ค่านิยมลูกชาย

หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ ซึ่งเป็นสร้างผลกระทบมากมายในภายหลัง ทั้งอัตราที่ไม่สมดุลกันของผู้ชายและผู้หญิงในจีน ที่ทำให้ผู้ชายในจีนประสบปัญหาหาคู่ครองยากขึ้น ในขณะเดียวกัน ด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไป ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการแข่งขันการจ้างงาน ทำให้ผู้หญิงบางส่วนเลือกที่จะใช้ชีวิตคนเดียว ทำให้อัตราการเกิดของทารกนั้นต่ำลง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และ ยังมี ‘มรดกปัญหา’ จากนโยบาย ‘ลูกคนเดียว’ อีกมากมายซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องเร่งหาทางแก้

เดิมทีนั้น ‘นโยบายลูกคนเดียว’ ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในช่วงที่จีนกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม คาดว่ามีจำนวนการเกิดของทารกถึง 300 ล้านคน ในระยะเวลาเพียง 10 ปี ทำให้ทรัพยากรที่ใช้ฟื้นฟูประเทศนั้นมีจำกัดและผู้คนต้องเผชิญหน้ากับความอดอยาก จนในปี 1979 นโยบายลูกคนเดียว ได้ถือกำเนิดขึ้นในรัฐบาลของ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ซึ่งกินเวลาไปเกือบ 40 ปี ก่อนที่นโยบายนี้จะถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในปี 2015 แต่ผลกระทบที่แท้จริงกำลังจะตามมาหลังจากนี้

ทารกมากมายถูกทอดทิ้งและถูกทำให้แท้งก่อนเกิด

แม้นโยบายลูกคนเดียวจะสามารถลดอัตราการเกิดใหม่ของทารกได้อย่างต่อเนื่อง และยังลดปัญหาการขาดแคลนอาหารและทรัพยากรในการดำรงชีวิตของชาวจีน ณ ขณะนั้นได้ ซึ่งถือว่าบรรลุจุดประสงค์ของนโยบายนี้ แต่สิ่งที่ถูกยัดไว้ใต้พรมแห่งความสำเร็จนี้คือ เด็กทารกมากมายที่ถูกทอดทิ้ง และอีกจำนวนหนึ่งนั้นยังไม่มีโอกาสแม้แต่จะลืมตาดูโลก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นทารกเพศหญิง

ด้วยสังคมจีนที่ได้รับอิทธิพลของลัทธิขงจื้อและเม่งจื้อ ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทำให้ค่านิยมการมีลูกชายถือเป็นสิ่งสำคัญ ถึงขั้นที่บ้านไหนไม่มีลูกชายอาจจะถูกตราหน้าจากครอบครัวรอบข้างได้ เพราะเชื้อว่าผู้หญิงนั้นเมื่อโตขึ้นและออกเรือนก็จะไม่ใช่คนในตระกูลอีกต่อไป ต้องออกได้ปรนนิบัติครอบครัวและพ่อแม่ของสามี ในขณะที่การมีลูกชายสามารถช่วยทำงานแบกหาม และเลือกลูกสะใภ้ดี ๆ แต่งเข้าบ้านเพื่อทำหน้าที่ดูแลครอบครัวสามีได้ เช่นเดียวกับนโยบายลูกคนเดียว เมื่อพ่อแม่รู้ว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นเพศหญิงก็อาจจะถูกทิ้ง หรือทำยุติการตั้งครรภ์ซ้ำ ๆ จนกว่าจะได้ลูกชาย ทำให้รัฐบาลจีนต้องออกกฎหมายห้ามสถาบันทางการแพทย์บอกเพศของทารกจนกว่าทารกนั้นจะเกิดมา และในปี 1987 รัฐยอมผ่อนปรนให้บางมณฑลมีลูกสองคนได้หากลูกคนแรกนั้นเป็นผู้หญิง โดยอายุของเด็กต้องห่างกัน 3-4 ปี

อัตราส่วนของเพศที่สูงขึ้น

ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา อัตราส่วนเพศของประชากรแรกเกิดของจีน เริ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเคยสูงสุดถึง 100:130 จากสัดส่วนเด็กชายต่อเด็กหญิงแรกเกิด ทำให้ผู้ชายในจีนประสบปัญหาในการหาคู่ครองยากมากขึ้น และผู้หญิงเองก็มีสิทธิ์เลือกมากขึ้น ด้วยปัญหาเศรษฐกิจและการแข่งขันในปัจจุบันแน่นอนว่าปัจจัยหลัก ๆ ในการเลือกคู่ครองของผู้หญิงคือความมั่นคงและสถานะทางการเงิน ตามมาด้วยปัจจัยอื่น ๆ และถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เมื่อผลสำรวจในปี 2021 ออกมาพบว่าจีนมีประชากรเพศชายจำนวน 723.34 ล้านคน สัดส่วน 51.24% และเพศหญิงมีจำนวน 688.44 ล้านคน สัดส่วน 48.76% หรือ ประชากรเพศชาย 105.07 คน ต่อเพศหญิง 100 คน ซึ่งถือว่าสมดุลมากที่สุดจากปีที่ผ่านมา

ค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้ลูกสาวคนเดียวคือสมบัติล้ำค่า

นอกจากสถิติของสัดส่วนชายและหญิงจีนแล้ว ด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาทำให้พ่อแม่ชาวจีนเลือกที่จะมี ‘ลูกสาว’ มากกว่า ‘ลูกชาย’ เนื่องจาก ลูกสาวมีแนวโน้มที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ของตนเองหลังแต่งงาน และเป็นที่พึ่งพิงทางอารมณ์ได้มากกว่า ในขณะที่ลูกชายที่มีลูกสะใภ้มีแนวโน้มมากขึ้นที่อาจจะห่างจากพ่อกับแม่หลังแต่งงานมากขึ้นเนื่องด้วยภาระทางครอบครัวที่ต้องดูแล

อีกทั้งประเพณีที่ปฏิบัติกันมาอย่างช้านานที่ฝ่ายครอบครัวเจ้าบ่าวจะต้องเป็นคนที่จะหาค่าสินสอด และการจัดงานแต่งงานที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการบริโภคที่เพิ่มขึ้น การจัดหาเงินทุนจัดงานแต่งงานของลูกชายจึงเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้หลายครอบครัวมีหนี้สินจำนวนมาก ความคิดที่ว่าลูกชายจะเป็นแหล่งความมั่นคงในวัยชราจึงเปลี่ยนไป และด้วยความผูกพันอันใกล้ชิดของลูกสาวกับพ่อและแม่โดยกำเนิดได้กระตุ้นให้คู่รักหนุ่มสาวโอบกอดลูกสาว โดยให้คุณค่าและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการศึกษา และความต้องการอื่น ๆ เพื่อแลกกับการดูแลในวัยชรา

ปัจจุบันเครื่องหมายของสถานะทางสังคมในสังคมจีนกำลังถอยห่างจากการมีลูกชาย พ่อแม่ในยุคปัจจุบันไม่ยึดติดกับอุดมคติดั้งเดิมของครอบครัวใหญ่อีกต่อไป และเลือกที่จะมีครอบครัวเล็ก ๆ หรือมีลูกเพียงคนเดียวไม่ว่าเด็กที่เกิดมาจะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม เพราะเชื่อว่า ‘การเลี้ยงดูเด็กที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง ที่สามารถหางานทำในเมืองได้โดยสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีความสำคัญมากกว่าการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จหลายคน’

สังคมผู้สูงอายุ มรดกปัญหาจากนโยบายลูกคนเดียว

หลังจากได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวในปี 2015 จีนได้เกิดปัญหาการเกิดของประชากรลดลงเหลือเพียง 12 ล้านคน ทั่วประเทศในปี 2020 สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากถึง 280 ล้านคน คิดเป็น19.8% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าถึงปี ค.ศ. 2035 จีนจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 420 ล้านคน ทำให้งบประมาณด้านสุขภาพและบริการสังคมสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น แต่กลับขาดแคลนคนหนุ่มสาวที่เป็นฝันเฟื่องสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ในปี 2021 จีนได้ใช้ ‘นโยบายลูก 3 คน’ โดยรัฐบาล ‘สี จิ้นผิง’ เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของเด็ก แต่กลับถูกวิจารณ์อย่างหนัก ด้วยสภาพเศรษฐกิจ และกฎหมายการจ้างงานที่ยังไม่รองรับการมีบุตรของผู้หญิง ทำให้การมีลูกถึงเป็นความเสี่ยง ทั้งในด้านสุขภาพ และหน้าที่การงาน เพราะมีบริษัทหลายแห่งในจีนยังคงกีดกันพนักงานหญิง เนื่องจากไม่อยากมอบสิทธิ์ลาคลอดให้ รวมไม่ถึงการต้องแบกรับภาระเป็นผู้ดูแลบุตรเพียงผู้เดียว เพราะในจีนยังไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ฝ่ายชายลางานมาเลี้ยงลูก

ด้วยบริบทที่เปลี่ยนในสังคมจีนยุคใหม่ ผู้หญิงที่มีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง จึงอาจจะเลือกแต่งงานแต่ไม่มีลูก หรือเลือกครองตัวเป็นโสด เพราะการมีคู่ครองไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญคือความสุขของพวกเธอเองนโยบายลูกสามจึงคนไม่ได้รับการยอมรับ รวมถึงการตั้งคำถามกับสังคมและรัฐบาลว่าพวกเขาตระหนักถึงคุณค่าของพวกเธอมากแค่ไหน

อ้างอิง

AUTHOR

เด็กหญิงผู้เติบโตเป็นหญิงสาวจากการลองผิดลองถูกในทุกๆ วัน มีความฝันที่อยากจะหัวเราะและร้องไห้แบบมนุษย์ทั่วไป และปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยพบเจอตลอดเวลา