ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา VS ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

พลันที่ละครฟอร์มยักษ์ ‘แม่หยัวศรีสุดาจันทร์’ จาก oneD ORIGINAL รัวกลองได้ฤกษ์ฉายในวันที่ 24 ตุลาคมที่กำลังย่างกรายใกล้เข้ามา ทำเอาแฟนคลับคอประวัติศาสตร์ รวมถึงแฟนคลับ ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ ต่างตั้งหน้าตั้งตารอชมเรื่องนี้กันอย่างใจจดใจจ่อ

ละครอิงประวัติศาสตร์แม่หยัวศรีสุดาจันทร์จะพาเราไปย้อนชมเหตุการณ์ในช่วงต้นของอาณาจักรอยุธยา ในสมัยที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิขึ้นมามีอำนาจแทนราชวงศ์ที่สถาปนาอยุธยา อย่าง ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา (ราชวงศ์อู่ทอง)

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงการที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิขึ้นมาแทนที่ราชวงศ์ละโว้-อโยธยานั่นย่อมหมายความว่ามีการยึดอำนาจเกิดขึ้น บัลลังก์ของอยุธยาต้องแลกมาด้วยเลือดและสร้างความไม่พอใจให้กับราชวงศ์ผู้สูญเสียอำนาจนั่นคือราชวงศ์ละโว้-อโยธยา จึงเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อช่วงชิงบัลลังก์กลับคืนมา แม่หยัวศรีสุดาจันทร์เองก็ถูกนักประวัติศาสตร์บางสำนักสันนิษฐานว่าเธอคือคนในราชวงศ์ละโว้-อโยธยาที่ต้องเข้ามาถวายตัวเป็นสนมเอกของพระไชยราชาธิราชแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งเธอเองก็สามารถเข้าสู่อำนาจในฐานะสตรีหมายเลข 1 ของอาณาจักรได้สำเร็จในช่วงที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิแตกแยกจากภายใน

แน่นอนว่าหากเธอเป็นคนในราชวงศ์ละโว้-อโยธยาจริง ๆ ก็คงหวังอยู่ตลอดเวลาให้ราชวงศ์ของเธอกลับมามีอำนาจในอโยธยา ตลอดจนกำจัดคนในราชวงศ์สุพรรณภูมิและคนที่ภักดีต่อราชวงศ์ใหม่ที่มาแทนที่ของเธอ นี่คือเรื่องราวแห่งความแค้นและเกมการเมืองของราชวงศ์ในยุคสถาปนาอยุธยาจนนำไปสู่ศึกชิงบัลลังก์ สงคราม 2 ราชวงศ์ ละโว้-อโยธยา VS สุพรรณภูมิ จากยุคพระราเมศวร-แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ มาซึมซับเรื่องราวความขัดแย้งไปพร้อมกันกับ SUM UP

การร่วมสถาปนาอโยธยาของสองราชวงศ์

หากดูภูมิศาสตร์ของอยุธยาจะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ทะเล มีแม่น้ำหลายสายและเชื่อมต่อกับอาณาจักรเก่าก่อนการมีอโยธยา นั่นคืออาณาจักรสุพรรณภูมิที่มีอิทธิพลบริเวณตะวันตกของประเทศไทย ขณะที่ทางด้านตะวันออกคืออาณาจักรละโว้มีอิทธิพลขอมในเขตลพบุรีปัจจุบัน ภาพที่เราเห็นคือแต่ละอาณาจักรล้วนมีอำนาจเป็นของตนเอง และมีกำลังคน ทรัพยากร ตลอดจนเศรษฐกิจเป็นของตนเอง

ต่อมาเมื่ออาณาจักรสุโขทัยหลังยุคพ่อขุนรามคำแหงค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง ประกอบกับสุโขทัยไม่มีพื้นที่ที่ติดทะเล ทำให้อาณาจักรเริ่มหมดอิทธิพลไปในแถบภาคกลางตอนบนของไทย อาณาจักรที่ผงาดขึ้นมาคืออาณาจักรสุพรรณภูมิที่โดดเด่นด้านการค้า เพราะมีพื้นที่ติดทะเลและทำการค้าขายกับจีนมาอย่างยาวนาน ตลอดจนละโว้ที่สะสมอารยธรรมมาตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจ ทั้ง 2 อาณาจักรได้ร่วมมือกันและมีการเชื่อมความสัมพันธ์กันด้วยการแต่งงาน

การกำเนิดอาณาจักรอโยธยาที่ได้รับการยอมรับกว้างขวางที่สุด คือ เป็นรัฐที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นการรวมอำนาจกันระหว่างอาณาจักรละโว้และอาณาจักรสุพรรณภูมิ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ในอาณาจักรจีนเรียกอาณาจักรนี้ว่า เสียนหลอ คือการรวมตัวกันของ แคว้นเสียน (สุพรรณภูมิ) และ หลอหู (ละโว้) 

การสถาปนาอโยธยาจากการรวม 2 อาณาจักรเป็นหนึ่งเดียว นักประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าราชวงศ์แรกคือราชวงศ์ละโว้-อโยธยา มีปฐมกษัตริย์คือ พระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ที่มีพระมเหสีจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ซึ่งการรวมอำนาจของ 2 อาณาจักรดูเหมือนว่าจะเป็นข้อได้เปรียบ ทั้งด้านการค้า ทรัพยากร กำลังทหาร และเศรษฐกิจ แต่กระนั้นก็ตามมาด้วยการชิงอำนาจกันเรื่อยมา

ปฐมบทแห่งความขัดแย้ง ขุนหลวงพะงั่วยึดอำนาจพระราเมศวร

เมื่อพระเจ้าอู่ทองเสด็จสวรรคต เหมือนการถ่ายโอนอำนาจสู่พระราเมศวรซึ่งเป็นพระราชโอรสจะเป็นไปได้ด้วยดี ในปี พ.ศ. 1913 พระองค์เสด็จฯ จากเมืองลพบุรีมาเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นมีพระชนมพรรษาได้ 37 พรรษา แต่พระองค์ทรงครองราชสมบัติได้เพียงปีเดียว สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า ขุนหลวงพ่องั่ว ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของพระองค์ก็ยกทัพจากเมืองสุพรรณบุรีเข้ามา พระองค์จึงออกไปรับเสด็จฯ เข้าพระนคร แล้วถวายราชสมบัติให้ครองกรุงศรีอยุธยาแทน ส่วนพระองค์กลับไปครองเมืองลพบุรีดังเดิม ทำให้เราเห็นว่าอาณาจักรอโยธยาที่ร่วมกันสถาปนาโดย 2 ราชวงศ์พร้อมที่จะเกิดความขัดแย้งได้เสมอ ๆ ขึ้นอยู่กับฝ่ายไหนมีอำนาจมากกว่ากัน

อู่ทอง ละโว้-อโยธา รอวันเอาคืน

ไม่ว่าราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองจะชื่อว่าอะไร เพราะนักประวัติศาสตร์ตางถกเถียงกันเรื่องนี้ ว่าเป็นราชวงศ์ราชวงศ์อู่ทอง หรือ ละโว้-อโยธยา แต่กระนั้นเราจะเห็นว่าฐานอำนาจของราชวงศ์นี้เดิมคงอยู่ที่ละโว้หรือลพบุรี เพราะปรากฏว่าภายหลังเมื่อพระราเมศวรถูกขุนหลวงพ่องั่วยึดอำนาจ ก็ยังคงกลับไปครองลพบุรีต่อ รอวันที่จะกลับไปทวงบัลลังก์ที่อโยธยาดังเดิม

จังหวะก็มาถึง เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1931 สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาได้เพียง 7 วัน สมเด็จพระราเมศวรได้ยกพลจากเมืองลพบุรีมายึดกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าทองลัน ณ วัดโคกพระยา แล้วขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่ 2 ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 49 พรรษา

เจ้านครอินทร์ ยึดอำนาจพระรามราชา

หลายคนคงคิดว่าพระราเมศวรยึดบัลลังก์คืนจากราชวงศ์สุพรรณภูมิได้แล้วก็คงยุติกลิ่นคาวเลือดเหนือบัลลังก์อโยธยาได้ แต่กระนั้นก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะภายหลังพระราเมศวรเสด็จสวรรคต กลิ่นรัฐประหารก็เริ่มโชยมาอีกครั้ง พระรามราชา พระราชโอรสขึ้นครองราชสมบัติต่อ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่าในปี พ.ศ. 1952 สมเด็จพญารามเจ้าพิโรธเจ้าเสนาบดีถึงกับรับสั่งให้จับกุม แต่เจ้าเสนาบดีหนีรอดไปอยู่ฟากปทาคูจาม แล้วกราบทูลเชิญสมเด็จพระอินทราชาผู้ครองเมืองสุพรรณบุรีว่าจะยึดกรุงศรีอยุธยาถวาย เมื่อสมเด็จพระอินทราชาเสด็จถึง เจ้าเสนาบดีก็เข้าปล้นพระนครศรีอยุธยาได้ แล้วทูลเชิญสมเด็จพระอินทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติ ส่วนสมเด็จพญารามเจ้าโปรดให้ไปกินเมืองปทาคูจา กลายเป็นว่าราชวงศ์สุพรรณภูมิมีฐานอำนาจอยู่ที่สุพรรณบุรีกลับมายึดอำนาจในอโยธยาได้อีกครั้ง

ความแตกแยกในวงศ์สุพรรณภูมิเปิดช่องโหว่ให้วงศ์ละโว้-อโยธยา

ภายหลังเจ้านครอินทร์ สมเด็จพระอินทราชาเจ้า หรือสมเด็จพระนครินทราธิราชยึดอำนาจจากราชวงศ์ละโว้-อโยธยาได้สำเร็จ อิทธิพลและบทบาทของราชวงศ์ละโว้-อโยธยาก็ดูเหมือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เพราะกษัตริย์ที่สืบต่อกันมาถึงยุคพระไชยราชาธิราชทั้ง 7 พระองค์ล้วนมากจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าราชวงศ์สุพรรณภูมิจะสืบราชบัลลังก์กันอย่างราบรื่น แต่เป็นการแย่งชิงบัลลังก์กันในราชวงศ์สุพรรณภูมิเรื่อยมา

กล่าวคือภายหลังยุคเจ้านครอินทร์ พระราชโอรส เจ้าอ้าย และ เจ้ายี่ก็แย่งชิงราชสมบัติกันเองก่อนที่จะสวรรคตทั้งคู่หลังจากชนช้างกัน เจ้าสามพระยาจึงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ

ในยุคก่อนที่พระไชยราชาธิราชจะขึ้นครองราชสมบัติ

สมเด็จพระรัษฎาธิราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร) ที่พึ่งครองราชย์ได้เพียง 5 เดือน ตรงกับ พ.ศ. 2077 สมเด็จพระไชยราชาธิราชก็ชิงราชสมบัติแล้วนำพระองค์ไปสำเร็จโทษ เรียกได้ว่ากลิ่นคาวเลือดล้วนตลบอบอวลในราชวงศ์สุพรรณภูมิเสมอ นั่นเท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้ราชวงศ์ละโว้-อโยธยากลับขึ้นมามีอำนาจผ่าน “แม่หยัวศรีสุดาจันทร์”

ข้อสันนิษฐาน “แม่หยัวศรีสุดาจันทร์คือคนราชวงศ์ละโว้-อโยธยา”

มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดของท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ละโว้-อโยธยา โดยอาจสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้ารามราชาที่เสียราชสมบัติ แล้วถูกส่งไปอยู่เมืองปทาคูจาม ซึ่ง พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ได้ให้ข้อสังเกตว่าราชวงศ์ดังกล่าวอาจถูกละเว้นไว้ในฐานะที่เป็นตระกูลศักดิ์สิทธิ์ ผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์ดังกล่าวจึงได้รับการเลี้ยงดูสืบมาให้มาทำหน้าที่สำคัญในราชสำนัก สอดคล้องกับจดหมายเหตุวันวลิตที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขุนวรวงศาธิราชที่เดิมเป็นพนักงานเฝ้าหอพระมาก่อนว่าเป็นหมอผี มีหน้าที่อ่านแปลหนังสือพงศาวดารของต่างประเทศให้แก่พระเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นว่าขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ที่มีศักดิ์เป็นญาติ ไม่ได้มาจากตระกูลชั้นต่ำ แต่เป็นระดับผู้รู้ และอยู่ในฐานะระดับปุโรหิตที่มีหน้าที่เกี่ยวกับพระราชพิธีในราชสำนัก

ขุนวรวงศาธิราชมีน้องชายคือ นายจัน บ้านมหาโลก ซึ่งเป็นหมู่บ้านเขมร ดังนั้นตระกูลของเขาอาจมีความสัมพันธ์กับเขมรด้วย เอกสารโปรตุเกสได้กล่าวถึงนายจันว่าเป็นช่างเหล็ก ซึ่งเทคโนโลยีผลิตเครื่องมือเหล็กในสมัยนั้น ไม่ใช่ของที่ใครก็ทำได้ง่าย ๆ ต้องอาศัยผู้ชำนาญสะสมมาเป็นเวลานาน จึงยืนยันได้ว่าตระกูลของนายจันไม่ใช่ตระกูลชั้นต่ำแต่อย่างใด และหากแม่หยัวศรีสุดาจันทร์เป็นดังข้อสันนิษฐานจริง การกระทำของเธอที่ร่วมสถาปนาขุนวรวงศาธิราชถือเป็นการผลักดันคนละโว้-อโยธยาช่วงชิงบัลลังก์อโยธยาให้กลับมาอยู่ในมือของราชวงศ์ละโว้-อโยธยาใช่หรือไม่

ทั้งหมดคือที่มาของความขัดแย้ง ศึกชิงบัลลังก์อโยธา สงคราม 2 ราชวงศ์ ละโว้-อโยธยา VS สุพรรณภูมิ จากยุคพระราเมศวร-แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ เปิดเผยร่องรอยการเมืองยุคต้นของอยุธยา ที่มีบทบาทสตรีอย่างแม่หยัวศรีสุดาจันทร์เป็นคนเดินเกมการเมือง

ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา VS ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

อ้างอิง

  • พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. กรุงเทพ:สำนักพิมพ์มติชน
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), นนทบุรี : ศรีปัญญา
  • คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, นนทบุรี : ศรีปัญญา
  • https://www.silpa-mag.com/history/article_118180
  • https://www.silpa-mag.com/history/article_106970
  • https://www.matichonweekly.com/column/article_672856

AUTHOR

ชอบเล่าเรื่องการเมือง ชอบพบเจอผู้คน สนุกกับการพูดคุย ชอบดูการ์ตูน อ่านหนังสือ ที่สำคัญติดบ้าน ติดดิน แต่ไม่ติดลม