หากใครที่เคยเดินทางด้วยเครื่องบินก็คงไม่มีใครไม่รู้จักกับสายการบินสัญชาติไทยอย่าง ‘ไทยสมายล์’ สายการบินที่มีผู้ถือหุ้น 100% อย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่เมื่อไม่นานมานี้ สายการบินไทยสมายล์ (Thai Smile) เพิ่งออกประกาศว่าจะเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นวันสุดท้าย จึงอยากชวนมาเปิดข้อมูลทุกตัวเลขของสายการบินไทยสมายล์ก่อนที่จะปิดตัวสิ้นปีนี้ 

สายการบินไทยสมายล์ เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2555 และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท โดยเครื่องบินที่ใช้เป็นรุ่น Airbus A320 มีเครื่องบินประจำทั้งหมด 20 ลำ สายการบินมีทั้งหมด 23 สาย แบ่งเป็น สายการบินภายในประเทศ 10 ประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น เชียงราย หาดใหญ่ อุบลราชธานี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และกระบี่ นอกจากนี้ไทยสมายล์ยังให้บริการเส้นทางข้ามภาคระหว่างเชียงใหม่และภูเก็ต และสายการบินระหว่างประเทศ 13 เส้นทาง ได้แก่ เสียมราฐ (กัมพูชา) ปีนัง (มาเลเซีย) ฉางซา (จีน) ฉงชิ่ง (จีน) เจิ้งโจว (จีน) คยา (อินเดีย) พาราณสี (อินเดีย) ชัยปุระ (อินเดีย) ลัคเนา (อินเดีย) ย่างกุ้ง (พม่า) โคตาคินาบาลู (มาเลเซีย) พนมเปญ (กัมพูชา) และจิตตะกอง (บังกลาเทศ) โดยตลอดระยะเวลาที่เปิดให้บริการมาสายการบินไทยสมายล์ไม่เคยทำกำไรได้เลยแม้แต่ปีเดียว โดยสถิติข้อมูลรายได้ตั้งแต่ 25561-2565 มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ 

  • ปี 2561 มีรายได้รวม 11,063 ล้านบาท ขาดทุน 2,602.3 ล้านบาท 
  • ปี 2562 มีรายได้รวม 14,573.6 ล้านบาท ขาดทุน 112.5 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้รวม 5,451 ล้านบาท ขาดทุน 3,266.9 ล้าน
  • ปี 2564 มีรายได้รวม 3,762.9 ล้านบาท ขาดทุน 3,792.1 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีรายได้รวม 8,760.3 ล้านบาท ขาดทุน 4,248.4 ล้านบาท

โดยจากตัวเลข สรุปได้ว่าตลอด 5 ปีของการเปิดให้บริการสายการบินไทยสมายล์ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และมียอดขาดทุนรวมกันตั้งแต่ตั้งบริษัทมากถึง 20,000 ล้านบาท ซึ่งจริง ๆ แล้วการเกิดขึ้นของสายการบินไทยสมายล์ คือโมเดลธุรกิจลูกที่แยกย่อยมาจากธุรกิจหลักอย่างการบินไทย  หากย้อนกลับไปดูว่าอะไรที่พาไทยสไมล์มาถึงจุดนี้ก็คงมีหลากหลายสาเหตุ โดยสามารถสรุปเหตุการณ์สำคัญ ๆ ได้ ดังต่อไปนี้ 

  • ปี 2558 ขาดทุน 1,852.7 ล้านบาท สาเหตุเกิดจาก ICAO ให้ธงแดงกับประเทศไทย ส่งผลให้ไทยสมายล์ไม่สามารถบินเข้าบางพื้นที่ได้ และมีมติจากซุปเปอร์บอร์ดต้องการชะลอการหาเครื่องบิน แต่ในทางกลับกันได้มีการจัดซื้อเครื่องบินถึง 8 ลำ เพราะคาดการณ์ว่า ปี 2559 ไทยสมายล์จะเป็นกำไรได้เกือบ 2,000 ล้านบาท แต่ในตัวเลขจริงก็คือคาดทุนกว่า 2,000 ล้านบาทแทน
  • ปี 2563 เกิดภาวะโควิด-19 ระบาดในปีแรก จนส่งผลให้ในปี 2563 ขาดทุน 3,266.9 ล้านบาท
  • ปี 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง จนในปีนั้นขาดทุน  3,762.9 ล้านบาท ส่งผลให้มีการปรับโครงสร้างองค์กรและวางแผนฟื้นฟูกิจการโดยมี นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์เป็นประธาน ซึ่งแผนดังกล่าวคือการควบรวมการบินไทยกับไทยสมายล์ให้เหลือเพียงแบรนด์เดียว และศาลเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการในปี 2565 และนั่นคือที่มาของการยกเลิกการให้บริการของไทยสมายล์นั่นเอง 

อย่างไรก็ดี การควบรวมของทั้งสองสายการบินเป็นหนึ่งในแผนของการฟื้นฟูกิจการ โดยในปัจจุบันได้มีการโอนย้ายพนักงานไทยสมายล์ 800 กว่าคนไปที่การบินไทยเรียบร้อยแล้ว โดยพนักงานจะยังได้ฐานเงินเดือนและสิทธิสวัสดิการเช่นเดิม และกำลังโอนย้ายเครื่องบิน Airbus A320 จำนวน 20 ลำมารวมที่ฝูงการบินไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2567 และผู้โดยสารสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงการสำรองที่นั่ง และบริการต่าง ๆ ของไทยสมายล์ โดยจะเริ่มถูกโอนย้ายไปยังการบินไทย ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป โดยแผนการปรับกิจการและการปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นต้องการแก้ไขปัญหาขาดทุนต่อเนื่องของไทยสมายล์ และต้องการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากขึ้น