ไอเดียคือต้นทางของการทำเงินที่ไม่เข้าใครออกใคร ที่กล่าวว่าแบบนั้นก็เพราะไอเดียทุกไอเดีย หากมันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แล้วเผลอมีใครไปล่วงรู้ต้นทางของไอเดียที่กำลังก่อตัวนั้น แล้วชิงดำเนินการมันให้สำเร็จได้ก่อน เขาก็อาจจะเคลมได้ว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งนั้นขึ้นเป็นคนแรก
หรือที่แย่กว่านั้นคือการรู้ทั้งรู้ว่าสิ่งนั้นมีใครเป็นผู้คิดค้นและสร้างสรรค์ เพียงแต่ยังไม่ได้เอามาทำให้มันกลายเป็นจริง แล้วมีใครสักคนหยิบไอเดียที่ใกล้จะกลายเป็นรูปเป็นร่างเต็มทีไปทำให้เป็นจริงก่อนได้ สิ่งนี้คงน่าเจ็บใจอยู่ไม่น้อย
วันนี้เราเลยอยากพาคุณย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในช่วงที่โปรเจกต์จาก Kickstarter โปรเจกต์หนึ่งกำลังมีผู้คนสนใจอย่างล้นหลาม นั่นคือ ‘Fidget Cube’ ลูกเต๋าที่เต็มไปด้วยปุ่มและอุปกรณ์มากมายสำหรับมือว่าง ๆ ขี้เบื่อ ที่ต้องการหาอะไรหยิบจับสักอย่าง และกำลังเปิดระดมทุนไปได้สวย แต่ดันถูกพี่จีนชิงทำขายก่อนจนกลายเป็นปัญหาตามมายกใหญ่ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ตามอ่านได้ในบทความนี้เลย
ก่อนอื่นเราจะพาคุณไปรู้จักกับต้นทางของเรื่องนี้อย่างคร่าว ๆ ‘Fidget Cube’ คือโปรเจกต์ที่คิดค้นขึ้นโดยสองพี่น้องแมทธิวและมาร์ค แมคลาคลัน จาก ‘Antsy Labs’ ที่ต้องการหาวิธีแก้ไขอาการสมาธิสั้นของผู้คน ที่แสดงออกมาผ่านความกระสับกระส่ายและอยู่ไม่นิ่ง ซึ่งบ่อยครั้งอาการเหล่านี้มักจะสร้างความรำคาญต่อผู้คน ทั้งการเอานิ้วเคาะโต๊ะเวลาเบื่อบ้าง หักนิ้วเล่นบ้าง กดปากกาเล่นบ้าง
พวกเขาจึงออกแบบอุปกรณ์ขนาดเหมาะมือที่มีทุกอย่างในการสร้างความฟินให้แก่มือไปสู่สมองของคุณ ผ่านลูกเต๋า 6 หน้า ทุกหน้ามีกลไกที่เราจะพบได้เฉพาะบนอุปกรณ์ที่มันจำเป็นเท่านั้น แต่ไม่ใช่กับลูกเต๋านี้ อย่างเช่นปุ่มเสมือนสวิตช์ไฟแบบ Flip ที่ทำมาให้คุณกดเล่นได้ทั้งวัน ไม่เหมือนการกดสวิตช์ไฟเล่นที่น่าจะโดนคนรอบข้างด่า หรือสายเกมเมอร์ที่ชอบหมุนปุ่มอนาล็อก อุปกรณ์นี้ก็มีปุ่มอนาล็อกจำลองอยู่ที่หน้าหนึ่งของมันด้วยเช่นกัน
ทั้ง 6 หน้าออกแบบมาให้มีลักษณะของการตอบสนองหลายรูปแบบ และมีขนาดเหมาะมือในการเอาไปวางตรงระหว่างนิ้วแล้วกดเล่นได้เพลิน ๆ พร้อมทั้งยังทำออกมาให้ผู้คนได้เลือกซื้อถึง 10 สี 10 แบบด้วย
หากกล่าวถึงความสำเร็จของ ‘Fidget Cube’ นี่ถือเป็นโปรเจกต์ที่มีการระดมทุนมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์บนแพลตฟอร์มนี้ โดยมีเงินสนับสนุนเกือบ 6.5 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ตั้งเป้าไว้เพียง 15,000 เหรียญสหรัฐเท่านั้น รวมถึงมีจำนวนผู้สนับสนุนโครงการนี้กว่า 154,000 คน นับตั้งแต่วันเปิดโปรเจกต์นี้ในวันที่ 31 สิงหาคม 2559 – 20 ตุลาคม 2559 (50 วันถ้วน) ซึ่งแม้ราคาของมันจะมีค่าตัวที่ค่อนข้างสูงที่ 22 เหรียญรวมค่าจัดส่ง (ประมาณ 780 บาท) เทียบกับขนาดและความคุ้มค่าที่จะได้รับ แต่ก็ถือเป็นไอเดียที่มีผู้คนมากมายยอมซื้อ
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ไอเดียปรากฎบน Kickstarter มันเป็นเพียงการนำเสนอสินค้าจริงที่จะมีการทำก็ต่อเมื่อมีคนกด Backed หรือสนับสนุนโครงการนี้ให้ถึงเป้าหมายก่อน ผู้ผลิตจึงจะมั่นใจได้ว่ามีคนซื้อแน่นอน จึงค่อยเริ่มผลิตจริง ฉะนั้นในเวลานั้น มันจึงมีเพียงแค่ไอเดีย และยังไม่มีสินค้าเกิดขึ้นจริง
และนั่นเองทำให้ความบรรลัยเกิดขึ้น
กำหนดการของโปรเจกต์นี้ระบุไว้ว่า ภายหลังการระดมทุนสิ้นสุดลง และยอดการสนับสนุนถึงเป้าหมายแล้ว พวกเขาจะเริ่มดำเนินการผลิตและจัดส่งถึงมือของลูกค้าในช่วงเดือนธันวาคม 2559 หรือราว ๆ 1 – 2 เดือนหลังจากนั้น
แต่ก็ตามสไตล์ของโปรเจกต์ระดมทุน ที่มักเจอ Bug ของสินค้าระหว่างทางการผลิต จากระยะเวลาการผลิตสินค้าจริงที่กระชั้นชิด และยอดการสั่งซื้อที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงหลักแสนชิ้น ทำให้ทางผู้ผลิตจำเป็นต้องหยุดการจัดส่งตามกำหนดการเดิมและเลื่อนเวลาออกไปอีกหน่อย แต่ก็ไม่ได้บอกกับลูกค้าของพวกเขาว่าจะจัดส่งเมื่อไหร่
เมื่อเจ้าของไอเดียต้องการควบคุมคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีบริษัทอื่น ๆ ในจีนแอบนำไอเดียของพวกเขาไปทำแล้วออกมาขายจริงในราคาที่ถูกกว่า เพราะมันมีเพียงค่าผลิตและจัดส่ง แต่ไม่ได้มีค่าไอเดียอย่างที่พวกเขาใส่ลงไปในเรตราคาสินค้า ดังที่จะเห็นได้จากคำค้นหาว่า ‘Fidget Cube’ บนเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ของจีน ‘Alibaba’ ที่แสดงให้เห็นถึงสินค้าลอกเลียนแบบกว่า 13,000 รายการเลยทีเดียว
ด้วยช่องโหว่ห้วงเวลาสูญญากาศของความเทา ๆ ที่สินค้านี้ยังไม่ได้ถูกสองพี่น้องแมคลาคลันจดสิทธิบัตร ทำให้มีสินค้าที่หน้าตาเหมือนกันแต่ถูกกว่าอยู่ทั่วตลาด และมีคนเห็นช่องว่างตรงนี้จนต่อยอดเป็นธุรกิจจริงจังในช่วงระยะเวลาหนึ่ง นั่นคือ ‘แจ็ค’ พ่อค้าหัวใสในคราบชายหนุ่มวัย 24 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในแคนาดา ที่ผันตัวมาลองหาคำตอบว่าหากตัวเองใช้ประโยชน์จากความสำเร็จของโปรเจกต์ต่าง ๆ บนเว็บไซต์ระดมทุน จะทำให้เขาได้ผลตอบแทนมากขนาดไหน
