เมื่อวานนี้ (31 กรกฏาคม 2567) เวลาประมาณ 09.30 น. นายสมรักษ์ คำสิงห์ อดีตนักกีฬาโอลิมปิกเหรียญทอง เดินทางเข้ามาศาล ณ จังหวัดขอนแก่น ตามการนัดหมายของศาล โดยการขึ้นศาลในครั้งนี้มีเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน
โดยทางพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นได้ทำการยื่นฟ้อง นายสมรักษ์ คำสิงห์ ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปีไปจากบิดา, มารดา, ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร แม้ว่าผู้เยาว์จะยินยอมก็ตาม, ฐานร่วมกันพาบุคคลอายุเกิน 15 ปีแต่ไม่ถึง 15 ปีไปเพื่อการอนาจาร แม้ว่าจะให้การยินยอมก็ตาม, ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นและผู้อื่นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้, ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นและผู้อื่นอยู่ในภาวะที่ไม่สามาระขัดขืนได้ ซึ่งความผิดทั้งหมดมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 276, 278 , 283 ทวิ, 319 และตอนท้ายคำร้องของพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นขอให้นับโทษนายสมรักษ์ (จำเลยที่ 1) ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญา ณ ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย โดยอัยการได้ยื่นฟ้องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 แต่ทางจำเลยให้การปฏิเสธ
หากเล่าย้อนกลับไปถึงต้นตอของคดีนี้ เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ‘สมรักษ์’ ถูกกล่าวหาจากเด็กอายุ 17 ปีว่าล่วงละเมิดทางเพศ โดยทั้ง 2 คนได้พบกันที่ผับแห่งหนึ่งและได้มีการไปต่อกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งในเบื้องต้นทางสมรักษ์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมให้เหตุผลว่าตนไม่ทราบว่าเด็กอายุ 17 ปี เพราะมองว่าการที่จะเข้ามาในผับได้น่าจะมีอายุที่ถึงเกณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในตอนนั้นสังคมก็มีการตั้งคำถามที่ว่าถ้าหากเราไม่ทราบอายุจริง ๆ ว่าผู้เยาว์อายุเท่าไหร่ จะถือว่าเข้าข่ายการพรากผู้เยาว์หรือไม่?
โดยสังคมส่วนหนึ่งมองว่า ต่อให้ไม่รู้อายุของผู้เยาว์หรือผู้เยาว์ให้การสมยอมก็ถือว่าผิดกฏหมายและเข้าข่ายการพรากผู้เยาว์อยู่ดี แต่ก็มีทนายบางท่านออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในอีกกรณีหนึ่งที่ไม่ทราบว่าเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี และเด็กให้การยินยอมจะถือว่าไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด โดยศาลจะใช้หลักการในการพิจารณาว่าเจตนาไม่เจตนาโดยพิจารณาจาก 7 องค์ประกอบ ดังต่อไปนี้ 1. รูปร่างของเด็กผู้หญิงคนนั้น เช่น เด็กคนนั้นดูโตกว่าอายุจริง เป็นต้น 2. ลักษณะการแต่งตัวการแต่งหน้าระหว่างผู้เสียหายกับผู้ต้องหาหรือจำเลยว่าแต่งตัวแต่งหน้าที่ทำให้ดูโตกว่าวัยหรือไม่ 3. กิริยาท่าทางและการพูดจาของเด็กว่าดูโตกว่าวัยหรือไม่ 4. สถานที่ที่พบเจอกัน เช่น เจอในผับที่เข้าใจผิดว่ากลั่นกรองมาแล้วว่าอายุเกิน 18 ปีตามที่กฏหมายกำหนดแล้วก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ เป็นต้น 5. กลุ่มเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน หากกลุ่มเพื่อนที่อยู่ด้วยกันอายุเกินกว่า 18 ปีก็อาจจะสร้างความเข้าใจผิดให้เกี่ยวกับอายุจริงได้ 6. ระยะเวลาที่คบหาหรือทำความรู้จักกัน ถ้าช่วงระยะเวลาที่รู้จักกันสั้นมาก ๆ โอกาสที่จะรู้ประวัติ อายุจริง ก็อาจจะน้อย 7. พฤติการณ์ต่าง ๆ ระหว่างคบหากัน เช่น การไปมาหาสู่ระหว่างครอบครัว ประวัติการแชท เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะต้องให้ทนายของทั้งสองฝั่งดำเนินการหาหลักฐานเพื่อมาต่อสู้และหักล้างกันในชั้นศาลต่อไป
อย่างไรก็ดี ทางสมรักษ์ไม่ได้มีท่าทีกังวลใด ๆ พร้อมตอบคำถามสื่อว่า ตนเองไม่ได้มีความกังวลใจกับเรื่องนี้และมาตามนัดของศาลทุกนัด และมั่นใจว่าตนสามารถยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองได้จากพยานหลักฐานต่าง ๆ ส่วนเหตุการณ์ความคืบหน้าของคดีนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป