ “ฮิโตริ ยากินิกุ” (Hitori Vakiniku) และการกินชาบูคนเดียวหรือ “ฮิโตริ ชาบู” (Hitori Shabu)
ในฝั่งซีกโลกตะวันตก กระแสการทานข้าวคนเดียวก็ได้รับความนิยมมากขึ้นไม่ต่างกัน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากความนิยมใช้แอปพลิเคชัน สั่งอาหารในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ และการหลีกเลี่ยงการทานอาหารร่วมกับคนอื่น ทำให้เทรนด์การทานอาหารคนเดียวกลายเป็นกิจกรรมที่ผู้คนเริ่มมีความเคยชินและมีความสุขมากขึ้น ผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ Washington post พบว่าราวครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ทานอาหารคนเดียวเป็นปกติในชีวิตประจำวันสะท้อนว่าผู้คนส่วนใหญ่มีไลฟ์สไตล์และทำกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะตัวคนเดียวมากขึ้นและไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดหรือน่าอายแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันการได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองกลับกลายเป็นช่วงเวลาพิเศษที่ทำให้ได้มีเวลาคิดทบทวนบางสิ่งบางอย่างและช่วยสร้างความสุขสงบทางใจ มากขึ้นอีกด้วย สะท้อนถึงวิถีชีวิตและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งโครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่สำรวจโดย Mintel
สำหรับในไทยเริ่มมีโมเดลธุรกิจร้านอาหารในรูปแบบ Solo Dining ในลักษณะ “New Concept Store” เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการคนเดียวมากขึ้น โดยมีอุปกรณ์ต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร เช่น หม้อต้มชาบูหรือกระทะปิ้งย่างส่วนตัว รวมทั้งเซ็ตอาหารที่เหมาะสมสำหรับการทานคนเดียวไว้ให้บริการ ซึ่งรูปแบบร้านอาหารในลักษณะนี้ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะตอบโจทย์พฤติกรรมการทำอาหารเพื่อทานคนเดียวที่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เสียเวลา และไม่คุ้มเหนื่อย โดยพบว่าปัจจุบันเริ่มมีหลายแบรนด์ที่มีโมเดลธุรกิจในลักษณะนี้
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์คนโสดที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีสาเหตุที่คล้ายคลึงกันจากหลายปัจจัย ทั้งนี้เหตุผลสำคัญประการแรกคือ การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ที่มีส่วนทำให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองใหญ่มีแนวโน้มที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิถีชีวิตที่วุ่นวายและเร่งรีบ ทุ่มเทกับเรื่องการทำงานมากขึ้น จึงทำให้มีเวลาส่วนตัวน้อยลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้คำานิยมในเรื่องการแต่งงานหรือการมีครอบครัวของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ประการต่อมาคือปัญหาความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ (Economic Factor) ทั้งจากความไม่แน่นอนด้านรายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งภาระทางการเงินต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาด้านสังคมและปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน จนทำให้คนรุ่นนี้ไม่อยากให้คนรุ่นต่อไปต้องเกิดมาเผชิญกับปัญหาเหล่านี้และต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในอนาคต
ที่มา
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์