เมื่อพูดถึงอวัยวะเพศหญิง หรือที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเปลี่ยนคำเรียกจนเกือบจะทับศัพท์ว่า ‘กี’ ‘กีกี้’ แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้สำหรับผู้หญิงบางคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องหน้าอายที่จะพูดถึงมัน ผู้หญิงบางคนจึงเลือกหลีกเลี่ยงที่จะคุยเรื่องนี้ หรือผู้หญิงบางคนกว่าจะได้เห็นอวัยวะเพศของตัวเองแบบเต็ม ๆ ตาก็ใช้เวลาอยู่นานหลายปี ไอ้เจ้าความกลัวหรือความเขินอายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดเรื่องเพศศึกษา
ในสารคดี Explained ตอน ‘The Principles of Pleasure Our Bodies’ ได้ตอกย้ำสารพัดข้อจำกัดการรับรู้เกี่ยวกับการร่างกายผู้หญิงว่า ข้อจำกัดเหล่านี้ส่งผลให้ผู้หญิงมีความสุขกับตัวเองน้อยลงอย่างไรบ้าง โดยในสารคดีมีตอนหนึ่งที่สะท้อนความสำคัญของการรับรู้อวัยวะในร่างกายของเรา ๆ เอาไว้ว่า “การรู้ว่าคริสตอริสอยู่ตรงไหนคือความรู้ การรู้ว่าคริสตอริสของคุณเองอยู่ที่ไหนคือพลัง”
นอกจากนี้ในปัจจุบันสังคมได้ค่อย ๆ พยายามเปิดพื้นที่เพื่อการเรียนรู้และเปิดพื้นที่สำหรับการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน และในวันนี้ทีม SUM UP ได้รวมตัวกันเพื่อมายืนอยู่ที่ 1559 Space Gallery สามย่าน เพื่อเข้าไปเยี่ยมชมกับ นิทรรศการ ‘กีกี้ Voice-The Art Experience’ นิทรรศการที่จะชวนพวกเราทุกคนออกมาเดินทางทำความรู้จักและฟังเสียงของอวัยวะเพศของเราเองได้อย่างเปิดเผย และการทำความรู้จักอวัยวะของตัวเองไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเขินอายอะไร
โดยเมื่อเดินทางไปถึง ด่านแรกจะมีการจำลองกีกี้ที่ทำมาจากผ้า เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ลอดเข้าไป ซึ่งเป็นการจำลองคล้าย ๆ กับการลอดถ้ำ และคนที่เข้าชมนิทรรศการคือนักสำรวจที่จะมาทำความรู้จักกับกีกี้ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของมนุษย์ทั้งหมดนั่นเอง ส่วนในด่านที่สองจะเป็นภาพวาดอวัยวะเพศหญิงหลาย ๆ รูปแบบ พร้อมทั้งคำจำกัดความของแต่ละส่วน ส่วนในด่านถัดมาจะเป็นการจำลองกีกี้ในแบบที่เราสามารถสัมผัสได้ และในด่านถัดมาเป็นการจำแนกการตกขาวแต่ละประเภทว่าแบบไหนคือตกขาวผิดปกติ แบบไหนคือตกขาวไม่ปกติ ส่วนในด่านถัดมาจะเป็นน้ำตกกีกี้ที่จะมีแว่นขยายให้เราได้ส่องดูว่าอาการติดเชื้อต่าง ๆ จะส่งผลให้อวัยวะมีลักษณะรูปร่างที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และในด่านสุดท้ายจะเป็นการดมกลิ่นว่ากลิ่นอวัยวะเพศแบบไหนคือกลิ่นที่สุขภาวะปกติ และกลิ่นแบบไหนที่สุขภาวะไม่ปกติ เรียกได้ว่ามาทีเดียวได้เรียนรู้ครบทุกประสาทสัมผัสไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง ของกีกี้
นอกจากนี้ เรายังได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ขวัญฤดี อาทิตย์’ (Rtit Studio: Design Director and Curator) ถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการนี้ เธอเล่าว่า แคมเปญนี้เกิดจากการที่อยากให้ผู้หญิงไทยพูดเรื่องนี้กันได้อย่างเปิดเผย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ แต่ผู้หญิงมักพูดถึงเรื่องนี้น้อยรวมไปถึงอาจจะไม่เคยเห็นอวัยวะเพศตัวเองด้วยซ้ำ ไอเดียนี้จึงได้ต่อยอดมาเป็น นิทรรศการ กีกี้ Voice ที่จะสร้างการเดินทางให้กับผู้คนได้เข้ามาเรียนรู้และไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นนิทรรศการสำหรับเพศหญิงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็เดินทางเข้ามาเรียนรู้ได้เช่นกัน ซึ่งงานนี้ใช้ศิลปินทั้งหมด 12 คน ได้แก่ PRAKOT, Rtit Studio, Punpitan, PHORNPHAWIT, nnene.iie, SUPAT, PAVEE, Flowers in the Mist, Fernapas, Rebellion Lab & Perfume Bar, POONPUN และ Sound design โดย siwanut.boon
นอกจากนี้ ‘ขวัญฤดี’ เล่าต่อว่า นิทรรศการมีความตั้งใจที่อยากจะลบความเชื่อเดิม ๆ ที่มองว่าอวัยวะเพศหญิงเป็นเรื่องใต้สะดือ เป็นของต่ำ และไม่ควรค่าแก่การพูดถึง ให้เปลี่ยนเป็นการพูดคุยเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในสังคม และไม่มีอวัยวะในร่างกายส่วนใดต่ำ และเราทุกคนก็ล้วนเกิดมาจากอวัยวะที่เรียกว่า ‘กีกี้’ ทั้งนั้น ซึ่งนิทรรศการนี้ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดีจากทุก ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นครูที่สามารถหยิบสิ่งเหล่านี้เพื่อไปเป็นสื่อในการสอน หรือความคิดเห็นของหมอสูตินารีแพทย์ที่มองว่านิทรรศการนี้ตอบโจทย์ที่จะช่วยให้ผู้หญิงเข้าใจถึงอวัยวะของตัวเองและช่วยให้เราสังเกตตัวเองเมื่อเกิดความผิดปกติทางร่ายกายขึ้น จะได้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้อีกหนึ่งความประทับใจของคนที่เข้ามาชมนิทรรศการ นอกจากนี้ ‘ขวัญฤดี’ ในฐานะผู้จัดเอง ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ตัวเองรู้สึกว่าแคมเปญนี้ตอบโจทย์ที่ตั้งกันไว้ตั้งแต่ต้นที่ไม่ว่าใครเดินเข้ามาก็ได้รับประโยชน์กลับไป
อย่างไรก็ดี ‘อวัยวะในร่างกาย’ ไม่ว่าส่วนใดก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นของเรา การรู้จักอวัยวะตัวเองจะทำให้เรามีความสุขกับตัวเองได้ง่ายขึ้น และทุกข์กับเรื่องบางเรื่องได้น้อยลง นิทรรศการ กีกี้ Voice ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่ช่วยให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นหัวข้อธรรมดา ๆ ที่คนในสังคมหยิบมาพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผยและไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดบาปใด ๆ นั่นเอง









