เชื่อไหมว่าเมืองอย่างโอซาก้าเองก็มีคนไร้บ้าน

บางครั้ง เมืองหนึ่งเมืองอาจไม่ได้เผยตัวตนทั้งหมดให้เราเห็นได้ตั้งแต่คราแรก ‘โอซาก้า’ (Osaka) เองก็เช่นกัน เรารู้กันดีว่าเมืองนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของสีสัน ความคึกคัก วัฒนธรรมที่รุ่มรวย อาหารที่ครบรส และมิตรภาพของผู้คนที่ผ่านไปมา แต่ถึงอย่างนั้นในเบื้องลึกเบื้องหลังความสวยงามเหล่านั้นยังมีอีกด้านหนึ่งที่เงียบกว่า ลึกลับกว่า น่าค้นหา นั่นคือด้านที่อาจไม่ได้อยู่ในแผนที่ทางการหลัก โบรชัวร์สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม หรือรีวิวตามเว็บไซต์ยอดฮิต

บทความนี้คือบทสุดท้ายของมินิซีรีส์ของการเดินทางในโอซาก้าครั้งนี้ และเราขอชวนทุกท่านเดินทางต่อไปด้วยกันอีกสักหนึ่งบทเพื่อสัมผัสอีกเสี้ยวหนึ่งของเมืองใหญ่ เสี้ยวที่อาจไม่มีใครพูดถึงบ่อยนัก

แต่หากอยากจะเข้าใจเมืองทั้งเมืองให้ครบถ้วน เราเองก็อาจต้องเริ่มจากการฟัง ‘เสียง’ ที่แผ่วที่สุดก่อน

กลางเดือนมีนาคมปีนี้ อากาศในโอซาก้าแปรปรวนอย่างน่าประหลาด วันหนึ่งที่ฝนโปรยลงมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมด้วยลมหนาวที่พัดแรงเสียจนรู้สึกราวกับอุณหภูมิกำลังติดลบ เราออกเดินทางจากที่พักในย่านนัมบะ หัวใจของเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันและผู้คน ออกมุ่งหน้าไปยังสถานีโยโดะยาบาชิ ก่อนที่จะก้าวออกมาสัมผัสกับละอองฝนและไอเย็นที่ตีเข้ามาทันทีที่พ้นจากชานชาลา

คามากาซากิ (釜ヶ崎) ชุมชนแออัดของคนไร้บ้านในญี่ปุ่น

ไม่นานนักเราก็มาถึง ‘คามากาซากิ’ (Kamagasaki) หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อย่าน ไอริน (Airin) ในเขตนิชินาริ (Nishinari) แม้ระยะทางจะห่างจากนัมบะเพียงไม่กี่กิโลเมตร แต่สิ่งที่เห็นตรงหน้ากลับให้ความรู้สึกเหมือนเดินทางข้ามเมือง

สองข้างทางที่เงียบสงัดกว่าที่คาดเอาไว้ ตึกห้องพักขนาดเล็กเรียงรายเป็นแนวยาวข้างทางของถนนโล่ง ๆ ไร้ซึ่งรถยนต์และผู้คนที่เดินสัญจร ผู้คนบางส่วนเอนกายนั่งอยู่ข้างทาง บ้างจิบเบียร์เงียบ ๆ ไม่ไกลกันนักก็มีกองขยะเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้ถูกรวบรวมเป็นระเบียบ ทุกอย่างดูห่างไกลจากภาพจำของโอซาก้าที่เราเคยรู้จักว่าเป็นเมืองที่รีบเร่ง ครึกครื้น และเปิดไฟสว่างตลอดคืน

เราเดินต่อไปอย่างไม่รีบร้อนเท่าไรนัก ก้าวช้าลงทีละนิดเพื่อทำความรู้จักย่านเล็ก ๆ แห่งนี้ให้มากขึ้นด้วยจังหวะของมันเอง

อันที่จริงแล้วย่านคามากาซากินั้นเป็นย่านที่นักท่องเที่ยวชาว Backpacker อาจพอคุ้นหูอยู่บ้าง ด้วยราคาห้องพักที่ถูกแสนถูก ค่าอาหารไม่แพง อีกทั้งการเดินทางก็ค่อนข้างสะดวกเพราะใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าและไม่ห่างจากตัวเมืองเท่าไรนัก ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นเพราะว่าย่านนี้คือย่านพัฒนาเมืองในอดีตซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของแรงงานรายวันที่หาที่พักราคาไม่สูงมากสำหรับการพักพิง แต่ในขณะเดียวกันภาพที่เห็นก็คล้ายว่าจะเป็นย่านแออัดที่มีผู้สูงอายุ คนไร้บ้านจำนวนมาก คนตกงาน และคนที่มีรายได้ต่ำอยู่เต็มไปหมด ผสมปนเปไปกับนักเดินทางที่ก็ไม่ได้มีจำนวนมากนัก

คามากาซากิ (釜ヶ崎) ชุมชนแออัดของคนไร้บ้านในญี่ปุ่น

ย่านนี้มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่น้อยตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นพยายามฟื้นฟูประเทศครั้งใหญ่ ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความพยายามที่จะขยายเขตเศรษฐกิจ และการจัดมหกรรมระดับโลกอย่าง World Expo ปี 1970 ที่โอซาก้าเป็นเจ้าภาพครั้งแรก พื้นที่บริเวณนี้จึงเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วและเกิดการจ้างงานจำนวนมากเช่นเดียวกัน จนที่แห่งนี้กลายเป็น ‘เมืองแรงงาน’ ที่สำคัญไปโดยปริยาย เพราะว่าเป็นตลาดแรงงานสำคัญที่คอยสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

ในช่วงทศวรรษ 1950 คามากาซากิจึงเป็นย่านสลัมทั่วไปไม่ต่างอะไรจากที่เราพอจะเคยเห็นและรู้จัก นอกเหนือไปจากแรงงานก่อสร้างรายวันแล้วนั้น ผู้คนจำนวนมากยังคงทำอาชีพที่หลากหลายเพื่อหาเลี้ยงตน เช่น ส่งพัสดุ ซื้อเศษเสื้อผ้า เก็บขยะ ขัดรองเท้า และขายบุหรี่ จนกระทั่งในปี 1960 นอกเหนือจากงานก่อสร้างแล้วก็ยังมีงานที่เกี่ยวข้องกับท่าเรือที่ต้องการแรงงานอีกจำนวนมาก ดังนั้นคามากาซากิก็ยิ่งดึงดูดผู้คนจากต่างจังหวัดให้เข้ามาทำงานที่นี่กันมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จำนวนแรงงานรายวันจึงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ความน่าสนใจคือแนวโน้มของผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่มักเป็นชายโสดไม่มีพันธะ จึงทำให้จำนวนครัวเรือนของคามากาซากิไม่สูงเท่าไร เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่มีครอบครัวก็จะย้ายออกไปอยู่ที่อื่น จนกระทั่งในปี 1970 จำนวนของผู้ชายในเขตนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 ในขณะที่เด็กและเยาวชนเหลือเพียงแค่ร้อยละ 10 จากประชากรทั้งหมด

มาถึงช่วงปี 1990 ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ฟองสบู่แตก เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี เหล่าแรงงานนั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากย่านที่มีแรงงานจำนวนมาก พวกเขาเหล่านั้นกลับกลายเป็นคนว่างงานทั้งหมด ที่พักอาศัยก็กลายเป็นชุมชนแออัดเต็มรูปแบบ มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินจ่ายค่าที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งนั่นยังคงเป็นภาพที่เราเห็นมาจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าในปี 1996 สำนักงานเมืองโอซาก้าจะตัดสินใจเปลี่ยนชื่อย่านนี้ใหม่เป็นไอรินดังที่เรากล่าวไปข้างต้น ทั้งยังลบคำว่าคามากาซากิออกจากแผนที่ทางการ รวมถึงไม่ให้ใช้คำนี้ในสื่อ แต่สำหรับผู้คนที่อยู่ที่นั่นแล้วพวกเขายังคงเรียกย่านนี้ว่า ‘คามากาซากิ’ เช่นดังเดิม เพราะเป็นชื่อที่มีความหมายและพวกเขาเองก็มีส่วนช่วยในการสร้างชาติช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ถึงอย่างนั้นเราอาจพอสังเกตได้ว่าทางการมีความพยายามที่จะลบเลือนที่แห่งนี้อยู่บ่อยครั้ง ดังเช่นที่มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ถูกห้ามฉายในเทศกาลภาพยนตร์โอซาก้า เพราะว่าเรื่องดังกล่าวไม่ยอมตัดฉากที่พูดถึงย่านสลัมนี้ออกไป

เพราะขาดหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญที่สุดอย่าง ‘ที่อยู่อาศัยถาวร’ ดังนั้นสิ่งที่ผู้คนในย่านนี้ต้องเผชิญในทุกปีจึงไม่ใช่แค่ความไม่มั่นคงในชีวิต แต่คือความหนาวเหน็บที่กัดกร่อนร่างกายและหัวใจในทุกฤดูหนาวที่เวียนมาถึง

ระหว่างที่เรากำลังสำรวจ พลางคิดถึงประวัติของย่านนี้อย่างช้า ๆ สายฝนเริ่มโปรยลงมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลานั้นเองเราได้พบกับชายสูงวัยคนหนึ่งที่นั่งอยู่ริมทางโดยไม่มีที่หลบฝน แต่เขาเองก็ไม่แม้แต่จะขยับหลีกหนีจากละอองน้ำฝนที่เริ่มตกหนักขึ้น

คามากาซากิ (釜ヶ崎) ชุมชนแออัดของคนไร้บ้านในญี่ปุ่น

เรายื่นร่มให้เขาอย่างเงียบ ๆ เขาเพียงแค่เงยหน้าขึ้น ยิ้มกว้างให้เห็นฟันที่หลุดลุ่ย และพูดเบา ๆ ว่า “ไดโจบุ!” (ไม่เป็นไร) เรายังคงพยายามที่จะส่งร่มให้ แต่เขาตอบอย่างติดตลกว่าแล้วมีบุหรี่ไหม ถ้ามีก็จะขอ ก่อนที่จะหัวเราะเบา ๆ พลางส่ายหัวช้า ๆ นั่นเป็นเสียงหัวเราะที่ไม่สามารถกลบอากาศเย็นยะเยือกของวันนั้นได้เลย และไม่อาจลบความรู้สึกบางอย่างที่แทรกซึมเข้ามาในใจเรา ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยแสงไฟ แต่ยังมีผู้คนที่ต้องยอมรับความหนาวเย็นนี้ราวกับเป็นเรื่องปกติ 

นอกเหนือไปจากภาพของผู้คนไร้บ้าน เรายังบังเอิญเจอกลุ่มวัยรุ่นในชุดสีจัดจ้านที่ยืนรวมตัวกันอยู่ที่ริมถนน หนึ่งในนั้นเดินเข้ามาก่อนที่จะเอ่ยขอ username อินสตาแกรมของเราในจังหวะที่กำลังจะข้ามถนนพอดี แม้จะเป็นคำถามที่ดูธรรมดา แต่ในบรรยากาศของย่านที่ไม่คุ้นเคย และด้วยท่าทีที่คาดเดาได้ยากนั้นทำให้เรารู้สึกใจเต้นอยู่เงียบ ๆ แต่ก็โชคดีที่เมื่อเราปฏิเสธไป พวกเขาก็ไม่ได้ตื๊ออะไรต่อ และแยกย้ายกันไปในที่สุด

แม้จะเป็นช่วงบ่ายที่แสงแดดยังไม่จางหาย แต่บางมุมของย่านนี้ก็ยังมีความรู้สึกบางอย่างคล้ายเงามืด ไม่ถึงกับหวาดกลัว แต่ก็ทำให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้นอย่างเงียบ ๆ 

อีกสิ่งมีชีวิตที่เราพบในย่านนี้คือ น้องแมวจรสีดำตัวอ้วนท้วน ที่เดินทอดน่องบนกำแพงราวกับเป็นเจ้าถิ่นอย่างไม่เก้อเขิน นี่อาจเป็นแมวจรตัวแรกที่เราเจอในญี่ปุ่นตลอดสามครั้งที่เคยเดินทางมา ภาพตรงหน้าชวนให้เรานึกถึงคำพูดติดตลกของชายไร้บ้านคนหนึ่งที่ปรากฏตัวในสารคดีเกี่ยวกับคามากาซากิที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า “แมวจรจัดที่นี่ดูอ้วนสมบูรณ์กว่าพวกเราเสียอีก” เป็นประโยคที่ฟังแล้วอดหัวเราะไม่ได้ แต่เมื่อความจริงแทรกซึมเข้ามา ก็ทำให้รู้สึกหน่วงอยู่ในอกไม่เบา

คามากาซากิ (釜ヶ崎) ชุมชนแออัดของคนไร้บ้านในญี่ปุ่น

แม้จะเป็นสัตว์เร่ร่อน แต่แมวจรในญี่ปุ่นนั้นได้รับการดูแลที่ดีในระดับหนึ่ง เพราะทางการเขามีโครงการจับ-ทำหมัน-และปล่อยคืน (Trap-Neuter-Return) เพื่อควบคุมประชากรสัตว์จรจัดและลดปัญหาในระยะยาว ดังนั้นพวกมันจึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่ถิ่นเดิมได้โดยไม่ถูกรังเกียจหรือจับไปไว้ในที่แออัด นับเป็นความพยายามของเมืองที่มองเห็นแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาจจะไร้เสียง ซึ่งในบางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่าแล้ว ‘พวกเขา’ ล่ะ พอจะมีโอกาสในการกลับคืนสู่ ‘ชีวิตปกติ’ บ้างหรือเปล่า

เมื่อสำรวจต่อไปก็พบว่าทางโอซาก้าเองไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหานี้ เพราะก็มีโครงการรองรับคนไร้บ้างอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน ทางการของโอซาก้านั้นช่วยเหลือในแง่ของการมอบที่พักชั่วคราวให้ มีการดูแลสวัสดิการต่าง ๆ และมีการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานรองรับให้สามารถเข้าถึงได้ และยังมีการสนับสนุนให้มีอาชีพเสริมเพื่อส่งเสริมรายได้ เช่น เป็นผู้ดูแลจักรยาน เป็นต้น

คามากาซากิ (釜ヶ崎) ชุมชนแออัดของคนไร้บ้านในญี่ปุ่น

โอซาก้ายังคงมีความพยายามลดจำนวนคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่องผ่านการสนับสนุนต่าง ๆ และมีความร่วมมือกับท้องถิ่นตลอดหลายปี แน่นอนว่ามาตรการเหล่านี้อาจไม่ได้ทำให้ปัญหาหมดไปเสียทีเดียว แต่นั่นก็เป็นภาพสะท้อนของเมืองใหญ่ที่พยายามดูแลผู้คนไม่ให้ร่วงหล่นไปจากระบบ และถึงแม้ว่าจะยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้พวกเขาเหล่านั้นถูกกลืนหายไปกับมุมเงียบสงัดของเมือง

ทริปโอซาก้าครั้งนี้ อาจไม่ได้จบลงด้วยภาพแลนด์มาร์กชวนตื่นเต้นน่าตระการตา หากแต่เป็นภาพของถนนสายหนึ่งที่เงียบงัน แมวดำตัวอ้วนที่เดินย่ำอยู่ที่กำแพงเก่า ชายชราที่ไม่เอ่ยขออะไรนอกจากบุหรี่และรอยยิ้ม ทั้งหมดนี้อยู่ในย่านเล็ก ๆ ของเมืองที่ไม่ถูกใส่ไว้ในแผนที่ท่องเที่ยว

แม้เรื่องของคนไร้บ้านอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากพบเจอในทริปวันพักผ่อน แต่นั่นกลับสะท้อนอะไรบางอย่างที่สำคัญในฐานะที่เราเองก็เป็นมนุษย์ที่เดินทางผ่านเมืองเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้เราได้เห็นอีกแง่มุมของนครโอซาก้าที่ซื่อตรง เงียบ มีชีวิตสิทธิ์เสียง มีรอยยิ้มจาง ๆ และการดำรงอยู่ที่อาจไม่จำเป็นต้องถูกตกแต่ง

คามากาซากิ (釜ヶ崎) ชุมชนแออัดของคนไร้บ้านในญี่ปุ่น

ตลอดทริปที่เดินทางตั้งแต่เกาะแห่งความฝันที่เราไปสำรวจการจัดงานมหกรรมระดับโลกอย่าง World Expo 2025 ต่อเนื่องมาลัดเลาะสถานที่ตามย่านต่าง ๆ รอบเมือง จนกระทั่งมาถึงบทสุดท้ายที่เราเลือกเลี้ยวจากทางหลักมาอยู่ที่มุมเงียบ ๆ ของเมืองที่อาจไม่คุ้นตาความเป็นโอซาก้าโดยทั่วไปเท่าไรนัก และทั้งสามบทของการเดินทางครั้งนี้ อาจดูแตกต่างกันในบรรยากาศ เรื่องเล่า และน้ำเสียง แต่เมื่อผนวกรวมด้วยกันแล้ว ผู้เขียนคิดว่ามันกลับเล่าถึงเมืองเดียวกันได้อย่างครบถ้วน ทั้งความทันสมัย สีสันที่มี และความเปราะบางแต่ก็แสนจริงแท้ในเวลาเดียวกัน

สุดท้ายแล้วนั้นอาจขึ้นอยู่กับว่า ‘จุดหมาย’ ของการเดินทางสำหรับทุกท่านคืออะไร บางคนอาจมาโอซาก้าเพื่องานมหกรรมระดับโลก บางคนอาจมาเพื่อลิ้มลองของอร่อย ชื่นชมมิวเซียม หรือแสงสีในยามค่ำคืน แต่หากเราลองหยุดฟังเมืองนี้ให้ดี เราอาจพบว่ามันกำลังพยายามเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เราได้ฟัง ทั้งการพัฒนา นวัตกรรม วัฒนธรรม ความหวัง ความทรงจำ หรือกระทั่งเสียงที่เงียบที่สุดของชีวิตที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง

ขอบคุณที่เดินทางด้วยกันมาตลอดทั้งทริปนี้ หวังว่าจะพบกันใหม่ในบทถัดไป

AUTHOR

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล