เมื่อไม่นานมานี้ Volvo เปิดตัวรถ BEV รุ่นใหม่อย่าง EX90 แต่สิ่งที่น่าสนใจของการเปิดตัวนี้คือ Volvo EX90 จะเป็นรถยนต์รุ่นแรกของ Volvo ที่มีการใส่ Battery Passport ซึ่งเป็นกฏของ EU ที่จะบังคับใช้ในปี 2027 วันนี้เลยจะมาเล่าให้อ่านกันว่า การที่ในอนาคตข้างหน้าปี 2027 เมื่อ EU เริ่มบังคับให้ผู้ผลิตรถ EV ต้องมี Battery Passport ส่งผลกระทบต่อเราที่เป็นผู้ใช้อย่างไรบ้าง
Battery Passport คืออะไร ?
Battery Passport คือเอกสารดิจิทัลที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่ทั้งวงจรชีวิตของมัน ตั้งแต่การถลุงแร่ทำที่ไหน แล้วนำส่งไปผลิตที่ไหน ลงแพ็กอย่างไร มีการเอามาใช้ในจุดประสงค์อะไรบ้าง จนถึงจุดสุดท้ายในช่วงชีวิตของมันคือ การนำไป Recycle หรือทำลายอย่างไรได้บ้าง โดยข้อมูลภายใน Battery Passport หลัก ๆ มีอยู่ทั้งหมด 7 องค์ประกอบด้วยกัน
- ข้อมูลทั่วไป เช่น ผู้ผลิต สถานที่ผลิต ประเภท และน้ำหนัก
- วัสดุและองค์ประกอบของแบตเตอรี่ เช่น สารเคมี และองค์ประกอบสำคัญ
- ประสิทธิภาพและความทนทาน เช่น ความจุ, จำนวน Cycle ที่คาดว่าสามารถทำได้
- ความสามารถในการหมุนเวียนทรัพยากร เช่น ความสามารถในการนำมา Recycle ต่าง ๆ
- ห่วงโซ่อุปทาน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาตั้งแต่แร่ที่นำมาใช้ มีการถลุงที่ไหน เป็นต้น
- ฉลากและใบรับรอง เช่น สัญลักษณ์สำหรับการใช้งานโลหะหนักอย่างตะกั่วและแคดเมียม
- การปลดปล่อยคาร์บอนและก๊าชเรือนกระจก ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่การจัดการแร่สำคัญ จนไปถึงการ Recycle

โดยข้อมูลทั้งหมดนี้จะมีการสลักหรือยิงเลเซอร์เอาไว้บนแบตเตอรี่ไว้ ซึ่งจะมีลักษณะเป็น QR Code ที่เมื่อสแกนแล้วจะทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของแบตเตอรี่นั้น ๆ ได้ทันที กฏเกณฑ์นี้จะถูกบังคับใช้เป็นครั้งแรกในประเทศสหภาพยุโรปเป็นที่แรก และจะมีการบังคับให้แบตเตอรี่ทุกก้อนที่มีขนาดตั้งแต่ 2 kWh ขึ้นไป จำเป็นต้องมีการฝัง Battery Passport เข้าไปในปี 2027
แต่สำหรับประเทศไทย ณ วันที่เขียนนี้ยังไม่มีการประกาศบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องใส่ Battery Passport แบบใน EU อาจจะต้องรอดูนโยบายจากภาครัฐในอนาคตต่อไป แต่หากมีหลาย ๆ ประเทศบังคับใช้กฏเช่นเดียวกับภายใน EU ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตจะใส่เข้ามาให้ เพราะไหน ๆ ก็ทำกับประเทศอื่นแล้ว จะใส่หรือไม่ใส่มาให้มันก็เท่าเดิมอยู่แล้ว ต้องรอดูต่อไป
ทำไมต้องมี Battery Passport ?
การที่เรามีข้อมูลการใช้งานแบตเตอรี่มากขึ้น ช่วยทำให้เกิดประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวมได้ ทำให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตเองมีความรับผิดชอบต่อแบตเตอรี่ที่ตัวเองถืออยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงยังทำให้เกิดความโปร่งใส เนื่องจากเราสามารถตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของแบตเตอรี่ว่า มีการจัดการหรือการผลิตที่ตรงตามมาตรฐานได้จริงหรือไม่ ทั้งในแง่ของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานผิดกฏหมายที่เป็นปัญหามาก ๆ ในธุรกิจการถลุงแร่และการผลิตแบตเตอรี่ในปัจจุบัน
ที่สำคัญ Battery Passport เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการ Recycle แบตเตอรี่เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันการ Recycle แบตเตอรี่นั้นติดปัญหาในเรื่องขององค์ประกอบทางเคมีและประเภทที่แตกต่างกัน ทำให้การ Recycle ทำได้ค่อนข้างยาก หากเรามีข้อมูลนี้อยู่ใน Battery Passport แล้ว จะทำให้การ Recycle ง่ายขึ้น และสามารถปรับปรุงกระบวนการให้เหมาะสมกับแบตเตอรี่ประเภทนั้น ๆ ส่งผลให้ได้แร่สำคัญ ๆ บางตัว อย่าง ลิเทียม และ โคบอลต์ กลับมามากขึ้น ซึ่งส่งผลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยตรงนั่นเอง
ที่สำคัญมาก ๆ สำหรับเราเองที่เป็นผู้บริโภค มันทำให้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่ที่เราซื้อมา เช่น ในอนาคตเราซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามา เราสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทั้งหมดว่าแบตเตอรี่ก้อนนี้ถูกผลิตที่ไหน เป็นประเภทอะไร ผลิตเมื่อไหร่ และมีการใช้งานมานานแค่ไหนแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างมีประโยชน์มาก ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราเริ่มนำแบตเตอรี่พวกนี้ไปใช้งานเพื่อต่ออายุของมัน อย่าง การนำไปเป็นระบบกักเก็บพลังงานสำรองภายในบ้านของเรา
มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกนะ แต่มันกำลังเกิดขึ้นได้จริง
ดู Concept และจุดประสงค์ของการมีอยู่ของ Battery Passport ว่าเป็นทางเลือกที่ดีมาก ๆ ในอนาคตต่อทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเอง แต่ในการที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง ๆ นั้นยากกว่าที่เราคิดมาก ๆ เนื่องจากข้อมูลที่จำเป็นต้องระบุลงไปมีจำนวนเยอะมาก ๆ และข้อมูลนั้นต้องมาจากหลากหลายส่วน ตั้งแต่การถลุงแร่ การผลิต จนไปถึงการใช้งานต่าง ๆ ซึ่งต้องการความร่วมมือกันของทุก ๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
และเมื่อรวมข้อมูลได้แล้ว การจัดการและการเผยแพร่ข้อมูลนั้นเป็นอีกเรื่องที่ยากไม่แพ้กัน เนื่องจากเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ทุกคนจะเก็บข้อมูลที่มีลักษณะเดียวกัน เป็นระบบเดียวกันทั้งหมด และเราควรจะให้ใครที่เป็นผู้เก็บข้อมูลที่ทุก ๆ ฝ่ายจะเชื่อถือได้ ซึ่งประเด็นนี้มีไอเดียเข้ามาแก้ปัญหาหลากหลายวิธี แต่วิธีการที่น่าสนใจมาก ๆ คือการเก็บข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralised Data Storage) หรือการใช้กลุ่มเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยเหลือเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้เสมอ
จากความท้าทายทั้งสองส่วนที่เล่ามานี้ จึงทำให้ Battery Passport ในปัจจุบันยังเป็น Proof-of-Concept (POC) หรือการสร้างเพื่อทดลองความเป็นไปได้ในการใช้งานอยู่เพียงเท่านั้น แต่มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เจ้าใหญ่อย่าง Volvo เริ่มมีการใช้งานแล้วในรุ่น EX90 เป็นรุ่นแรกในปี 2024 ซึ่งล่วงหน้าก่อน EU บังคับใช้ถึง 3 ปีเลยทีเดียว ดังนั้นถือว่าเป็นสัญญาณอันดีที่เริ่มมีผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาเริ่มใช้งานกันมากขึ้น ทำให้เราคาดเดาได้ว่าอนาคตของ Battery Passport ดูจะสดใสมากขึ้นเพื่อสร้างอนาคตการใช้งานแบตเตอรี่อย่างมีความรับผิดชอบ และยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม