ในช่วงเริ่มต้นทำสารคดีซีรีส์ SUM UP X พัทยา หลายคนพุ่งเป้าไปที่การสืบค้นประวัติศาสตร์อาหาร การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมพื้นถิ่น ทว่าเรากลับสนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของที่นั่น แล้วค้นพบว่าชายหาดพัทยาเป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบปัญหาเรื่อง ‘ชายฝั่งถูกกัดเซาะ’ เราจึงพยายามเสาะหาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมชายหาดได้โดยตรง แต่กลับติดปัญหาด้านวันและเวลาจนไม่สามารถหาคนมาคุยในประเด็นนี้ได้ ถึงกระนั้นก็เหมือนจักรวาลจัดสรร เราได้ชื่อเพจเฟซบุ๊กของ ‘Beach for Life’ มาจากรุ่นพี่ในทีมเดียวกัน
เท่าที่ตรวจสอบดูเบื้องต้นพบว่าภารกิจหลักของ Beach for Life เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่เราสงสัย นั่นคือความเป็นไปของสภาพชายหาดทะเลไทย เนื่องจากทุกครั้งที่มีคนพูดถึงปัญหาทางทะเล ภาพแรกที่ปรากฏขึ้นมาในหัวมักเป็นภาพของสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ ประการังฟอกขาว และอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเสียเป็นส่วนมาก ทว่าขณะเดียวกันชายฝั่งและชายหาดก็ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่ต่างกัน มิหนำซ้ำยังมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ เราจึงติดต่อไปพูดคุยกับ Beach for Life และ น้ำนิ่ง อภิศักดิ์ ทัศนี หัวหอกสำคัญของภารกิจกู้คืนชายหาด และนี่คือบทสนทนาของน้ำนิ่งเกี่ยวกับจุดเริ่มต้น พันธกิจ และอนาคต

จุดเริ่มต้นทําเพจ Beach for life
Beach for Life เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2555 แต่ก่อนหน้านี้ตอนผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผมได้มีโอกาสไปเวิร์คช็อปกับกับอาจารย์จากมหาวิทยาลับเกษตรและมหาวิทยาลัยสงขลา อาจารย์พาผมและเพื่อนไปเดินดูชายหาด ซึ่งห่างจากโรงเรียนของผมประมาณร้อยกว่าเมตร แล้วให้สังเกตดูถุงบิ๊กแบ็คที่ถูกนำมาวางไว้บริเวณชายหาดเพื่อกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง โดยอาจารย์อธิบายว่าการนำบิ๊กแบ็คมากั้นจะยิ่งทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น เพราะความจริงแล้วปัญหานี้มันเริ่มมาจากการสร้างเขื่อนกันคลื่น แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ผล จนต้องมาใช้บิ๊กแบ็คเสริมเข้าไปอีกที มันเหมือนกับติดกระดุมเม็ดแรกผิด แล้วก็ติดผิดต่อมาเรื่อย ๆ จนชายหาดความยาว 5 กิโลเมตร เริ่มถูกทะเลเซาะกลืนหายเข้าไปทุกที

ในตอนนั้นผมรู้สึกตกใจมาก อย่างที่บอกว่าโรงเรียนผมใกล้ทะเล เดินผ่านชายหาดที่มีการก่อสร้างทุกวัน แต่กลับไม่รู้และเข้าใจเรื่องนี้เลย แล้วเพื่อนในโรงเรียนอีก 3,000 คน และชาวบ้านในพื้นที่ล่ะจะรู้เรื่องนี้ไหม ในตอนนั้นจึงเริ่มรู้สึกว่าควรทำอะไรสักอย่าง เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังผู้คนและชุมชน ผมจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนสร้างเพจเฟซบุ๊กง่าย ๆ ซึ่งตอนนั้นเพิ่งได้รับความนิยมไม่นาน ผมกับเพื่อนก็ใช้เพจเฟซบุ๊กให้ความรู้เกี่ยวกับชายหาด ร่วมไปกับการลงพื้นที่ไปยังชุมชนต่าง ๆ การประกาศผ่านเสียงตามสาย การให้ความรู้กับน้องนักเรียน และจัดทำหนังสือนิทาน เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ชายหาด ซึ่งพวกผมทำกันมาเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
มันก็เห็นการเติบโตของเราแลผู้คน 10 กว่าปีที่เราทํางานมา จากคนสงขลาที่ไม่ค่อยเข้าใจ ก็เข้าใจมากขึ้น ตอนนี้กลายเป็นคนในสังคมเริ่มตระหนักปัญหานี้มากขึ้น ด้วยคือเราเชื่อว่าพวกเราเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีเครื่องมือที่พิเศษมากนั่นคือ สื่อที่เราสามารถเป็นคนสื่อสารเองได้ สามารถผลิตคอนเทนต์แล้วเล่าเรื่องได้ เราใช้เครื่องมือแบบนี้บอกสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารกับคนในสังคม แล้วมันเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอันนี้เป็นเป็นหลักการที่เรารู้สึกว่า พอมาทําแล้วมันเห็นการเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีหลังจากที่เราทํางาน Beach for life แทบไม่ได้ทําอะไรเยอะเลย แค่เก็บข้อมูล เล่าเรื่อง แล้วก็ทําคอนเทนต์สิ่งเดียวที่ทําอยู่ก็คือประจานความล้มเหลวของกําแพงกันคลื่น ว่ามันล้มเหลวจริง ๆ ข้อดีของมันมีนะ แต่ข้อเสียมันมีเยอะกว่าข้อดี ซึ่งเราคิดว่าสิ่งนี้คือหน้าที่สำคัญของ Beach for life

ตลอดการทํางาน 12 ปีที่ผ่านมา กับคอนเทนต์ที่สร้างแรงกระเพื่อมจนเกิดผลสัมฤทธิ์
จากการทำงานตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ามีสองเคสที่ลงมือทำแล้วได้ผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน เคสแรกคือหาดม่วงงามที่จังหวัดสงขลา ชาวบ้านจากหมู่บ้านหนึ่งที่ห่างไกลตัวเมือง เรียกร้องอยากได้กำแพงกันคลื่น แต่สักพักหนึ่งก็พบว่า การใช้กำแพงกันคลื่นในพื้นที่ใกล้เคียงมันไม่ได้ผล แถมยังทรุดหนักและเสียหายมากกว่าเดิม ผมจึงเดินทางไปช่วยสนับสนุนเสียงของชาวบ้าน จากตอนแรกแค่ 10 กว่าคน ก็สามารถรวมตัวได้เป็น 100 คน ในช่วงโควิดก็ทำ ‘Mob from Home’ จัดทำคอนเทนต์พาไปดูความเสียหายที่เกิดจากกำแพงกันคลื่น กระทั่งต่อมามีคนนับพันร่วมกันชูป้าย ‘ปกป้องม่วงงาม’ จนเกิดเป็นแฮชแท็กติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ผลที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่แค่การรับรู้ของคนในพื้นที่ แต่เป็นการที่คนในสังคมต่างตระหนักรู้ในเรื่องนี้ด้วย และนำมาสู่การที่รัฐหยุดโครงการนี้ไว้ชั่วคราว ซึ่งอันนี้เป็นพลังของการสื่อสารจาก Beach for life ร่วมกับชาวบ้านแล้วมันเป็นการตื่นตัวรับรู้เรื่องกําแพงกันคลื่นเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี
ในส่วนของอีกเคสหนึ่งสําหรับผมคือหาดชะอํา ก่อนจะกําแพงกันขึ้นจะเสร็จ ชาวบ้านไล่ผมเพราะไปให้ข้อมูลเขาว่าทําแล้วมันจะสร้างความเสียหาย เศรษฐกิจจะพัง ชาวบ้านก็ไม่เชื่อ เขาบอกว่าที่ราชการเลือกมาทำน่าจะดีกว่าอยู่แล้ว แต่พอกำแพงกันคลื่นถูกสร้างเสร็จ ผมก็ไปลงพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านก็มาคุยกับผมแล้วบอกว่า กำแพงกันคลื่นมันแย่มาก เสียหายหนักกว่าเดิม นักท่องเที่ยวหาย เศรษฐกิจพัง ผมเลยช่วยทำคอนเทนต์เล่าเรื่องด้วย 4 ภาพ เป็นภาพที่คลื่นมันกระโจนข้ามกำแพงกันคลื่นเข้ามา ภายในคืนเดียวคนแชร์ไปกว่า 3,000 ครั้ง เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกำแพงกันคลื่นที่หาดชะอำ คือผมรู้สึกว่ามันสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะมาก ความจริงมันก็มีอีกหลายเคสที่คล้ายกัน แต่ว่าโดยรวมผมคิดว่าตั้งแต่ทําคอนเทนต์มา การเอาความล้มเหลวของกําแพงกันคลื่นไปบอกกับสังคมทําให้สังคมตื่นตัวมากขึ้น

ความคาดหวังในอนาคต
เมื่อก่อนกําแพงกันคลื่นต้องกลับมาทํา EIA คือ ตอนนี้ผมเรียกร้องให้ได้กฎหมายนี้ได้แล้ว หลังจากประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอันนั้นสู้กันมา 10 ปี ตามระยะเวลาที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือ 10 ปี เพื่อเรื่องเดียวเลยคือ ให้กําแพงกันคลื่นกลับมาทํา EIA แต่ว่าพอหลังจากเอากลับมาทํา EIA มันก็เห็นว่างบประมาณมันลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอันนี้ก็เป็นความสําเร็จของความพยายามในการต่อสู้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แล้วก็เป็นความสําเร็จของทุกคนที่ช่วยกันสื่อสารเรื่องนี้ แต่ว่าความคาดหวังในระยะยาวของผมคือ คิดว่า หนึ่งมนุษย์ใกล้ธรรมชาติเกินไป เราไม่ได้บอกว่าการใกล้ธรรมชาติมันเป็นเรื่องที่ผิด แต่มันอันตรายต่อชีวิตของผู้คนด้วย ทรัพย์สินของเขาด้วย มันควรจะต้องถอยร่นได้แล้ว เราฝันเห็นนโยบายการกําหนดระยะถอยร่นในประเทศไทย
ประเทศแบบศรีลังกาซึ่งแบบเป็นประเทศที่ถ้าเทียบศักยภาพ GDP หรือใด ๆต่ำ กว่าเราเยอะมาก เขายังมีกฎหมายที่มีความก้าวหน้าในเรื่องของชายฝั่งทะเล เพราะเขารู้ว่ามันไม่ปลอดภัยแต่บ้านเราไม่มี ซึ่งผมอยากเห็นกฎหมายนี้ เนื่องจากผมพยายามสื่อสารเรื่องนี้มา 15 ปีแล้ว ยังไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งผมหวังว่าเร็ว ๆ นี้กฎหมายระยะถอยร่นมันควรจะเกิดขึ้น ที่บอกว่าระยะแค่ไหนที่มนุษย์ไม่ควรจะอยู่ จากข้อมูลเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ําทะเล เรื่องของพายุที่ซัดเจ้าชายฝั่ง เพราะมันไม่ปลอดภัยสําหรับมนุษย์ด้วย แล้วถ้ามันจะต้องมีการประกาศ มันควรจะต้องชดเชยค่าเสียหายให้กับชุมชน หรือคนที่เขาอยู่ริมชายฝั่งมาก่อน ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนี้ควรจะเกิดขึ้น อีกสิ่งหนึ่งคือช่วง 10 ปีที่กําแพงกันคลื่นไม่ได้รับการศึกษาว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร มันสร้างความเสียหายไม่ต่ํากว่าร้อยชุมชน เพราะมันคือ 125 โครงการ 8,400 ร้อยล้านบาท ที่เอางบไปสร้างกําแพงกันคลื่น
ผมคิดว่ามันต้องเยียวยาและฟื้นฟู หมายถึงว่าไม่ใช่ฟื้นฟูหรือเยียวยามนุษย์หรือคนที่ได้รับผลกระทบเพียงอย่างเดียว แต่มันควรจะเยียวยาชายหาดให้หาดกลับคืนมา โดยเฉพาะหาดที่มีความสําคัญอย่างชะอํา มันคือหาดท่องเที่ยวที่ถ้าไม่ไปฝั่งตะวันออก เช่น ระยอง ชลบุรี ขับรถลงใต้หาดที่คนกรุงเทพฯคิดถึง หรือคนจากเชียงใหม่คิดถึง และใกล้ที่สุดคือหาดชะอำ หรือที่คนใต้มาพักก่อนที่จะขึ้นกรุงเทพฯมันคือชะอํา ดังนั้นชะอํามันควรจะถูกฟื้นฟูจากการสร้างกําแพงกันคลื่น มันต้องมีมาตรการอะไรก็ได้ที่ทําให้ชายหาดกลับมา ไม่ใช่ปล่อยเป็นกําแพงกันคลื่นคาราคาซังอยู่แบบปัจจุบัน แล้วมีคนไปลื่นล้มหัวแตกจนพิการ หรือมีคนไปลื่นจนได้รับบาดเจ็บทุกสัปดาห์ ผมคิดว่าเนี่ยมันต้องฟื้นฟูให้ได้ หรือแม้กระทั่งชุมชนหนึ่งที่เคยมีชายหาดเป็นของเขายาวเกือบ 10 กิโล แล้วอยู่ๆสร้างกําแพงกันคลื่น ชายหาดเขาหายหมดเลย บ้านเขาก็ว่างทั้งหมดเลย หาดแบบนี้เราควรจะต้องฟื้นฟูกลับมา ซึ่งผมหวังที่จะเห็นทั้งการฟื้นฟู การรื้อถอน การเติมทรายกลับมา การใช้มาตรการอื่น ๆ อะไรก็ได้ที่ทำให้มันมีชายหาดกลับมา ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นกําแพงคลื่นคาราคาซังแล้วสร้างปัญหาอยู่แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมฝันเห็นในระยะเร็ว ๆ นี้นะสัก 5 ปี 10 ปี
หลังจากพูดคุยกับน้ำนิ่งเสร็จ เราพบว่าบนโลกนี้ยังมีอีกหลายปัญหาที่มองเห็น แต่ยังไม่เข้าใจอีกมากมาย เราไม่เคยรับรู้ด้วยซ้ำว่าการที่คลื่นกัดเซาะชายฝั่งนำพาความเสียหายแบบใดมายังผู้คนบ้าง รวมถึงการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่ไม่เข้าใจธรรมชาติ ส่งผลให้ความเสียหายมันยิ่งทวีคูณมากขึ้นไปอีก การพูดคุยกับน้ำนิ่งทำให้เราเข้าใจการทำงานขององค์กรอิสระ พวกเขาไม่ได้รักแค่ธรรมชาติ แต่รักชีวิตของผู้คนที่มีความเกี่ยวพันกับธรรมชาติด้วย คำกล่าวที่ว่าไม่มีทะเล ไม่มีป่า ไม่มีแม่น้ำ ไม่มีผู้คน ดูเหมือนจะไม่ใช่แค่คำปรัชญาเลื่อนลอย แต่มันหมายความตามที่กล่าวอย่างแท้จริง