“Meow meow meow! Meow meow meow meow meow meow meow meow meow meow meow meow meow. Meow meow meow meow, meow meow meow Meow meow meow meow-meow meow meow meow meow meow meow, meow meow, meow meow meow meow meow ‘Meow Meow’ meow meow meow meow.”

แมวตัวหนึ่ง

นี่คือเสียงตอบรับจากแมวนักอ่านตัวหนึ่งถึงวรรณกรรมที่ชื่อ ‘Meow: a novel’ ที่มีเนื้อหาว่าด้วยคำว่า ‘Meow (เหมียว)’ กว่า 80,000 คำ ซึ่งเป็นหนังสือที่เพิ่งขายในร้าน Kinokuniya จนหมดสต๊อกไปแทบทุกร้าน จากทั้งเนื้อหาที่กินใจ และสอดแทรกมุมมองต่อโลกที่มีมนุษย์เป็นใหญ่ผ่านแง่มุมของแมว อีกทั้งยังเป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาครบรส รักหวานซึ้ง ตลกขบขัน และบู๊ล้างผลาญจนแมวอ่านไม่ติดเบาะนอน

ก่อนจะไปกันใหญ่ วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ‘The Meow Library’ เจ้าของเนื้อหาวรรณกรรมสำหรับแมว และเนื้อหาอื่น ๆ ที่เขาตั้งใจทำให้แมวนักอ่านของคุณกัน ว่าที่มาที่ไปคืออะไร และเหตุใดเขาจึงเริ่มต้นทำมันจริงจังถึงเพียงนี้

‘The Meow Library’ เกิดขึ้นจากความคิดของ ‘Sam Austen’ ผู้นิยามตัวเองในเว็บไซต์ Amazon ว่าเป็นนักภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญการสื่อสารเผ่าพันธุ์แมวโดยเฉพาะ จากการเป็นทั้งอดีตศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสำหรับแมว และได้ใบรับรองจากมหาวิทยาลัยการแพทย์โกลเด้นสเตท (Golden State Medical University)

โดยการมีอยู่ของ ‘The Meow Library’ คือการเป็น Publisher ที่เผยแพร่เนื้อหาหนัก ๆ อย่างวรรณกรรมคลาสสิกของตะวันตก ที่สามารถทำให้แมวที่บ้านของคุณเข้าใจเนื้อหาเหล่านี้ได้ได้ง่าย ๆ จากการแปลภาษามนุษย์ ให้กลายเป็นภาษาแมวที่ใส่เพียงคำว่า “Meow” ไว้ทุกหน้า และทั้งเล่ม โดยผ่านการพิสูจน์อักษร และจัดเรียงน้ำหนักเสียงที่จำเป็นต้องเว้นวรรคหายใจในการอ่าน แบ่งวรรคตอนอย่างถูกต้องทุกประโยค เพื่อให้เหล่าทาสซื้อไปอ่านให้แมวของคุณได้ฟัง

ตอนนี้ทาง Publisher มีผลงานการตีพิมพ์เป็นหนังสืออกมาแล้ว 4 เล่มด้วยกัน ไล่เรียงจาก ‘Meow: a novel’ นวนิยายความยาว 345 หน้าที่มีขอบเขตเนื้อหาแสนกว้างขวาง และตีความได้เฉพาะแมวเท่านั้น และแซมก็เป็นผู้แต่งขึ้นมาเองทั้งเล่ม อีกทั้งยังมี Audiobook หรือหนังสือเสียงแบบเป็นทางการความยาว 14 ชั่วโมง 21 นาที ผ่านน้ำเสียงของแซมที่เล่าเนื้อหานี้ได้อย่างถูกต้องทุกอักขระ และเว้นจังหวะหนักเบาระหว่างการอ่านได้เป็นธรรมชาติที่สุด

ส่วนอีก 3 ผลงานถัดมาคือการแปลเนื้อหาวรรณกรรมชั้นเยี่ยมหลาย ๆ เรื่อง อย่าง ‘Thus Spoke Zarathustra’ วรรณกรรมเชิงปรัชญาของ ‘ฟรีดริช นีทเช่ (Friedrich Nietzsche)’ นักเขียนชาวเยอรมันที่เผยแพร่ครั้งแรกช่วงปี 1883 – 1885 เนื้อหาเล่าถึงความคิดเชิงปรัชญาต่อต้านความเชื่อของคริสต์ศาสนาจากการเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เชื่องช้าและอ่อนแอ และนำเสนอแนวคิดที่ผู้เขียนสนับสนุนอย่างเรื่องศีลธรรมแบบนาย ที่เขาเชื่อว่ามันมุ่งหวังเพื่อให้มนุษย์เข้มแข็ง และไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาหรือภักดีต่อผู้ใด เพราะมนุษย์ควรกำหนดชะตากรรมและสร้างระบบความเชื่อของตัวเองได้

เรื่องถัดมาคือ ‘Crime and Punishment’ โดย ‘ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoevsky)’ นวนิยายที่เขียนขึ้นในปี 1866 หลังจากที่ผู้เขียนพ้นโทษจากการถูกส่งไปใช้แรงงานในไซบีเรีย ในข้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มเปตราเชฟต์สกี ที่พยายามโค่นล้มราชบัลลังก์พระเจ้าซาร์นีโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซีย เนื้อหาว่าด้วยความกดดันและสภาวะการถูกบีบคั้นของตัวละครเอกผู้ยากจน จนทำให้เกิดการฆาตกรรมซึ่งถูกไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และฆาตกรรมผู้เห็นเหตุการณ์เพื่อปิดปากอีกราย

และเรื่องที่ 3 อย่าง ‘War and Peace’ ของ ‘เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy)’ นักเขียนชาวรัสเซียที่ตีพิมพ์เมื่อช่วงปี 1865 – 1869 เนื้อหาเล่าถึงสังคมในยุคสมัยนโปเลียนที่เกิดเหตุการณ์การรุกรานรัสเซียโดยฝรั่งเศส และผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นผ่านเรื่องราว 5 เรื่องที่เชื่อมโยงกันภายในเนื้อหา เพื่อแสดงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

โดยเนื้อหาทั้งหมดที่กล่าวมาดูจะจริงจังและเข้าถึงยาก แต่แซมนำเนื้อหาทั้งหมดมาแปลงเป็นภาษาแมว และเติมคำว่า ‘For Your Cat’ ต่อท้ายสินค้าของเขาทั้งสามเล่ม เพื่อบอกว่าเนื้อหาทั้งหมดเหล่านี้ทำมาเพื่อแมวจริง ๆ

นอกจากรูปแบบหนังสือแล้ว แซมยังทำรายการ Podcast ที่ชื่อ ‘MEOW: A Literary Podcast for Cats’ เพื่อเล่าเรื่องวรรณกรรมที่น่าสนใจของมนุษย์สู่แมวของคุณ และก็อย่างที่คุณคิด รายการนี้เล่าเรื่องทุกคำและทุกประโยคด้วยคำว่า “Meow” เหมือนกัน ซึ่งขณะนี้เผยแพร่มาแล้วกว่า 32 ตอนด้วยกัน ใครสนใจฟังพอดแคสต์ของเขาก็ไปตามฟังกันได้

ด้วยไอเดียสุดปั่น และความสร้างสรรค์ที่ตรงจริตผู้คน เอ้ย เหล่าทาสกันถ้วนหน้า ทำให้ผลงานของ ‘The Meow Library’ ได้รับการสนใจจากทั่วโลก ยอดขายหนังสือถล่มทลาย แม้จะมีราคาที่สูงจากการนำเข้า แต่ความจริงจังจากแนวคิดตั้งแต่วันที่เริ่มต้นของแซม ทำให้แมวนักอ่านทั่วโลกเสพเนื้อหาของมนุษย์ได้อย่างเป็นวิฬารแบบจริง ๆ สักทีเช่นกัน

ที่มา

CREATED BY

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป