‘วิ่งไล่จับ (Tag Game)’ คือการละเล่นในขวบวัยอันหอมหวานของหลายคน ที่เมื่อโตมาก็หาเวลาเล่นมันไม่ได้อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่มันเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เล่นได้ใช้เวลาร่วมกับผู้อื่นอย่างเต็มเปี่ยม ได้ใช้ไหวพริบในการหาทางหลบหนีฝ่ายผู้เล่นที่วิ่งไล่ตาม แถมยังกลายเป็นการออกกำลังกายดูจะเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กอีกด้วย
เมื่อโตขึ้นการละเล่นนี้ก็สูญหายไปจากชีวิตของมนุษย์วัยผู้ใหญ่ จนใครจะไปนึกถึงว่าถ้าเรากำหนดรูปแบบ และกติกาให้สากลได้ สุดท้ายการละเล่นวิ่งไล่จับนี้ก็กลายเป็นกีฬาที่นิยมในระดับโลกอย่าง World Chase Tag ได้โดยสมบูรณ์
ส่วนสำคัญนอกจากกติกาสากลแล้ว สิ่งที่ทำให้ World Chase Tag มีความเป็นระเบียบแบบแผนชัดเจนเลยก็คือ ‘The Quad’ สนามการแข่งขันมาตรฐานที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ประลองความสามารถ และไหวพริบปฏิภาณ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงสนามโล่ง ๆ เท่านั้น แต่มันคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเครื่องกีดขวางมากมาย และที่สำคัญคือคุณสามารถซื้อมันได้ในราคาเกือบสองล้านบาท (แต่ต้องมีที่ว่างมากพอด้วยนะ) เรื่องราวของมันจะเป็นอย่างไร ตามเรามาได้เลย
จุดเริ่มต้นของ World Chase Tag
เมื่อช่วงปี 2011 ที่สวนหลังบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านแดชเช็ต ในเบิร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ มักเป็นพื้นที่ที่ คริสเตียน เดอวู (Christian Devaux) และออร์แลนโด ลูกชายของเขาเล่นวิ่งไล่จับกัน คริสเตียนเล่าให้ SportsPro ฟังว่าลูกชายของเขาไม่ได้ชอบเล่นกีฬาอย่างฟุตบอลหรือคริกเกตอย่างเด็กทั่วไป แต่ชอบและคลั่งไคล้การเล่นวิ่งไล่จับมากเป็นไหน ๆ ชั่วชีวิตของลูกชายและเขาในฐานะพ่อจึงได้ร่วมเล่นกันหลายครั้ง เบื่อพื้นที่โล่ง ๆ เดิมเข้าก็เอาถังขยะหรือม้านั่งมาวางกีดขวางเส้นทางให้ได้รูปแบบสนามที่แตกต่างกันออกไป หลังจากนั้นคริสเตียนจึงนึกสนุก เอากล้อง GoPro ถ่ายเกมการเล่นไว้ และปล่อยบนช่อง YouTube ซึ่งก็มีผู้คนให้ความสนใจมากมาย
จนคริสเตียน และดาเมี่ยน (Damien Devaux) น้องชายของเขา ตัดสินใจร่วมกันสร้างสิ่งนี้ให้กลายเป็นการแข่งขันของจริง พวกเขาพยายามพัฒนารูปแบบการเล่นหลายต่อหลายครั้งผ่านการใช้นาฬิกาจับเวลาบนสมาร์ทโฟน และกติกาแบบบ้าน ๆ ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา รวมถึงการเริ่มต้นออกแบบสนามการแข่งขันที่ใช้ชื่อว่า ‘The Quad’
ถัดมาในปี 2012 พวกเขาเริ่มต้นก่อตั้ง ‘World Chase Tag’ ได้สำเร็จ กีฬานี้ถือว่าได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากโลกออนไลน์ที่ทำให้ผู้คนมองเห็นวิดีโอการเล่นวิ่งไล่จับในสวนหลังบ้านของเขา และสังคมออนไลน์ที่กำลัง hype เรื่องของกีฬา ‘Parkour’ จากภาพลักษณ์ที่ดูผาดโผนโจนทะยาน น่าตื่นเต้น และเมื่อถูกถ่ายออกมาเป็นวิดีโอที่เห็นเป็นภาพคนวิ่งไต่กำแพง กระโดดไกลจากหลังคาหนึ่งไปสู่อีกหลังคาหนึ่ง สิ่งนี้เลยกลายเป็นความบันเทิงรูปแบบใหม่ของทั้งผู้ชมและผู้คนที่ได้เล่นสิ่งนี้
กติกากลางคร่าว ๆ ของ World Chase Tag คือเกมการแข่งขันของผู้เล่นสองทีมที่ส่งตัวแทนออกมาฝ่ายละ 1 คน โดยฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ไล่ล่า (Chaser) และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ถูกล่า (Evader) ตลอดการแข่งขันในแต่ละรอบที่กินเวลาเพียง 20 วินาที ผู้ไล่ล่าจะต้องวิ่งไล่จับเพื่อทำการ Tag ผ่านการใช้มือในการแตะร่างกายส่วนบนตั้งแต่เหนือเข็มขัดถึงคอเท่านั้น เพื่อได้รับ 1 คะแนนไป ส่วนผู้ถูกล่า หากหนีการ Tag จากอีกฝ่ายได้ตลอด 20 วินาที จะได้รับ 1 คะแนนไปเช่นกัน โดยหากระหว่างการแข่งขัน ใครหลุดออกจากสนามจะถูกปรับแพ้ไป ส่วนในการแข่งขันรอบถัดไป ผู้ที่ Tag สำเร็จ หรือผู้ถูกล่าที่หนีการ Tag สำเร็จ จะกลายเป็นผู้ถูกล่าต่อไป การแข่งขันจะจบลงเมื่อมีฝ่ายไหนทำคะแนนถึง 16 คะแนนก่อนนั่นเอง
Tha Quad คืออะไร?
กีฬานี้เล่นในสนามการแข่งขันพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เรียกว่า ‘The Quad’ ที่มีที่มาของชื่อจากคำเรียกสนามเด็กเล่นในประเทศอังกฤษ บนพื้นที่สนามขนาด 12 คูณ 12 เมตรนี้ประกอบไปด้วยสิ่งกีดขวางมากมายที่สร้างขึ้นด้วยไม้และเหล็กประกอบรวมกันเป็นทางวิ่งขนาดเล็ก พื้นยกระดับขนาดพอเหมาะ ไปถึงราวจับและรั้วกั้นหลายรูปแบบที่ช่วยสร้างพื้นที่การหลบหนี และรูปแบบการเล่นที่แตกต่างออกไปตามแต่ชั้นเชิงของไหวพริบของผู้เล่นแต่ละคน
พื้นที่ทั้งหมดประกอบไปด้วย 6 ส่วนสำคัญ ไล่เรียงตั้งแต่ ‘Tilted Cube’ พื้นที่สิ่งกีดขวางขนาด 2.1 คูณ 1.5 และสูง 2 เมตรที่ถูกใช้งานมากที่สุดนี้ สร้างขึ้นบนหลักการ EQ หรือศัพท์เฉพาะของ World Chase Tag ที่หมายถึง Evasion Quality หรือคุณภาพการหลบหลีก ซึ่งเป็นค่าสมมติที่คำนวณขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์กับฝ่ายหลบหนี ซึ่งหากเป็นสิ่งกีดขวางที่มีค่า EQ สูง คุณภาพในการหลบหนีก็จะดี แต่หากค่า EQ ต่ำ คุณภาพการหลบหนีก็น้อยลงไป จุดนี้มักถูกใช้เป็นพื้นที่ประวิงเวลาในการหลบหนีก่อนจะครบ 20 วินาที หากได้ชมการแข่งขันเราจะเห็นผู้ไล่ล่าและผู้ถูกล่าใช้เวลาไปกับพื้นที่ตรงนี้มากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน
ถัดมาที่พื้นที่ข้าง ๆ กันที่เรียกว่า ‘The Mountain’ ที่มีลักษณะเป็นทางเดินคล้ายเนินแคบ ๆ สามด้านที่ถูกยกระดับขึ้นเหนือพื้นสนามราว 2 เมตร ที่มักถูกใช้เป็นพื้นที่กระโจนไปยังพื้นที่ถัดไประหว่างการไล่ล่า และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูก Tag มากที่สุดในสนาม จากลักษณะการออกแบบที่เน้นเปิดกว้างหลายทิศทาง ทำให้ผู้ไล่ล่าสามารถเข้า Tag ผู้ถูกล่าได้หลายทาง
พื้นที่ที่เชื่อมต่อมาจากสองจุดแรกเรียกว่า ‘Loading Bay’ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่แถบแผงกั้นเหล็กทางด้านขวา ที่ผู้ถูกล่ามักใช้เป็นเครื่องประวิงเวลาเช่นเดียวกับ Tilted Cube แต่ก็มีจุดด้อยจากราวนี้ด้วยเช่นกัน ที่ออกแบบมาให้มี 2 ทางลอดระหว่างแผงกั้น ที่กว้างพอให้ผู้ไล่ล่าที่หวังใจจะกระโจนเข้ามา Tag ในพื้นที่ตรงนี้ดำเนินการได้สำเร็จง่ายขึ้นด้วย
ถัดมายังพื้นที่ฝั่งตรงข้ามทางด้านขวาของสนามที่ชื่อ ‘The Ridge’ มีลักษณะเป็นกำแพงขนาดใหญ่ที่สูงพอจะสร้างค่าสมมติ EQ ให้เป็นพื้นที่ที่ดีในการหลบหนี จุดเด่นของสิ่งกีดขวางนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวมันเอง แต่มันเป็นพื้นที่ที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมจากการที่มันทำให้เกิดท่าทางการหลบหนีและการไล่ล่าที่น่าตื่นตาตื่นใจได้มากที่สุดในสนาม จากความซับซ้อนของกำแพงที่พาดไปมา และระดับความสูงของกำแพงแต่ละตัวที่แตกต่างกัน
ขยับมายังพื้นที่ด้านหน้าสุดของสนามเมื่อมองจากมุมมองผู้เล่น ‘The Front Line’ คือพื้นที่ทางเดินแคบ ๆ ที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย มีเส้นทางต่างระดับเล็กน้อยระหว่างทางเดินแต่ละแผ่น และยกสูงขึ้นจากพื้นสนามประมาณระดับเอว มันพาดกลางพื้นที่เริ่มต้นหน้าผู้เล่นก่อนเริ่มเกมที่เรียกว่า ‘Starter Plate’ ไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พื้นที่นี้ถูกออกแบบให้สามารถกระโดดข้าม และลอดด้านใต้ได้อย่างสบาย ๆ แต่ก็เพิ่มความยากด้วยราวเหล็กเตี้ยที่เชื่อมสิ่งกีดขวางกับเส้นกรอบสนาม ที่หากวิ่งไม่ดีก็สะดุดหน้าคะมำได้ด้วย มันจึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้นที่เรียบง่าย และอาจกลายเป็นจุดจบของเกมที่อันตรายได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้งมันยังทำให้ผู้เล่นต้องชะลอการวิ่งระหว่างการไล่ล่าได้อีกด้วย
โดย The Front Line นี้ถูกขนาบข้างด้วย ‘Lazy Boy’ และ ‘Ridge’ หรือพื้นที่ยกระดับที่ลดทอนรูปร่างจาก Tilted Cube และ Loading Bay ลงมาให้มีราวกั้นเพียงหนึ่งด้าน เพื่อช่วยเพิ่มสิ่งกีดขวางเล็กน้อยกับผู้ไล่ล่า
และพื้นที่สุดท้ายในสนาม ‘The Sister’ ที่ติดตั้งบริเวณด้านซ้ายสุดของสนาม หรือข้าง ๆ กับบริเวณที่ Tilted Cube, The Mountain และ Loading Bay ติดตั้งอยู่ มีลักษณะคล้ายม้านั่งไร้พนักพิงที่ยกสูงขึ้นมาระดับหน้าอกสองชิ้นขนาบข้างกัน และกั้นเส้นทางวิ่งบริเวณด้านซ้ายไปโดยสิ้นเชิง พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ผู้ไล่ล่าและผู้ถูกล่าใช้เป็นเส้นทางเลือกระหว่างการสไลด์ลอดพื้นสนามไป หรือใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการวิ่งบนทางเดินยกระดับ ที่จะทำให้การไล่ล่าถูกเปลี่ยนเส้นทางได้ง่ายขึ้นด้วยนั่นเอง
ต้องขาย Tha Quad?
หากเคยดูรายการทีวีจำพวก Sasuke หรือ Ninja Warrior ของฝั่งประเทศญี่ปุ่น หลายครั้งจะมีซีนสัมภาษณ์ผู้เข้าแข่งขันว่าเตรียมตัวมาแข่งอย่างไรกันบ้าง ซึ่งหลายครั้งก็จะพบว่าผู้เข้าแข่งขันจะเตรียมตัวด้วยการจำลองด่านเล่นเองที่บ้าน ที่อาจจะขนาดเล็กลงเพื่อให้อย่างน้อยก็ได้ฝึกซ้อมการเข้ามาแข่งขันที่รายการจริง แต่หากกีฬา World Chase Tag ที่มีการกำหนดกติกา และสนามอย่างเป็นรูปแบบไม่มีสนามให้ผู้เข้าแข่งขชันได้ฝึกซ้อมบ้างก็คงจะใจร้ายเกินไป
ทาง World Chase Tag จึงได้สร้าง The Quad ขนาดเท่ากันกับที่ใช้จริงในสนามออกจำหน่าย เพื่อให้แต่ละพื้นที่นำไปใช้เป็นยิมฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน หรือใช้เล่นกันเองก็ยังได้ โดยแบ่งออกเป็นขนาดจริงที่ 12 คูณ 12 เมตร และขนาด 8 คูณ 8 เมตร ที่ลดจำนวนสิ่งกีดขวางลด และออกแบบสิ่งกีดขวางบางส่วนใหม่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่จำกัด โดยสนนราคาค่าตัวราว 52,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,800,000 บาทสำหรับขนาดปกติ และขนาดเล็กที่ 22,800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 820,000 บาท
โดยปกติมีน้ำหนักถึง 2.7 ตัน และใช้เวลาประกอบครั้งแรกราว 3 ชั่วโมงหากมีผู้ร่วมประกอบอย่างน้อย 3 คน และใช้เวลาถอดประกอบ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ด้วยความสนุก และเรียบง่ายในกติกา หากในประเทศไทยมีพื้นที่แบบนี้ให้เล่นบ้างก็คงจะเป็นสถานที่ที่อาจจะได้รับความนิยมในอนาคตก็เป็นได้
ที่มา
- https://www.worldchasetag.com/about
- https://www.worldchasetag.com/thequad
- https://store.americanparkour.com/products/world-chase-tag-quad
- https://www.sportspromedia.com/insights/interviews/world-chase-tag-parkour-christian-damien-devaux-strategy/?zephr_sso_ott=qvPApZ
- https://www.youtube.com/playlist?list=PLAh6we_yqvHFgoT2Ou-6rvHRTnHwT5hg6
AUTHOR
พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป