วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2567) กระทรวงการต่างประเทศได้มีการบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับภูมิหลังและสถานะล่าสุด กรณีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทย-กัมพูชา Overlapping Claims Area (OCA) โดยมี นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนางสุพรรณวษา โชติญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นผู้ให้ข้อมูล ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ
อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้อธิบายให้เข้าใจถึงประเภทต่าง ๆ ของเขตทางทะเล รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ปี 1982 เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงถึงประเด็นของ OCA ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปของทั้ง 2 ประเทศนี้ ซึ่งรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันเกี่ยวกับการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันผ่านการทำ MOU ในปี 2544
อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้ชี้แจงต่อว่า MOU 2544 เป็นการทำข้อตกลงที่มีการกำหนดกรอบและกลไกในการเจรจาระหว่างกัน ไม่ใช่เป็นการยอมรับในการอ้างสิทธิทางทะเลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และใน MOU 2544 ยังได้ระบุถึงการดำเนินการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ โดยทั้ง 2 ประเทศก็ต้องเจรจากันบนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน
ซึ่งกลไกหลัก ๆ ของการเจรจาแก้ไขปัญหาที่ว่าภายใต้ MOU 2544 คือ ‘คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค’ ที่ประกอบไปด้วยองค์กรจากหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านความมั่นคง, ด้านกฎหมาย และด้านพลังงาน เป็นต้น โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคมีการประชุม 2 ครั้ง ในปี 2544 และ 2545 ส่วนแนวทางที่จะแก้ไขปัญหา OCA ร่วมกันต้องสอดคล้องในระดับนโยบายและระดับเทคนิคของทั้ง 2 ประเทศ กล่าวคือ ประชาชนของทั้งสองประเทศต้องยอมรับข้อตกลงได้, ต้องนำเรื่องเข้ารัฐสภาเพื่อให้พิจารณาความเห็นชอบ และต้องสอดคล้องกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่น ๆ
ในปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีในการแต่งตั้งองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝั่งของไทย และหากทั้งสองฝ่ายได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางประเทศไทยก็จะเสนอกรอบให้รัฐบาลเห็นชอบ จากนั้นจะมีการทาบทามเจรจากับทางฝั่งกัมพูชา ไปจนถึงแต่งตั้งกลไกลย่อย ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันว่าจะเจรจาเรื่อง OCA บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย รวมถึงกรอบเจรจาที่ได้รับความเห็นชอบ ด้วยความเป็นมืออาชีพและยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก