‘การโกหก’ อาจจะเป็นสิ่งที่มนุษย์บางคนไม่ชอบ และแน่นอนว่าการโกหกสามารถทำลายทั้งความเชื่อใจ และทำร้ายทุก ๆ ความสัมพันธ์มาอย่างนับครั้งไม่ถ้วน แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ทำไมมนุษย์เราถึงยังเลือกจะโกหกมากกว่าที่จะพูดความจริงกันนะ?
พฤติกรรมการโกหก ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการโดยการทำวิจัยของ ‘เบลลา เดเปาโล’ (Bella DePaulo) นักจิตวิทยาสังคม โดยจากผลวิจัยชี้ว่า คนที่เข้าร่วมในการทำวิจัยครั้งนี้พูดโกหกเฉลี่ยวันละ 1 – 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ใช่การโกหกร้ายแรง อาจจะเป็น ‘การโกหกขาว’ ที่มีเจตนาเพื่อรักษาน้ำใจคนอื่น หรือปิดบังข้อด้อยของตนเอง นอกจากนี้นักวิจัยยังสันนิฐานว่า พฤติกรรมการโกหกของมนุษย์เรานั้น น่าจะเกิดตาม ๆ กันมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของภาษา ทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการโกหกก็คือ การแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจนั่นเอง
Lindgkold และ Waltesr ได้จำแนกการโกหกออกเป็น 6 ประเภทเพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ ประกอบไปด้วย การโกหกเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเซฟผู้อื่นจากความรู้สึกเจ็บปวด, การโกหกเพื่อปกป้องตนเองและคนอื่น, การโกหกเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง, การโกหกเพื่อรักษาผลประโยน์, การโกหกเพื่อได้มาซึ่งอิทธิพล, การโกหกด้วยการทำร้ายคนอื่นเพื่อที่ตัวเองจะได้รับผลประโยชน์
นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราจะเห็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการโกหกเต็มไปหมด เช่น การโกหกเพื่อพยายามจะเอาชนะสงคราม, การโกหกเพื่อปล้นทรัพย์, การโกหกวุฒิการศึกษาเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่าง นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็ก ๆ ขำ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโกหกในปัจจุบันซึ่งถูกเรียกว่าเทรนด์ Real or Cake? หรือ จริงหรือเค้ก? ซึ่งเทรนด์เหล่านี้จะเป็นคลิปวิดิโอสั้น ๆ ที่ให้พวกเราทายกันว่าของที่อยู่ตรงหน้าเป็นของสิ่งนั้นจริง ๆ หรือเป็นเค้กที่ถูกทำมาจนหน้าตาเหมือนสิ่งสิ่งนั้นเป๊ะ ๆ และเมื่อคลิปเหล่านี้ไวรัลไปทั่วโลก คนบางกลุ่มก็มักจะใช้คำว่า ‘เค้ก’ แทนการโกหก ยกตัวอย่างเช่น เรื่องที่เธอพูดเค้กหรือเปล่าเนี่ย? เป็นต้น
อีกหนึ่งสิ่งที่การันตรีว่าการโกหกมีจริงอยู่บนโลกใบนี้ก็คือ การกำหนด วันเมษาน่าโง่ หรือวัน April Fool’s Day ซึ่งนับว่าเป็นวันโกหกโลก และถูกกำหนดให้อยู่บนปฏิทินทุกวันที่ 1 เมษายนของทุกปี โดยที่มาของมันก็คือ ในช่วงศตวรรษที่ 16 ชาวฝรั่งเศสจะฉลองวันปีใหม่ทุก ๆ วันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี 1562 ได้มีการกำหนดให้ชาวคริสตร์ฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคมของทุกปีแทน แต่ด้วยความที่เทคโนโลยีไม่ได้ทันสมัยอย่างในปัจจุบัน ทำให้ชาวฝรั่งเศสบางกลุ่มฉลองปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนดังที่เคยทำในทุก ๆ ปี จึงทำให้กลายเป็นเรื่องตลกของชาวฝรั่งเศสกลุ่มอื่น ๆ และเกิดการโกหกเล่นในวันที่ 1 เมษายน และค่อยมาเฉลยกันทีหลัง จนในที่สุดพฤติกรรมเช่นนี้ก็ถูกแพร่กระจายและได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ในช่วงเวลาต่อมาได้เกิดการกำหนดวันแก้วันโกหกเป็น วันพูดความจริง หรือวัน Tell the Truth Day ขึ้นมา โดยจะตรงกับทุก ๆ วันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปี เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2015 ซึ่งวันพูดความจริงจะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับวันโกหกอย่างสิ้นเชิง โดยวันนี้ทุกคนจะต้องพูดความจริงกันตลอด 24 ชั่วโมง หรือใครมีอะไรอยากจะแสดงความจริงใจหรือซื่อสัตย์ต่อกันก็สามารถใช้วันนี้เป็นโอกาสในการพูดออกไปได้ และในบางปีสามารถใช้วันที่ 2 เมษายน ในการพูดความจริงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อแก้กับวันที่ 1 เมษายนที่ได้ทำการโกหกไปแล้วก่อนหน้านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม อย่างที่เรารู้กันดีว่าการโกหกเป็นเรื่องที่เราพบเจอกันได้บ่อยครั้งในสังคม เพราะมนุษย์ก็ยังเป็นสัตว์สังคม และบ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการโกหกบางครั้งก็ช่วยปลอบประโลมให้เรารู้สึกดีได้ในวันที่เราอ่อนแอเกินกว่าจะรับฟังความจริง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนเราจะชื่นชอบคำชมมากกว่าคำวิจารณ์นั่นเอง
อ้างอิง
- https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/lying/
- https://ngthai.com/science/2360/the-reason-why-we-lie/
- https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/122671
- https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/303726
- https://web.facebook.com/nbtnorth/photos/วันพูดความจริง-tell-the-truth-day-ตรงกับวันที่-7-กรกฎาคมของทุกปี-เป็นวันที่ให้โอ/885002360327805/