สงครามอิสราเอลฮามาสที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม  2566 และยังคงยืดเยื้อเป็นความขัดแย้งที่คาราคาซังมาจนถึงปัจจุบันนั้นก่อให้เกิดปฏิกิริยาและเหตุการณ์ที่สำคัญต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย นับตั้งแต่ตัวประกันจำนวนมากที่ในปัจจุบันยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่สุ่มเสี่ยงจะยกระดับเป็นสงครามในระดับภูมิภาคได้ จนล่าสุดผลกระทบจากสงครามที่ยืดเยื้อนี้กำลังส่งผลสั่นคลอนข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจนถึงแผ่นดินสหรัฐฯอเมริกาจนได้ในที่สุดจากการที่นักศึกษาหลายพันคนจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐฯ ชุมนุมประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ และต่อต้านรัฐบาลอิสราเอลในประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์

วันนี้ SUM UP จะมาสรุปเหตุการณ์ประท้วงที่สหรัฐฯ ในครั้งนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรและเหตุการณ์นี้จะส่งผลสั่นคลอนสังคมและรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง

ที่มาที่ไปของการประท้วงที่สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ไปจนถึงกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่มีท่าทีสนับสนุนอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสที่ส่งผลทำให้ประชาชนในฉนวนกาซาได้รับบาดเจ็บและล้มตายจากปฏิบัติการทางการทหารของอิสราเอล 

กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซาในทันที พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ยุติการสนับสนุนทุกรูปแบบแก่รัฐบาลอิสราเอลในการทำสงคราม และร้องขอให้กลุ่มผู้บริหารยุติการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอิสราเอล 

แรกเริ่มนั้นการชุมนุมประท้วงยังเป็นเพียงการรวมกลุ่มกันของนักศึกษาเพื่อแสดงจุดยืนเพียงชั่วคราวก่อนที่จะแยกย้ายกันไป อย่างไรก็ตามสถานการณ์การชุมนุมประท้วงยกระดับความรุนแรงขึ้นโดยมีจุดเริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย วิทยาเขตแมนฮัตตัน ที่เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงได้ตัดสินใจปักหลักประท้วงค้างคืนภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เนื่องจากไม่พอใจที่ เนเมธ ชาฟิก อธิการบดีของมหาวิทยาลัยและทีมผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมีท่าทีต่อต้านการชุมนุมประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ในครั้งนี้ ซึ่งในวันเดียวกันนั้นอธิการบดีก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่โฆษกของมหาวิทยาลัยก็ได้กล่าวว่าการชุมนุมประท้วงก่อความรำคาญและสร้างผลกระทบต่อการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัย

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียยืดเยื้อจนมาถึงจุดแตกหักในคืนวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่กลุ่มนักศึกษาตัดสินใจเข้ายึด แฮมิลตัน ฮอลล์ ทำให้เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าพื้นที่เพื่อสลายการชุมนุมส่งผลทำให้มีนักศึกษาถูกจับกุมกว่า 100 คน โดยทางการนิวยอร์กให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสลายการชุมนุมเนื่องจากการชุมนุมประท้วงมีแนวโน้มจะไม่เป็นการชุมนุมโดยสันติที่ปราศจากความรุนแรง

หลังจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม นักศึกษามหาวิทยาลัยโคลัมเบียได้ตัดสินใจที่จะตั้งแคมป์ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อชุมนุมประท้วงกันต่อไปจนกว่าทางมหาวิทยาลัยจะทำตามข้อเรียกร้อง ขณะเดียวกันเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในครั้งนี้เป็นการจุดประกายให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านอิสราเอลในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ กว่า 50 แห่ง รวมไปถึง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย, มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยอินเดียน่า 

สถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นดำเนินมาจนถึงจุดสูงสุด หลังจากที่กลุ่มนักศึกษาและกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียพยายามหาทางเจรจากันมาหลายวันนับตั้งแต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมแต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ว่านักศึกษาคนไหนที่ยังไม่ออกจากพื้นที่ตั้งแคมป์ชุมนุมจะถูกระงับสถานะการเป็นนักศึกษาไว้ชั่วคราว แต่นักศึกษายังคงปักหลักชุมนุมอยู่ตามเดิมจนนำไปสู่การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 โดยในครั้งนี้มีนักศึกษาถูกจับกุมไปมากกว่า 300 คน

อีกหนึ่งจุดที่สถานการณ์การประท้วงบานปลายจนเกิดเป็นความรุนแรงคือที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแองเจลิส เกิดการเผชิญหน้ากันของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกับกลุ่มผู้ต่อต้านการชุมนุมทำให้เกิดการปะทะกันของทั้ง 2 กลุ่ม ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา 

เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอิสราเอลที่เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งครั้งที่หลักการ ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ ถูกท้าทาย ซึ่งเราต้องปูพื้นกันก่อนว่า หลักการ ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐฯ ไม่มีผลบังคับใช้กับมหาวิทยาลัยเอกชน อย่าง มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมหาวิทยาลัยเอกชนจะพยายามส่งเสริมในหลักการนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยเอกชนสามารถออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการชุมนุมประท้วงได้ 

ในกรณีของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียนั้นกลุ่มนักศึกษามองว่ากฎระเบียบและข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนั้นไม่ส่งเสริมหลักการ ‘เสรีภาพในการแสดงออก’ เท่าที่ควร และหมิ่นเหม่จะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเสียมากกว่าด้วยซ้ำ ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่กลุ่มนักศึกษา อย่างไรก็ดีสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการนั้นก็ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

ขณะที่ฟากฝั่งของรัฐบาล นายโจ ไบเดน ก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนักศึกษาอย่างชัดเจนโดยเขาได้ออกมาประณามการกระทำที่เข้าข่ายต่อต้านชาวยิวพร้อมทั้งกล่าวประณามไปยังกลุ่มคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์

เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงยังมีทีท่าว่าจะยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ หากแต่ความหวังอาจจะอยู่ที่ข้อตกลงหยุดยิงอย่างถาวรในฉนวนกาซาที่ในตอนนี้ก็ดูจะยังห่างไกลกว่าจะหาข้อยุติได้ในเวลาอันใกล้

อ้างอิง

  • https://apnews.com/article/israel-palestinian-campus-protests-timeline-f7cd3abe635f8afa4532b7bed9212b56 
  • https://www.nytimes.com/2024/05/01/us/free-speech-campus-protests.html 
  • ภาพจาก Getty Images