ไฟไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์, ชุมชนตรอกโพธิ์, เยาวราช

สืบเนื่องจากเหตุเพลิงไหม้ ‘ตรอกโพธิ์’ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา บ้านไม้จำนวนหลายหลังและอาคารพาณิชย์หลายคูหาถูกไฟลุกไหม้จนเหลือแต่เศษซากของตัวอาคารบางส่วน สร้างความเสียหายให้กับชุมชนและผู้พักอาศัยในบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก เพราะตรอกโพธิ์แห่งนี้เป็นชุมชนแออัดขนาดเล็กที่เปรียบเสมือนบ้านพักราคาถูกให้กับพ่อค้าแม่ขายจากต่างจังหวัด แรงงานชาวเมียนมาร์และกัมพูชา คนจนเมืองที่จำเป็นต้องอาศัยในเมืองใหญ่ 

บ้านไม้อายุนับหลายสิบปีที่สร้างติดกันจนแออัดถูกปิดทับด้วยอาคารสูง สายไฟสนิมเขรอะที่พาดผ่านกันระโยงระยางจนจับต้นชนปลายไม่ถูก กำลังบอกว่าความอันตรายของแหล่งทรุดโทรมไม่ใช่เรื่องล้อเล่นหรือทฤษฎีสมคบคิด แน่นอนว่าชาวบ้านในบริเวณนั้นย่อมรู้ดีกว่าคนที่เดินผ่านไปมา ทว่าพวกเขาไร้ทางเลือกหากต้องทำมาหากินในเมืองใหญ่ การอยู่อาศัยในพื้นที่ที่ดีกว่าต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายที่เกินค่าแรงของพวกเขา 

แม่ค้าร้านน้ำชงบริเวณหน้าชุมชนตรอกโพธิ์เล่าว่า ตนเดินทางมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ เข้ามาค้าขายบริเวณนี้หลายสิบปีแล้ว ตรอกโพธิ์เป็นพื้นที่ใช้สอยขนาดเล็กที่พอสมน้ำสมเนื้อกับรายได้ของตน ถึงแม้รู้ดีว่าความอันตรายของชุมชนแออัดเป็นอย่างไร แต่เลือกไม่ได้ที่จะต้องอาศัยอยู่ที่นี่ คืนวันเกิดเหตุตนได้ยินเสียงระเบิดดังสองครั้ง ก่อนเห็นเปลวไฟค่อย ๆ ลุกลามไปยังบ้านเรือนต่าง ๆ โชคดีที่ไฟไม่ลามมายังบ้านของตน แต่เพื่อนบ้านที่เป็นแม่ค้าด้วยกันเสียหายไปหลายอย่าง บางคนเอาออกมาได้แค่เอกสารและของสำคัญเพียงไม่กี่ชิ้น

ทางด้านผู้ประสบภัยที่กำลังต่อแถวรอรับถุงยังชีพบริเวณวัดสัมพันธวงศาราม เล่าว่า ครอบครัวของตนอาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 คน บ้านเรือนและข้าวของเสียหายทั้งหมด เอามาได้เพียงกระเป๋าใส่เอกสารสำคัญเพียงใบเดียว หลังจากนั้นตนต้องพาครอบครัวที่มีทั้งเด็กและคนแก่วิ่งหนีออกจากพื้นที่เกิดเหตุ ไม่สามารถนำข้าวของอื่นออกมาได้ ยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับครอบครัวของตนเป็นอย่างมาก

ขณะที่เด็กชายในชุดนักเรียนมัธยมต้นคนหนึ่งเดินวนเวียนบริเวณทางเข้าตรอกโพธิ์และพยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะเข้าไปดูของใช้ที่จำเป็น เมื่อเข้าไปสอบถามได้ความว่า เด็กชายคนนี้พยายามเข้าไปตรวจสอบดูสิ่งของที่พอจะเหลืออยู่ ในคืนวันเกิดเหตุตนนำแค่กระเป๋านักเรียนและโน้ตบุ๊คที่ใช้ในการเรียนออกมาได้เท่านั้น แต่อุปกรณ์การเรียนและเสื้อผ้าชุดนักเรียนทุกชุดยังคงอยู่ในนั้น และคาดว่าอาจจะถูกเพลิงไหม้ไปหมดแล้ว แต่ยังอยากรู้ว่าพอจะมีสิ่งของอะไรที่ยังใช้ได้อยู่บ้าง เพราะตนไม่เหลือสิ่งของที่จำเป็นอะไรเลย

จากการสอบถามและพูดคุยเบื้องต้นกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้าและแรงงานในบริเวณนั้น บางส่วนเป็นลูกจ้างของร้านอาหารที่เยาวราช หลายครอบครัวเป็นแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาทำงานที่ไทย อาศัยอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็กที่ถูกซอยออกเป็นหลายห้องในบ้านไม้เก่าและอาคารพาณิชย์ ในห้องหนึ่งอาศัยกันอยู่ไม่ต่ำกว่า 2 คน ยิ่งขับเน้นให้ตรอกโพธิ์กลายเป็นชุมชนแออัดทั้งในแง่ที่ตั้งของบ้านเรือนและจำนวนคน ที่สำคัญคนทุกคนในบริเวณนั้นล้วนมีความสำคัญต่อการค้าขายและท่องเที่ยวในย่านเศรษฐกิจอย่างเยาวราช

ชุมชนตรอกโพธิ์มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 200 ปี คาดว่าตั้งขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี จากการอพยพมาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง สังเกตจากสถาปัตยกรรมของวัดวาอาราม และอาหารพื้นถิ่นบางส่วน จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาเชื่อว่า ตรอกโพธิ์ตั้งชื่อตามต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณนั้น 

ตรอกโพธิ์เคยเป็นชุมชนที่คึกคักเต็มไปด้วยร้านขายของ ร้านอาหาร และโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ อีกทั้งยังมีศาลรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิมและร้านขายยาโบราณที่สำคัญต่อชุมชนชาวจีนในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อเยาวราชเกิดการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ วิถีชีวิตของชุมชนตรอกโพธิ์ดั้งเดิมจึงเริ่มเลือนหายไป กลายเป็นเพียงถิ่นพำนักของแรงงาน แหล่งมั่วสุมยาเสพติด และการค้าประเวณี 

แต่ไม่ว่ากาลเวลาจะนำพาตรอกโพธิ์ไปในทิศทางไหนก็ไม่สามารถลดทอนความสำคัญของชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ลงไปได้ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าตรอกโพธิ์ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของพ่อค้าแม่ขายและแรงงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนถนนเยาวราช ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมถึงครอบครัวคนจีนเก่าแก่ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นซึ่งกันและกัน ส่งต่อร้านอาหารอร่อย ๆ ศิลปะวัฒนธรรมให้กับผู้คนท้องถิ่นและคนที่สัญจรไปมานักต่อนัก

อาจกล่าวได้ว่าการที่ตรอกโพธิ์เกิดเพลิงไหม้ เปลวไฟเหล่านั้นไม่เพียงแต่เผาไหม้แค่ตัวอาคารและบ้านเรือน แต่กลับมอดไหม้จิตใจและความทรงจำของผู้คน ซ้ำร้ายยิ่งทำให้ชีวิตของคนจนเมืองในตรอกเล็กใจกลางกรุง ยิ่งเผชิญกับชะตากรรมที่โชคร้ายมากขึ้นไปอีก ความเสียหายที่เปลวไฟฝากไว้ไม่ใช่แค่ฝาพนังหรือเสาอาคารที่ผุกร่อน แต่เป็นชีวิตของผู้คนตัวเล็ก ๆ ในตรอกเล็ก ๆ ที่พุพังตามลงไปด้วย 

ในส่วนของมาตรการการเยียวยา นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) กล่าวว่า เบื้องต้นมาตรการการเยียวยาจะเป็นไปตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำหนด ในส่วนของภาคประชาชนมีการส่งข้าวของเครื่องใช้มาช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งในขณะนี้ข้าวของเหล่านั้นดูเหมือนจะเริ่มเกินความจำเป็น จึงขอสื่อสารไปยังผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยว่า หากต้องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผู้คนส่วนใหญ่ต้องการเป็นเงินสมทบทุนในการไปหาที่อยู่ใหม่ก่อนเบื้องต้น ระหว่างรอการซ่อมบำรุงกันต่อไป

AUTHOR

ไม่ชอบคนข้างล่าง

ความสำเร็จอยู่ที่ไหน
ความสำเร็จอยู่ที่ไหน