วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์, วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น

เป็นที่น่าเสียดายสำหรับ “เจ้าวิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ 🇹🇭 คว้าเหรียญเงิน 🥈 โอลิมปิกแบดมินตัน 🏸 ประเภทชายเดี่ยว หลังจากพ่ายให้กับอดีตแชมป์เหรียญทอง 🥇 ที่โตเกียว 2020 อย่าง “วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น” 🇩🇰 ชนะ 2 เซตด้วยคะแนน 21-11 ทั้งสองเกม

แม้จะไม่สมหวังในเหรียญทองรอบชิง แต่การเดินทางของทัพขนไก่ไทยตลอด 32 ปีที่ไร้เหรียญในกีฬาชนิดนี้ อาจถูกปลดล็อกด้วยความสำเร็จที่วิวทำได้ในโอลิมปิกครั้งล่าสุด ส่งผลให้มาตรฐานแบดมินตันไทยก้าวไปสู่อีกระดับชั้นนำของโลก อีกหนึ่งกำแพงที่วิวต้องก้าวข้ามต้องไปให้ได้ในประเภทชายเดี่ยวคือยอดขนไก่จากแดนโคนม อย่าง แอ็กเซลเซน มือวางอันดับ 2 ของโลกในขณะนี้

โดยสถิติการพบกันของทั้งคู่นับรวมกับผลแข่งในปัจจุบัน แข่งไป 8 ครั้ง เป็นทางแอ็กเซลเซนชนะได้ไปถึง 7 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2020 ที่พวกเขาพบกันครั้งแรกใน “บาร์เซโลนา สเปน มาสเตอร์ 2020 🇪🇸” จนมาถึงโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส 🇫🇷 และแอ็กเซลเซนยังคว้าเหรียญทองได้ 2 สมัยติดอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจในประเด็นดังกล่าวคือการก้าวเข้ามาของผู้เล่นจากฝั่งยุโรป ซึ่งโดยปกติกีฬาตบขนไก่นี้มักอุดมไปด้วยนักกีฬายอดฝีมือจากทวีปเอเชีย แต่ทว่า! ไม่ใช่ทุกประเทศของยุโรปที่จะต่อกรการไปสู่อันดับต้น ๆ ของโลกได้ มีแค่ประเทศเดียวก็คือเดนมาร์ก 🇩🇰 ที่สามารถพาตัวเองไปสู่จุดนั้น

ด้วยเหตุนี้ความน่าสนใจว่าเดนมาร์กทำอย่างไรที่จะทำให้พวกเขาต่อกรกับนักกีฬาของเอเชียได้? ที่มาและความสำเร็จจากผลงานของพวกเขาอาจเป็นเรื่องน่าเรียนรู้สำหรับวงการแบดมินตันไทยที่กำลังจะก้าวไปสู่ระดับต้น ๆ ของโลกในอนาคต วันนี้เราไปเรียนรู้แนวทางของแดนโคนมสู่การเป็นระดับโลกของวงการกีฬาตบขนไก่กัน

ที่มาความเก่งของเอเชีย แม้ว่าสหพันธ์เริ่มต้นที่ยุโรป

สหพันธ์แบดมินตันโลก หรือ “BWF” ก่อตั้งขึ้นในปี 1934 จากอดีตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีหนึ่งในกิจกรรมสันทนาการในหมู่ราชวงศ์ยุโรป ที่จะนำเอาไม้ที่มีเอ็นตาข่ายมาตีโต้ด้วยลูกขนไก่ ก่อนที่จะเริ่มแพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เป็นเหตุให้สหพันธ์ถูกก่อตั้งขึ้นเป็นทางการในทวีปนี้

เพียงแต่ว่าในกีฬาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล รักบี้ หรือเทนนิส ต่างเป็นที่นิยมมากกว่ากีฬาลูกขนไก่อย่างแบดมินตัน และถูกนำไปเล่นเป็นในยามว่างเพื่อให้เกิดความสนุกสนานมากกว่านำมาแข่งกันเป็นจริงจังเมื่อเทียบกับกีฬาอื่น ๆ

และด้วยกีฬาชนิดนี้ที่ถูกใช้ในหมู่ราชวงศ์ ทำให้การเข้าถึงกีฬาชนิดนี้มีความนิยมในกลุ่มจำกัด และไม่ได้ถูกนำไปพัฒนาศักยภาพผู้เล่นเพื่อให้เป็นผู้ที่มีฝีมือทางด้านนี้ เพียงเพราะว่าเป็นแค่กีฬาผ่อนคลายเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

แต่ด้วยประวัติศาสตร์ดั้งเดิมที่มีการค้นพบก่อนความนิยมกีฬาอดิเรกในชาติยุโรป เคยมีการละเล่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ผ่านภาพคนประเทศจีน 🇨🇳 ที่ใช้เท้าเดาะลูกขนไก่โต้กันไปมา แสดงให้เห็นถึงวิธีการเล่นฝั่งเอเชียที่เติบโตผ่านการละเล่นที่ใช้ลูกขนไก่เช่นกัน

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป กีฬาเองก็ถูกพัฒนาขึ้นในหลายประเทศฝั่งเอเชียเพื่อเป็นการตอบโต้วัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่ผูกกับกิจกรรมลูกขนไก่นี้ ทำให้หลายประเทศลงทุนจริงจังกับการพัฒนากีฬาแบดมินตันให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศยุโรปที่ในยุคดังกล่าวมีความเจริญมากสุดในโลก

ด้วยเหตุนี้ทำให้ความนิยมแบดมินตันในทวีปเอเชียเริ่มสูงขึ้น มีการแข่งขันและมีเงินรางวัลระดับสูง ยิ่งช่วยเพิ่มการพัฒนาทักษะทางกีฬาชนิดนี้ เริ่มก่อร่างสร้างผู้เล่นยอดฝีมือตบขนไก่เพิ่มขึ้นมากมายจากเอเชีย ซึ่งสวนทางกับฝั่งยุโรปที่ยังให้ความสำคัญกับกีฬานี้เพียงแค่ความสนุกเท่านั้น

แหล่งผลิตนักแบดมินตันชั้นยอดของโลก ผ่านถิ่นแดนโคนมเดนมาร์ก

จุดเริ่มต้นความแตกต่างในยุโรป ต้องย้อนกลับไปในปี 1960 เมื่อเดนมาร์กเข้าสู่สภาพเศรษฐกิจที่ดีจากการปฏิรูปการปกครองแบบท้องถิ่น ส่งผลให้การศึกษาและกีฬาของประเทศถูกพัฒนาให้เติบโตขึ้น ด้วยโครงสร้างของภูมิประเทศที่เป็นเมืองหนาว ส่งผลให้การเล่นกีฬาในร่มเป็นที่นิยมในประเทศนี้ เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถออกไปเล่นกลางแจ้งได้ภายใต้สภาพอากาศที่มีหิมะตกปกคลุมเกือบตลอดเวลา ส่งผลให้แบดมินตันคือหนึ่งในกีฬาในร่มที่ถูกนำไปต่อยอด

โดยผู้ที่สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้คือ “เยนส์ ไมบอม” ผู้อำนวยการแบดมินตันของเดนมาร์กได้เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาของพัฒนาการของแบดมินตันในเดนมาร์กไว้ว่ามี 2 เหตุผลหลักคือ

“เหตุผลแรกเรามีโครงสร้างแบดมินตันที่มีบริบทแตกต่างจากประเทศอื่นๆในยุโรป เรามีสนามแบดมินตันกระจายในท้องถิ่นมากมาย นั่นจึงเปป็นเรื่องง่ายมากที่ใครๆก็สามารถเข้ามาพัฒนาได้ตั้งแต่ยังน้อย”

“และเหตุผลสุดท้าย เราจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมระดับชาติที่โคเปนเฮเกน โดยรวบรวมนักกีฬาที่ดีที่สุดมาฝึกซ้อมกันทุกวันโดยมีโค้ชดูแลถึง 4 คนเคี่ยวให้พวกเขาเก่งมากขึ้นกว่าเดิม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายประเทศในยุโรปอิจฉาเรา ไม่มีใครสามารถเลียนแบบวัฒนธรรมที่เราสร้างได้”

ความเอาจริงเอาจังของความเป็นเดนมาร์กได้หล่อหลอมให้ความมุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ และทัศนคติที่ดี ถูกส่งต่อไปใช้ผ่านความสามารถในกีฬาแบดมินตัน ส่งผลให้พวกเขาแตกต่างและไม่เหมือนที่ใดในยุโรป ในช่วงทศวรรษ 80’s พวกเขาเริ่มสร้างนักกีฬายอดฝีมือมากขึ้น เริ่มมีผู้เล่นในกีฬาชนิดนี้ถึง 160,000 คน และยังมีสโมสรแบดมินตันสังกัดมากกว่า 600 สโมสรในประเทศ

จากมอร์เทน ฟรอสต์ สู่ วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น ความเป็นเลิศทางขนไก่ระดับโลก

แน่นอนว่าสิ่งที่ช่วยการันตีคุณภาพมาตรฐานแบดมินตันของเดนมาร์กได้ดีคือผลงานและชื่อเสียงของนักกีฬาทีมชาติของพวกเขา หนึ่งในผู้บุกเบิกความเป็นตำนานของเดนมาร์ก หนีไม่พ้น “มอร์เทน ฟรอสต์” มือวาง 3 อันดับแรกของโลก ที่ครองตำแหน่งยาวนานถึง 12 ปี

สมญานาม “มิสเตอร์แบดมินตัน” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “นักแบดมินตันที่ดีที่สุดของโลก” ด้วยการกวาดรางวัลความสำเร็จระดับนานาชาติ เป็นรองแค่ว่าเขาทำได้เพียงเหรียญเงิน 2 สมัยของแชมป์โลก แต่ก็ไม่ทำให้ความยิ่งใหญ่ของเขาถูกบั่นทอนลง และยังเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬารุ่นใหม่ของโคนมมาสานต่อความสำเร็จที่เขาได้สร้างเอาไว้

นอกจากนี้ยังมีนักตบขนไก่เดนมาร์กติด 5 อันดับแรกของโลก โดยเฉพาะในประเภทชายเดี่ยวที่มี “อันเดอร์ส แอนทอนเซน” และ “วิกเตอร์ แอ็กเซลเซ่น” ที่ทยานขึ้นมาสู่ระดับโลกต่อจากมอร์เทนที่ได้วางฐานเอาไว้

อย่างที่เราเห็นมาแล้วในการดวลกับวิวในรอบชิงโอลิมปิกนี้ ด้วยดีกรีมือวางอันดับ 2 และเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก เขาแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ในวัย 30 ปี แม้การเข้าสู่โอลิมปิกจะมีปัญหาเล็กน้อยจากอายุที่มากขึ้น แต่แลกกับประสบการณ์ระดับแชมป์ของโลกส่งผลให้ความเก๋าของเขานำไปสู่ชัยชนะที่เกิดขึ้นได้

แค่นี้ก็การันตีฝีมือของนักกีฬาที่มีผลผลิตมาจากเดนมาร์ก แม้จะไม่ได้อยู่ในทวีปที่โดดเด่นทางด้านแบดมินตัน แต่พวกเขาก็ดันศักยภาพจากคุณภาพที่มีนำไปสู่การมีนักกีฬาชั้นนำที่ต่อกรได้กับเหล่ายอดฝีมือฝั่งเอเชีย

แม้จะน่าเสียดายสำหรับวิวที่ต้องพ่ายให้กับคุณภาพระดับโลก แต่จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่างการได้ไปถึงความสำเร็จทีละก้าว เพราะการเจอกันทั้ง 8 ครั้งของทั้งคู่ วิวเองก็สามารถเอาชนะได้หนึ่งครั้งอย่างสูสีใน “อินเดีย โอเพน 2023” 2-1 เซต

ปัจจุบันวิวที่เป็นมือวางอันดับ 8 ต้องชนกับอันดับ 2 ที่พิสูจน์ความสำเร็จแล้ว จุดเริ่มต้นของเหรียญเงินในครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นการเติบโตที่สำคัญของวงการกีฬาแบดมินตันไทย และอาจเป็นกำแพงอย่างแอ็กเซลเซนที่วิวต้องข้ามไปเพื่อพิสูจน์คุณภาพของไทยให้ได้

กว่าที่ประเทศหนึ่งจะนำพาตัวเองมาสู่ระดับโลกได้อย่างเดนมาร์ก ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวต่อยอดจนสามารถพาตัวเองคว้าความสำเร็จเอาไว้ได้ อย่างที่เขาได้แสดงให้เห็นแล้วในการคว้าเหรียญทองแทนที่เราในโอลิมปิกครั้งนี้ 🥇🇩🇰