แต๋ง After Yum

จำได้ไม่ถนัดว่าใครคือผู้บัญญัติ Combination ระหว่าง ‘กะเทย’ และ ‘ยำ’ เข้าไว้ด้วยกัน แต่ในมุมหนึ่งสองสิ่งนี้ดูจะเป็นของคู่กันไปโดยปริยายแล้วในปัจจุบัน

รสเผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม และกลมกล่อมนัวลิ้นของเมนูยำหลากวัตถุดิบ อาจสะท้อนได้ถึงชีวิตพี่กะเทยที่ผสมปนเปไปด้วยความสุข ความเศร้า ความทุกข์ ความสนุก ความเฮฮา ความเครียด หรือความรู้สึกอีกร้อยแปดพันเก้าที่ไม่ว่า Inside Out จะทำขึ้นมากอีกกี่เวอร์ชันก็สู้ไม่ได้

ยิ่งพอเราได้เดินทางไปลองชิมหลากหลายเมนูยำเลื่องชื่อของร้านอาหารสายแซบแถบตะวันออก ท่ามกลางบรรยากาศอันร้อนระอุตอนเที่ยงตรง ในปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งของเมืองพัทยา จ.ชลบุรี อย่าง ‘After Yum’ เราก็สัมผัสได้ถึงความอร่อยแสบทรวงอย่างที่เขาว่า จนต้องทำปากแจ๊บ ๆ ไปหลายที เพราะน้ำยำของร้านนี้เข้มข้นเสียเหลือเกิน

ไม่แปลกใจเลยที่จากเพียงร้านยำธรรมดาทั่วไปขนาด 2 คูหาในปั้มแห่งนี้ จะขยับขยายตัวเองไปทั่วประเทศ และพัฒนาสาขาต้นทางให้กลายเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ติดแอร์ และจะเพิ่มอะไรใหม่ ๆ เพื่อขยับตัวเองไปข้างหน้าอีกเรื่อย ๆ

วันนี้เราเดินทางมาพูดคุยกับ ‘แต๋ง-กฤษฏิ์กูล ชุมแก้ว’ ผู้ปลุกปั้นความแซบจี๊ดจ๊าดให้กลายเป็นร้านยำสุดไวรัลที่ค่อย ๆ พัฒนาเป็นความยั่งยืนมาจนถึงวันนี้ เพื่อค้นหา First Draft จากทุกความตั้งใจที่เธอใส่ลงในอาหารทุกเมนู และน้ำยำทุกมิลลิลิตรกันว่าเพราะอะไร ‘After Yum’ จึงกลายเป็นธุรกิจที่ดูน่าสนใจได้ถึงเพียงนี้

เราขอถือวิสาสะเปลี่ยนชื่อร้าน ‘After Yum’ เป็น ‘Before Yum’ ให้คุณได้อ่านที่มาที่ไปได้ตั้งแต่บรรทัดนี้กัน

ชีวิตที่ลอง Yum

ก่อนทำ After Yum ทำอะไรมาบ้าง

เดิมทีเราจบ The Hotel and Tourism Training Institute เป็นสถาบันฝึกอบรมวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยวของ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ที่จะผลิตบุคลากรของสายงานโรงแรมและท่องเที่ยวเพื่อนำร่องให้กับมหาวิทยาลัย ย้อนไปสมัยนั้นเรื่องการโรงแรม การท่องเที่ยวยังไม่มี ต้องมาเรียนที่นี่ก่อน

รูปแบบของที่นี่จะเป็นที่ ๆ ให้สถาบันหรือให้มหาวิทยาลัยมาดูงาน เช่น ถ้าเป็นแผนก Front Office หรือแผนกแม่บ้าน เขาก็จะจำลองห้องกูรเม่ต์ ห้องปูเตียง หรือถ้าเป็นในส่วนของอาหารเครื่องดื่ม ก็จะจำลองห้องอาหารแบบนี้เลย มีการสาธิตการเสิร์ฟ การกิน สมมุติเวลามีเรียน วันจันทร์เรียนเรื่องเบเกอรี่ วันอังคาร พุธ เรียนอาหารยุโรป หรือวันศุกร์เรียนอาหารไทย หากวันนี้ใครมาดูงาน เขาก็จะได้คอร์สเป็น Individual set ตามที่ฝึกที่เรียนมาเสิร์ฟกันจริง ๆ อะไรแบบนี้เลย

แล้วความยากก็คือการเรียนแล้วก็เข้าแล็บ เรียนแล้วก็ฝึกงาน ต้องสลับแบบนี้ ปี 1 เปิดมาเรียนก่อนเลย 1 เดือน เข้าเดือนที่สอง สัปดาห์นี้เข้าแล็บ อาทิตย์นั้นเรียน อาทิตย์โน้นฝึกงาน เรียน 5 วัน เสาร์ อาทิตย์ได้หยุด แต่ถ้าฝึกงานจะได้หยุดแค่วันเดียว แล้วสถาบันนี้ปิดเทอมปีหนึ่งแค่เจ็ดวันถ้วน เพราะเขาจะส่งเด็กไปทำงานตามโรงแรมหรือแหล่งท่องเที่ยว หลังจากนั้นเข้าเทอม 2 จะเข้มงวดมาก เรียนตั้งแต่ 7 – 8 โมงเช้า เลิก 2 ทุ่ม เพราะเขาต้องเอาสองเดือนมารวบเป็นเดือนเดียว

ปีถัด ๆ ไปก็ค่อนข้างหนัก บางวิชาก็ต้องไปพ่วงกับ ม.บูรพา ต้องนั่งรถเวียนไปเรียนที่นั่นที่นี่ ฉะนั้นคนที่เติบโตจากสถาบันนี้จะอยู่ในแวดวงการโรงแรม วงการการท่องเที่ยวกันเป็นส่วนใหญ่ เกินครึ่งจะเป็นเจ้าของร้านอาหารต่างประเทศ บางคนก็มีชื่อเสียงในเรื่องของต่างๆ นานา ถ้าใครเดินสายก็จะเป็นแอร์โฮสเตสอะไรอย่างนี้

แสดงว่าก็ได้วิชาความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำอาหารมาจากที่นี่ด้วยใช่หรือเปล่า

ส่วนหนึ่งเลย แต่เอาจริง ๆ มันคือความชอบของเรา ส่วนตัวเป็นคนชอบทำอาหารอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก ยายเรา แม่เรา พ่อเรา ทุกคนในบ้านทำอาหารอร่อยกันหมดทุกคนเลยในชีวิต

ตอนเด็กๆ เราเป็นคนชอบการกินมาก ชอบไปเปิดตู้เย็นให้แอร์มันออกแล้วนั่งหาของกินหน้าตู้เย็นอยู่อย่างนั้นจนหมด แล้วชอบไปอยู่ในครัวเวลาพ่อ แม่ หรือยายทำอาหาร สมมติแม่ทำปลาราดพริก เราก็จะแอบไปกินตั้งแต่ยังเป็นปลาทอดเฉย ๆ ก่อนเลย แม่ก็บอก “น้ำราดพริกยังไม่สุกเลย” เราก็บอก “ไม่เป็นไรแม่ เดี๋ยวค่อยเอามาราด” ตอนหลังเราเพิ่งมามารู้ว่ามันคือกระบวนการทดลองชิมอาหารในแต่ละขั้นตอน ที่ทำให้ลิ้นเราลิ้มรสแล้วสามารถแยกรสที่แตกต่างกันได้

แล้วเราก็ชอบดีไซน์การกินอะไรแปลก ๆ ตอนเด็ก ๆ เราอยากกินสเต๊กมาก แล้วสมัยนั้น 35 ปีที่แล้วเมนูสเต๊กมันยังไม่ได้เป็นที่รู้จักขนาดนี้ กะเทยก็ต้องหาวิธีการทำสเต๊ก ตอนทำครีมซอส ก็ลองใช้ครีมเทียมที่กินกับกาแฟมาผสม ใส่นมนั่นนี่ พริกไทยแบบบิด ๆ ก็ไม่มีนะ ต้องโขลกเอา มีดส้อมที่ใช้กินก็ไปตระเวนซื้อมาจากจตุจักร ที่เขาขายมีดส้อมของการบินไทย

แม้กระทั่งลองทำเบเกอรี่ ทำเค้ก ตอนเรา ม.3 มันไม่มีสถาบันสอนเลย ต้องไปเรียนคหกรรมเอาถึงจะรู้ แต่เราไม่อยากเรียน เลยไปซื้อเค้กตามร้านเบเกอรี่มาหนึ่งก้อน แล้วก็ไปซื้อครีมมาเพื่อทำวิปครีม เราไม่รู้วิธีการหรอก เลยหาทางทำเอาครีมใส่นมข้นหวานแล้วก็ไปนั่งตี บีบแต่งหน้าเค้กตามมีตามเกิด อยากทำอะไรก็ทำ ทำวุ้นผสมสีแล้วเดินขายที่โรงเรียนอะไรอย่างนี้ มันเกิดมาจากความชอบกินล้วน ๆ เลย

แล้วร้าน After Yum เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป็นความชอบด้วยหรือเปล่า

ตอนนั้นเพิ่งหายป่วยใหม่ ๆ จากการผ่าตัดเนื้องอก เวลานอนแอตมิตที่โรงพยาบาลช่วงนั้นก็รู้สึกว่าชีวิตที่เรามีอยู่ตอนนี้มันเพื่ออะไร เพื่อตายเท่านั้นหรือ เราเรียนภาษาจีนไปทำไม มีเงินในธนาคารไปเพื่ออะไร มันทำให้เราได้คิดอะไรได้หลาย ๆ อย่าง หลังจากนั้นเราก็เบางานตัวเองลง

ช่วงนั้นเริ่มมาเจอกับดุจดิว (ดุจดิว-ธีระวัฒน์ บุตรตะยา ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน After Yum) ในสถานบันเทิง ดิวเป็นนักแสดงของ Alcazar Cabaret Show แล้วเราก็ชอบดูโชว์ เพราะเราชอบทางนี้มาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน เป็นสายกิจกรรมตั้งแต่อนุบาลเลย ขึ้นรำ ขึ้นเต้นตามประสา โตมาเลยชอบดูโชว์ แล้วก็ได้ดูดิวที่นี่ไปจนถึงตอนที่ดิวโชว์ในผับเราก็ตามไปดูบ้าง ได้รู้จักกันบ้าง แต่ยังไม่ได้สนิทแน่นแฟ้นกัน

จนช่วงที่เราใช้ Socialcam ซึ่งเป็นช่วงที่เราเข้าไปเล่นหลังเวที Alcazar แล้วก็ได้สนิทกับดิว มีโอกาสได้พูดคุย เจอกันทุกวัน ได้กินข้าวด้วยกันทุกมื้อ มันก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้มาเปิดร้านด้วยกันเท่านั้นเอง

First Draft แรกของร้าน After Yum วุ่นวายแค่ไหน 

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 จำได้เลยว่าไม่กล้าขายเพราะกลัว กะเทยยืนซ้อมยำกัน พอจะขายจริงหันไปมองหน้ากัน “ไม่กล้าว่ะ” “แม่ หนูก็ไม่กล้า” กลัวบ้ง “แจกไหม” “แจกแม่” โทรหาคนนู้นคนนี้ให้มาชิมฟรีวันนั้น

ด้วยความที่สื่อโซเชียลช่วงนั้นมันก็กำลังมา บน Facebook ส่วนตัวเราก็เห็นว่าใครมากินเขาก็ไลก์ เขาก็เช็คอิน เลยเป็นไวรัล เข้าวันที่สองขายจริง 2 ชั่วโมงของหมด คิดเงินรวนเลยนะ ของก็ไม่มี ยำก็ยังไม่ทันกันอยู่เลย ของก็สั่งกันมาหลายสิบโล กุ้ง ปู 15 – 20 กิโลกรัมได้

ตอนนั้นเพิ่งกลับจากเกาหลีใต้ ไปฉีดไขมันที่หน้ามาแล้วเขาห้ามเจอความร้อน ยืนทอดหมูกันร้อน ๆ จนต้องไปร้องไห้ในห้องน้ำปั้ม หรือดิวสมัยนั้นเป็นเจ้าแม่แห่งการรีวิว ก็มาบ่นกับเราว่าชีวิตฉันมาทำอะไรอยู่ แล้วก็ร้อง ก่อนเปิดร้านคุยกันไว้แล้วด้วยนะ ว่าถ้ามีอะไรให้คุยกัน อย่าทะเลาะ ถ้าทะเลาะให้จบวันเดียว สรุปมาบอกเรา “แม่ หนูไม่ทำแล้ว” แล้วก็ขับรถออกไปเลย อ่าว..

แล้วทำยังไงต่อ

ก็ต้องปล่อยให้เขาไปคิด เพราะอีกวันเขาก็กลับมาเป็นปกติ แต่เขาก็บอกว่า “หนูว่ามันไม่เหมาะกับหนูแม่” อะไรอย่างนี้ เราก็คุยกันว่าเพราะอะไร เป็นอย่างไร เรียนรู้กันไปก่อน แล้วค่อย ๆ เคลียร์กัน

ทำงานกับพี่ดุจดิวเป็นอย่างไรบ้าง

แรกๆ ทะเลาะกันฉ่ำมาก จนตอนนี้เราก็ยังทะเลาะ แต่สุดท้ายเราก็เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ปรับตัวกัน แนะนำกัน เรียนรู้ที่จะฝึกความอดทนในการเจอปัญหาและใช้ความเข้าใจว่าเขาและเราเป็นคนแบบไหน เขาก็ปรับตัวที่จะเข้าหาเรา มันต้องใช้เวลา อะไรก็ตามแต่ทำธุรกิจร่วมกันนะ สิ่งเดียวที่จะทำให้มือหลุดออกจากกันคือการโกง ทำธุรกิจกับพาร์ทเนอร์ อย่าโกง อย่ามีเม็ด ถ้ามี ทุกอย่างจบ

‘After Yum’ มันคือสิ่งที่เราสองคนคือเหมือนถอดหัวใจมาปั่นรวมกัน แล้วดึงหัวใจกลับ แค่มองตาก็จะรู้แล้วว่า ว่า เขาคิดอะไรหรือเราคิดอะไร มันความสนุกจากเราสองคน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า โชว์ไฮโดรลิกหรืออะไรก็ตามแต่ มันเกิดจากการเล่นกันสองคนเหมือนเล่นละครเลย

เลยเป็นที่มาของละครใน TikTok ของเราสองคน

ใช่ มันเป็นที่มาของ ‘ละครกะเทยธรรม’ ซึ่งปกติเขาจะมีละครคุณธรรม เราก็คิด “กะเทยทำ มันจะมีคุณธรรมได้เหรอแม่ แม่ว่ามันไร้คุณธรรมนะ” ก็เลยลองทำดูเล่น ๆ สุดท้ายพอทำออกมามันไร้คุณธรรมจริง ๆ (หัวเราะ) คุณธรรมกี่โมงก่อน

แต่สิ่งที่เราได้รับสิ่งแรกคือความสุขที่ได้ทำ ได้เล่น สัมผัสได้แน่นอน เรามีความสุข คนดูก็จะมีความสุขตาม มันเลยปังทั้งใน TikTok ทั้งในเพจ จากที่แค่คิดว่อยากเสิร์ฟความสุขให้กับ Audience ของเราในมุมผ่อนคลายบ้าง ที่ไม่ใช่เอะอะขายของนู่นนี่อย่างเดียว

TikTok เป็นตลาดที่เรากลัวมาก เวลาดูคอมเมนต์แล้วจะรู้สึกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่คนด่าเยอะ พอเราเคยโดนอะไรต่าง ๆ มามากมาย เราก็จะกลัว แล้วก็ไม่กล้าลงไปเล่นกับมัน เพราะเราเกิดมาในยุค YouTube, Facebook Page ลูกค้าที่อยู่ในยุคเดียวกันก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง แต่เห็นมั้ยว่าพอมันผ่านมา 4 – 5 ปีแล้ว ปัจจุบันลูกค้าไปอยู่กลุ่ม TikTok มากขึ้น ถึงขนาดที่เราลองปรับรสชาติยำเพื่อลูกค้าอีกกลุ่มประเภทหนึ่ง ที่มาจากกลุ่มเป้าหมายบนช่องทางอื่นของเราด้วย ซึ่งถ้าใครอยากลิ้มรส Original ก็แจ้งเราได้เลย

@afteryumfilm

ละครกะเทยธรรม | EP.3 ตอน ‘เจ็บนี้เพื่อลูก’ (1/3) ละครคุณธรรม #ละครกะเทยธรรม

♬ เสียงต้นฉบับ – ละครกะเทยธรรม – ละครกะเทยธรรม

จำนวนลูกค้าจากวันแรก จนถึงวันถัด ๆ มา เป็นยังไงบ้าง

ลูกค้าช่วงนั้นสำหรับเรามันไม่ได้ค่อย ๆ ไต่เพดานบินนะ เหมือนมันเพิ่มแบบงัดขึ้นอย่างนี้เลยภายในเดือนเดียว จริงๆ มันต้องไปเป็นสเต็ป แต่อันนี้เหมือนก้าวข้ามขีดจำกัดไปเรื่อย ๆ

วันแรกมีที่นั่งแค่ 4 โต๊ะ พอเปิดวันที่สองรับพนักงานเลย 2 คน แล้วก็รับพนักงานเพิ่มขึ้นทุกวัน โต๊ะ เก้าอี้ จานต้องซื้อเติมทุกวัน จังหวะแรกเราไม่ได้ทำร้านมาเพื่อจะสำเร็จ คิดแค่ว่าเปิดร้านมาเพื่อจะใช้สถานที่ตรงนี้กินข้าวด้วยกันเฉย ๆ เพราะทุกคนมีงานกันหมด เราทำงานโรงแรมอยู่ช่วงนั้น บางทีเป็นออแกไนซ์เซอร์ บางทีก็ทำรายการ มี 3 – 4 งานซ้อนกัน ดิวก็ออกจากงานที่ Alcazar มาเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์ รับงานรีวิวทุกอย่าง ดู กิน ชิม รับงานฉ่ำกันหมด กว่าจะเลิกงานมาทำ After Yum ก็ 5 – 6 โมงเย็นแล้ว

ใจจริงจะเปิดแค่ 3 เดือน เลยคิดว่ากะจะไม่ลงทุนอะไรมากเลย ประตูเหล็กยังอยู่ในสัญญาเลย ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาขอเอาประตูเหล็กไปขาย ถังน้ำแข็ง โต๊ะ ซิงค์ล้างจาน ตู้แช่แข็งก็ยืมมาหมด อะไรเซฟได้เซฟหมดเลย ปรากฏว่ายอกลูกค้าก็ทะยานของมันมาเรื่อย ๆ จนเป็นอย่างที่เห็น

จำได้เลยว่าเปิดมาประมาณ 8 – 9 เดือน คืนวันที่ 30 เมษายน 2562 หม้อแปลงที่ร้านระเบิด เพราะทำงานหนักกันทุกวัน แล้วก็ช่วงนั้นคือจ่ายโอทีพนักงานวันละ 1,000 เลย ทั้ง 30 – 40 คนนั้น จนพนักงานประท้วงว่าไม่เอาเงินแล้ว

สถานการณ์ตอนนั้นคือทำงานเลิกประมาณ 8 – 9 โมงเช้า แล้วบ่ายโมงต้องเข้ามาทำงานต่อ นอนกัน 3 ชั่วโมงเอง ยิ่งช่วงเมษายน ดวงอาทิตย์ขึ้น แดดมาแล้วยังยืนยำกันอยู่เลย เพราะยอดออเดอร์ตอนนั้นเป็นแบบ 1,200 กล่อง 1,500 กล่อง 1,800 กล่องอย่างนี้ มีทั้งฝั่งสั่งกลับบ้าน กินที่ร้านแยกกัน ฝั่งกินที่ร้านจบตอนตี 4 ลูกค้ากลับบ้านกัน ฝั่งสั่งกลับบ้านยังต้องอยู่ทั้งคืน เพราะต้องเตรียมทำยำกันตามบิลหิ้ว

สมมติ 80 ออเดอร์ต่อใบ ยอดนี้ยังเด็ก ๆ บางครั้ง 200 ออเดอร์ 400 ออเดอร์ เราจะเรียกว่าเอเวอร์เรสต์ คือยอดสั่ง 200 กล่องขึ้นไปต่อออเดอร์ หน้าที่เราคือพอเสร็จฝั่งกินที่ร้านหมดปุ๊บ ทุกคนก็ต้องมาช่วยกันเปลี่ยนเป็นโรงงานนรก ช่วยกันยำฝั่งสั่งกลับบ้าน เราก็เดินไปเลือกบิลง่าย ๆ มาทำก่อน บางบิลสั่งแยกพริก หวานไม่หวาน เราแล้วดึงแบ่งงานกันในร้าน จนบางทีดิวก็แบบ “แม่ ไม่เอา แบ่งกันคนละครึ่ง”

แล้วความยากคือของหมดตอนตี 4 ตี 5 แล้วปูขึ้นจากฝั่งตอนนั้นพอดี ต้องวิ่งไปจองปู ไปเอาปู ระหว่างความวุ่นวายนั้นหม้อแปลงระเบิด ปึ๊ง! เสร็จปุ๊บ เราก็ไม่ไหว ใจวันนั้นจำได้เลยบอกดิวเลยว่า “แม่ไม่ทำแล้ว”

ความเหนื่อยที่ทำให้ฟิวส์ขาดตอนนั้นมันเป็นยังไง เล่าให้ฟังหน่อย

เวลายำ 1 กะละมังมันใช้เวลายำ 10 วินาที ถ้ายำรวมเวอร์ใช้เวลา 25 วินาที แล้วมันต้องยกกะละมังคนอย่างนี้จนมือมันล็อค แล้วเท้านี่ต้องเขย่งลิฟต์ตัวเองขึ้นลงทั้งวันทั้งคืน เท้าด้านจนลอกเป็นแผ่นๆ แล้วตรงมือก็ด้านไปเลย เรารู้สึกว่าร่างกายเราหนัก เราไม่ไหว เราเลยบอกดิว “แม่ไม่ทำแล้วนะ” “ถ้าแม่ไม่ทำ หนูก็ไม่ทำ” “งั้นปิดร้านกันไหม” “เอาสิแม่” บอกกันอย่างนี้เลยนะ

แล้วไม่รู้อีท่าไหน หันมามองลูกค้า อะ ไม่ปิดก็ได้วะ เลยคุยกันสองคนว่างั้นปิดรับออเดอร์สัก 4 ทุ่มครึ่งไหม จะได้จบทุกอย่างไม่เกินเที่ยงคืน หรือตี 1 เพราะถ้าทำแบบนี้เราก็ไม่ไหว พนักงานก็ไม่ไหว เครื่องจักรก็ไม่ไหว ทุกคนไม่ไหวกันหมด แล้วก็ทำแบบนี้มาเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกันไป มันเป็นที่มาของการเริ่มเรียนรู้ในการทำอะไรต่าง ๆ

การขจัดความกลัวของเราเป็นอย่างไร

เราต้องศึกษา ต้องหาข้อมูล หาความรู้ เรียนรู้ และเข้าใจมัน เมื่อเราเข้าใจมันแล้ว เราจะไม่กลัว ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม อันนี้ใช้กับทุกๆ เรื่องในชีวิต

คนเราจะกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้ สังเกตดู เวลาเรากลัว ตื่นเต้น ประหม่า ส่วนมากเป็นเพราะเราไม่รู้ แต่ตราบใดที่คุณรู้และเข้าใจอะไรทุกอย่างแล้ว คุณจะไม่กลัว แต่นอกเหนือจากอะไรที่แบบเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เช่น ความตาย โรคร้ายอะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องของความรู้สึกและอารมณ์ แต่ในการทำงานมันเป็นเรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องของสมอง มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง

ถ้าย้อนกลับไปได้ ณ วันแรกที่คิดว่าจะเปิดร้าน ยังคิดว่าจะเปิดอยู่ไหม 

เปิดค่ะ อยากทำ อยากสนุก แต่เชื่อไหม ชีวิตไม่เคยคิดอยากกลับไปย้อนแก้ไขอดีตเลยแม้แต่ข้อเดียว เพราะมีความรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมาแล้วมันเป็นเรื่องของช่วงวัยที่มันได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะถูก จะผิด จะดี จะชั่ว แล้วถ้ากลับไปหาตัวเองได้ เราจะสนับสนุนในการทำทุกอย่างให้อย่างเต็มที่ ถ้าเที่ยว เที่ยวให้สุดกว่านี้ ถ้าทำ ทำให้หนักกว่านี้ ถ้าแรด ก็ให้แรดกว่านี้ เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมมาให้เป็นแต๋งในวันนี้ ฉันเลยชอบตัวเองในทุกเวอร์ชันเลย 

ลิ้มรส Yum

เมนูเด็ดของร้าน After Yum ตอนนี้มีอะไรบ้าง

ถ้าเป็น Signature dish ของร้านช่วงแรก ๆ เลยคือ ‘ยำหมูยอไข่แดง’ เพราะทำให้คนอยากถ่ายรูปเยอะมาก สมัยนั้นเมนูที่มีไข่แดง หมูยอ หอมเป็นต่อน ๆ มันไม่ค่อยมี

ต่อมาคือ ‘กุ้งแก้วแช่น้ำปลา’ เป็นเมนูแรกที่ทำกินกันก่อนจะเปิดร้าน After Yum ก่อนจะทำยำปูด้วยซ้ำ เวลาเราทำกินกันจะไม่มีมะระ เราจะใช้กระเทียมโทนไซส์เล็ก ไซส์น่ารัก ๆ ขนาดเหมือนขนมทองหยอด ต้องคัด Size พอสมควร แล้วราคาเม็ดเล็กแพงกว่าเม็ดใหญ่นะ เพราะเม็ดใหญ่มันหาง่ายกว่า เม็ดเล็กมันต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 2 เดือนกว่าจะเก็บได้ครั้งหนึ่ง แล้วก็แกะเปลือกเอามาดอง ถ้าดองนานไปนุ่ม ดองเร็วไปเผ็ด แล้วมันก็จะไปกลบรสชาติกุ้งแก้ว

อีกเมนูคือ ‘ปูนิ่มสามซอสทอดกรอบ’ เป็นปูนิ่มจากทางใต้ที่สตูล อายุประมาณ 3 เดือนเท่านั้น เวลาส่งมาก็ต้องเป็นแบบ One by one ห่อในน้ำแข็งเย็น ๆ แล้วต้องเป็นปูกระเทยนะ เพราะถ้าเป็นปูตัวผู้หรือตัวเมีย หรือปูที่ยังไม่เลือกเพศ เวลากินถ้าเป็นปูนิ่มไซส์ใหญ่ ๆ มันจะมีความกลวงอยู่ด้านใน แต่ปูกระเทยจะมีไข่อยู่ด้านในตลอดเวลา แล้วเวลาทอดมันก็จะเพิ่ม texture กรอบ ๆ แล้วก็มีซอสสามรสกินคู่กัน ซอสแรกเหมือนซอสหอยทอดผัดไทย ซอสที่สองคือน้ำจิ้มซีฟู้ด ซอสที่สามคือซอสน้ำยำ

แล้วก็มี ‘ไก่ทอด’ ที่อยากจะเล่าที่มาที่ไปนิดนึง เชื่อมั้ยว่าฝึกทอดอยู่ 3 ปีก่อนที่จะเปิดร้าน เพราะว่า น่องไก่ ปีกไก่ สะโพกไก่ เป็นอะไรที่ทอดยาก อย่างสมมติวันนี้ไก่มา 4 น่องโล เราจะรู้เลยว่าไม่ได้มาตรฐานเรา เพราะมาตรฐานคือ 3 น่องโล เราต้องเพิ่มปริมาณน้ำหนักไก่ให้กับลูกค้า แล้วไก่ทอดชิ้นใหญ่แบบนี้ เวลาทอดถ้าข้างนอกสุกแล้วข้างในยังเป็นเลือดนี่สุกยาก แล้วตอนแรกเราไม่ทอดปีกไก่เลย เป็นคนที่ชอบกินแต่ส่วนน่องสะโพกเท่านั้น แม้แต่ยำจริง ๆ โดยส่วนตัวเป็นคนไม่ค่อยกินอยู่แล้วด้วย เน้นจริง ๆ คือของทอดเลย

ทำยังไงให้รสชาติของเมนูที่ทำแล้วรสชาติคงที่ยากที่สุดในโลกอย่าง ‘ยำ’ สม่ำเสมอได้ทุกจาน

ต้องเข้าใจวัตถุดิบ ความยากของร้านยำคือมะนาว เราต้องเข้าใจว่ามะนาวแต่ละลูกเปรี้ยว หวาน ไม่เท่ากัน หรือน้ำปลา น้ำปลาร้าที่มันออกมาจากโรงงาน Standard ความเค็มมันมีอยู่ แต่ต้องดูตามฤดูกาลนั้น ๆ ว่าการเอาปลาทะเลมาทำ มันก็มีอะไรที่ทำให้รสชาติมันแตกต่างกันได้

หรือก็อย่างน้ำตาลที่เป็นตัวหลักของร้าน เรา OEM นะ สั่งมาคราวนึงเป็นตัน ๆ โดยเฉพาะ เพื่อให้รสชาติมันคงที่มากที่สุด แล้วก็ถ่ายทอดรสมือเราไปหาคนปรุง ว่าต้องใช้อัตราส่วน ชั่ง ตวง วัดยังไง

ทุกครั้งที่วัตถุดิบมาเราจะต้องชิมก่อน ชิมมะนาว ชิมปลาร้า ชิมส่วนผสมทั้งหมดก่อนถึงจะเริ่มส่งต่อได้ หมูสามชั้นเป็นแบบไหน หมูอ่อนอายุ 1 ปีครึ่งมั้ย ถ้าหนังหนาต้องทอดอย่างไร เล่นไฟแรงอย่างไร ถ้าล็อคสเปคหมูแล้วมาตรฐานมาอีกแบบ เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีการผสมแป้งแบบไหน ต้องเข้าใจกันในเชิงลึกจริง ๆ

ถ้าให้เปรียบเทียบชีวิตตัวเองเป็นยำในร้าน น่าจะตรงกับเมนูไหนมากที่สุด

‘ยำปูดำ’ หรือยำปูแสม เป็นเมนูยำปูที่คิดขึ้นแบบ Original มันคืออาหารจานแรกที่ After Yum มีวันนี้ เป็นเมนูยำในรสชาติแบบที่เรากินกับดิวมาตั้งนานแล้ว ปูดำ ปูแสม ก็ไม่ได้อยู่ในทะเล เขาจะขุดรูอยู่ในน้ำกร่อยหรือป่าชายเลน ลงน้ำก็ได้ อยู่บนบกก็ได้ ครึ่งบกครึ่งน้ำก็ได้ แล้วการออกหากินของเขาจะเป็นช่วงกลางคืน มันก็คล้าย ๆ เรา แล้วปูชนิดนี้จะมีกลิ่นเฉพาะตัว เหมือนเราที่มีความหอมเฉพาะตัว ยั่วเย้าดึงผู้ชายเข้าหาอะไรอย่างนี้ (หัวเราะ) จะไปเป็นยำแซลมอนก็แพงเกิน เราไม่ได้แพงขนาดนั้น

ตั้งใจ Yum

ปกติตรวจคุณภาพแต่ละร้านยังไง

เราจะมี LINE กลุ่มที่ส่งมาตรฐาน Standard เมนูทุกตัวที่ออก ต้องถ่ายรูปส่งแล้วก็วนตรวจมาตรฐาน สาขาที่ไม่ค่อยได้ไปคือระยองและปิ่นเกล้า ไปน้อยมากแต่ก็ไป เพราะคนที่เขาอยู่เขาเก่งกว่าเราอีก กระบี่มือหนึ่งที่อยู่นั่นหมด อย่างที่ The Sense ปิ่นเกล้า ก็เป็นสาขาค่อนข้างใหญ่จุคนได้ประมาณ 50 โต๊ะ

โดยปกติลูกค้าเยอะที่สุดช่วงเวลาไหนของวัน

ช่วงเย็นจะเยอะสุด แล้วก็ช่วงนี้มันเพิ่งเปิดทดลองระบบภาคเช้าตอน 11:00 น. เพราะเราได้โมเดลจากกรุงเทพฯ มาใช้ เพราะที่นั่นเปิด 11:00 น. แล้วเดลิเวอรี่ก็มี ลูกค้าเลยสามารถ Walk in เดินมาทานเวลาไหนก็ได้ เราเลยได้เห็นตัวเลขหลังบ้านที่ดี เลยเป็นไอเดียว่างั้นก็กลับมาทำที่พัทยาดีกว่า

สมมติคนมาเที่ยวพัทยา 2 วัน 1 คืน เขาก็จะมามีสิทธิ์มากินตอนมาถึงพัทยาช่วงบ่าย ได้กินมื้อเย็น 1 ครั้ง แล้วก็ยังมีโอกาสได้กินมื้อเที่ยงก่อนกลับอีก 1 ครั้ง หากวันนั้นเขามีสิทธิ์เลือกร้านเพื่อกินแค่มื้อเดียว มันก็จะมีตัวเลือกร้านเต็มไปหมด และร้านเราก็มีโอกาสจะหลุดจากความคิดเขาไปได้ เลยมีความรู้สึกว่าหากลองเปิดช่วงกลางวันเพิ่ม มันสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมให้กับคนกินได้ และตอบโจทย์กับลูกค้ากลางวันที่เรามาเที่ยวด้วย

แล้วเรื่องที่ 2 คือร้านใหม่ที่ย้ายมาข้าง ๆ กันนี้เป็นห้องแอร์ มันจะหลบแดดจะฝนจากพื้นที่ Outdoor ตรงนู้นได้ ซึ่งตอนนี้เราก็เช่าไว้สองที่เลย พอช่วงหน้าฝนที่โหดร้ายกับเรามาก ลมแรงพัดมาเต้นท์ปลิวฉ่ำ ลูกค้าและเราจับเต้นท์กันฉ่ำ เวลาฝนมา ใจเต้นตึกตักแล้วนะ เรารู้ไงว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเลยจะกลัวกัน จุดประจำการหลักคือที่นี่ ส่วนสาขา Outdoor พอหมดหน้าฝนก็จะกลับมาเปิดอีก 1 สาขา นั่นหมายถึงว่าเราจะมีพื้นที่ และกำลังของร้านเต็มระบบการผลิตได้เลย มีทั้งร้านสำหรับกลางวัน แล้วก็กลางคืน แล้วก็ตอนดึกอีก เพราะมีลูกค้าที่ชอบทั้ง Indoor และ Outdoor

มีเรื่องหนึ่งน่าสนใจคือตัวสไลด์ที่อยู่ในคลิปของ Capital เกี่ยวกับ Data ของร้าน อยากรู้ว่าจุดเริ่มต้นการเก็บ Data จนกลายมาเป็นสไลด์นั้นมาจากไหน

ด้วยความที่เราเป็น Event organizer ก่อนหน้านั้นทำโรงแรมมา 20 ปี ตัว Data มันคือสิ่งสำคัญเราเป็นคนหาเงินเข้าโรงแรม ทุกครั้งที่ไปขายงานให้ลูกค้า เราต้องมี Performance ของปีที่แล้ว 3 เดือน ที่ทุกครั้งมันก็จะถูกเรียกข้อมูลมาจากระบบต่าง ๆ แล้วก็ให้ทีมงานทำ Support เพื่อให้เรามีข้อมูล

เราเคยไปแบบไม่มีข้อมูล และลูกค้ามีข้อมูลแน่นฉ่ำ เราหน้าเหวอกลับมาเลยนะ ตอนเด็ก ๆ เราจำขึ้นใจเลย แล้วการเก็บ Data มันทำให้เรารู้ข้อมูลแบบ Outside in, Inside out มันสามารถเอามาวิเคราะห์ Trend ต่าง ๆ นานาได้ เราก็เลยเอาตัวนั้นมาใช้กับร้าน After yum

ทุกบิลทุกใบเสร็จเราเก็บตั้งแต่บิลวันแรก สแกนใบเสร็จอาร์ตมันอัพเข้าระบบในคอม แล้วก็เริ่มศึกษาการเก็บ Data และทำสไดล์เพราะเราอยากรู้ตัวเลข จริง ๆ เราเริ่มทำสไลด์จาก ระบบ Line@ เพราะมันเห็นตัวเลข เราแคปทุกอย่างเก็บไว้ ก็เลยเอามาประกอบสไลด์ หลังจากนั้นเวลาลูกค้าเริ่มขอ Profile บริษัทเราบอกไม่มี เลยคิดเริ่มทำขึ้นมา ข้อมูลแต่ละส่วนก็จะแยกกันมา Line@ เอย Facebook Page เอย Youtube เอย สักพักก็ได้เริ่มทำ Research เรื่องของสาขามันก็ได้ข้อมูลมาก้อนหนึ่ง เราไปเรียนรู้เรื่องไหนมา ก็เอามารวม ๆ ใส่ในสไลด์เหมือนที่เห็น

แล้วเวลาเราไปงานบรรยาย เราก็จะคัดข้อมูลบางส่วนรวมเป็นสไลด์ใหม่ใน Canva แบบส่งงานเสร็จ Delete File ทิ้งทันที ถ้าลูกค้าจะขอสไลด์ ก็จะทำ Recap ให้บางส่วนประมาณ 10 หน้า เพราะว่าเราก็หวงข้อมูลของเรานิดนึง บางอย่างเราเรียนมาตั้ง 50,000 กว่าบาท บางวิชานาทีละ 2,000 แต่ถามว่าแชร์ได้มั้ย แชร์ได้เลยในเชิงลึก แต่ว่าถ้าขอ Data เลยเนี่ยไม่ได้ มันทำยาก

หลังจากทำร้าน After Yum เราศึกษาอะไรอย่างอื่นเพิ่มเติมอีกบ้าง

โอ้โห ฉ่ำ มันมีภาษีออนไลน์, เรียนเรื่องการส่งออก, Storytelling, Master Franchise, Individual Set, Food Decoration, ระบบบริหารจัดการคน เรียนเยอะมากจนอาจารย์ไม่สอนแล้ว (หัวเราะ) เรียนหนักมาก ทุกวันนี้กำลังลงเรียนปริญญาตรีควบปริญญาโทใหม่ 1 ใบ แล้วก็เตรียมปริญญาโท 1 ใบ เพราะจะต้องเอาตำแหน่งดอกเตอร์ไปเปิดกิจการบางอย่างต่อไปด้วย

รู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่า After Yum ควรขยายตัวเองให้กว้างขึ้นได้แล้ว

จริง ๆ ตัวร้านถูกขอซื้อแฟรนไชส์มาตั้งแต่เดือนแรก ๆ เลย เราก็เก็บ Research การขอซื้อเอาไว้ ตอนนั้นก็แบบยังไม่ดีกว่า สุดท้ายก็ลองไปเปิดที่ระยองเป็นแบบ Joint Venture แล้วก็ศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมของเรา ว่าสามารถปิดรอยรั่วในการบริหารจัดการต่างสาขาได้ยังไงบ้าง

พอช่วงโควิดเราเลยเริ่มคิดจะขยายอย่างอื่นนอกจากการขยายร้าน เลยก็หันมาลองทำน้ำปลาร้ากับน้ำยำสำเร็จรูป ใช้เวลา 2 ปีกว่าในการจ้างคนมา R&D (Research and Development) ที่ร้าน แล้วก็จ้างบริษัทมา Support จนขึ้นโรงงานตัวเองได้ อันนี้คือการขยายร้านเหมือนกัน แต่เป็นการขยายครัว เหมือนทุกวันนี้ ‘After Yum’ กลายเป็นครัวประจำบ้านไปแล้ว ถ้าใครอยากกินยำก็ซื้อน้ำยำสำเร็จไปเป็นครัวตรงนั้นได้เลย เราก็ได้ฐานลูกค้าอีกกลุ่มนึง

หรือการขยายกลุ่มคนกินในร้านเอง เวลาลูกค้ามีผู้ชายอย่างนี้ จากการ Research พบว่า 20-25% ไม่ชอบกินยำ ชอบกินของทอด มันก็เลยมีเมนูใหม่ ๆ อย่าง ‘ยำคอหมูทอด’ เป็นเมนูยำนั่นแหละ แต่ผสมผสานกับเมนูของทอดไปด้วย หรืออย่างเด็กกสามารถกินเมนู ‘ยำไส้กรอก’ แบบไม่พริก ไม่เผ็ดได้เหมือนกัน เพราะว่ากลุ่มลูกค้าของ After yum มีความวาไรตี้

อย่างเรื่องขยายสาขา พอเล่าได้ไหมว่าแต่ละสาขามันมีความต่างกันยังไงบ้าง

สภาวะฝนตกมีผล สภาวะรถติดมีผล สาขานี้คาแรคเตอร์มันเป็นแบบนี้ สาขานี้คาแรคเตอร์มันเป็นแบบนี้ ทุกอย่างมีผลหมด เราต้องปรับตัวไปเรื่อย ๆ ในแต่ละสาขา อย่างสาขาพัทยาก็จะมีความวาไรตี้แบบหนึ่ง สาขาปิ่นเกล้ากลุ่มลูกค้าจะเป็นอีกแบบ เป็นลูกค้าย่านฝั่งธนจากบ้านหรือคอนโดแต่ถ้าเป็น The Crystal ก็จะเป็นย่านเลียบด่วนแบบ Residence วิธีการกินก็จะเป็นอีกแบบ แต่ก็ต้องดูกันหนัก ๆ เพราะบางทีการคาดการณ์กลุ่มลูกค้าก็สามารถผิดพลาดกันได้

เวลาเราผิดพลาด มีวิธีการปรับตัวจากเหตุการณ์เหล่านั้นยังไง

ต้องกลับไปดู Data อีกรอบหนึ่งว่ามีจุดไหนที่ผิดพลาด เราใช้หลัก ‘Design Thinking’ (5 กระบวนการคิด ประกอบด้วย Empathize, Define, Ideate, Prototype, และ Test) ถ้ามันเจอจุดไหน มันจะกลับไปหา Data ได้ทุกจุดเลย Idea เราผิดหรือเปล่า หรือว่าการ Research ที่เราเข้าใจเขาผิดเหรอ ถ้าถูกเราก็ต้องย้อนกลับมาดูจุดอื่น ทุกอย่างมันย้อนกลับมาหาการทำ Data ได้หมดเลย Data มันสำคัญขนาดนั้นเลย

จริง ๆ เวลาคนอยากกิน After Yum ก็ชอบที่จะเดินทางมากินที่สาขาแรกที่นี่เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งที่ก็มีสาขาที่ต่างจังหวัดด้วย คิดว่ามันเป็นเพราะอะไร

น่าจะเรื่องอรรถรส บางทีมันคือการ Journey มันคือการผจญภัย ความสุขในการได้กินมันคือปลายทาง มันคือ Destination แต่ความสุขระหว่างทางมันคือความสุขที่พบเจอได้เลย ได้คุยกับเพื่อนที่มาด้วยกัน ได้เห็นวิวนู่นนี่ มากับใครก็ตามแต่นี่คือความสุข อย่าไปรอคอยปลายทางอย่างเดียว เพราะพอมาถึงมันก็ฟิน เพราะได้กินเมนูร้านเรา มันเป็น Food Therapist ไปแล้ว กลับไปก็มีความสุขอีกเพราะได้เดินทางกับเพื่อนร่วมทาง

หลายคนนะ ทั้ง ๆ ที่มีสาขากรุงเทพฯ ก็ยังมาที่พัทยา เพราะอยากจะขับรถ บางคนก็บอกพัทยารสชาติอร่อยกว่า เราก็บอกว่ามันเหมือนกัน ข้าวเหนียวทุกอย่างไปจากพัทยานะ มือยำมือเอก ๆ อยู่นู่นหมด แต่หนึ่งคืออรรถรสมันไม่ได้ สองคือมันไม่ได้นั่งอยู่แบบ Outdoor ในร้านแรกของเรากิน After Yum ในห้างมันก็เป็นอีกอรรถรส แต่เวลากินยำกางเต้นท์แดงตากแดด ความลำบากมันจะนำมาซึ่งรสชาติของความรู้สึกที่ได้รับจากการกินที่แตกต่างกัน

การ Collab กับแบรนด์ต่าง ๆ ทำให้เราเห็นอะไรในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นบ้าง

สิ่งสำคัญเลยคือเหมือนเราเลือกแฟน เลือกสามี เคมีต้องเข้า ถ้าเคมีไม่เข้าอย่าเลือก ไม่ต้องสนใจว่าเขาแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ แต่ต้องสนใจว่าทีมนี้เคมีเข้ากับเราได้ ไม่ว่าการ Collab กับแบรนด์ไหน ขนมเอย อาหาร เครื่องดื่มเอย ต้องเลือกเคมีกันก่อน

วิธีการที่เราทำคือ เราเอาตัวเองเข้า Trade มันเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน บางตัวมาจ้างเป็นพรีเซนเตอร์จ๋าเลย บางตัวเป็นทั้งพรีเซนเตอร์ ทั้ง Collab ทั้งใช้ Logo ชื่อแบรนด์ แน่นอนเมื่อเราทำแบรนด์หรือทำตัวเราให้มี Value เราก็จะดึงคนที่มี Value เข้ามา แต่ถ้าอันไหนไม่ใช่มันก็ไปต่อด้วยกันไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องปกติ

แต่มันก็เป็นวิธีการดึงที่เหมือนเราทำตัวเองให้ขยับจากแค่ร้านอาหารให้กลายเป็นสื่อได้ เป็น Entertain ได้ เป็น Educate ได้ มันก็จะมีมุมมองหลายมิติเข้ามาหาเรา อย่างขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ที่เห็น เราเป็นคนคิดและส่งผงขายให้เขาเป็นล็อต ๆ เลย แต่ถ้า Brand Global จะไม่ได้ มันจะต้องเลือกผงมาตรฐานของเขาเท่านั้น แต่ถ้าแบรนด์มหาชนก็ทำได้ แล้วเรามีหน้าที่ชิม Control รสชาติ และทำตัวอย่างให้เขาไปผลิตต่อ

