สมัยเด็ก ๆ เราอาจจะเคยต้องทำงานกลุ่มตอนครูสั่งการบ้าน พอโตมาหน่อยชีวิตในมหาวิทยาลัยก็ยังมีงานบางอย่างที่ต้องทำร่วมกันเป็นหมู่คณะ และเมื่อเราเติบโตขึ้นเต็มวัยแน่นอนว่าเราก็ยังหนีไม่พ้นกับ ‘การทำงานเป็นทีม’ นั่นก็เพราะว่าในงานบางชนิดไม่สามารถทำให้เสร็จสมบูรณ์ได้ในคนคนเดียว การทำงานเป็นทีมจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่สิ่งที่พ่วงกันมาด้วยก็คือ ‘ปัญหาการทำงานเป็นทีม’ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก คิดดูง่าย ๆ ว่าความสัมพันธ์กันแบบพ่อแม่ยังมีทะเลาะ ความสัมพันธ์แบบแฟนก็มีความขัดแย้ง หรือความสัมพันธ์แบบพี่น้องท้องเดียวกันก็ยังมีการกระทบกระทั่งกันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกคนเติบโตมาไม่เหมือนกัน ความคิด ทัศนคติแตกต่างกัน และยิ่งการทำงานเป็นทีมเป็นการรวมคนจากความหลากหลายหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่ง ไม่แปลกที่การทำงานเป็นทีมอาจจะทำให้เราประสาทแดกจนอยากจะกรี๊ดออกมาเป็นภาษาตุรกี แต่ในเมื่อเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันในทีมให้ได้ วันนี้จึงอยากนำเทคนิคดี ๆ 5 เทคนิคมาแชร์กันว่าจะรับมืออย่างไร เมื่อการทำงานเป็นทีมกำลังทำให้เราหงุดหงิดจนทนไม่ไหว
จัดการ ‘ปัญหาหัวใจ’ ให้มันจบใน ‘ห้องประชุม’
หลายครั้งหลายคราที่การทำงานเป็นทีมจะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ง่ายนิดเดียวคือ ‘การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ’ แต่สิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะไม่เลือกทำด้วยเหตุผลนานาชนิด เช่น ไม่อยากปะทะ ไม่อยากเผชิญความจริง แต่ผู้คนมักเลือกจะทำสิ่งที่ยากกว่า เช่น การเอาไปพูดลับหลัง หรือ การเอาไปพูดในกลุ่มแชทลับที่ไม่มีใครสักคนในทีมอยู่ และแน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่มีทางฟังก์ชั่น ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าปัญหาไม่ได้ถูกสื่อสารเมื่อปัญหาไม่ได้ถูกสื่อสารแล้วอะไรทำให้เรามั่นใจว่าสิ่งนั้นจะถูกแก้ปัญหา ดังนั้นต้องแยกให้ออกระหว่าง ‘การทำงาน’ กับ ‘กิจกรรมเมาท์เอาสนุก’ (ไม่ได้บอกว่าการเมาท์เอาสนุกผิดหรือถูก ถ้าหากเรามีพลังงานเหลือก็สามารถนับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในชีวิตได้) ดังนั้น ถ้าอยากทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพียงแค่เปิดอกคุยกันทุกเรื่องในที่ประชุม ร่วมกันหาทางออก และปิดจ๊อบปัญหาไป รวมถึงถ้าหากจะทะเลาะกันก็ให้ทะเลาะกันในที่ประชุมให้เสร็จและทำงานกันต่อ ไม่จำเป็นต้องคิดให้ซับซ้อนเพราะชีวิตยังมีมิติอื่น ๆ ที่ซับซ้อนกว่านี้อย่างแน่นอน
แยกให้ขาดระหว่าง ‘คนชอบเสพดราม่า’ กับ ‘คนชอบจัดการปัญหา’
เมื่อตอนต้นได้เปิดประเด็นไว้นิดหน่อยว่า พื้นฐานแต่ละคนโตมาไม่เหมือนกัน บางคนชอบแก้ปัญหา บางคนหาทุกทางมาเพื่อโทษคนอื่นยกเว้นตัวเอง บางคนเอาแต่ชอบดราม่าโดยไม่สนอะไร และใช่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติของมนุษย์เราเพราะ ‘เราโตมาไม่เหมือนกัน’ สื่อที่เราเสพอาจจะคนละแบบ พื้นฐานครอบครัวต่างกัน ทันศนคติที่หล่อหลอมมาทั้งชีวิตอาจจะคนละโลก ความแตกต่างเหล่านี้ เราในฐานะของหนึ่งในทีมอาจจะต้องคอยสังเกตการณ์และวิเคราะห์ ซึ่งจะมีคนอยู่ไม่กี่ประเภทในที่ทำงาน บางคนเป็นสายกวนน้ำให้ขุ่น ชอบเปิดประเด็นที่ไม่เป็นประโยชน์เพราะคาดหวังความ ‘ดราม่า’ สิ่งที่ควรทำที่สุดคือ อย่าลงไปร่วมวงกับดราม่าเด็ดขาดเพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์ในที่ทำงานแล้วยังอาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราได้ เราควรทำตัวลอยเหนือดราม่าแล้วมองหาคนที่ชอบจัดการปัญหาภายในทีม จากนั้นก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับบุคคลเหล่านั้นเพื่อหาทางออกของปัญหาอย่างเป็นระบบต่อไป
แยก ‘เพื่อนร่วมงาน’ กับ ‘เพื่อน’
“พวกเขาคือเพื่อนร่วมงานไม่ใช่เพื่อน” คือคำพูดของนักฟุตบอลชื่อดังระดับโลกอย่าง ‘โรนัลโด้’ หลาย ๆ คนที่ได้ฟังตอนนั้นอาจจะรู้สึกว่าทำไมใจร้ายจัง ทุกคนก็คือเพื่อนกันไม่ใช่หรอ! แต่หากลองใส่สมองและคิดตรึกตรองดูอีกที คนที่พูดเช่นนี้คือคนที่จริงจังในความสัมพันธ์มาก ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ชอบเอาความสัมพันธ์ของ 2 ข้อนี้มาผสมปนเปมั่วกันไปหมด คำตอบของเรื่องนี้คือ ‘แยกให้ขาด’ ไม่ได้บอกว่าเพื่อนร่วมงานไม่สามารถคบเป็นเพื่อนได้ ถ้าหากเคมีเข้ากันได้ นิสัยเข้ากันดี ก็เป็นเพื่อนกันได้ แต่อยากให้ลองจินตนาการถึงสมัยที่เรามีเพื่อนในวัยเด็ก ตอนนั้นมันไม่ได้มีประโยชน์เรื่องของการทำงานร่วมกันเข้ามาเกี่ยว ทำให้ความสัมพันธ์มันก็คือเพื่อนกันแบบ 100 เปอร์เซนต์นี่ล่ะ แต่ในฐานะของเพื่อนร่วมงานมันมีประโยชน์ของการทำงานเข้ามาเกี่ยว ดังนั้นแน่นอนว่ามันไม่เหมือนกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่คุยเรื่องงานควรคุยกันแบบเพื่อนร่วมงาน หรือถ้านอกเวลางานอยากจะสื่อสารกันแบบเพื่อนก็ไม่มีปัญหา เพียงแต่ควรแยกความสัมพันธ์ให้ขาดไม่งั้นทุกคนอาจจะเข้าใจผิดและร้องขอไปในฐานะเพื่อนว่าเรื่องแค่นี้น่าจะยอมกันได้นะ หรืออาจจะเข้าไปก้าวก่ายชีวิตเพื่อนร่วมงานโดยเข้าใจผิดว่าเป็นเพื่อน ดังนั้นการแยกความสัมพันธ์ของทั้งสองความสัมพันธ์นี้ออกจากกันเป็นประโยชน์มาก ๆ กับประสิทธิภาพการทำงาน
หัวหน้า = Key Message
