ท่ามกลางความเห็นทางการเมืองที่ร้อนแรงหลังจากจบการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมไปถึงความขาดเสถียรภาพที่กลายเป็นความระส่ำระสายของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ในช่วงที่ผู้แทนถูกตั้งคำถามจากประชาชนในเรื่องความเหมาะสม หรือแม้แต่ถูกพรรคการเมืองฝ่ายเดียวกัน พรรคเดียวกันตั้งคำถามต่อกันเช่นกัน เส้นบรรทัดฐานความชอบธรรมและความรับผิดชอบต่าง ๆ ยังคงเหมาะสมต่อการเป็นผู้แทนของประชาชนอยู่หรือไม่ รวมไปถึงระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเดินทางต่ออย่างไรในการเรียกร้องความรับผิดชอบต่าง ๆ จากรัฐบาล ผู้แทนราษฎร รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่สร้างความเสียหายต่อประชาชนในช่วงที่ผ่านมา
รู้จักฐานความชอบธรรมในสังคมไทย
อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ อดีตนักวิชาการอาวุโสผู้ล่วงลับ ได้เคยให้ความเห็นเอาไว้ในเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทยว่า ฐานความชอบธรรมในสังคมไทยที่มีหลากหลายฐาน พอจะสรุปรวมเอาไว้ได้อย่างน้อย 3 ฐาน ได้แก่ ความชอบธรรมฐานที่มา ความชอบธรรมฐานการกระทำ และความชอบธรรมฐานบารมี
“ความชอบธรรมฐานที่มา” คนที่สนับสนุนฐานความชอบธรรมนี้ก็จะมองไปที่ที่มาของบุคคลต่าง ๆ ว่าถูกต้องตามระบอบที่ใช้กันแล้วหรือไม่ เช่น การได้มาซึ่งผู้แทนเสียงของประชาชน ซึ่งระบอบประชาธิปไตยจะมาจากการเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเลือกแล้วถือว่าชอบธรรมแล้ว ประเด็นอื่น ๆ ถือว่าเป็นเรื่องรองลงไป ไม่ว่าคนนั้นจะมีการกระทำเป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพหรือไม่ก็ตาม
“ความชอบธรรมฐานการกระทำ” คนที่สนับสนุนฐานความชอบธรรมนี้จะมุ่งเน้นไปที่การกระทำเป็นตัวชี้วัด หากการกระทำดี เป็นคนดี หรือเป็นคนเก่งมีความสามารถเหมาะสมในการทำงานต่าง ๆ เป็นตัวแทนเสียงของประชาชนได้ดี ก็ให้ถือว่าชอบธรรมแล้ว ประเด็นอื่น ๆ ถือว่าเป็นเรื่องรองลงไป ไม่ว่าคนนั้นจะมีที่มาที่ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม
“ความชอบธรรมฐานบารมี” เนื่องจากแต่เดิมสังคมไทยเป็นระบบอาวุโส คนจำนวนมากยังคงสนับสนุนฐานความชอบธรรมที่มุ่งเน้นไปดูประวัติของชาติตระกูล คุณงามความดีที่สะสมมาตั้งแต่รุ่นก่อน หากอยู่ในแวดวงสังคมหรือเส้นสายที่ดี หรือเป็นทายาทของตระกูลที่คนทั่วไปนับหน้าถือตาก็ให้ถือว่าชอบธรรมแล้ว ประเด็นอื่น ๆ ถือว่าเป็นเรื่องรองลงไป ไม่ว่าคนนั้นจะมีที่มาหรือการกระทำเป็นอย่างไรก็ตาม
อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอนันท์ ยังให้ความเห็นไว้อีกว่า ท่ามกลางความขัดแย้งของสังคมไทย ความชอบธรรมอย่างน้อย 3 ฐานนี้ตีกันอยู่ เพื่อหาว่าใครควรปกครองอำนาจรัฐ
ระบบยุติธรรมที่มีปัญหา
ระบบยุติธรรมในไทยที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ โดยปกติมักจะออกแบบกฎหมายที่เป็นเจตนารมณ์และมีลายลักษณ์อักษรชัดเจน โดยเป็นกฎหมายใช้เพื่อประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่เลือกปฏิบัติ และการออกกฎหมายนั้นจะต้องร่างโดยสภาตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐธรรมนูญในไทยฉบับต่าง ๆ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายผ่านสภาต่าง ๆ มากนัก เช่น ในฉบับปัจจุบัน สภาวุฒิสมาชิกก็มาจากการแต่งตั้ง 100% จึงขาดความยึดโยงกับประชาชนเป็นอย่างมาก
เมื่อไม่ได้มาจากเสียงของประชาชน ระบบยุติธรรมที่ควรยึดหลัก หลักนิติธรรม (The Rule of Law) หรือบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคถ้วนหน้า ก็ได้กลายร่างเป็น หลักนิติวิธี (The Rule by Law) หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและเป็นข้ออ้าง โดยกลุ่มบุคคลที่ปกครองอำนาจรัฐ ซึ่งกำลังตีกันอยู่จากสามฐานความชอบธรรมที่กล่าวมา
โครงสร้างปัญหาทำให้ไม่สามารถวางแผนระยะยาว
จากปัญหาทั้งสองทาง ทำให้รัฐบาลที่เลือกตั้งขึ้นมาในชุดปัจจุบันจำเป็นต้องมองระยะสั้นลง และแก้ปัญหาตรงหน้าแบบระยะสั้นไปก่อน เนื่องจากรูปแบบของพรรคร่วมรัฐบาลมีฐานความชอบธรรมหลากหลายฐาน รวมถึงพรรคฝ่ายค้านเองก็ประสบปัญหาเดียวกัน บีบให้ภาคประชาชนไม่สามารถมองภาพระยะยาวได้มากนัก ปัญหาต่าง ๆ ที่รอการสะสางจึงมีมากกว่าการเตรียมรับมือปัญหารูปแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งภาคประชาชนก็จะเห็นได้จากประสิทธิภาพในการรับมือปัญหาใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น การรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยนายกรัฐมนตรีเองเคยกล่าวด้วยตัวเองว่า “ประเทศเราไม่เคยรับมือมาก่อน”
ส่วนปัญหาที่ประเทศจำเป็นต้องกลับมาแก้ กลับเป็นปัญหาที่ค้างคาในระบบโครงสร้างข้าราชการ ที่ยังคงส่งผลกระทบกับประชาชนแบบซึ่งหน้า เช่น โครงการก่อสร้างถนนพระรามสอง ที่เป็นมรดกยาวนานมาจาก คสช. และรัฐบาลก่อนหน้า จนทำให้ประชาชนหวาดระแวงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน และยังไม่นับรวมปัญหาต่าง ๆ ในระบบการเมืองท้องถิ่นอื่น ๆ อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยแบบไทยนั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อน เพราะจากประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดรัฐประหารมากถึง 13 ครั้ง ทำให้กระบวนการแก้ไขตามระบอบนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาแก้ไขยาวนาน กว่าจะได้มาซึ่งการบริหารประเทศที่มาจากความชอบธรรมโดยประชาชนอย่างแท้จริง
อ้างอิง