แทบจะจำความไม่ได้เหมือนว่า อากาศหนาวที่เราสัมผัสได้ในเมืองไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครมันเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ถึงแม้ช่วงเวลาเหล่านั้นมักจะเยือนมาถึงในช่วงปลายปีอยู่สม่ำเสมอ แต่ล่าสุด ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ได้ออกประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ ‘ฤดูหนาว’ อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 แล้ว ด้วย 3 ปัจจัย ดังนี้
- 1. ประเทศไทยเริ่มมีอากาศเย็นปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุณหภูมิน้อยกว่า 23 องศาเซลเซียส) และขยายพื้นที่ครอบคลุมบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก
- 2. ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับความสูงต่ำกว่า 3,500 เมตร เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมที่ระดับความสูงตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไปเปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก
- 3. การกระจายของฝนลดลงอย่างต่อเนื่อง
แต่ถึงจะเป็นไปตามปัจจัยด้านบนที่กล่าวมา แต่ในบางพื้นที่ของประเทศไทยตอนบนก็อาจจะมีฝนเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคใต้ก็คงมีฝนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตกหนักถึงหนักมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2567
ทั้งนี้ หากดูจากคาดการณ์อากาศทั่วไปช่วงวันที่ 4-10 พฤศจิกายน บริเวณที่มีความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ จะทำให้พื้นที่ในตอนบนของไทยมีอากาศเย็นในตอนเช้าและมีลมแรง ในขณะที่ลมตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนได้พัดเอาความชื้นจากทะเลจีนใต้และไทยเข้าปกคลุมประเทศไทยตอนบนเพิ่มเติมอีกด้วย ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ส่วนร่องมรสุมที่พัดผ่านภาคใต้ตอนกลางจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านในบริเวณดังกล่าว ขณะที่ลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดมาปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนบนจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นสูง 1-2 เมตร ในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นจะสูงมากกว่า 2 เมตร และสำหรับอ่าวไทยตอนล่าง รวมถึงทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นจะสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ระวังฝนตกหนักและฝนตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวประมงที่ต้องออกเรือในทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และให้หลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง