หากเราพูดถึงคูคลองในกรุงเทพมหานคร เราจะนึกถึงภาพอะไรเป็นอย่างแรก ภาพของทางน้ำที่มีสีดำ ส่งกลิ่นเหม็น และมีขยะลอยไปมา น่าจะเป็นภาพหนึ่งที่ใครหลาย ๆ คนน่าจะนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ
แต่เชื่อหรือไม่ว่าคูคลองในอดีตของกรุงเทพคือเส้นทางสัญจรหลัก การกระจายตัวของคูคลองที่มีเป็นโครงข่ายที่ซับซ้อนนี่เอง ทำให้กรุงเทพถูกขนานนามว่า “เวนิสตะวันออก” ปัจจุบัน จากเส้นทางสัญจรหลักเป็นคูคลองก็เปลี่ยนเป็นถนน คูคลองต่าง ๆ ในกรุงเทพจึงถูกลดบทบาทลง มีการถมคูคลองเพื่อสร้างถนน และอาคารบ้านเรือน ขณะเดียวกันการมักง่ายของคนที่เลือกทิ้งขยะลงคูคลองส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาการเน่าเหม็น
ในปัจจุบันกรุงเทพมีคลองหลงเหลือทั้งหมด 1,161 คลองเท่านั้น โดยมีการทำสถิติวัดคุณภาพน้ำในคลอง 173 สายพบว่ามี “คลองที่เน่าเหม็นถึง 124 คลอง คิดเป็น 72% ของคลองที่ตรวจวัดทั้งหมด” (สำนักการระบายน้ำ, 2564)
ทำไมต้องบำบัดน้ำเสีย
น้ำเสีย เป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตของมนุษย์ เช่น การลดลงของออกซิเจนเนื่องจากปริมาณของอินทรีย์สาร ฟอสฟอรัสที่ละลายในน้ำ ส่งผลให้สาหร่ายและจุลชีพสามารถเจริญเติบโตและแย่งออกซิเจนใช้ออกซิเจนในน้ำ, สารประกอบคลอรีนและคลอรามีน อนินทรีย์สารที่อาจเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ, การปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งน้ำ นำมาสู่การระบาดของโรคอันตรายร้ายแรงต่าง ๆ ได้
หลักการบำบัดน้ำเสีย
การบำบัดน้ำเสีย คือ การกำจัดสารปนเปื้อนในน้ำเสีย ซึ่งมีวิธีการและกระบวนการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสมบัติและประเภทของน้ำเสีย โดยหลัก ๆ จะมีด้วยกัน 3 วิธี คือ
- การบำบัดด้วยวิธีทางกายภาพ (Physical Wastewater Treatment) คือการใช้คุณสมบัติทางกายภาพเพื่อการบำบัดน้ำ เช่น การกรองด้วยตะแกรง, การทำให้ลอย, การตกตะกอน ฯลฯ
- การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางเคมี (Chemical Wastewater Treatment) คือการใช้กระบวนการทางเคมีเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น รวมตะกอนให้มีขนาดใหญ่จนตกตะกอนได้ง่าย การตกตะกอนผลึก ปรับสภาพน้ำให้พร้อมสำหรับการบำบัดทางชีวภาพ โดยส่วนใหญ่การบำบัดด้วยวิธีทางเคมีจะใช้ร่วมกับวิธีการบำบัดอื่น ๆ
- การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางชีวภาพ (Biological Wastewater Treatment) คือการใช้สิ่งมีชีวิตเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนสภาพของของเสียในน้ำให้อยู่ในสภาพที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะมลพิษต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ
การบำบัดด้วยวิธีทางชีวภาพในไทยสามารถแบ่งได้ 6 วิธีดังนี้
- ระบบบำบัดน้ำเสียแแบบเอเอส (Activated Sludge) และระบบดัดแปลงต่าง ๆ การใช้จุลินทรีย์ช่วยบำบัดในถังเติมอากาศ แล้วแยกตะกอนที่เกิดขึ้นก่อนปล่อยออกจากระบบ มีด้วยกัน 2 วิธี คือ ระบบ SBR ที่ถังเติมอากาศและถังแยกตะกอนคือถังเดียวกัน และระบบคลองวนเวียนที่อาศัยการวนเวียนของน้ำเพื่อแยกตะกอนออกจากน้ำสะอาด
- ระบบบำบัดน้ำเสียฟิล์มตรึง หรือระบบแผ่นหมุนชีวภาพ คือระบบที่ให้น้ำไหลผ่านแกนกลางของถังที่มีแท่งของจุลินทรีย์อยู่ตรงกลาง
- ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อธรรมชาติ คือการใช้จุลินทรีย์บำบัดในถังหมัก โดยแบ่งได้ 3 แบบ คือ ไม่ใช้ออกซิเจน, ใช้ออกซิเจน และแบบแฟคัลเททีฟ หรือกึ่งใช้-ไม่ใช้ออกซิเจน
- ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ คือบ่อบำบัดแบบเดียวกับแฟคัลเททีฟ แต่มีการเติมอากาศภายในบ่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งมีทั้งเติมอากาศทั่วทั้งบ่อและเติมเพียงบางส่วน
- ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ คือระบบที่เลียนแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยการปลูกต้น กก แฝก ธูปฤาษี สามารถแบ่งบึงประดิษฐ์ได้ 2 แบบ คือ แบบน้ำไหลบนผิวดิน และแบบน้ำไหลใต้ผิวดิน
- ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใช้ตัวกลางเติมอากาศ คือระบบที่ให้น้ำเสียไหลเข้าสู่ถังตัวกลางที่มีจุลินทรีย์เกาะอยู่แล้วจึงเติมอากาศจากก้นถังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำ
เรารู้ได้อย่างไรว่า “คลองเน่าเสีย”
เรารู้ได้ยังไงว่าน้ำคลองหน้าบ้านเราเน่าเสียพอหรือยัง ดูจากสีเหรอ? หรือกลิ่นเหม็น? ดังนั้นเราต้องมีเกณฑ์วัดว่าน้ำนี่ดีหรือเสีย เสื่อมโทรมมากหรือน้อย โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำของไทยคือ “กรมควบคุมมลพิษ” ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้ประกาศมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบน้ำเสียจากชุมชน โดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำ (Water Quality Index, WQI) เป็นเกณฑ์ ซึ่งแบ่งได้ 5 ระดับดังนี้
- คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก 91 – 100 คะแนน
- คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี 71 – 90 คะแนน
- คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ 61 – 70 คะแนน
- คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม 31 – 60 คะแนน
- คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก 0 – 30 คะแนน
ค่าดัชนีนี่เกิดจากการคำนวณพารามิเตอร์ที่สำคัญ 5 อย่าง คือ
- ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO)
- ปริมาณความสกปรกในรูปแบบสารอินทรีย์ (BOD, Biological Oxygen Demand)
- ปริมาณการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทุกชนิด (TCB, Total Coliform Bacteria)
- ปริมาณการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (FCB, Fecal Coliform Bacteria)
- ปริมาณแอมโมเนียที่มาจากปุ๋ยเคมีการเกษตร การขับถ่าย อาหารสัตว์น้ำ
ค่าพารามิเตอร์ที่มักถูกพูดถึงในการวัดคุณภาพของน้ำส่วนใหญ่จะเป็นค่า BOD ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณความสกปรกของน้ำ โดยจะบอกผ่านปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสารอินทรีย์ โดยเราใช้เกณฑ์อ้างอิงดังนี้
- ค่า BOD สูง แสดงว่าจุลินทรีย์มีความต้องการออกซิเจนสูง แสดงว่าน้ำนั้นเน่าเสีย
- มาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนควรมีค่า BOD ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/ลิตร (กรมควบคุมมลพิษ, 2559)
- กรุงเทพฯ กำหนดมาตรฐานค่า BOD ไว้ที่ไม่เกิน 15 มก./ลิตร
จากการตรวจวัดเมื่อปี พ.ศ. 2564 พบว่า
“เขตที่มีค่า BOD สูงกว่า 15 มก./ลิตร ทั้งหมด 19 เขต“
โดยเขตที่มีค่า BOD สูงที่สุด คือ เขตคลองเตย มีค่า BOD 26.33 มก./ลิตร รองลงมาก็คือเขตบางรัก มีค่า BOD 25 มก./ลิตร, บึงกุ่ม 23.5 มก./ลิตร รวมถึงบางคอแหลมและลาดพร้าว 20 มก./ลิตร
อย่างไรก็ตามกรุงเทพมีการกำหนดนโยบายลดค่า BOD ให้ต่ำกว่า 4 มก./ลิตร ซึ่งจากข้อมูลไม่พบเขตไหนที่ต่ำกว่า 4 มก./ลิตร เลย
สาเหตุของน้ำเน่าเสีย
เราสามารถแบ่งแหล่งที่มาของน้ำเสียได้จาก 3 แหล่ง คือ
- แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากชุมชน (Domestic Wastewater)
- การทิ้งขยะในแม่น้ำลำคลอง หรือเศษขยะที่ปลิวมาจากแหล่งเก็บขยะใกล้ ๆ แหล่งน้ำ เมื่อขยะต่าง ๆ ถูกทิ้งลงสู่แหล่งน้ำจะเกิดการสะสมและหมักหมม จนก่อให้เกิดสารพิษปนเปื้อน และด้วยกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ของจุลชีพในน้ำ เป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซที่มีกลิ่น รวมทั้งจุลชีพที่เจริญเติบโตจะไปแย่งใช้ก๊าซออกซิเจนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้น้ำตายและกลายเป็นอาหารของจุลชีพในการย่อยสลาย
- การปล่อยน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ที่ปล่อยน้ำทิ้งจากการซักผ้า ซึ่งอุดมไปด้วยฟอสเฟต ทำให้สาหร่ายและพืชน้ำเจริญเติบโตจนไปแย่งการใช้ก๊าซออกซิเจนของสัตว์น้ำอื่น ๆ หรือการที่ร้านค้าปล่อยน้ำทิ้งที่อุดมไปด้วยไขมัน โดยไขมันที่เกาะบริเวณชั้นผิวน้ำ ทำให้ก๊าซออกซิเจนละลายในน้ำได้น้อยลง
- แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรม (Industrial Wastewater) ได้แก่ การปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ เช่น กากน้ำตาล สารย้อมผ้า เป็นต้น
- แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากเกษตรกรรม (Agricultural Wastewater) ได้แก่ การระบายน้ำจากสวนไร่นา ที่มีการปนเปื้อนสารเคมีจากการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี
สาเหตุหลักน้ำเน่าเสียในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากชุมชน ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากอาคารบ้านเรือน ร้านค้า ตลาด ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ฯลฯ โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานครเปิดเผยว่า คนกรุงเทพใช้น้ำประปารวมกันวันละ 2,637,009 ลบ.ม./วัน ซึ่ง 80% ของน้ำประปาที่ใช้ หรือ 2,109,607 ลบ.ม./วัน จะกลายเป็นน้ำเสีย
การบำบัดน้ำเสียกับกรุงเทพ
กรุงเทพฯ พยายามแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียมาโดยตลอด ด้วยการพยายามพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพ ซึ่งเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกเมื่อสมัยผู้ว่าฯ กทม. อรรถ วิสูตรโยธาภิบาล ที่อนุมัติงบฯ 250 ล้านบาท สร้างโรงบำบัดน้ำเสียที่ปลายคลองช่องนนทรี (และสร้างเสร็จในสมัยผู้ว่าฯ กทม. จำลอง ศรีเมือง) และในแผนพัฒนากรุงเทพฯ ฉบับที่ 1 ก็ได้เขียนถึงแนวนโยบายการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยการพัฒนาระบบบำบัดน้ำ และสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งในยุคต่อ ๆ มาก็มีการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่ม โดยที่ในปัจจุบัน
กรุงเทพฯ มีโรงบำบัดน้ำเสียทั้งหมด 24 แห่ง
เป็นโรงบำบัดขนาดใหญ่ 8 แห่ง ได้แก่ สี่พระยา รัตนโกสินทร์ ช่องนนทรี หนองแขม ทุ่งครุ ดินแดง จตุจักร และบางซื่อ ซึ่งครอบคลุมการบำบัดน้ำเสียใน 21 เขตของกรุงเทพฯ และมีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 1,551,003 ลบ.ม./วัน และโรงบำบัดขนาดเล็ก 16 แห่ง คือ ทุ่งสองห้อง 1, ทุ่งสองห้อง 2, บางบัว, รามอินทรา, ห้วยขวาง, ท่าทราย, บางนา, บ่อนไก่, คลองเตย, คลองจั่น, หัวหมาก, ร่มเกล้า, มีนบุรี, ธนบุรี, คลองเตย และหนองบอน
