จากประเด็นเรื่อง CrowdStrike ที่ทำให้ Windows เกิด BSOD (Blue Screen of Dead) หรือกระทั่งก่อนหน้านี้เราก็อาจจะเจออาการเดียวกันได้เช่นกัน วันนี้จะมาเล่าให้อ่านกันว่าเจ้า BSOD ที่เราว่า มันเกิดจากอะไร และมันเกิดขึ้นได้กับ Windows อย่างเดียวจริงหรือไม่
Blue Screen of Dead คืออะไร ?
Blue Screen of Dead เป็นอาการที่ผู้ใช้ Windows พบได้เมื่อเครื่อง หรือ Windows ของเรามีปัญหา แต่ไม่ใช่ปัญหาธรรมดา จะต้องเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมาก ๆ จนทำให้ Windows ไม่สามารถทำงานต่อได้อย่างปลอดภัย หรือในภาษาคอมพิวเตอร์เราเรียกว่า Stop Error ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่ค่อนข้างร้ายแรงเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับระบบปฏิบัติการเลยทีเดียว
โดยทั่วไป สาเหตุของการเกิด BSOD นั้นมีได้หลายสาเหตุมาก ๆ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ จนไปถึงข้อผิดพลาดขนาดใหญ่ ๆ ได้เลยทีเดียว ตัวอย่างเช่นเคสที่ผู้เขียนเจอกับตัวคือ เล่นเกมใช้งาน Graphic หนัก ๆ ไปสักพัก เครื่องมันเด้งเข้า BSoD ใส่เฉยเลย หาอยู่ตั้งนาน สุดท้ายมาพบหลังจากนั้นนานมาก ๆ ว่า ตัวเก็บประจุอันหนึ่งที่อยู่บนการ์ดจอมันบวม แค่เปลี่ยนตัวเก็บประจุอันเดียว ทดลองใช้ใหม่ ปรากฏว่าใช้งานได้ปกติเลย
อีกเคสที่เจอกับตัวเช่นกัน แต่นานมากแล้วคือ ก่อนที่เราจะใช้ Hardware ใหม่ ๆ เราจำเป็นที่จะต้องมีการติดตั้งโปรแกรมสำหรับควบคุมอุปกณ์ เราเรียกว่า Driver คิดภาพง่าย ๆ ว่าเหมือนสมุดคู่มือบอก Windows ว่าเจ้า Hardware นี้ทำอะไรได้บ้าง และ Windows จะต้องสั่งมันอย่างไร แต่บางครั้ง เราอาจจะติดตั้ง Driver รุ่นที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เมื่อ Windows มันสั่ง ปรากฏว่า สิ่งที่ได้กลับมาอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ Windows คาดหวัง ทำให้ระบบเกิดข้อผิดพลาดจนเป็น BSoD ได้เช่นกัน
และในกรณีล่าสุด อย่าง CrownStrike ที่ทำให้เกิด BSoD กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง Windows และ CrownStrike นั้น เกิดจากการที่ Driver ตัวหนึ่งของ CrownStrike ชื่อว่า Falcon ทำหน้าที่เป็นเหมือนเหยี่ยวที่ทำหน้าที่สอดส่องตรวจสอบการทำงานต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ มีข้อผิดพลาดตัวหนึ่ง ทำให้เมื่อเปิดเครื่อง Windows โหลด Falcon ตามโปรแกรมของมัน แต่ Falcon กลับเกิดข้อผิดพลาด ทำให้ระบบไม่สามารถทำงานต่อได้มันก็จะเปิดเครื่องใหม่ เกิด BSoD วนไปเรื่อย ๆ
แต่ Microsoft ก็ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้นที่อยู่ดี ๆ จะขึ้น BSoD แล้วจบไปเลย แต่เขาให้ข้อมูลว่า มันน่าจะเกิดจากอะไรผ่าน Stop Code ที่อยู่ด้านล่างของหน้าจอ BSoD เราสามารถเอา Stop Code ที่ขึ้นมา เข้าไปหาในเว็บของ Microsoft ได้ว่า มันน่าจะเกิดจากการนั้นนี้ แล้วค่อยแก้ปัญหา
เชื่อหรือไม่ว่า BSoD ไม่ได้มีแค่ สีน้ำเงิน
คำว่า Blue Screen of Dead ที่เราเรียกกันจริง ๆ แล้ว มันไม่ได้มีสีน้ำเงินมาตลอดนะ แต่มันมีการค่อย ๆ พัฒนาและเปลี่ยนสี กับหน้าตา ออกมาเรื่อย ๆ
เริ่มจาก Windows Version แรก ๆ อย่าง Windows 1.0 และ 2.0 หากระบบเกิดข้อผิดพลาดร้ายแรง มันจะเด้งเป็นหน้าสีน้ำเงิน และมีตัวหนังสือแปลก ๆ อยู่เต็มไปหมด นอกจากจะน่าตกใจสำหรับผู้ใช้แล้ว ยังไม่ช่วยผู้เชี่ยวชาญแก้ปัญหาอะไรทั้งสิ้นด้วย
จนมาถึง Blue Screen of Dead ที่ดูดีจริง ๆ คือ ใน Windows 3.1 ช่วงปี 1992 แต่ก็ยังไม่ได้บอกว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ บอกแค่ว่าอะไรสักอย่างมันมีปัญหา เน้นให้เราสั่ง Restart เครื่องเพื่อจัดการกับปัญหานี้เอา หรือบางครั้ง หากปัญหามันร้ายแรงมาก ๆ มันจะเด้งตัวเองกลับไปหา MS-DOS ที่เป็นหน้า Command Line ดำ ๆ
มาถึงปี 1992 กับ Windows 95 เป็นตัวแรกที่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดร้ายแรงจริง ๆ เราจะสามารถกดกลับไปที่หน้า Windows ปกติได้ โดยไม่ต้องเด้งไปที่หน้า MS-DOS อีก ซึ่งเขาใช้ Feature นี้กับ Windows หลากหลาย Version ที่ออกมาหลังจากนั้น คือ Windows 98, Windows 2000 และ Windows ME
ในระหว่างนั้นเอง Microsoft มีการพัฒนารากฐานของ Windows ใหม่ คือ Windows NT เวอร์ชั่นที่น่าสนใจอยู่ที่ Windows NT 3.1 ที่ออกมาในช่วงปี 1991 ที่มีการระบุ Stop Code เพิ่มเข้าไปในหน้า เพื่อให้ผู้ใช้สามารถตีวงวิเคราะห์ปัญหาได้ง่ายดายมากขึ้น หลังจากนั้นมีการพัฒนา ใน Windows 2000 ที่รองรับความละเอียดของหน้าจอสูงขึ้น แสดงข้้อความได้คมชัดมากกว่าเดิมมาก ๆ แต่ในช่วงที่ Windows 2000 ยังเป็น Beta ตอนนั้นเขาใช้เป็นหน้าจอสีดำ และเมื่อ Windows 2000 ออกวางจำหน่ายถึงจะเปลี่ยนกลับมาเป็นสีน้ำเงินเหมือนเดิม นอกจากนั้น BSoD ใน Windows 2000 เพิ่มรายละเอียด บอกวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับผู้ใช้งานได้ด้วย ทำให้ลดงานของ IT Support ได้เยอะมาก
แต่สิ่งที่ดีมาก ๆ คือ Blue Screen ที่ว่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่สีน้ำเงินเท่านั้น แต่มีการเปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้ทราบว่าข้อผิดพลาดนี้เกิดกับ Windows ตัวไหน เช่น Windows Longhorn (Windows Vista ตัวทดสอบ) เลือกใช้เป็นสีแดงแทน ตอนนั้นเลยเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น RSoD (Red Screen of Dead) แทนเฉยเลย
มาถึงใน Windows 8 ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปลี่ยนหน้าจอที่ดูหน้ากลัวให้ดูดีทันสมัยขึ้น ด้วยการใส่ Emoji หน้าเศร้าเข้ามาเป็นครั้งแรก
และได้รับการพัฒนาอีกครั้งใน Windows 10 Anniversary Update ที่ให้ QR Code ที่เมื่อสแกนไปจะเป็นลิงค์หน้าสู่หน้าช่วยเหลือของ Microsoft และมันเป็นแบบนี้มาเรื่อย ๆ จนถึง Windows 11 ที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
BSoD เกิดได้กับแค่ Windows จริงหรือไม่ ?
คำตอบของคำถามนี้ ตอบว่า ไม่จริงซะทีเดียว เนื่องจากสาเหตุของอาการ BSoD ที่เกิดขึ้นกับ Windows มันคือ การที่ Windows เกิดข้อผิดพลาดร้ายแรงจนไม่สามารถทำงานต่อได้ และแน่นอนว่าในระบบปฏิบัติการอื่น ๆ อย่าง macOS และ Linux ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
ฝั่ง macOS และ Linux เขาเรียกอาการนี้ว่า Kernel Panic ที่ชื่อดูน่ารักกว่า หรือเปล่านะ… เช่นบน macOS เองแทนที่จะขึ้นเป็นหน้าสีน้ำเงินเหมือน Windows กลับขึ้นเป็นข้อความที่บอกให้ผู้ใช้กดปุ่ม Power ค้างไว้เพื่อปิดเครื่อง แล้วจึงค่อยเปิดเครื่องใหม่ ไม่มีการบอกว่าเกิดจากอะไรทั้งสิ้น ข้อมูลโดยละเอียดจะแสดงเมื่อเราเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หรือการเข้าถึงด้วยช่องทางพิเศษที่ศูนย์บริการ Apple เอง ซึ่งใช้หลักการออกแบบที่ค่อนข้างแตกต่างจากฝั่ง Microsoft พอสมควรเลยทีเดียว
เมื่อเกิด Blue Screen of Dead (BSoD) ขึ้น ควรทำอย่างไร ?
อย่างที่ได้เล่าไปว่าการเกิด BSoD มีหลากหลายปัจจัยมาก ๆ แต่เราพอจะแยกปัญหาได้ก่อนว่า มันน่าจะเกิดจากตัว Windows เอง หรือ Software และ Hardware ที่เราติดตั้งเพิ่มเข้าไป
อย่างแรกคือให้เราอ่านและหาข้อมูลเกี่ยวกับ Stop Code ให้ดีก่อนว่ามันขึ้นว่าอะไรแล้วเอาไปหา เพื่อที่เราจะได้จำกัดวงในการค้นหา ส่วนใหญ่มันจะพอบอกคร่าว ๆ ได้ว่า มันน่าจะเกิดจากอะไร เช่น มีไฟล์ที่จำเป็นของ Windows หายไป หรือ Driver ของ Hardware เกิด Error ขึ้นมา มันพอที่จะบอกให้เรามีข้อมูลไปงมหาต่อคร่าว ๆ ได้
หากเรามี Stop Code มา ลองเอาไปหาในตาม Forum มักจะมีคนที่เจออาการคล้าย ๆ กับเรา แล้วส่วนใหญ่จะมีคนเข้ามาตอบว่ามันน่าจะเกิดจากอะไร และจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร หรือปรึกษาผู้ที่เชี่ยวชาญอย่างช่างเทคนิคจะดีกว่า