17 ตุลาคม 2567 (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11) ตรงกับวันออกพรรษา “พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์” (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ได้เล่าถึงความเป็นมาของการเข้าพรรษาและออกพรรษาเมื่อครั้งพุทธกาลอันเป็นวัตรปฏิบัติของหมู่สงฆ์ จุดประสงค์ของกุศโลบายต่างๆ และอธิบายถึงความหมายที่ถูกต้องของศีลว่า “ศีล” ไม่ได้แปลว่าห้าม แต่แปลว่า ให้รักษาความเป็นปกติ โดยปกติของมนุษย์เรา คือ รักษาความบริสุทธิ์ให้เป็นปกติ” และการว่าด้วยเรื่อง HUMAN RIGHTS ในศีลข้อ 3

พระอาจารย์เน้นย้ำว่า “พุทธศาสนา” กับ “วิทยาศาสตร์” คือ หลักของความธรรมดา ก็คือ “อิทัปปัจจยตา” หรือ “ปฏิจจสมุปบาท” ภาษาง่ายๆ ก็คือ “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี” และทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุผลรองรับเสมอ 

นอกจากนั้น พระอาจารย์ยังช่วยไขข้อข้องใจกับคำถามที่มาจาก Gen ต่างๆ เช่น ความสุขคืออะไร? ทำไมต้องงดเหล้าเข้าพรรษา? นรก-สวรรค์มีจริงหรือไม่? เป็นต้น

ความหมายของ “การเข้าพรรษา” ในพุทธศาสนา

“วันเข้าพรรษา” เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะเถรวาท เป็นประเพณีที่ทำมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล อาจจะถือได้ว่าเป็นประเพณีที่ยาวนานที่สุดประเพณีหนึ่งในโลกก็ว่าได้ เพราะว่าตั้งแต่ก่อตั้งพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ 2,567 ปีกว่า ยังมีการอยู่จำพรรษามาโดยตลอด พระ เถรวาท ไม่ว่าจะในประเทศไหนก็ตาม

“การเข้าพรรษา” เป็นพิธีที่เรียกได้ว่าเป็นพิธีที่เรียกร้องโดยชาวบ้าน เพราะว่าที่แท้จริงๆ นั้น สมัยโบราณจริงๆ พระพุทธองค์ได้มอบหมายให้พระทั้งหลาย “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขของชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก ซึ่งมีความหมายว่า ขอให้ภิกษุทั้งหลายจงจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์และความสุขของประชาชน เพราะฉะนั้นความหมาย หรือว่าหน้าที่ของพระโดยตรงก็คือ เมื่อเราได้ศึกษาคำสั่งสอนพุทธศาสนาจนเกิดความเข้าใจ เกิดความสงบ ลดกิเลสได้ระดับหนึ่ง หน้าที่หลักก็คือต้องไปแบ่งปัน ต้องไปสั่งสอนชาวบ้านให้มีความสุขให้เป็นประโยชน์

อย่าลืมว่าคำว่าชาวบ้านจริง ๆ นั้นคือคำว่าฆราวาส ฆราวาสจริง ๆ นั้นเป็นชีวิตที่อาจจะเรียกว่าเป็นชีวิตที่คับแคบ ชีวิตที่เดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าคำว่าฆราวาสจริงๆ ในภาษาบาลีมันไม่ได้สวยหรูอย่างที่เราเข้าใจ

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

คำว่า ‘ฆรวาสะ’ ฆร ในภาษาบาลีแปลว่า บ้าน อาวาส แปลว่า อยู่ คู่ครองเรือน แต่ว่าคำว่าเรือนในภาษาบาลีแปลว่าที่หลั่งใหลของกิเลส หรือว่าที่เสพกาม เพราะฉะนั้นฆราวาสจริงๆ ความหมายที่แท้จริงก็คือมีชีวิตอยู่ด้วยการเสพกาม ก็คือเป็นเบญจกามคุณ คือ เสพกามทางตาหูจมูกลิ้นกาย ดังนั้นชีวิตฆราวาสก็จะแสวงหาแต่กามสุข แสวงหาแต่สิ่งที่ต้องการอยู่ตลอดเวลา ชีวิตนั้นไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ นั่นก็คือความปกติของฆราวาส 

ดังนั้น ฆราวาสก็จะอยู่นิ่งไม่ได้ ไม่มีความสงบ เมื่อไม่มีความสงบอยู่นิ่งไม่ได้ก็เป็นหน้าที่ของพระที่จะคอยเตือนให้เห็นว่า ชีวิตของเรานั้นมันเดือดร้อน ชีวิตของเรานั้นต้องรู้จักพอเพียง ชีวิตของเรานั้นต้องรู้จักหาอย่างอื่นบ้างไม่ใช่แค่สนองความต้องการของตัวเอง 

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพระก็เลยต้องเป็น  พะหุชะนะหิตายะ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชาติหรือว่าประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าไม่มีการเข้าพรรษา พระก็จะเดินไปตามทิศต่างๆ เพื่อที่จะสั่งสอนพระพุทธศาสนาซึ่งอาจจะเรียกว่าไม่ใช่ศาสนานักหรอก เพราะว่าศาสนาในภาษาไทยนั้นเป็นคำที่มีปัญหา เพราะว่าศาสนาในภาษาไทยตามที่ราชบัณฑิตได้นิยามไว้ได้กลายเป็นหลักความเชื่อ ลัทธิความเชื่อว่าด้วยเรื่องการกำเนิดและสิ้นสุดโลก เรื่องว่าด้วยความเชื่อในนรก สวรรค์ และบุญบาป หรือว่าพิธีกรรมซึ่งก็เป็นศาสนาในความหมายของชาวตะวันตก

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

ศาสนาในภาษาบาลี-สันสกฤตนั้นหามีความหมายเช่นนั้นไม่ ในภาษาบาลีและสันสกฤตศาสนานั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่า สาสติ กิเลเสติ สาสนํ แปลว่าคำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลสเรียกว่าศาสนา เพราะฉะนั้นเมื่อชาวบ้าน คือ คฤหัสถ์อยู่ด้วยกิเลส เราก็ต้องสอนให้เขารู้จักควบคุมกิเลส เขาจะได้รู้จักความสุขบ้าง

เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพระโดยปกติไม่มีการหยุดพัก พอถึงช่วงหน้าฝนปรากฏว่าพระก็ไม่ได้หยุด แต่ศาสนาเชนในสมัยนั้น พอเข้าพรรษานักบวชเขาก็จะจำพรรษากัน ชาวบ้านก็เลยมาบอกให้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า การที่พระยังเดินอยู่แม้แต่ในหน้าฝน ควรจะหยุดบ้างเพราะว่าเดินลำบาก ตามตำนานได้บอกว่าพระไปเหยียบกล้า เหยียบข้าวซึ่งเป็นความจริงหรือไม่จริงนั้น ไม่อาจทราบได้ เพราะว่าพระคงจะไม่สะเพร่าไปเหยียบข้าวเหยียบกล้าได้ขนาดนั้น 

สิ่งที่น่าคิดก็คือพระเหล่านั้นเวลาเดินในหน้าฝน เราก็คงนึกภาพออกว่าจีวรก็คงมีแต่โคลน ไปไหนก็คงลำบาก เพราะฉะนั้น การเดินทางอาจจะมีแง่ของการทำให้เกิดความเสียหายได้ตามตำนานที่บอกไว้ ชาวบ้านจึงไปร้องขอพระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์ได้หยุดบ้างตลอด 3 เดือน แม้แต่ในศาสนาอื่นก็ทำ แม้แต่นก แม้แต่โดยธรรมชาติ สิงสาราสัตว์เขาก็หยุด เพราะฉะนั้นพระก็น่าจะทำบ้าง พระพุทธเจ้าก็เลยเห็นว่าเป็นประโยชน์ดีเหมือนกันจึงกำหนดให้มีการจำพรรษา 

สิ่งสำคัญก็คือ เมื่อจำพรรษาพระทำอะไร? 

ประเพณีของการเข้าพรรษาเรียกว่า เถเร ปะมาเทนะ ถ้าเราได้ทำอะไรก็แล้วแต่ โดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ขอให้อดโทษ ก็คืออยู่ด้วยกันด้วยการเปิดใจซึ่งกันและกันตลอด 3 พรรษา โดยปกติพระไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่มีอะไรมากนักก็เจอกัน นานๆ เจอกัน เป็นอย่างไรสบายดีไหม แต่ว่าลองคิดดูสิว่าเมื่อภูมิหลังของพระแต่ละรูปมาจากไหนก็ไม่ทราบ ร้อยพ่อร้อยแม่แล้วก็ต้องมาอยู่ในที่เดียวกันเป็นจำนวนมากๆ ตลอด 3 เดือน แน่นอนว่าโดยธรรมชาติต้องมีกระทบกระทั่ง

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

สมัยพระพุทธกาลมีพระกลุ่มหนึ่งเดินทางเพื่อจะไปกราบพระพุทธองค์ก่อนเข้าพรรษา แต่ว่าเดินทางลำบาก ฤดูเข้าพรรษามาถึงเสียก่อน พระเหล่านั้นก็จำพรรษาแถวนั้น แต่จิตใจจดจ่ออยู่ที่พระศาสดาว่าเราจะได้ไปกราบท่านแล้วนะ เมื่อออกพรรษาพระก็เริ่มเดินทางไปกราบพระพุทธเจ้าทันที แล้วพระพุทธเจ้าก็ถามไถ่ว่าเป็นอย่างไร พรรษาที่ผ่านมาอยู่ที่ไหน และทำอะไรกันบ้าง

พระเหล่านั้นก็ตอบด้วยความภาคภูมิใจว่าได้ปฏิบัติสมณธรรมอย่างเคร่งครัด ปิดวาจากันทุกคน ทั้ง 3 พระพุทธเจ้าท่านจึงติว่า นาน ๆ จะมาเจอกันที เวลา 3 เดือนที่มาอยู่ด้วยกัน แทนที่จะสั่งสอนกันแต่กลับปิดวาจาจะเกิดประโยชน์อย่างไร จึงทำให้เราเห็นว่า เข้าพรรษาคือช่วงเวลาที่พระองค์กำหนดให้ครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ได้มาอยู่ด้วยกัน เป็นช่วงเวลาที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนลูกศิษย์ ช่วงเวลาที่ลูกศิษย์ก็ได้มีโอกาสปรนนิบัติถวายครูบาอาจารย์ และได้เรียนรู้จากครูบาอาจารย์ ซึ่งอยู่ด้วยกันด้วยความสามัคคี เป็นเรื่องความสามัคคีในการอยู่ร่วมกัน ยอมรับซึ่งกันและกัน

ถ้าภาษาปัจจุบันนี้ก็คือ Knowledge Management ให้ผู้ที่รู้มาแบ่งปัน ผู้ที่ไม่รู้ก็ได้เรียนรู้ เป็นธรรมสากัจฉา (การสนทนา การเสวนา การปรึกษาหารือ การแลกเปลี่ยน ความรู้ซึ่งกันและกันในเรื่องธรรม เรื่องความดีงาม เรื่องการดำเนินชีวิต เรื่องการศึกษาความรู้) เป็นช่วงเวลาที่เราจะเข้าค่ายศึกษา ก็คือรูปแบบของการเข้าพรรษา 

ปัจจุบัน เข้าพรรษาในประเทศไทย เราก็ได้น้อมนำรูปแบบนั้นมาใช้ อย่างที่วัดบวรฯ ก็จะมีธรรมเนียมว่าในช่วงเข้าพรรษาจะมีนวกะมาบวช เพราะฉะนั้นตอนเข้าพรรษาเราก็จะมีหลักสูตรให้สอนนวกะอย่างเข้มงวด หรือว่าในคณะสงฆ์เป็นเวลาที่เปิดโรงเรียนบาลีก็จะมาศึกษาภาษาบาลีกัน หรือว่ามาเปรียญธรรมกัน เป็นช่วงเวลาที่เราเรียน เราสอนเรื่องของปริยัติธรรม เพราะฉะนั้น ช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่พระอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาในที่เดียวกัน เป็นช่วงเวลาที่ตักตวงความรู้ซึ่งกันและกัน นี่คือเป้าหมายของการเข้าพรรษา 

“การออกพรรษา” ของสงฆ์

เมื่อ “ออกพรรษา” เป็นเวลาที่เรียกว่าต้องต่างคนต่างแยกย้ายกันไป เพราะฉะนั้น เมื่อต่างคนต่างแยกย้ายกันไป จึงเรียกว่าเป็นวันที่ขอให้อนุญาตให้ตักเตือน โดยปกตินั้นพวกเรานั้นก็จะไม่ชอบให้ใครตักเตือน แต่วันออกพรรษาจะเรียกว่าเป็นวันตักเตือนแห่งชาติก็ได้ถ้าว่ากันจริงๆ 

เมื่อถึงเวลาจาก พระแต่ละองค์จะต้องจากที่ต่างๆ ก็อย่าให้ต้องติดค้างอะไรซึ่งกันและกัน พิธีออกพรรษาจะเปิดโอกาสให้พระแต่ละรูปทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้น้อยสามารถตักเตือนกันได้ เป็นการเปิดใจคุยเพื่อให้เป็นการจากกันด้วยดี จะเรียกได้ว่าเปิดใจแล้วแยกย้ายก็เป็นได้

พอหลังจากออกพรรษา ก็คือ “กฐินกาล” หรือ กาลของกฐิน รากศัพท์ภาษา กฐิน แปลว่าไม้สะเดาที่เอามาคลึงผ้า แต่ความหมายที่แท้จริงของกฐินคือการให้เห็นความสามัคคีที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะจากไป
ในวันกฐินอาจจะมีเจ้าภาพคนหนึ่ง หรือว่ากฐินสามัคคี แม้แต่ผ้าผืนหนึ่งก็จะมีญาติโยมมาหลาย ๆ คน มาช่วยกันถวายผ้า ผ้าขาวผืนนี้ เรียกว่า จุลกฐิน เป็นการทอผ้าขึ้นมาในวันเดียวด้วยความสามัคคีของฝ่ายฆราวาสและฝ่ายพระ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีในหมู่สงฆ์และฆราวาส เป็นกระบวนการในการเน้นหลักธรรมด้านความสามัคคี หรือเรียกอีกอย่างว่าการทำงานเป็นทีมเวิร์ค

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

ทำไมต้องงดเหล้าเข้าพรรษา???

“ทำไมมางดกันในช่วง 3 เดือน ควรจะงดไปเลยในระยะที่ยาวนานกว่าคือ 9 เดือน เพราะน่าจะมีประโยชน์มากกว่า 3 เดือน”

“การงดเหล้าเข้าพรรษาก็จะถูกใช้เป็น gimmic อย่างของฝรั่งจะมี resolution ว่าในช่วงขึ้นปีใหม่จะทำอะไร ของประเทศไทยเราในแง่ของบูรพาจารย์ก็คงอยากให้ญาติโยมรู้จักปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษาแต่ก็คงจะปฏิบัติไม่ได้เหมือนอย่างพระ พอนำมาเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในปัจจุบัน ก็คือเหล้า ยา สังคมโซเชียล ซึ่งอันที่จริงไม่ควรงดเหล้าเสียอย่างเดียว 

ในความเป็นจริง สังคมปัจจุบันทำให้พวกเรามีความเห็นแก่ตัว การกินเหล้าในปริมาณที่เหมาะสมไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่การไม่รู้จักปริมาณ ในภาษาบาลีนั้น สุราเมระยะมัจฉะปะมาทะถานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ หลายคนเข้าใจว่าห้ามกินเหล้า แต่ที่ถูกต้องไม่ใช่ความหมายนั้น 
ความหมายที่แท้จริงก็คือ ข้าพเจ้ายอมรับที่จะศึกษาบทเรียนว่าด้วยการละเว้นสุราเมระยะมัจฉะปะมาทะถานา ถานา ก็คือเป็นฐานราก ปะมาทะก็คือประมาท เมระยะมัจฉะ ก็คือเมาเมระยะ ก็คือมึน

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

คำว่า “สุรา” ในภาษาไทยบังเอิญเราไปแปลว่า “เหล้า” แต่ว่าสุราในภาษาบาลีอีกความหมายหนึ่งก็คือคำว่าสุระ สุรนารี แปลว่า กล้าหาญ ความหมายในที่นี้ คือ กล้าหาญในการที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี แปลว่าบ้าคลั่ง เพราะฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเหล้าอย่างเดียว แต่คืออะไรที่ทำให้เกิดความประมาท ทำให้มึน ทำให้เมา และทำให้บ้าคลั่งในการที่จะกล้าที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ควรที่จะเว้น

สิ่งสำคัญจริงๆ เราจะต้องบอกว่า ใน 3 เดือนนี้เราจะปฏิบัติธรรมอย่างไร?

เมื่อพระเขาปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรมในมิติของความเป็นบรรพชิต ความเป็นสมณะ ฆราวาสก็ควรจะใช้เวลา 3 เดือนนี้เข้มงวดมากกว่าปกติ ศึกษาธรรมให้มากขึ้น เป็นโอกาสที่ดีในแง่ของการปฏิบัติฐานะบารมี เมื่อมีพระจำพรรษาจึงถือเป็นโอกาสดีที่ญาติโยมจะได้เข้าวัดมาทำบุญ ทำทาน

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

“ศีล” ไม่ได้แปลว่าห้าม แต่แปลว่า ให้รักษาความเป็นปกติ

“โดยปกติของเรา คือ รักษาความบริสุทธิ์ให้เป็นปกติ”

ศีลข้อที่ 1 ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ โดยทั่วไปเราก็มักจะเข้าใจว่าห้ามฆ่าสัตว์ ในตรงนี้ไม่ได้แปลว่าห้ามแต่เป็นแค่ข้อเตือนเราให้รำลึก ให้ศึกษา ให้เข้าใจ อาจเรียกว่าเป็น Condition เป็นการตระหนักรู้มากกว่าที่จะห้าม

สิกขา แปลว่า ศึกษา
ปะทัง แปลว่า บทเรียน ศึกษาบทเรียน
เวระมณี แปลว่า ละเว้น
ปาณาติบาต แปลว่า ทำให้ร่วง
บาต แปลว่า ทำให้ตัด
ปาณา คือลม ปราณ

เพราะฉะนั้น เพียงแต่บอกว่าให้ไปศึกษาข้อดีข้อเสียของการไปตัดลมปราณของสัตว์ ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายแหล่ว่าควรหรือไม่ควรแค่นั้นเอง 

แต่ในความเป็นฆราวาสบางครั้งก็ต้องฆ่า แต่ว่าการฆ่านั้นจะต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง ยอมรับที่จะผิด ถ้าเราทำผิดก็ต้องยอมรับผิดในตรงนั้น ยอมรับผลของการกระทำตรงนั้นแค่นั้นเอง อย่างเช่นการไปเป็นทหารกำลังปกป้องชายแดน ทีนี้ข้าศึกเข้ามาในชายแดน และทหารก็บอกว่าเพิ่งไปรับศีลจากหลวงพ่อมาเมื่อเช้านี้ เชิญเข้ามาได้ มันก็ไม่ใช่!!!

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

เพราะฉะนั้นทหารมีหน้าที่ในการที่จะปกป้องดูแลประชาชนที่อยู่เบื้องหลัง เขาก็ต้องยอมรับที่จะผิดในการที่จะฆ่าคนหรือฆ่าศัตรูที่เข้ามา หรือแม้กระทั่งตามบ้านที่ปลวกขึ้นบ้าน เราจะทำอย่างไร เราจะบอกให้น้องปลวก เราอยู่ด้วยกันนะ เราจะไม่ทำร้ายซึ่งกันและกันนะ อย่างนั้นเหรอก็คงไม่ใช่ 

แม้แต่ในกุฏิพระ แม้แต่ในวัด พระก็ต้องบอกญาติโยมด้วยกัปปิยโวหารว่าช่วยพิจารณาหน่อย ญาติโยมก็ต้องเป็นคนที่ไปบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น การไม่ฆ่าเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ให้เรารู้ว่าโดยเจตนาที่เราไปฆ่า ฆ่าอย่างไร ฆ่าเพราะอะไร ฆ่าเพื่ออะไร เราก็ต้องยอมรับผิดในสิ่งที่กระทำลงไป…ก็แค่นั้น

ศีลข้อที่ 2 อทินนาทานา เวระมณี ศึกษาบทเรียนที่ว่าด้วย…

แปลว่า ไม่
ทินนะ แปลว่า ให้
ทานะ แปลว่า รับ
ก็คือ รับสิ่งที่เขาไม่ได้ให้แค่นั้นเอง 

ยกตัวอย่าง เช่น พระเวลาที่จะฉันต้องมีคนประเคน แต่ถ้าสมมติว่าพระกำลังเดินอยู่ในป่า ถึงเวลาเพลแล้วไม่มีใครเลย แต่เห็นผลไม้ร่วงอยู่ตามถนนทำอย่างไร รอนางไม้มาประเคนเหรอ??? ก็ไม่ต้องมาประเคน หรือว่ารอเจ้าของว่าใครคือเจ้าของต้นไม้นี้เหรอ??? ก็คงไม่ใช่มัน อาจจะเรียกว่าได้ว่าต้องใช้ Survival Skill เพราะฉะนั้น ความหมายของศีลข้อนี้ คือ อย่าไปล่วงเกินแห่งความเป็น Ownership 

ศีลข้อที่ 3  กาเมสุมิสฉาจารา เวระมณี กาเมสุมิจฉาจารามากกว่าชู้สาว เพราะชู้สาวเป็นแค่ Subjective  

กาเมสุมิจฉาจารา
จารา แปลว่าประพฤติ
มิจฉา แปลว่า ผิด
กาเมสุ แปลว่า กามทั้งหลาย 

ในบริบทของภาษาบาลี สำนวนภาษาบาลีคำว่ากามทั้งหลายก็คือเบญจกามคุณ ซึ่งก็คืออย่าไปประพฤติผิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งภาษาปัจจุบันนี้เรียกว่า Human Rights 

คำว่า Human rights เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1940 แต่พระพุทธศาสนาเราสังวร เราได้มีการสอนให้รู้จัก Human rights มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คือ ให้เรารู้จักถึงการไม่ควรที่จะไปล่วงเกินใคร ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย คือสิ่งที่ทำให้เรา Respect หรือว่าเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของแต่ละคน 

ศีลข้อที่ 4 มุสาวาทา เวระมณี 

มุสาวาทา ก็เป็นปกติ เราเคารพซื่อสัตย์ในคำพูดของเรา ไม่ทำอะไรที่ประมาทโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าเรามีความเป็นปกติอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปขอศีลอะไร ในเวลาที่ญาติโยมไปขอพร ขอศีลจากพระ พระให้อะไร? พระให้ สิกขาปะทัง แปลว่า ให้ไปศึกษาบทเรียน ให้ไปเป็นคนที่สร้างความเข้าใจแล้วก็ไปเรียนรู้เอาเอง

ศีลข้อ 5 สุราเมระยะมัจฉะปะมาทะถานา เวระมะณี 

ให้ย้อนกลับไปดังข้างต้นที่กล่าวไปแล้ว

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

โลกจะสวยงามขึ้นเมื่อเดินช้าลงจริงไหม???

“ก็เป็นคำพูดที่อาจจะเรียกว่าสวยหรูนะครับ”

คำว่า “เดินช้าลง” เราจะต้องตีความว่าคืออะไร ถ้ามัวแต่เดินช้าลงก็คงจะไปไม่ทันเขาแน่นอน เพราะทุกวันนี้โลกต้องไว และทุกวันนี้ความไวคือ Disruption และไม่ไวแบบธรรมดา ถ้าเป็นเมื่อก่อนยังไวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทุกวันนี้ไวแบบกลับมาไม่ถูกแล้ว 

คำว่า “ช้าลง” ไม่ได้หมายถึงว่าเดินช้าจริงๆ แต่หมายถึงให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ชีวิตของพุทธศาสนาจริงๆ ต้องไวกว่าที่ชาวบ้านเขาพูดถึงด้วยซ้ำ ทางโลกเป็นอย่างไร เราก็ต้องรู้เท่าทันโลก การที่จะรู้เท่าทันสิ่งที่ต้องไวที่สุดคือ การมีสติให้ไว
โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะอยู่กันได้ก็ต่อเมื่อเรารู้เท่าทัน ทุกวันนี้มีคนปฏิบัติธรรม มีการสอนเรื่อง Mindfullness ให้เราเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับปัจจุบันให้ได้ อกาลิโก คำสอนของพระพุทธเจ้า คือ การรู้เท่าทันกิเลสเพราะกิเลสมักเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ถ้าเรารู้เท่าทันเราสามารถหยุดกิเลสได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเดินช้าลงในการฝึกจิต

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

“อิทัปปัจจยตา” ความเป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา

หลักง่ายๆ คือ อิทัปปัจจยตา หรือว่า ปฏิจจสมุปบาท คือหลักของวิทยาศาสตร์ธรรมดาในการที่จะอธิบายสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่อะไรเลย แต่เป็นวิธีการอธิบายการทำความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมชาติ ก็เหมือนกับวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า How ศาสนาจะตอบว่า What แต่วิทยาศาสตร์จริงๆ ไม่ได้ตอบว่ามันคืออะไร แต่จะตอบว่ามันเป็นเช่นไร 

เพราะฉะนั้น “อิทัปปัจยตา” คือ ความเป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนาก็ว่าได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุและผล เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นมี สิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี นั่นก็คือเหตุและผลทั้งสิ้น 

ความเป็นตัวตนของเราเช่นความเป็น “อนัตตา” ซึ่งเป็นคำสอนหลักที่แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน แต่ว่าถ้าแปลให้ถูกก็ต้องแปลว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่านี้ สิ่งที่เรียกว่านั้น อย่างเช่นตัวอาจารย์ ตอนนี้มีตัวจริงหรือเปล่า ความเป็นอาจารย์เกิดขึ้นเพราะว่ามีคนตั้งคำถาม มีคนมาถาม มีคนมาเรียน มีคนมาพูดด้วยจึงมีสมมติตัวอาจารย์ขึ้นมา แต่สมมติว่าในห้องนี้ไม่มีใครเลย มีอาจารย์คนเดียว และก็อาจารย์ก็บอกว่าเอออาจารย์ อาจารย์ อาจารย์จะเป็นคนปกติไหม??? 

ความเป็นอัตตา ความเป็นตัว I อีโก้จะเกิดขึ้นได้มันต้องมีตัวช่วยก็คือตัว U ตัวกูจะเกิดได้มันต้องเป็นตัวมึง ถ้าไม่มีมึงจะเกิดกูอย่างเดียวมันจะได้เหรอ??? 

เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจึงพยายามจะสอนว่าความเป็น I ความเป็นอีโก้ หรือว่า I จะเกิดขึ้นได้ต้องมี Relative Truth ความเป็น I จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีคนอื่นมาพูด มีคนอื่นมาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีใครมาเกี่ยวข้องเลย I จะเกิดมาทำไม มันก็ไม่มีที่ให้เกิด U ก็จะไม่มีที่ให้เกิด ความเป็น I เกิดขึ้นก็เพราะว่ามีสิ่งนั้น สิ่งนั้นเองมันก็เกิดขึ้นจากสิ่งนี้ สิ่งทั้งหลายมันเกิดขึ้นได้เพราะต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้ และนั่นก็คือกฎของธรรมชาติ นั่นก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าพยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่มีใครบันดาล ไม่มีใครสร้าง 

ทุกวันนี้คนเราลืมความเข้าใจตรงนี้แล้วก็ไปติดในสายมู ไปนู่นไปนี่เราก็สามารถที่จะทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนได้ ถ้าเราสามารถที่จะไปอ้อนวอนเปลี่ยนได้ก็แสดงว่าคนนั้นมีตัวตนน่ะสิ 

เมื่อตัวเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ มันคือกรรม กรรมในพุทธศาสนาแปลว่าเจตนา พระพุทธเจ้าบอกว่ากรรมในศาสนาพราหมณ์ คือ พิธีกรรม กรรมในศาสนาเชน คือ อดีตกรรม แต่ในศาสนาพุทธคือกรรมปัจจุบัน กรรมปัจจุบันก็คือเจตนา ดังนั้น การที่เรารู้เท่าทันความเข้าใจในธรรมชาตินี้แล้ว คือหลักการที่เรียกว่า อิทัปปัจจยตา หรือว่า ปฏิจจสมุปบาท

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

“ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” 

เป็นสำนวนไทยที่เรียกว่าเอามาสะท้อนสังคมให้เห็น โดยเฉพาะในเรื่องของการทำความดี แต่ว่าในหลักพุทธศาสนานั้นจะต้องคิดให้ดีว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร แต่หลายครั้งเราไม่เข้าใจว่าความดีหรือความชั่วคืออะไร???

ถ้าในพุทธศาสนา คำว่าความดีจริงๆ มีไหม หรือว่าความชั่วมีไหม แต่คำว่าดีหรือชั่วในภาษาไทย หรือว่าในสังคมไทยต่างตีความตามแบบฝรั่ง เพราะฉะนั้นความดีคืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เราได้ประโยชน์เรียกว่าดี ความชั่วก็คือสิ่งที่เราเสียประโยชน์อะไรทำนองนั้น 

ถ้าเราปฏิบัติตามพุทธศาสนา เราจะต้องเหนือทั้งดีและชั่ว ดีคือดีและชั่วเป็นแค่กิเลส ดีเป็น Subjective ในภาษาบาลีน่าสนใจ ถ้าเรามองทางนี้ยุทธศาสตร์ในภาษาบาลีเนี่ยคำว่าดีเนี่ยหายาก ไม่มี ดีภาษาไทย Good ภาษาอังกฤษไม่มี อย่างเช่นที่เราแปลกันว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำความดีให้ถึงพร้อม เราแปลอย่างนั้นในภาษาไทย แต่ว่าถ้าเราดูภาษาบาลีก็คือเนี่ย สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ ไม่ทำบาปทั้งปวง 

“บาป” ในที่นี้หมายถึง สิ่งที่ก่อให้ความเดือดร้อนทั้งตนเองและเดือดร้อนผู้อื่น เดือดร้อนสังคม เดือดร้อนโลก กับ กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำความดีให้ถึงพร้อม แต่ในภาษาบาลีใช้คำว่ากุศล และกุศลจริงๆ ในภาษาบาลีไม่ได้แปลว่าดีอย่างที่เราเข้าใจ กุศล คือ คำว่า Skill กุศโลบาย คือ อุบายอันแยบยล อุบายอันฉลาด กุศลจริงๆ แปลว่าฉลาด กุศลจริงๆ แปลว่า Creative กุศลจริงๆ แปลว่า Innovative คือ ความฉลาด 

ดังนั้นเวลาเราบอกว่าดีจริงๆ ในภาษาบาลีมันเป็น Subjective ดีของใคร ดีของคนไทยก็ดี ของฝรั่งนี่ดีเดียวกันไหม แม้กระทั่งระหว่างดีของพระ ดีของโยม ดีอันเดียวกันไหม ความดี คือ ภาษาที่หาข้อยุติไม่ได้ แต่ว่าถ้าในพุทธศาสนาบอกว่าการกระทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราทำอะไรที่เป็นประโยชน์ที่สร้างสรรค์ นำไปสู่ความสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์เป็นดีทั้งนั้น 

เพราะฉะนั้น การที่ผู้คนพูดอย่างนั้นเพราะว่าเขาทำชั่ว เขาก็เปิดนรกของเขาเองอยู่แล้ว เมื่อเขาเปิดเอง เขาจะตกนรกตอนไหนก็เป็นเรื่องของเขา แต่ไม่ใช่เราที่จะต้องไปนั่งตัดสิน เราไม่ได้เป็น Social Justice เราไม่ได้เป็นผู้พิพากษาสังคม การพิพากษาที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ให้พิพากษาตัวเอง ให้ดูที่ตัวเอง 

นรก – สวรรค์ – ความสุขในพุทธศาสนา

จะเรียกว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เพราะว่าถ้าในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ก็ทรงใช้คำที่สังคมสมัยนั้นใช้อยู่  แต่ถ้าเราเข้าใจในภาษาจริงๆ นรกสวรรค์ก็คงจะไม่เหมือนกับในรูปที่เรามองเห็นตามจิตรกรรมฝาผนัง แต่ถ้าบอกว่าตามหลักภาษาในพระไตรปิฎกนั้น สิ่งที่เรียกว่าสวรรค์จริงๆ เป็น Subjective สวรรค์เป็นภาษาสันสกฤต ถ้าเป็นภาษาบาลีเป็น สคฺค แปลว่า ดี อคฺค แปลว่า เลิศ 

สวรรค์ แปลว่า ดีเลิศ ดีเลิศของใครล่ะ? 

สวรรค์ที่ของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน อย่างเช่นว่า พวกผู้ชายตายแล้วอยากขึ้นสวรรค์ เพราะว่าตามคัมภีร์ทั้งหลายบอกว่า ถ้าผู้ชายขึ้นสวรรค์ก็จะมีนางฟ้า 500 

สวรรค์เป็นฮาเร็มเหรอ??? 

เทวดาทั้งหลายบ้ากามขนาดนั้นเลยเหรอ??? 

ที่ผู้ชายทั้งหลายชอบ เพราะว่าเอากิเลสของคนมาตั้ง แต่ว่าไม่ได้นึกถึงความเป็นจริงว่าถ้ามี 500 ผู้ชายจะ handle ได้หรือเปล่า ตามความเป็นจริงที่เราเห็นในสังคมแค่คนเดียวก็ยากอยู่แล้ว นี่จะมาตั้ง 500 แม้กระทั่งผู้หญิง ถ้าขึ้นสวรรค์ทำไมไม่บอกว่ามีสามี 500 ล่ะ ปรากฏว่าคัมภีร์เขาก็บอกว่าถ้าผู้หญิงขึ้นไปก็จะเป็นนางฟ้าสวยงาม มีอาภรณ์ดี มีเครื่องประดับงามแสดงว่าต้องมีพวกยี่ห้อดังๆ ของโลกไปเปิดสาขาอยู่ที่สวรรค์ด้วยสิ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเข้าใจก็คือกิเลสของเรา 

สมเด็จสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงนิพนธ์สอนไว้ คือ เรื่องนรก-สวรรค์ ตามหลักพระไตรปิฎกนั้นไม่ใช่พุทธศาสตร์ แต่มันเป็นภูมิศาสตร์โบราณ เป็นความเชื่อของมนุษย์ในสมัยนั้น ท่านบอกว่าถ้าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดามัวแต่มาสอนเรื่องนรก-สวรรค์ ท่านก็ไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ความเป็นพระพุทธเจ้า คือ การรู้สัจธรรมความเป็นจริง ส่วนภูมิศาสตร์แล้วแต่ความเชื่อของคน และถ้าในภูมิศาสตร์จริงๆ ในนรกมีกระทะทองแดงที่เราฟังกันมา มีหอกดาบทิ่มแทง สมเด็จพระสังฆราชฯ พระองค์ท่านทรงบอกว่า นรกเริ่มในยุคโลหะเหรอ? ยุคหินทำอย่างไรล่ะเอาหินทุบเหรอ? 

ส่วนไอนรกสวรรค์ที่เราพูดกันก็เป็นเช่นนั้น แต่ว่าในพระไตรปิฎกท่านก็ใช้นรกสวรรค์แต่ว่าท่านใช้ในคนละความหมาย สวรรค์ก็คือกิเลสเพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นเทวดาทั้งหลายแหล่เทวดาในความหมายตามหลักพุทธศาสนาต้องมีคุณธรรม 2 ข้อที่เรียกว่า หิริ และ โอตตัปปะ เทวดาต้องมีหิริและโอตัปปะ หิริคือ ความละอายต่อบาปและเกรงกลัวต่อบาป แต่ภาษาปัจจุบันก็คือละอายต่อบาปหมายถึงว่าตัวเองกลัวว่าตัวเองจะเดือดร้อน Self Responsibility โอตตัปปะ คือ การกลัวว่าคนอื่นจะติเตียนก็คือ Other Responsibility เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้จักรับผิดชอบตัวเอง รู้จักรับผิดชอบสังคม นั่นคือคุณสมบัติของความเป็นเทวดาไม่ต้องไปอยู่ในสวรรค์เราก็จะเป็นเทวดาได้ นี่ก็คือสิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนในเรื่องของนรก-สวรรค์

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

พุทธศาสนสุภาษิตเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ครูบาอาจารย์โดยเฉพาะ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงคัดออกมาเป็นสั้นๆ เพื่อให้จำได้ง่ายก็เรียกว่าพระพุทธศาสนสุภาษิต (สุภาษิตคำดีๆ ของคำว่าพุทธศาสนา) ในตรงนี้ไม่มีคำว่าอันไหนดีหรืออันไหนไม่ดี 

ถ้าเราคิดว่าคำสอนแต่ละคำสอนเปรียบเสมือนยา ยกตัวอย่างเช่น พาราเซตามอลที่รักษาได้เกือบทุกโรค “สติสัมปชัญญะ” ก็รักษาได้ทุกโรค 

วิธีการใช้พุทธศาสนสุภาษิตขึ้นอยู่กับคนที่ใช้ว่าสภาพจิตใจ ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร และเขากำลังเจอสภาพสังคมในบริบทไหน หรือสถานการณ์ไหนควรดึงความรู้ชุดไหนมาใช้ ซึ่งความรู้ของพุทธศาสนาทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์มีความหมายเดียวกัน ดังนั้น วิธีการใช้ที่แตกต่างกัน แต่ว่าทุกอย่างมุ่งไปสู่หนทางเดียวกันก็คือการดับทุกข์ ก่อให้เกิดความสุข 

ความสุขคืออะไร???

ความสุขไม่ใช่ Happiness อย่างที่พวกเราเข้าใจแบบภาษาอังกฤษ Happiness ในภาษาอังกฤษรากศัพท์มาจากภาษาลาตินแปลว่ารัก เพราะฉะนั้นพวกคนไทยถนัดแล้ว วันที่ 1 กับวันที่ 16 พวกเราก็เริ่มจะ Happiness แล้ว ก็รอว่า Happiness เมื่อไรจะได้ 

สำหรับความสุขในพุทธศาสนา ความสุขกับความทุกข์ คือ คำเดียวกัน สุขกับทุกข์เป็น prefix  สุขแปลว่า ดี ง่าย ทุกข์ แปลว่า ยาก ไม่ดี รากศัพท์มันอยู่ที่ข.ไข่ ข.ไข่มาจากขัมมะธาตุที่เรียกว่าขอขมาขัมมะธาตุ แปลว่า ทน เพราะฉะนั้น ทุเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทุกขะก็คือทนได้ยากหรือทนไม่ได้ สุขขะก็คือทนได้ดีหรือทนได้ง่าย 

ทั้งหมดทั้งมวลคือ Mindset คือวิธีการที่จะปรับใจของตนเองกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ไม่ใช่ว่าได้สิ่งนั้นหรือสิ่งนี้เราจะมีความสุข ความสุขหมายถึงสิ่งที่เรามีอยู่ แล้วเราปรับใจให้อยู่กับสิ่งนั้นได้ เพราะฉะนั้น “ความสุข” เป็น synonym หรือคำพ้องก็คือ “ความพอเพียง” อีกคำหนึ่งก็คือคำว่า “สันโดษ” อีกคำหนึ่งก็คือคำว่า “นิพพาน” 

“ความสุขในพุทธศาสนา คือ ศักยภาพในการที่จะปรับใจของเราอยู่กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน”

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย)

CREATED BY

ทะเล จำปี ดนตรี ทราย และ ฉัน