จบลงไปแล้วกับการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 96 แต่ยังคงครุกรุ่นไปด้วยดราม่าร้อนอยู่เสมอตามธรรมเนียม ขึ้นอยู่กับว่าประเด็นไหนของใครจะลุกเป็นไฟขึ้นมา เหมือนกรณีของ Will Smith ที่เข้าไปตบหน้า Chris Rock ขณะขึ้นกล่าวบนเวทีในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 จนกลายเป็นกระแสวิพากย์วิจารณ์ระดับโลก กระทั่งเริ่มมีคนออกมาพูดในทำนองว่า หากเวทีออสการ์ไม่มีดราม่าก็ไม่มีคนดู ซึ่งไม่ผิดที่ใครบางคนจะมีความคิดแบบนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าดราม่าข้างล่างเวทีก็ดุเดือดไม่แพ้กัน เพราะมันเป็นดราม่าในเชิงปัจเจกและความคิด มากกว่าการพบเห็นคนเปลือยกายวิ่งวนบนเวที แน่นอนว่าในปีนี้ก็มีดราม่าเกี่ยวกับ ‘ผลการประกาศรางวัล’ เกิดขึ้นเช่นกัน

ถึงแม้จะมีหลากหลายเรื่องราวผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ด แต่หนึ่งในประเด็นน่าสนใจที่จะหยิบมาพูดคุยกันคือ ดราม่า ‘สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยม’ ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 96 ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าทางด้านทีมงานบางคนจากผู้เข้าชิงในสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจะรู้สึกไม่พอใจกับผลรางวัลที่ตนเองได้รับ จนกลายเป็นกระแสวิพากย์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และการพยายามวิเคราะห์ว่าเพราะเหตุใดที่ทำให้อนิเมชั่นเรื่องหนึ่งยอดเยี่ยมกว่าเรื่องอื่น ๆ

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มจาก Shameik Moore นักแสดงและนักดนตรีชาวอเมริกัน ผู้ให้เสียงตัวละคร Miles Morales จากภาพยนตร์อนิเมชั่น Spider-Man: Into the Spider-Verse และ Spider-Man: Across the Spider-Verse โพสต์ข้อความผ่าน X (twitter) ว่า “Robbed” ที่แปลว่า “ปล้น” หลังจากภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง The Boy and the Heron จากสตูดิโอจิบลิชนะรางวัลออสการ์สาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ซึ่งอาจจะแปลได้ในทำนองว่า Spider-Man: Across the Spider-Verse ถูกปล้นออสการ์ในสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยม จนเหล่าผู้ชมหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งในทำนองต่อว่าและเห็นด้วย

ไม่นานหลังจากที่ Shameik Moore โพสต์ข้อความแรกไป เขาก็ได้โพสต์อีกครั้งผ่าน X ด้วยข้อความว่า “Respect to the winners. It’s true, I’m definitely a sore loser, but we didn’t lose, Spiderverse has impacted ALOT of lives, we may not have been acknowledged tonight but life goes on, and BEYOND….. yea get ready” หรือที่แปลว่า ด้วยความเคารพต่อผู้ชนะทุกคน แน่นอนว่าฉันคือผู้แพ้ที่เจ็บปวด แต่เราไม่ได้แพ้ Spiderverse สร้างอิมแพคต่อผู้คนมากมาย แม้เราอาจไม่ได้รับการยอมรับในค่ำคืนนี้ แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป และนอกเหนือจากนี้…ใช่แล้ว เตรียมตัวไว้ให้ดี ซึ่งดูเหมือนว่าเขาน่าจะรับรู้แล้วว่าข้อความที่ตนเองพิมพ์ไปข้างต้นส่งผลกระทบอย่างไรบ้างในแวดวงผู้รับชมภาพยนตร์อนิเมชั่น เขายอมรับว่าตนเองเป็นผู้แพ้ แต่จะไม่ยอมแพ้อย่างแน่นอน

ในขณะที่โปรดิวเซอร์ Spiderverse อย่าง Christopher Miller ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทาง X เช่นเดียวกันว่า “Well, if you’re gonna lose, might as well lose to the GOAT” แปลได้ประมาณว่า ถ้าหากคุณต้องแพ้ ก็ดีแล้วที่แพ้ให้กับสิ่งที่เยี่ยมยอดตลอดกาล ซึ่งทำให้เราเห็นว่าไม่ใช่คนทุกคนจากทีมผู้สร้าง Spiderverse จะรู้สึกในทางลบกับผู้ชนะ เพราะทุกคนต่างรู้กันดีว่ารางวัลเหล่านี้มันมีทุกปี สิ่งที่ต้องทำคือให้เกียรติเพื่อนร่วมอาชีพด้วยกัน และทำงานของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด เพื่อคาดหวังสิ่งที่ตัวเองต้องการในปีถัดไป

เพราะตัวภาพยนตร์อนิเมชั่น Spider-Man: Into the Spider-Verse เองก็เคยได้รับออสการ์มาแล้วในสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 91 ที่ผ่านมา และภาคต่อที่ออกฉากในปีนี้ก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงเป็นครั้งที่สอง ซึ่งถือว่าไม่ได้เลวร้ายเลยในแง่ของการสร้างงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คน ถึงแม้อาจมีความไม่พอใจปะปนอยู่บ้าง เนื่องจากความคาดหวังที่ทำงานหนักเกินไปในช่วงนี้ แต่ก็อย่างที่โปรดิวเซอร์ได้พูดไปว่า ผลงานของผู้ชนะเองก็ไม่ได้มีที่ติติงอะไร ทว่ากลับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทรงคุณค่าด้วยซ้ำ

เนื่องจาก The Boy and the Heron ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานจากสุดยอดปรมาจารย์สายอนิเมชั่นอย่าง ฮายาโอะ มิยาซากิ เจ้าของผลงานอนิเมชั่นขึ้นหิ้งหลายเรื่องทั้ง Spirited away และ Grave of the Fireflies ที่ใครหลายคนที่เป็นสายภาพยนตร์อนิเมชั่นต้องรู้จักฝีไม้ลายมือเป็นอย่างดี ด้วยงานภาพอนิเมชั่นคลาสสิกดูแล้วรู้สึกให้ความอบอุ่นหัวใจ กับเนื้อเรื่องที่เข้มข้นและแฝงไว้ซึ่งปรัชญาและแก่นคิด ทำให้ใครหลายคนต่างยกให้ผลงานจากสตูดิโอจิบลิเป็นหนึ่งในงานอนิเมชั่นชั้นยอดที่ใครต่างก็ให้ความยอมรับ จึงไม่แปลกที่มีคนเคลือบแคลงกับการได้รับรางวัลน้อยมาก โดยผู้คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ในโลกอินเตอร์ต่างกล่าวว่า Spiderverse เป็นผลงานอนิเมชั่นที่เยี่ยมยอดทั้งงานภาพ งานเสียง และเนื้อเรื่องที่พาเราท่องไปในจักรวาลอันกว้างใหญ่ ขณะที่สเน่ห์ของ The Boy and the Heron คือแก่นสารและปรัชญาที่ภาพยนตร์พยายามจะสื่อให้เราได้รับรู้ ถึงแม้งานภาพและเสียงจะไม่ได้อลังการ แต่ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์จนเกิดเป็นสไตล์เฉพาะตัว เมื่อประกอบกับเนื้อเรื่องที่ถูกคิดมาแล้วยิ่งขับเน้นให้มันดูส่งเสริมซึ่งกันและกัน พูดง่าย ๆ คือแต่ละเรื่องล้วนมีข้อดีในแบบของมันเอง

เพียงแต่ในครั้งนี้กรรมการอาจเลือกจาก ‘แก่นเรื่อง’ มากกว่า ‘งานภาพ’ ซึ่งไม่มีอะไรแย่ไปกว่ากัน การที่ได้มายืนอยู่ในจุดที่คนทั้งโลกต่างยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันการันตีแล้วว่าคนทั้งโลกมองเห็นและยอมรับผลงานของคุณ ดังนั้นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการให้เกียรติเพื่อนร่วมอาชีพ เพราะทุกคนต่างทำงานหนักเหมือนกันเพื่อสิ่งเดียวกัน

ที่มา

CREATED BY

ไม่ชอบคนข้างล่าง