‘การบริหารทีมไม่ใช่เรื่องง่าย’ และแน่นอนว่าภาระหน้าที่ตรงนี้ตกไปอยู่ที่หัวหน้าทีม อันดับแรกหัวหน้าอาจจะต้องมองภาพรวมของคนในทีมก่อนว่าพื้นฐานนิสัย ลักษณะการทำงาน ความถนัดของแต่ละคนเป็นอย่างไร ซึ่งมีตัวช่วยอย่างแบบทดสอบลักษณะนิสัยเบื้องต้น 16 ลักษณะนิสัยโดยสามารถทดสอบได้ผ่านทาง https://www.16personalities.com เพื่อเข้าใจพื้นฐานนิสัยของแต่ละคนและหาวิธีการในการสมดุลความแตกต่างของนิสัยแต่ละคนให้ทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ วิธีการแก้ปัญหาแบบใช้เหตุผลอาจจะไม่ได้ผลกับคนที่ถนัดใช้ความรู้สึก หรือวิธีการแก้ปัญหาแบบใช้ฟีลลิ่งก็อาจจะไม่ได้ผลกับคนที่ถนัดใช้เหตุผล หัวหน้าจำเป็นต้องมีทักษะในการแก้ไขปัญหาสูงมาก เพราะการทำงานเป็นทีมตั้งอยู่บนความขัดแย้ง รวมถึงควรสร้าง ‘พื้นที่สื่อสารอย่างมีคุณภาพ’ เพื่อให้ทุกคนในทีมมั่นใจว่าปัญหาของพวกเขาจะได้รับการรับฟัง และควรสร้างบรรยากาศในทีมให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามหากทีมถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน 3 ส่วน ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ นอกจากนี้ควรวางตัวให้เหมาะสมมีมาตรฐานที่มั่นคง เมื่อไหร่สื่อสารในฐานะเพื่อนก็คือเพื่อน แต่เมื่อไหร่ที่สื่อสารในฐานะหัวหน้ากับลูกน้องก็ควรทำให้เป็นทางการที่สุด และอีกปัจจัยข้อหนึ่งที่สำคัญก็คือ อย่าลืมชื่นชมพวกเขาหากงานออกมาดี เพราะนอกจากตัวเงินแล้ว นั่นคือสิ่งพิเศษที่คนตั้งใจทำงานอยากจะได้รับมัน
แกล้งบ้า
‘แกล้งบ้า’ เป็นเพียงคำพูดเล่น ๆ แต่นัยยะของมันก็คือ ‘ไม่จำเป็นต้องคิดมาก’ ทุก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในทีมหรือจากการทำงาน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเดี๋ยวมันก็ดับไป ไม่จำเป็นต้องจะเป็นจะตาย เพราะไม่เคยมีใครตายเพราะแก้ปัญหาไม่ได้ ทุกปัญหาสามารถแก้ได้ ดังนั้นไม่ต้องเก็บมาคิดมาก พยายามมีความสุขกับการทำงานในแต่ละวันด้วยการหาของอร่อยกินบ้าง เล่นกับเพื่อนร่วมงานบ้าง หัวเราะบ้าง เพราะข้อเท็จจริงข้อหนึ่งก็คือเราจำเป็นต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ นานถึง 8 – 9 ชั่วโมงต่อวัน และถ้าเมื่อไหร่เรารู้สึกว่าการเข้าไปทำงานเป็นชีวิตที่ทรมานเท่ากับว่าเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเรากำลังเป็น ‘นรก’ การแกล้งบ้าด้วยการวางความเครียดลงบ้าง หากิจกรรมที่พักสมองทำ อย่าละทิ้งกิจกรรมสุดโปรดเราเคยชอบ ใช้เวลากับคนรักหรือครอบครัว พักผ่อนให้เพียงพอ หรือถ้าช่วงไหนรู้สึกเศร้าก็ยอมรับความรู้สึกตัวเองและค่อย ๆ แก้ปัญหาไป ไม่จำเป็นต้องรู้สึกทุกข์ทรมานหากไม่จำเป็น ไม่มีอะไรเจ็บปวดเท่ากับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะทุกอย่างอยู่กับทักษะการเผชิญความจริงของเราทั้งหมด ไปกันต่อ!
อ้างอิง
- https://www.herzing.edu/blog/7-important-teamwork-skills-you-need-school-and-your-career
- https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190509-team-work/
- https://www.16personalities.com/th/แบบทดสอบบุคคลิกภาพ
- https://th-th.workplace.com/blog/team-working-skills