จะเห็นว่าแม้กรุงเทพจะเพิ่มโรงบำบัดน้ำเสียมากขึ้นจากเดิม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นต่อวันในกรุงเทพฯ นั่นก็เท่ากับว่ายังมีน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดหลายแสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งนี่ยังไม่รวมปัจจัยด้านอื่น เช่น น้ำเสียที่ถูกปล่อยโดยไม่ผ่านเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย การสูญเสียน้ำจากท่อระบายน้ำที่จะนำไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย (เช่น ท่อรั่ว) ฯลฯ โดยน้ำเสียเหล่านั้นจะไหลลงสู่คูคลองและแหล่งน้ำผิวดิน จนเกิดเป็นมลพิษตามมา
จำนวนโรงบำบัดน้ำเสียที่ไม่เพียงพอของกรุงเทพ ไม่ใช่ปัญหาเดียวของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ยังมีการออกแบบระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ที่ใช้ท่อรวมระหว่างท่อน้ำเสียกับท่อน้ำฝน ทำให้ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนัก น้ำเสียในระบบท่อของกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่ใช้ท่อร่วมกัน ส่งผลให้โรงบำบัดน้ำไม่สามารถบำบัดน้ำได้ทัน จนเกิดการไหลทะลักของน้ำเสียไปยังบ่อดักน้ำเสียริมคลอง ซึ่งการบำบัดในบ่อดักน้ำเสียนี้จะมีเพียงกระบวนการเบื้องต้นอย่างการแยกกรวดทรายก่อนระบายทิ้งลงคลอง ทำให้น้ำในลำคลองสกปรกยิ่งขึ้น
ดังนั้นกรุงเทพฯ จึงควรออกแบบระบบท่อใหม่ โดยการแยกท่อของน้ำฝนและท่อของน้ำเสียที่ต้องผ่านการบำบัดอย่างชัดเจน เมื่อในช่วงที่ฝนตกหนัก น้ำฝนที่สะอาดจะไม่ได้รับการปนเปื้อนน้ำเสีย เมื่อไหลลงคลองจะไม่ทำให้คลองเน่าเหม็นเนื่องจากการปนเปื้อนน้ำเสีย ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า และวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘มาตรการบริหารจัดการน้ำทิ้งจากอาคารในประเทศไทย : ศึกษาแบบอย่างของประเทศญี่ปุ่น’ โดย อวิกา นุ่มนวล จากคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นอกจากการเพิ่มจำนวนโรงงานบำบัดน้ำเสียแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. หลาย ๆ ท่านก็มีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาทางอื่น ๆ เช่น ชลอ ธรรมศิริ ใช้มาตรการทางกฎหมายกับผู้ที่ทิ้งขยะในแม่น้ำลำคลอง, เทียม มกรานนท์ บังคับให้โรงแรม, หอพัก และอาคารชุด ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย, สมัคร สุนทรเวช อนุมัติการเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย โดยผู้ว่าชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน มีความต้องการที่จะเริ่มเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากผู้ประกอบการตามอัตราน้ำประปา เนื่องจากกทม. เสียค่าโอเปอเรเตอร์ประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีกำหนดการเก็บเมื่อปลายปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีอัตราค่าบริการดังนี้
- อาคารประเภท 2 เก็บ 4 บาท/ลูกบาศก์เมตร
- อาคารประเภท 3 เก็บ 8 บาท/ลูกบาศก์เมตร
“ส่วนครัวเรือนประชาชนทั่วไปยังไม่เก็บค่าบำบัดน้ำเสีย กทม. จะเก็บเฉพาะผู้ประกอบการ ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลในบ่อบำบัดของตัวเองได้ และทำให้คุณภาพน้ำส่วนรวมดีขึ้น”
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาทางกฎหมายก็เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดน้ำเสีย เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือประกาศข้อบังคับต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครเอง ซึ่งกำหนดค่ามาตรฐานน้ำเสียก่อนปล่อยไม่สอดคล้องกัน
ทำไมกรุงเทพฯ ถึงยังแก้ปัญหาน้ำเสียไม่ได้
การสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประชากรอยู่มากและผังเมืองที่ไม่เป็นระเบียบ ถือเป็นงานยากเกินกว่าที่กรุงเทพฯ จะจัดการได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากต้องใช้งบฯ มหาศาล และการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียก็ใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน ดังนั้นจึงต้องอาศัยงบฯ ร่วมระหว่างกรุงเทพกับรัฐบาลกลาง ซึ่งการต้องขออนุมัติงบประมาณฯ จากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลกลาง ทำให้แผนการสร้างมีความล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุคของ สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่แม้จะมีแนวนโยบายสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มจำนวนมาก แต่ก็ต้องรอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการยกเครื่องระบบท่อน้ำรวม (เดิม) ของตนเองให้เป็นระบบท่อแยก ตามคำแนะนำจากหลายฝ่าย ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และต้องใช้เวลาในการดำเนินการอีกนานแค่ไหนไม่รู้
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ ในยุคผู้ว่าฯ อัศวิน มีความพยายามจะปรับปรุงคุณภาพของคลองในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นคลองโอ่งอ่าง เพื่อจุดประสงค์ทางการท่องเที่ยว ด้วยงบประมาณจากทางรัฐบาลและกรุงเทพฯ รวม 400 ล้านบาท, คลองช่องนนทรี กับงบประมาณของกรุงเทพฯ เองกว่า 980 ล้านบาท, คลองผดุงกรุงเกษม ที่ใช้งบประมาณเฉพาะในส่วนการปรับภูมิทัศน์กว่าร้อยล้านบาท, คลองคูเมืองเดิม ด้วยงบฯ 200 ล้านบาท, คลองหลอดวัดราชนัดดาและคลองหลอดวัดราชบพิธ อีก 64 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นโครงการที่เน้นโครงสร้างด้านบน เพื่อความสวยงามและการพักผ่อนหย่อนใจมากกว่าเรื่องการบำบัดน้ำเสียทั้งสิ้น
ทั้งนี้คลองแสนแสบเองก็มีการปรับปรุงคุณภาพโดยมีรัฐบาลกลางเป็นเจ้าภาพ ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 82,563.87 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี (พ.ศ.2564 – 2574) รวม 84 โครงการ
จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียในกรุงเทพฯ นั้น เต็มไปด้วยความซับซ้อนทั้งผังเมือง โรงบำบัดน้ำเสีย ระบบท่อ งบประมาณ การดำเนินการ รวมไปถึงการบริหารจัดการของกรุงเทพฯ เอง และการขาดความรับผิดชอบของประชาชน
มากไปกว่านั้น การแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียในกรุงเทพฯ เป็นโจทย์ที่จะต้องตั้งคำถามดี ๆ ว่า เราต้องการคลองที่สวยใสเพื่อไปเดินเล่นถ่ายรูป หรือระบบการระบายน้ำ และการกำจัดน้ำเสียที่มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพกันแน่
อ้างอิง
- https://rocketmedialab.co/bkk-polluted-water/
- https://www.britannica.com/technology/wastewater-treatment/Oxidation-pond
- https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/6251
- https://www.usgs.gov/special-topics/water-science-school/science/wastewater-treatment-water-use