เขาจึงกว้านซื้อ Fidget Cube ราคาถูกตามหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ กว่า 1,000 ชิ้น ในราคาชิ้นละ 3.65 ดอลลาร์ (ราว 128 บาท) เพื่อนำมันมาขายต่อในฐานะสินค้าของตัวเองที่เรียกว่า ‘Stress Cube’ เพื่อไม่ให้ชื่อทับซ้อนกัน และขายมันในราคา 19.99 ดอลลาร์ (ราว 704 บาท) รวมถึงดำเนินการเร่งทำเว็บไซต์เพื่อทำให้สินค้าก็อปปี้ในมือพวกเขาขายได้ทันช่วงต้นเดือนธันวาคม ในขณะที่ช่วงเวลาที่ ‘Fidget Cube’ กำหนดส่งสินค้าจริงคือช่วงคริสต์มาสของปีเดียวกัน
ทำให้แจ็ค และ Stress Cube ของเล่นก็อปปี้จากช่องว่างเรื่องสิทธิบัตรสามารถขายสินค้าได้มากกว่า 100 ชิ้นต่อวัน ในช่วงพีค ๆ พวกเขาขายได้ถึงประมาณ 800 ชิ้นต่อวัน และทำยอดขายไปได้กว่า 3.5 แสนดอลลาร์ภายใน 2 เดือน
ในขณะเดียวกันสองพี่น้องแมคลาคลันก็กล่าวกับทาง CNBC ว่าพวกเขาไม่ได้กังวลเรื่องยอดขายของสินค้าลอกเลียนแบบมากนัก เพราะคิดว่าสินค้าของแท้จากความคิดของพวกเขานั้นดีกว่าเป็นไหน ๆ
“ข้อเสียประการหนึ่งของการระดมทุนผ่านอินเทอร์เน็ตคือ ทุกคนสามารถเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ ได้รับความสนใจและความต้องการที่น่าจะกลายเป็นยอดขายได้มากขนาดไหน คำแนะนำของเราสำหรับนักประดิษฐ์คนอื่นๆ คือ ให้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” มาร์ค แมคลาคลัน กล่าวประเด็นนี้กับ CNBC
แจ็คเองก็เริ่มกังวลต่อเรื่องสิทธิบัตรที่สองพี่น้องแมคลาคลันกำลังจะจดขึ้น เขาตรวจสอบทุกวันว่ามีอัพเดตเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้กลัวนัก หากจะไม่ได้ขายสิ่งนี้ต่อไป “โลกนี้เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ ผมไม่จำเป็นต้องขาย Stress Cubes ผมแค่อยากขายผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนชื่นชอบ แล้วถ้ามันจะขายต่อไม่ได้ ผมก็เปลี่ยนไปขายอย่างอื่นแทน”
“เป้าหมายของผมคือการค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนน่าจะชื่นชอบมัน และหาวิธีขายที่ดีกว่าให้กับมัน” แจ็คกล่าวกับทาง CNBC
สุดท้ายแล้ว ‘แจ็ค’ ไม่ได้เป็นเพียงพ่อค้า แต่เขายังเป็นคนที่หาประโยชน์จากต้นทางไอเดียของคนอื่นมาต่อยอดความเป็นพ่อค้าของตัวเองในแบบไร้ซึ่งจริยธรรมโดยสมบูรณ์
ที่มา
- https://www.kickstarter.com/projects/antsylabs/fidget-cube-a-vinyl-desk-toy
- https://www.polygon.com/2017/1/3/14157334/fidget-cube-delay-shippping-date