หากใครเรียนหรือทำงานแถวเส้นถนนอโศกมนตรี อาจจะเคยแวะเวียนมานั่งกินข้าวที่ ‘ตลาดชื่อดังย่านอโศก’ กันบ้าง ซึ่งตลาดแถวนี้เป็นตลาดขนาดกลางที่มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ถูกแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนขายเสื้อผ้าและของมือสอง โซนขายของทั่วไป และโซนขายอาหาร ด้วยความที่ทำเลของตลาดที่อยู่ใจกลางเมืองซึ่งเป็นแหล่งรวมคนทำงาน ทำให้ทุก ๆ ตอนเที่ยงคนจำนวนมหาศาลจึงไปรวมตัวกันอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้น และด้วยความที่มีประชากรจำนวนมหาศาลเข้าไปฝากท้องช่วงพักกลางวันที่นี่กันอย่างหนาแน่น วันนี้ SUM UP ในฐานะของกลุ่มคนที่เป็นลูกค้าประจำ อยากจะชวนทุกคนมาเปิดโปง ‘มุมมืด’ ของตลาดชื่อดังย่านอโศกในมุมที่คุณอาจจะไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

ตลาดรวมทรัพยากรขยะ

เริ่มต้นที่หากช่วงเที่ยง ๆ บ่าย ๆ เพื่อนของคุณงานยุ่งมาก จนคุณต้องลงไปกินข้าวคนเดียว แน่นอนว่าทางตลาดจะมีเด็กเอนจำนวนมหาศาลมานั่งรอนั่งกินข้าวเป็นเพื่อนคุณอยู่ และเด็กเอนที่ว่าก็คือ ‘นกพิราบ’ ซึ่งบางทีน้องเขาก็อาจจะมีบ้างที่เผลอแวะเข้ามาชิมอาหารเที่ยงของคุณ และหากลองมองไปทางที่เก็บจานคุณก็จะเห็นเศษอาหารกองใหญ่กองทับ ๆ กันอยู่ และเมื่อลองมองไปทางด้านหลังก็จะเจอกับขุมทรัพย์ขยะจำนวนมหาศาลและแน่นอนว่าขยะเหล่านั้นไม่เคยถูกคัดแยก เป็นอะไรที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และนอกเหนือไปจากเรื่องความสะอาดแล้วคิดว่า ‘ขยะกองโตเหล่านี้’ สะท้อนอะไร?

“ในมนุษย์ 1 คนมีปริมาณขยะอาหารสูงถึง 78.69 กิโลกรัม/ปี”

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยได้คาดการณ์ปริมาณขยะที่เกิดจากอาหารว่าในหนึ่งคนมีขยะที่เกิดขึ้นจากอาหารสูงถึง 78.69 กิโลกรัม/คน/ปี ซึ่งข้อมูลนี้ยังขาดการติดตามและจัดเก็บข้อมูลขยะที่เกิดจากอาหารอย่างเป็นระบบ ‘ปัญหาขยะอาหาร’ (Food waste) จัดเป็นปัญหาที่ถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะนอกเหนือไปจากกลิ่นเหม็นเน่าในถังขยะเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ‘ขยะอาหาร’ ยังสร้างก๊าซเรือนกระจกอย่างมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ และนี่คือตัวต้นเรื่องของปัญหาโลกร้อน ซึ่งขยะอาหารมีเปอร์เซ็นต์สูงถึง 64% จากกองขยะทั้งหมด กรมควบคุมมลพิษจึงได้จับมือกับประเทศเยอรมันเพื่อวางแผนสำหรับแนวทางการกำจัดขยะของประเทศไทยโดยครอบคลุมตั้งแต่ผู้จำหน่าย ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค และตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณขยะให้ได้ร้อยละ 25% ในปี 2568 และลดลงร้อยละ 50% ในปี 2573 ซึ่งวิธีการเบื้องต้นที่ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ พอจะทำได้ก็คือ การแยกขยะ การนำเศษอาหารไปทำปุ๋ย การนำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

‘ในต่างประเทศ’ กำจัดขยะจากอาหารอย่างไร?

หนึ่งในปัญหาสำคัญของขยะที่เกิดจากอาหารคือ ‘ปัญหาที่เกิดจากฉลาก’ เพราะส่วนใหญ่ผู้บริโภคมักจะโยนสินค้าทิ้งโดยดูจากคำว่า ‘ควรบริโภคก่อนวัน’ มากกว่าดูจากฉลาก ‘วันหมดอายุ’ ซึ่งเรื่องนี้จึงทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและทิ้งขยะก่อนจะใช้ประโยชน์และส่งผลให้เพิ่มปริมาณขยะและเกิดการสูญเสียอาหารโดยใช่เหตุ สิ่งที่ทางเกาหลีทำก็คือ กระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาได้กำหนดให้ปรับปรุงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการติดฉลากอาหาร โดยให้ระบุวันหมดอายุอย่างเดียวไปเลยเพื่อความชัดเจนและประโยชน์สูงสุดของการใช้ทรัพยากรอาหาร

อย่างไรก็ดี หากวนกลับมาที่ตลาดใจกลางถนนอโศกมนตรี จะเห็นว่าสิ่งที่ตกไปน่าจะเป็นการมีถังคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ และแนวทางการจัดการขยะอาหาร ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว คนส่วนใหญ่ชอบมองว่าเรื่อง Food waste เป็นปัญหาไกลตัว แต่เอาจริง ๆ แล้วปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่พอที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นในฐานะของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันอาจจะต้องมีความรับผิดชอบมากพอต่อการที่จะพยายามไม่สร้าง Food waste และหาแนวทางกำจัด Food waste ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเรื่องนี้ใหญ่พอที่จะต้องจัดการครอบคลุมทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น นโยบายของรัฐ การตระหนักรู้ของผู้จำหน่าย การที่ผู้บริโภคเข้าใจ และไม่เห็นว่าเป็นปัญหาไกลตัวเพราะเรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ใหญ่และไม่ง่ายที่ทุกคนอาจจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั่นเอง

อ้างอิง