นายดนุชา พิชนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวตอนหนึ่งในงานประชุมประจำปี 2567 เรื่อง “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย (Geopolitical Uncertainty : Navigating the Future)” เพื่อให้คนไทยตระหนักและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรวดเร็วซึ่งเป็นผลมาจากภูมิรัฐศาสตร์โลกว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อประเทศไทย 8 ข้อ ประกอบด้วย
1. สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้เทคนิคและวิทยาศาสตร์ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันจีนได้ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้ทางสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มบทบาททั้งในส่วนของการค้าและการผลิตโลก รวมถึงนโยบาย Belt and Road Initiatives
2. สหรัฐฯ มีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงไปยังอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ส่งผลให้สงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศก้าวไปสู่สงครามเทคโนโลยี ซึ่งจีนตอบโต้โดยออกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสินค้าทุนและวัตถุดิบที่มีต้นทางจากประเทศจีนและพันธมิตร นอกจากนี้ สงครามเทคโนโลยีขยายวงกว้างออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
3. การปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลกมีความเข้มข้นมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ มุ่งย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ของบริษัท หรือไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตร เงินลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก แต่เงินลงทุนจากจีนและประเทศกลุ่มที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRICS) อื่น ๆ ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่มีบางกลุ่มประเทศก็ยังคงมีมูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่ไทยเป็นประเทศที่ FDI ลดลง จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศไทย
4. การแย่งชิงแรงงาน การแบ่งแยกห่วงโซ่การผลิต ทำให้เกิดการย้ายฐานอุตสาหกรรม หลายประเทศต้องการแรงงานทักษะสูง นำไปสู่ Talent War จากรายงานข้อมูลดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลก (The Global Talent Competitiveness Index : GTCI) ปี 2566 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 79 จาก 134 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน จากผลการจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนว่า ไทยต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้น และเร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมของระบบการพัฒนาแรงงานเพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ และยกระดับศักยภาพของแรงงานในประเทศมากขึ้น
5. วิกฤตผู้อพยพจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้มีการหลั่งไหลของผู้อพยพจากเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แม้ต่อมารัฐบาลจะมีการผลักดันผู้อพยพกลับประเทศ ทำให้จำนวนผู้อพยพลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 84,405 คน ในปี 2566 จากจำนวน 90,940 คน ในปี 2565 การลี้ภัยของชาวเมียนมานำมาซึ่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การลักขโมยและการก่ออาชญากรรมตามแนวชายแดน การลักลอบตัดไม้ โรคติดต่อ การค้ามนุษย์ ทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรและงบประมาณในด้านการควบคุมดูแลผู้หนีภัยสู้รบที่มีจำนวนมากเหล่านี้
6. ความมั่นคงทางอาหาร สงครามและความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้พื้นที่การเกษตร ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการกระจายสินค้าอาหาร ตลอดจนวัตถุดิบถูกทำลาย เกิดการย้ายถิ่นของประชากร ส่งผลต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทางอาหารในพื้นที่ใหม่เป็นไปอย่างยากลำบาก ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มต้นทุนและราคาสินค้าเกษตร จนอาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารในประเทศ โดยประเทศต่าง ๆ อาจใช้อาหารเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ
7. ความมั่นคงทางพลังงาน ภาวะสงครามและเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางและ หลายประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานหลายด้านถูกทำลาย รวมทั้งด้านพลังงาน อาทิ ท่อขนส่งน้ำมัน ท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ หรือการทำลายโรงไฟฟ้า ส่งผลให้มีการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือขนส่ง เชื้อเพลิงฟอสซิล กระทบต่อการขนส่งและห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกมีความผันผวน กระทบต่อประเทศไทยซึ่งพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศอย่างมาก ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านพลังงาน วางกลยุทธ์ในการหาแหล่งทรัพยากรพลังงานใหม่ ๆ ในประเทศ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
8. การแย่งชิงทรัพยากรน้ำ การบริหารจัดการพลังงานน้ำอาจกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนอาศัยความได้เปรียบในฐานะประเทศต้นน้ำของลุ่มแม่น้ำโขงก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในช่วงปี 2538 – 2562 ส่งผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำ ที่เกิดปัญหาความแห้งแล้งรุนแรง การขึ้นลงของน้ำผิดปกติ แอ่งน้ำลึกในแม่น้ำโขงตื้นเขินขึ้น ส่งผลกระทบต่อปริมาณการจับปลามากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี รวมถึงความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในจีน อาจทำให้น้ำในเขื่อนกลายเป็น “ระเบิดน้ำ” นำไปสู่เสียงทักท้วงจากประเทศแม่น้ำโขง ตอนล่างเรียกร้องให้จีนคานึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำด้วย
สำหรับความท้าทายที่ไทยต้องบริหารจัดการเพื่อรับมือความผันผวนที่เกิดขึ้นมีหลายด้านที่สำคัญ ได้แก่
1. ด้านการค้าการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่ไหลสู่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และการไหลเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีนที่กระทบผู้ประกอบการภาคการผลิตของไทยโดยเฉพาะ SMEs หรือผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง
2. ด้านเทคโนโลยี ควรให้ความสำคัญกับ Platform ให้บริการที่แยกจากกัน ที่จะส่งผลให้ต้นทุนการใช้บริการสูง รวมถึงประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์และช่องว่างทางดิจิทัล
3. ด้านแรงงานและทักษะ การพัฒนา Ecosystem ที่เอื้อต่อการดึงดูดแรงงานทักษะสูงและพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับแนวโน้มทางเทคโนโลยีและตลาด รวมถึงการพัฒนาเมืองที่สามารถดึงดูด Talent การรองรับแรงงานหรือผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมาและมีความมั่นคงทางอาหาร
4. ด้านความมั่นคงทางพลังงาน ไทยมีสัดส่วนนำเข้าพลังงานที่สูง แม้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถเกิดความมั่นคงทางพลังงานได้ ไทยจึงต้องเร่ง สร้างความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาพลังงานสะอาด รวมถึงต้องใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีและ Critical Materials ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างชาญฉลาด