มีวิธีการดูแลตัวเองเรื่อง Mental Health ยังไงบ้าง

เราจะรู้เลยว่าร่างกายต้องนอนเต็มที่แบบ Deep Sleep 6 ชั่วโมง – 6 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ถ้ามันไม่ถึงจะเริ่มอ๊อง แล้วก็อันที่สองคือสุขภาพจิต ตัวนี้มันจะสามารถ Control ทุกสิ่งทุกอย่างได้เลย เช่น บางคนบอกว่าคนเราต้องสร้างแรงบันดาลใจ ใจต่างหาก ที่จะบันดาลแรง ถ้าใจเธอชนะ ทุกอย่างเธอชนะหมด ต่อให้เธอไปแข่งอันนี้แพ้ แต่ถ้าเธอ Happy กับมัน เธอก็ชนะแล้ว

ความสำเร็จไม่ใช่ความสุขนะ แต่ความสุขต่างหากล่ะคือความสำเร็จ ลองนึกดี ๆ บางคนรอให้ตัวเองสำเร็จ ถ้ารอให้สำเร็จแล้วคุณจะไม่สุขนะ แต่ถ้าสมมติทำแบบนี้แล้วมีความสุข คือสำเร็จแล้ว

ความสุขของคนมันไม่มีค่าวัด มันไม่มีมาตรฐานว่าของเธอเท่าไหร่ 87 62 54 ไม่มี อย่างดิวชอบปลูกผัก ชอบปลูกต้นไม้ เลี้ยงหมา นั่นคือความสุขของเขา แต่ความสุขของเราคือการได้เสพความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นแบบนั้นมากกว่า วิธีการ มุมมอง Vision สำคัญมากในการปรับ Attitude เลือกเอาสิ่งที่จะทำมาซึ่งความสุขเป็นเกณฑ์ เหมือนถึงบอกว่าทำไมถึงเลือก Collect เพราะมันเป็นความสุข

อีกเรื่องคือการ Manage เวลา อันนี้สำคัญที่สุด เชื่อมั้ยทุกวันนี้การทำบุญของเราคือหนึ่งงานที่อยู่ใน Job Schedule เลย สมมติว่าจะทำบุญ วันนี้ก็คือวันทำบุญเลย คือหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่ใช่เจียดเวลาไปทำบุญ เพราะมันคือความสุข วันนี้คือวันที่ต้องพักเพราะหนักมาหลายวันแล้ว ไม่งั้นใช้ร่างกายหนัก ใช้จิตใจหนัก ตาย ผ่านมาหมดแล้วค่ะ

เวลาร้องไห้ เสียใจ ฮีลตัวเองในรูปแบบไหน

เวลาร้องไห้ก็จะโทรไประบายกับดิวตอนตี 2 ตี 3 แล้วก็ให้เขาพูดอะไรก็ได้ที่น่าจะทำให้เราเจอ Keyword ที่เราพอจะ Catch up ได้ เช่นบางทีดิวพูดว่า “แม่ มีคนอยากเป็นแต๋ง After Yum เยอะนะ หนูก็ยังอยากเป็น ฉะนั้นไม่แปลกที่แม่จะเจอเรื่องราวอะไรเหล่านี้” บางครั้งที่เราถูก Take Benefit เยอะๆ มันทำให้เราเจ็บ คนเราจะเจ็บกับคนที่เราไว้ใจอยู่บ่อย ๆ ฉะนั้นทักษะด้านกระบวนการความคิดและการควบคุมจิตใจของเราให้มันไปคู่กันเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ Vision Direction Attitude สามอย่างนี้ต้องเอาให้อยู่

มองอนาคตของ After Yum ไว้ยังไงบ้าง

ไม่รู้ ตอนนี้แค่ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เตรียมทุกอย่างให้พร้อม เพราะถ้าวันหนึงโอกาสมันมา สิ่งที่เราเตรียมมันจะได้ผล มันจะได้เอามาใช้งานแน่นอน เหมือนเราซ้อมร้องเพลง ซ้อมต่อยมวยทุกวัน เดี๋ยวถ้าวันนึงมันมีเวทีหรือโอกาสให้เราทำ เราก็พร้อมลุยได้เลย รอแค่จังหวะและโอกาสที่ดีเท่านั้น และคว้ามันเอาไว้ให้ได้แค่นั้นเอง

บอกอะไรถึงคนที่คิดจะทำธุรกิจที่มี First Draft อยู่ในมือ แต่ยังไม่กล้าลงมือทำหน่อย

ถ้ากลัว มันก็อยู่ได้แค่คำว่ากลัว แต่ถ้าอยากกล้าให้มากขึ้น Data ก็ต้องแน่น ต้องหาอะไรมาซัรับรองสิ่งที่กำลังจะทำ หรือหากไม่มีอะไรรองรับจริง ๆ ขอให้กล้าที่จะลองผิดลองถูกแล้วก็ลองทำ ให้มันได้เรียนรู้และลองวัดผล แต่ถ้าอยากหาสูตรสำเร็จ ก็อาจจะลองไปหาคอร์สเรียนหรือฟังความรู้ที่เขาแชร์กันแล้วเก็บเกี่ยวมาลองทำในแบบตัวเอง

ปัจจุบันงาน Forum มากมาย ที่ทำให้คุณสามารถเสพความรู้ได้ แล้วก็จะมีคนที่เขาสำเร็จหลาย ๆ คนขึ้นมาแชร์ความรู้กัน มีคนบอกว่าความรู้จะเกิดขึ้นได้ เราต้อง Pay Attention ต้องให้ความสำคัญกับมัน เหมือนนั่งเรียนในห้องกัน 40 คน ทำไมคนนี้สอบได้ที่หนึ่ง แล้วคนนี้สอบตกล่ะ เป็นเพราะเขาไม่ได้ตั้งใจเท่าที่ควรไง ถ้าคุณตั้งใจคุณก็จะได้

ต่อมาก็ขึ้นอยู่กับโอกาส เป็นเรื่องความเฮง เรื่องชะตาชีวิตแล้ว บางคนชะตาชีวิตที่เกิดขึ้นก็มีจากการทำตัวเองได้เหมือนกัน ทุกอย่างมันมีวาระ มีโอกาส มีเวลา มันอาจจะต้องรอ Perfect Timing หรือช่วงเวลาทองของมัน เรียนรู้ที่จะอดทนรอคอยและสู้ เราจะบอกผู้คนเสมอเลยว่าสู้ให้สุด ทำให้สุด ลุยให้สุด ถ้าไม่สุดอย่าหยุดทำ อันนี้เรื่องจริงเลย

CREATED BY

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป