ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

จุดเริ่มต้นของวาทิน ปิ่นเฉลียว กับ ต่วย’ตูน

“ถ้าจะถามถึงต้นกำเนิดของ ต่วย’ตูน
ต้องขอขอบคุณหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชครับ”

ตอนนั้นคุณพ่อของผมเป็นนักศึกษาสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ แล้วก็มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านสนิทกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์มาบอกว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ท่านอยากจะออกหนังสือเล่มหนึ่ง แต่ว่ายังขาดคนเขียนภาพประกอบที่เป็นการ์ตูน สมัยนั้นคนเขียนภาพประกอบหาง่ายแต่คนเขียนภาพประกอบที่เป็นการ์ตูนหายาก อาจารย์เลยบอกว่า “เฮ้ย!!! วาทิน วาทิน เธอไปเขียนไหม”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“จากประโยคนั้นครับ เป็นจุดเริ่มต้นลายเส้นการ์ตูนของคุณพ่อกับงานของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชในหนังสือพิมพ์สยามรัฐกับหนังสือพิมพ์ชาวกรุง

พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า ท่านให้ค่าจ้างวาดเท่ากับวาดภาพประกอบเลยนะ ท่านสเปคมาเลยว่าอยากได้รูปการ์ตูนประเภทที่มีมุกแบบไม่ต้องบรรยายอะไรมาก เอารูปเพียวๆ เลยให้ขำเลย พ่อบอกว่ามันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่พ่อก็พยายามวาดให้ได้ในตอนนั้น

พอเขียนเสร็จยังไม่รู้ว่าจะใช้ชื่อว่าอะไรดี เพราะพ่อก็ไม่มีชื่อเล่น ที่เพื่อนที่ถาปัด มีแต่คนที่มีชื่อเล่นเป็นตัวต.เต่า เพื่อนๆ เลยตั้งชื่อให้บอกให้ชื่อ “ต่วย” ก็เลยเริ่มต้นจากคำว่า “ต่วย” ที่เขียนการ์ตูนลงในสยามรัฐ ลงในชาวกรุง ซึ่งมี คุณวิลาส มณีวัต เป็นบรรณาธิการ เขียนรูปไปได้พักหนึ่ง มีคนมาเชียร์ว่า “เฮ้ยยยย !!! ลองเอามารวมเล่มดูสิ” พ่อก็เลยเอามารวมเล่มดูขนาดเท่า Pocket Book ปรากฏว่าพอพิมพ์ออกมาขายวันเดียวหมดเกลี้ยง!!! หลังจากรวมเล่มได้ประมาณ 4-5 เล่ม วางแผงปุ๊บ หมดแผงปั๊บ พ่อเลยทำต่อจนกระทั่งตั้งเป็นชื่อว่า ต่วย’ตูน”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“คุณวิลาส มณีวัต ให้คำนิยามของ ต่วย’ตูน ว่าเป็น “หรรษา สารคดี” คือ เป็นสารคดีที่บวกกับความหรรษา เน้นเรื่องที่สนุก อ่านแล้วเหมือนเพื่อนกำลังเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง เหมือนกำลังคุยกับเพื่อนในวงเหล้า มีแต่เรื่องฮา เรื่องสนุกสนาน แล้วก็มีภาพประกอบเป็นการ์ตูน

การทำงานของคุณพ่อเรียกว่าเป็นกองบก. เล็กๆ ที่มีกัน 3 คน คือ คุณพ่อ (วาทิน ปิ่นเฉลียว), ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ นามปากกา ชาย บางกอก ส่วนอีกคนมาดูแลเรื่องอาร์ต”

มิตรภาพ ทำให้เกิด ต่วย’ตูน และเขย่าออกมาเป็นความสุขของคุณพ่อ

“ตอนนั้นผมน่าจะประมาณ 10 ขวบ จำได้ว่าวิ่งซื้อโซดา น้ำแข็ง บุหรี่ให้ลุงๆ อาๆ ทั้งหลายซึ่งเป็นนักเขียนดัง เป็นศิลปินดัง หรือคนดังในแวดวงบันเทิงต่างๆ จะมารวมตัวกัน จะมาอยู่ที่บ้านนั่งกินเหล้า เมาก็นอน ตื่นมาก็นั่งดื่มกันใหม่ เปิดบ้านทีหนึ่งก็ 20-30 คน ทุกคนมีความสนุกสุขสันต์ มีความเฮฮา แล้วเขาทำหนังสือกัน มีนักเขียน มีอาร์ทติส นักดนตรี ผู้กำกับหนัง หมอ ครูบาอาจารย์ ตำรวจ ทหารเยอะแยะไปหมด เป็นที่รวบรวมมิตรภาพของคุณพ่อ”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“สิ่งที่เรารู้สึกได้ก็คือ รู้สึกว่าพ่อมีความสุข พ่อเป็นสถาปนิก พ่อออกแบบบ้าน เป็นข้าราชการกรมชลประทาน เคยพูดกับแม่ไว้ว่าเงินเดือนของพ่อที่ได้จากกรมชลฯ พ่อยกให้แม่ทั้งหมด แต่เงินทำหนังสือซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้กี่ตังค์ พ่อบอกว่า “ขอได้ไหมจะเอาไว้เลี้ยงเหล้าเพื่อน” (หัวเราะ) 

รู้ว่าเวลาเขาอยู่กับเพื่อน อยู่กับศิลปิน อยู่กับนักเขียนเขามีความสุขมากๆ มีความสุขมากกว่างานสถาปัตย์ของเขาอีก อย่างเช่นวันเสาร์ เราจะเรียกกันว่า “วันเสาร์แห่งการมิตติ้ง” เมื่อก่อนจะมีต้นสาเกอยู่ตรงนั้น (ชี้ไปที่บริเวณหน้าบ้าน) พอถึงเวลาเพื่อนๆ ของพ่อก็เริ่มมาแล้ว มากันจนเต็มบ้าน เบอร์ใหญ่ๆ ของวงการทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น วิลาส มณีวัต ประเสริฐ วิจารณ์โสภณ ‘รงษ์ วงษ์สวรรค์ ก็มา”

ครอบครัวนักเขียนของ ต่วย’ตูน 

“ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจเล็กๆ ในครอบครัว 
เพียงแต่ว่าเราโชคดีที่มีแฟนคลับเยอะ”

“ทุกอย่างเริ่มก่อตั้งมาจากคุณพ่อ ตระกูลเราเป็นตระกูลนักเขียน พี่สาวคุณพ่อ (ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว) น้องสาวคุณพ่อ (จินตนา ปิ่นเฉลียว หรือ จินตวีร์ วิวัธน์) พอผมเข้ามาบริหาร คุณพ่อยังคงเป็นแกนหลักในการเป็นที่ปรึกษา ผมมีน้องสาวอีกคนชื่อคุณดาว มาดูเรื่องการเงิน บัญชีให้”

“ผมเป็นเด็กที่ชอบอ่านหนังสือ ตอนนั้นผมเรียนที่เทพศิรินทร์ เพื่อนๆ  จะรู้เลยว่า ถ้าจะตามหาผม ผมอยู่ที่ห้องสมุด เป็นที่รู้กันว่า “ดลว่างเมื่อไหร่ เขาก็จะอยู่ที่ห้องสมุด” ผมชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก พอไปอยู่เมืองนอกก็ยังชอบอ่านหนังสือ อ่านหนังสือจนไม่มีเวลาอ่านหนังสือสอบ” (หัวเราะ)

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“ผมไปเรียนวิศวะที่ประเทศอังกฤษ หลังจบก็ย้ายไปเรียน Management ที่สหรัฐอเมริกา สุดท้ายไปเรียน Printing (การพิมพ์) มีแพลนว่าหลังเรียนจบจะกลับมาเพื่อเปิดโรงพิมพ์ ก็คือ พี วาทิน พรินติ้ง เพราะที่ผ่านมาเราจ้างเขาพิมพ์ตลอด ไปๆ มาๆ พอยอดเยอะขึ้นเรื่อยๆ เลยตัดสินใจว่าตั้งโรงพิมพ์เพื่อผลิตเองเลยดีกว่า ให้เป็นแบบครบวงจรอยู่ที่เราไปเลย แต่ก่อน ‘ต่วย’ ตูน มียอดพิมพ์เป็นหลักเกือบแสนเล่ม 

ผมกับคุณพ่อเราบริหารคู่กันมาตลอด เราจะนั่งคุยกันทุกวันเกี่ยวกับหนังสือทุกเล่ม คุณพ่อเริ่มวางมือตอนอายุ 60 แต่ยังคงเป็นที่ปรึกษาหลักอยู่ วางมือจริงๆ คือช่วง 9 ปีให้หลังที่ตรวจพบมะเร็ง เรียกได้ว่าเป็นการปล่อยทั้งหมดเลย ผมก็บริหารมาคู่กับน้องสาว คือ คุณดาว (ดาว ปิ่นเฉลียว) คุณดาวทำงานแบงก์ ลาออกมาเพื่อที่จะมาดูแลเรื่องการเงิน ดูแลเรื่องบัญชี และดูเรื่องการจัดการต่างๆ ต้องขอขอบคุณมากๆ 

ตระกูลเราเป็นนักเขียน เริ่มตั้งแต่คุณพ่อ (วาทิน ปิ่นเฉลียว) ลุงปกรณ์ (ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว) อาจินตนา (จินตนา ปิ่นเฉลียว) ทุกคนเป็นนักเขียน เราจึงเป็นครอบครัวนักเขียน ดังนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องการทำธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือ สำนักพิมพ์ หรือทำโรงพิมพ์ ส่วนผมเป็นบรรณาธิการอำนวยการ ไม่ได้เขียนเอง แต่จะดูต้นฉบับก่อนพิมพ์ทุกเล่ม แล้วเรายังมีบรรณาธิการที่มีความสามารถอย่างคุณเก่ง (ประลองพล เพี้ยงบางยาง) คอบประสานงานกับนักเขียน ปรับปรุงบทความ ดูแลกระบวนการผลิตอื่นๆ”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

อ่านหนังสือเพื่อมาทำหนังสือ 
จาก ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกาซีน สาระ+หรรษา จนถึง  ต่วย’ตูน พิเศษ 

ในเดือนกันยายน 2567 ซึ่งเป็นการพิมพ์ครั้งสุดท้าย 
ต่วย’ตูน พอกเก็ตแมกาซีน ปีที่ 54 เล่มที่ 1
ต่วย’ตูน พิเศษ ปีที่ 50 ฉบับที่ 593 

“บางทีการทำหนังสือขึ้นมาสักเล่มก็เกิดจากเรื่องง่ายๆ อย่างหนังสือเล่มนี้ (ต่วย’ตูน พิเศษ ปีที่ 39 ฉบับที่ 457 เดือนมีนาคม 2556 – แกะรอยมหาพีระมิดรอบโลก) เย็นวันหนึ่งน้องสาวของคุณพ่อ คุณจินตนา ปิ่นเฉลียว (จินตวีร์ วิวัธน์) เจ้าของรางวัล จอห์น เอฟ เคนเนดี้ สาขาวรรณคดี เป็นบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 ของจุฬาฯ คณะอักษรศาสตร์ด้วย เรานั่งคุยกันในเย็นวันหนึ่งว่าวิชาเรียนที่จุฬาฯ พวก Westernization อารยธรรมตะวันตกอะไรต่างๆ เป็นวิชาที่ยากแต่ก็สนุกมากจริงๆ ย้อนกลับไปเวลานั้นหลายๆ เรื่องเป็นอะไรที่หาอ่านยากมาก ถ้าอยากอ่านต้องไปเข้าห้องสมุดอย่างเดียว แล้วในตำราเรียนอย่างประวัติศาสตร์กรีก ประวัติศาสตร์อียิปต์ โรมัน ในตำราก็เขียนไม่สนุก นิสิตจุฬาฯ บอกว่าตำรามันขม ผมเลยบอกว่า “งั้นเรามาเขียนกัน เอาเกร็ดมาเล่าให้สนุก กรีก โรมัน พีระมิด อียิปต์ หรือจะเป็นอารยธรรมตะวันออก เรื่องราวพวกนี้มีเกร็ดเยอะมาก เอามาเขียนให้สนุกๆ กัน ลองดู” จึงเกิดเป็นเล่มนี้ ยอดพิมพ์หลักหมื่น พอออกแผงวันเดียว เกลี้ยงทุกแผง นี่คือความสนุกของการทำหนังสือ”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“ต่วย’ตูน พิเศษ วางแผงเล่มแรกเดือนมีนาคม ปี 2517 หน้าที่ของผมก็คือตามหา material เพื่อนำมาเป็นข้อมูลให้กับการทำหนังสือ ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ที่เมืองนอก ผมก็ตระเวนไปตามร้านหนังสือต่างๆ ห้องสมุดต่างๆ พิพิธภัณฑ์ต่างๆ แล้วซื้อกลับมา พอกลับเมืองไทยทีครั้งหนึ่งหอบมา 2 suitcases ศุลกากรเรียกตรวจ เรียกคุยนึกว่าเราเอากลับมาเพื่อเอาไปขาย ผมก็บอกไปว่า “ผมไม่ได้ไปขายผมเป็นนักศึกษาอยู่ ผมกลับบ้าน ทั้งหมดนี่คือหนังสือที่ผมสนใจ” พอเขาตรวจดูเห็นว่าเรามีเพียงแค่อย่างละเล่ม หมดความสงสัย เขาก็ปล่อยเราไป 

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปร้านหนังสือแถว Potomac Washington DC เจอร้านหนังสือร้านหนึ่งชื่อ Yes เข้าไปดูอยู่ตรงแถวจอร์จทาวน์เป็นตึก 4 ชั้นแล้วมีบันไดวนแบบโบราณ เป็นร้านที่รวมหนังสือเก่า ผมนั่งหาหนังสือที่อยากได้อยู่หลายชั่วโมง จนเจ้าของร้านคงรำคาญ” 

เขาถามว่า “ยู ยูทำอะไร”
“อ๋อ ไอหาเกร็ดประวัติศาสตร์ หนังสือตำราประวัติศาสตร์พวกนี้ไอไม่เอาหรอกนะ เอาแต่เกร็ดดีๆ ช่วยหน่อยได้ไหม”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูนอ

“สักพักเจ้าของร้านไปจูงมือสาวฝรั่งเรียนอยู่ที่จอร์จทาวน์ เอกวิชาประวัติศาสตร์ เขามาทำงานที่ร้านพอดี ตอนนั้นเราช่วยหากันอยู่ 3 วันกว่าจะเจอแต่ละเล่มๆ ซึ่งถ้าไม่ได้เธอคนนี้ ผมก็จะไม่ได้หนังสือที่ต้องการ เพราะมันเป็นหนังสือที่หายากมาก เป็นหนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นวาระ และทั้งร้านมีแค่เล่มเดียว 

เราได้หนังสือจากทั่วโลก มาย่อย มารีวิว มาเขียน มาแปลแล้วก็เอามาทำเป็นเล่ม ซึ่งสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต คุณอยากจะได้อะไร คุณต้องไปห้องสมุด แต่เรื่องบางเรื่องที่เราอยากเล่า ในห้องสมุดประเทศไทยเราไม่มี ผมจะต้องบินไปหาข้อมูลตามแหล่งต่างๆ มา เริ่มทำเล่ม เป็นรวมชุดหนึ่ง รวมชุดสอง ขายดิบขายดีทุกคนชอบเพราะว่าวัยรุ่นสมัยนั้นไม่เคยเจอ เราคุยถึงเรื่องยูโทเปียเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เราคุยถึงเรื่องพีระมิด คุยถึง UFO เฮ้ย!!! มันล้ำมากเลย 50 ปีที่แล้วนะ ในยุคที่ยังมีแค่หนังสือพิมพ์กับโทรทัศน์ขาวดำ แต่หนังสือของเราพูดเรื่องพวกนี้แล้ว”

ต่วย’ตูน พิเศษ ฉบับพิเศษ “ตาคลี เจเนซิส”

ต่วย'ตูน พิเศษ ตาคลี เจเนซิส

“คุณมะเดี่ยวเล่าให้ฟังว่าเป็นแฟนหนังสือของเรามาตั้งแต่เด็กๆ เขาชื่นชอบต่วย’ตูนพิเศษมานาน และใช้เป็นแรงบันดาลใจ อย่างที่ผมเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นว่า เมื่อสมัย 50 ปีที่แล้วไม่มีใครเขียน เรื่อง UFO ไม่มีใครเขียนเรื่องยูโทเปีย มะเดี่ยวบอกว่ามะเดี่ยวเป็นเด็กต่างจังหวัด พออ่านต่วย’ตูนเสร็จก็จินตนาการได้ต่างๆ นานา 

เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงว่าเราสร้างจินตนาการ เราสร้างฝันให้เด็ก เราน่าจะล้ำไปกว่าปัจจุบันสัก 50 ปี ทุกวันนี้เรื่อง UFO คนยอมรับกันทั่ว เมื่อ 50 ปีแล้วนี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เรื่องยูโทเปีย เรื่องโรคระบาด เราเขียนกันมาเป็น 50 ปีแล้ว นั้นจะมองว่าเป็นตำราไหม ก็เป็นกึ่งๆ ตำรา แต่อย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่า มันเป็นเรื่องเล่าที่เน้นเอาความสนุก แล้วใส่สาระเพื่อที่จะให้เด็กเกิดจินตนาการ แม้แต่เรื่องโดรน ยานที่ไร้คนขับหรืออะไรต่างๆ เราเขียนมานาน จะมีเกิดขึ้นได้ยังไง สุดท้ายก็มีจริงๆ 

ตอนที่มะเดี่ยวติดต่อมา เราก็รู้สึกภูมิใจ แล้วอะไรที่เราสามารถ support ให้ได้เราก็จะทำให้เต็มที่ ก็เป็นจังหวะพอดีกับเดือนกันยายนนี้เป็นการปิดตัวลงของต่วย’ตูน และเป็นการฉายหนังตาคลี เจเนสิสด้วย ต้องชื่นชมในความกล้าของมะเดี่ยว กล้าหาญมากในการที่จะทำหนังประเภทนี้”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูนอ

“พระราชอารมณ์ขัน” ต่วย’ตูน รายสะดวกยอดพิมพ์กว่าล้านเล่ม

“ผมออก pocket book มาน่าจะไม่ต่ำกว่าพันปก เล่มที่ถือว่าเป็นเยี่ยมที่สุดก็คือ “พระราชอารมณ์ขัน” ที่เขียนโดยวิลาศ มณีวัต ตอนนั้นคุณวิลาศมาหาที่ออฟฟิศ เราก็คุยกันในประเด็นที่ว่า ถ้าเราอยู่ประเทศอังกฤษเราสามารถที่จะเขียนถึงพระเจ้าแผ่นดินได้ แต่ที่เมืองไทยน่าจะยาก ผมเลยบอกว่า เราน่าจะสามารถเขียนในแง่ของเรื่องที่ดีๆ ของท่านได้นะ แล้วพสกนิกรก็จะได้อ่านซึ่งเอาไปเล่าต่อกัน ก็เลยบอกพี่ลองเขียนมาสิ ลองเขียนมาดูกัน ผมเป็นบก. ให้ 

หลังจากนั้นคุณวิลาสก็เลยไปลองเขียนมา เราก็เอามากางดูกัน มีปรับแก้บ้าง มีกระบวนการจัดทำ จนกระทั่งพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะติดอันดับ Best Seller อยู่นานมาก เแพาะที่ผมพิมพ์เองน่าจะประมาณ 10 กว่ายัง แล้วยังมีสำนักพิมพ์อื่น โรงพิมพ์อื่นเอาไปพิมพ์ต่อไม่น่าต่ำกว่า 70-80 ครั้ง ยอดพิมพ์รวมๆ ผมว่าน่าจะมีหลักล้านเล่ม ประชาชนรักในหลวงท่านมาก เรื่องที่นำมาเล่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครถ่ายทอด พอได้อ่านกันก็เกิดความประทับใจ”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

ต่วย’ตูน คือ เรื่องเล่า และเรื่องเล่าไม่มีวันตาย

“ข่าวที่จะปิดตัว ผมได้ไปคุยกับนักเขียนอาวุโสท่านหนึ่ง ไปเรียนท่านว่าผมจะปิดหนังสือ แล้วจากนั้นก็กระจายไปทั่ว จนกระทั่งสื่อโซเชียลมีเดียลงกันเต็มไปหมด หลังจากนั้นก็รับโทรศัพท์จากแฟนๆ สายไหม้ไปเลย” 

“หลังโควิดมา เราก็คิดว่าถ้าถึงทางที่เราจะต้องไปต่อท่าทางที่เราจะไปต่อเนี่ยจะต้องไปออนไลน์ไปทางดิจิตอล คราวนี้เราก็มานั่งนึก เขียนโครงการออกมาได้เกือบ 20 โครงการ ถ้าเกิดว่าจะทำต่อนะ แต่ผมก็มานั่ง study ดู หลังจากที่อ่านโครงการแล้ว บอกตามตรงว่าตัวผู้บริหารอย่างผมเองซึ่งตอนนี้อายุ 60 แล้ว การทำงาน 30 ปีของผม ผมไม่คุ้นเคยกับโลกดิจิทัลเลย”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“ผมบอกนักเขียน บอกคนในทีม ผมไม่มีความสามารถที่จะไปต่อในโลกออนไลน์ได้ เพราะว่าโลกออนไลน์เป็นโลกของเด็กยุคใหม่ซึ่งเขาเก่ง เขาเก่งจริงๆ นะ ต้องยอมรับ แล้วเขามีความสามารถมากกว่าผม ผมเป็นคนโลกเก่าซึ่งหนังสือกระดาษผมทำได้ แต่ถ้าให้ผมไปบริหารเพื่อที่จะเข้าไปในสู่พื้นที่ของเด็กผมไม่มีความสามารถ ถ้าให้ผมพาไปโลกดิจิทัล ผมพาพวกคุณไปตายแน่นอน เพราะผมมีความรู้เป็นศูนย์ในโลกดิจิทัล เพราะฉะนั้นผมไม่ไป พอไม่ไป ผมก็บอกว่า “เราปิดซะตอนที่คนยังนิยมเราอยู่ ตอนที่คนยังรักเราอยู่ ชื่นชอบเราอยู่ดีไหม แทนที่จะรออีก 5 ปี 10 ปีแล้วค่อยปิด” เลยตัดสินใจว่าปิด รับโทรศัพท์ไม่ไหวเลยครับ” (ยิ้ม)

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“อาจจะเดินมาถึงจุดที่อิ่มตัวรึเปล่า?”
“ผมว่าคนทำอิ่มตัว แต่ต่วย’ตูนไม่เคยอิ่มตัว” 

“พ่อผมพูดเสมอว่า “เรื่องเล่าไม่มีวันตายตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ มนุษย์ชอบเรื่องเล่า ต่วย’ตูนไม่ใช่หนังสือ ต่วย’ตูนเป็นเรื่องเล่าที่เพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง เพราะฉะนั้นไม่มีวันตาย” เพียงแต่ว่าจะมาในรูปแบบใดเท่านั้น เรื่องเล่าที่เป็นเรื่องเดิม ไม่ว่าคุณจะมาในรูปของทีวี หนังสือ วิทยุ ก็คือเรื่องเล่าทั้งนั้น อารมณ์ขันไม่เคยตายแค่เปลี่ยนเครื่องมือเท่านั้นเอง

หลังจากมีข่าวออกไป หลายคนติดต่อมา คุยตั้งแต่จะ Takeover Conlab Joint Venture แม้แต่จะมาสมัครทำดิจิทัลให้ ผมก็บอกไปว่าสิ่งที่ผมไม่ทำแน่นอนก็คือให้ผมเป็นบอส เพราะว่าผมไม่เข้าใจเด็กรุ่นใหม่และไม่มีความสามารถในเรื่องดิจิทัล ดังนั้นถ้าคุณจะให้ผมเป็นบอส ผม No Way แต่ถ้าคุณจะ Conlab คุณทำแล้วคุณจะมาปรึกษาผม ให้ผมเป็นที่ปรึกษาให้ ให้ผมหางานเขียนให้ หรือให้ผม Support เป็นลมใต้ปีกให้ มีสิทธิ์เป็นไปได้ แต่จะให้ผมไปนำทีม No Way ครับ ส่วนจะมารูปแบบไหนยังไม่ Promise ใดๆ ทั้งสิ้นครับ”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

เรื่องราวดีๆ ของ ต่วย’ตูน

“ทำหนังสือไม่เคยเครียดเลย เพราะว่าหนังสือเราเป็นหนังสือบันเทิง แฮปปี้ซะอีก คนเขียนก็เขียนแนวบันเทิง คนอ่านก็แนวบันเทิง ไม่ค่อยมีเรื่องที่จะเครียดอะไร หนังสือเราไม่ด่าใคร ไม่ไปบูลลี่ใคร เพราะฉะนั้นต่วย’ตูนไม่มีคู่แข่ง ต่วย’ตูนไม่มีศัตรู คนเขียนคนอ่านเขียนเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟัง คนเขียนเหมือนพี่น้อง เราอยู่กันแฮปปี้ เราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แล้วก็ค่อนข้างจะเสพติด ถ้าวันหนึ่งคุณมีแฟนเป็นแสนคน คุณก็จะรู้สึกว่ามีคนเป็นแสนคนที่เขารู้จักเรา คนเป็นแสนคนที่เขารักเรา”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“ตอนผมไปเรียนที่ลอนดอน ไปเจอเพื่อนชื่อเทพ มันก็บอก เฮ้ย!!! ต่วย’ตูนนี่พ่อมึงใช่เปล่า ผมบอกใช่ มันก็บอก เออกูอ่านอยู่ อ่านประจำเลยนะ ไปเอาเรื่องที่ไหนมา 

นี่เราไปอยู่ถึงลอนดอนเลยนะ นักเรียนที่นู่นก็อ่าน ไปอเมริกาไปเจอคนนักเรียนไทยเขาก็อ่าน คนไทยที่นู่นก็อ่าน เราก็รู้สึกภูมิใจ เวลาที่คุยกัน แลกเปลี่ยนกัน เขาก็บอกชอบเรื่องนั้น ชอบเรื่องนี้ ชอบอย่างนั้น ชอบแทบทุกเรื่องเลย”

“เราก็ภูมิใจ แล้วก็รู้สึกชื่นชม และรู้สึกขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนเรา”

“สำหรับ pocket book ทุกเรื่องดีหมด พ่อผมมีแนวคิดอยู่อย่างหนึ่ง คือ พ่อจะเอาคนที่รู้จริงมาเขียน ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นเรื่องของสงครามเวียดนาม เขาก็จะเอาคนที่ไปรบในเวียดนามมาเขียน หรือถ้าเรื่องเกี่ยวกับเมืองนอก ไม่ใช่ว่าคุณไปเที่ยวเมืองนอก 4-5 วัน แล้วคุณกลับมาเขียน ไม่ได้นะ พ่อจะเอานักเรียน หรือคนที่อยู่ที่นั่น ฝังตัวอยู่เป็น 10 ปีเขียนเรื่องนั้น เราได้คนเขียนซึ่งรู้จริง พอเป็นเรื่องที่รู้จริง เลยทรงคุณค่า คนเขียนในนี้ทุกคนตัวจริง แม้กระทั่งเรื่องขุดสมบัติ ใครๆ นึกว่าเป็นเรื่องที่เราแต่ง แต่เราไปเอาคนที่ขุดสมบัติจริงๆ มาเขียน เขามีอาชีพขุดสมบัติจริงๆ”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“ยังมีเรื่องไหนที่อยากจะทำแล้วยังไม่ได้ทำบ้างมั้ย?”
“เรื่อง anti aging”

“มนุษย์เราสามารถบริหารจัดการชีวิตได้ เพื่อที่จะให้ชีวิตเรายืนยาว ไม่ใช่ที่จะตายที่อายุ 70 80 อาจจะอายุมากกว่านั้น ทุกวันนี้ก็ยังเป็นความลับอยู่ และความลับตัวนี้ ถ้าคุณอ่านในประวัติศาสตร์ ทั่วทุกมุมโลกจะส่งคนตระเวนไปทั่วโลกเพื่อที่จะหาไม่ว่าตัวยา สมุนไพร หรือวิธีการเพื่อที่จะทำให้อายุยืนยาว เรื่องนี้น่าสนใจและน่าค้นคว้ามาก แม้กระทั่งสมัยจีนยุคโบราณก็ยังส่งคนไป หรือยุโรปก็ยังส่งคนมา เพื่อที่จะหาสมุนไพร และทุกๆ แห่งในโลก ทุกชาติพันธุ์ก็จะมีเรื่องพวกนี้อยู่ ผมอยากรวบรวมมาเขียน มาทํา ถ้าผมทำ ผมจะทำให้มันสนุก ให้อ่านแล้วบันเทิง กลุ่มเป้าหมายอาจจะ 55 ขึ้นไป แต่อ่านแล้วต้องสนุกก่อน แล้วได้คิด ได้วิธีการที่จะไปพัฒนาชีวิตให้อยู่อย่างยืนยาว มีคุณภาพ และมีความสุข” 

แรงบันดาลใจสำคัญกับความสุขของต่วย’ตูน

“คุณพ่อครับ” 

“คุณพ่อเป็นคนที่มีความสุขกับสิ่งเล็กๆ ไม่ต้องคิดทำอะไรใหญ่โตมาก มีความสุขทุกๆ วัน วันเสาร์ทีก็จะมีเพื่อนมาเต็มบ้าน 20-30 คนมาปาร์ตี้กัน มามีความสุข ผมว่าเป็นการใช้ชีวิตซึ่ง Balance ได้ดี ทุกวันผ่านไปอย่างมีความสุข ได้ทำงาน ทำหนังสือในสิ่งที่ตัวเองรัก”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

“ตอนที่หมอบอกว่าพ่อเป็นมะเร็ง อยู่ได้ไม่กี่เดือน สิ่งที่น่าตกใจคือ พ่อเดินไปจับมือหมออย่างใจเย็น บอกหมอว่าไม่ต้องห่วง มันก็เป็นแค่มะเร็ง หมอก็งง ไม่เคยเจอ คนไข้รู้สึกเฉยๆ แล้วยังมาปลอบหมออีกว่าไม่เป็นไร พ่อบอกหมอว่าไม่ต้องรักษาผมให้หาย ขอให้ผมมีชีวิตอยู่ที่เหลือเนี่ยอย่างมีความสุขก็พอ

ตอนนั้นเราก็แพลนอะไรไว้หลายอย่างมาก แต่พ่อไม่เคยอาทรร้อนใจ ไม่เคยทุกข์ร้อนกับการป่วยมะเร็งขั้นสุดท้าย ใช้ชีวิตเหมือนปกติ แต่งตัวนั่งรถไปโรงพยาบาล ไปนั่งจิบกาแฟคุย ไปเจอเพื่อน อ่านหนังสือ นั่งดริปกาแฟ กินกาแฟ เล่นกับสุนัข มะเร็งมันแพ้ความสุข

พ่อบอกว่า อย่าไปเครียดให้อยู่อย่างมีความสุข ถ้าคุณไปเครียด ไปกังวลกับมัน พยายามเอาชนะมัน ไม่มีทางชนะหรอก แล้วคุณก็จะเครียด ทำให้คนรอบตัวคุณเครียดหนักเข้าไปใหญ่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณโอเคอยู่แค่นั้น แล้วค่อยๆ ปรับตัวไป ทุกคนที่อยู่รอบข้างก็จะเป็นคนที่มีความสุข

หลังจากที่หมอบอกพ่อเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแต่พ่ออยู่ต่อมาได้อีก 9 ปีถึงเสียชีวิต”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

ชีวิตในวัยเกษียณกับกองดองที่มีเต็มห้อง

“เนื่องจากผมไม่มีทายาท ทุกวันนี้อยู่กับภรรยา ภรรยาบอกว่า 30 ปีมาเนี่ย คุณก็ทำงานหนักมาเยอะแล้ว คุณน่าจะรีไทร์แล้วก็ท่องเที่ยว ถามผมว่าประเทศไหนที่ผมอยาก ผมก็บอกว่าประเทศไหนก็ไม่อยากไป เพราะว่าตอนเด็กๆ ไปมาจะรอบโลกแล้ว อยากอยู่บ้าน อยากเลี้ยงสุนัข อยากดูหนังต่างๆ หนังเก่าตั้งแต่สมัยขาวดำรื้อมาดู อยากอ่านหนังสือเก่าๆ ซึ่งกลับมาอ่านใหม่ ยังมีหนังสือที่เราชื่นชอบ แล้วก็เราเคยอ่าน เราก็ไปซื้อมา ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ได้พิมพ์ขายแล้ว ต้องไปประมูลแข่งเขามาเพื่อที่จะมีเวลาว่างแล้วเราจะได้กลับมาอ่าน

ผมมีกองดองหนึ่งห้องยักษ์ๆ เต็มไปด้วยหนังสือซึ่งคิดว่ารีไทร์แล้วจะไปจัดการมัน ทั้งที่บางเล่มเคยอ่านมาไม่รู้กี่รอบก็ยังอยากอ่านอยู่ เขาประมูล เราก็จะไปประมูลแข่งกับเขา อยากได้ แล้วก็เก็บมาอ่าน อย่างชุดของหม่อมรางวงศ์คึกฤทธิ์ เพชรพระอุมาคุณก็ต้องมี”

อนาคตกับธุรกิจหนังสือในมุมมองของ ดล ปิ่นเฉลียว

“อนาคตเหรอ ต้องแบ่งอย่างนี้”

“คำว่า “หนังสือ” แบ่งได้หลายหมวดหลายหมู่ บางหมวดถูกกระทบแน่นอน อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ เพราะว่าการเสนอข่าวทั้งภาพ ทั้งเสียง และความรวดเร็ว หนังสือพิมพ์โดนกระทบแน่ แต่บางอย่างโลกดิจิทัลไม่สามารถจะไปกระทบเขาได้เลย และโตวันโตคืน ตัวอย่างเช่นหนังสือเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ขวบ ถ้าพูดถึงในเมืองนอก พ่อแม่จะเป็นคนซื้อหนังสือให้ลูกอายุต่ำกว่า 7 ขวบ พ่อแม่ยังพรีเฟอร์ ยังอยากให้ลูกอ่านหนังสือจากกระดาษอยู่ เพราะไม่ไว้ใจว่าถ้าลูกใช้โซเชียลแล้ว ลูกจะไปไหน คอนโทรลไม่ได้

หนังสือในห้องสมุด หนังสือปกแข็ง หนังสือที่เราอยากเก็บ ตัวนี้ก็ไม่ตาย มีแต่จะโตเพราะในโลกโวเชียล คุณไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของอะไรทั้งสิ้น คุณจับต้องไม่ได้ แต่หนังสือที่คุณซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึกในห้องสมุด คุณจับต้องได้ จำพวกปกแข็ง หนังสือรวมเล่ม หนังสือที่เรารัก หรือตำราต่างๆ พวกนี้ไม่ตายมีแต่โต ที่ตายน่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร 

นิตยสารอะไรบ้างที่ดิจิทัลทดแทนไม่ได้ คือ นิตยสารแฟชั่น เนื่องจากนิตยสารแฟชั่นไซซ์มันใหญ่ สาเหตุที่ไซซ์ใหญ่เพื่อที่จะให้ดูภาพเสื้อผ้า ดูภาพทรงผม ดูภาพหน้าตาของนางแบบที่ถ่ายด้วยฝีมือการถ่ายด้วยช่างภาพระดับเทพ การแต่งตัว แต่งหน้า การดีไซน์ เสื้อผ้าหน้าผมแบบอลังการ เพราะฉะนั้น เขาพอใจกับไซซ์หนังสือยักษ์ๆ เปิดพลิกดูซึ่งคุณจะมาดูในมือถือคุณมองไม่เห็นอะไรเลย ดีเทล ถูกไหม สิ่งเหล่านี้ที่ผมคิดว่าจะยังคงอยู่”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

ขอบคุณที่มาเป็นครอบครัวของต่วย’ตูน

“อยากขอบคุณนักเขียนทุกท่าน ตั้งแต่ยุคแรกๆ ตั้งแต่สมัยแรกๆ ซึ่งตอนนี้คงจะเสียชีวิตไปหลายท่านแล้ว จนนักเขียนรุ่นปัจจุบันที่ช่วยกันสร้างต่วย’ตูนขึ้นมา อยากขอบคุณแฟนๆ ของต่วย’ตูน น่ารักมากนะครับ ยังติดตามกันจนถึงเล่มสุดท้าย วันสุดท้าย โทรมาต่อว่าก็เยอะ ฉะนั้นก็อยากจะให้เก็บความทรงจำดีๆ กันไว้ เรื่องทุกเรื่องนักเขียน เขียนด้วยความตั้งใจ เรื่องทุกเรื่องบก. สรรเรื่องมาด้วยความตั้งอกตั้งใจเพื่อจะให้เป็นเพื่อนท่าน เพราะฉะนั้นก็เข้าใจอยู่ครับ เหมือนเพื่อนรักคนหนึ่งจะต้องจากไป แต่งานเลี้ยงก็มีวันที่จะเลิกรา หนังสือเราก็ไม่ต่างจากงานเลี้ยง” 

“ขอบคุณนะครับ”

ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน
ดล ปิ่นเฉลียว, นิตยสาร ต่วย'ตูน

CREATED BY

ทะเล จำปี ดนตรี ทราย และ ฉัน