Juvenile Justice หญิงเหล็กศาลเยาวชน

หากยังพอจำกัดได้ช่วงปี 2022 มีซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนสัญชาติเกาหลีที่เคยโด่งดังอยู่เรื่องหนึ่งชื่อว่า Juvenile Justice โดยตัวผู้พิพากษาชิมอึนซ็อก (นางเอก) ได้ขึ้นมาทำอาชีพนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวเองเกลียดอาชญากรเด็ก โดยมีหนึ่งฉากสำคัญคือฉากที่เธอพูดตอนพิพากษาคดีเยาวชนว่า “ฉันเกลียดอาชญากรเด็ก กล้าดียังไงมาก่อเหตุทั้งที่อายุยังน้อย” และมีฉากหนึ่งที่เยาวชนผู้ก่อเหตุได้พูดปนหัวเราะในศาลว่า “ได้ยินมาว่าถ้าอายุยังไม่ถึง 14 ฆ่าคนก็ไม่ติดคุกงั้นหรือ” สะท้อนให้เห็นว่ากฏหมายเยาวชนอาจจะกำลังมีปัญหา

วนกลับมาที่บ้านเราที่เพิ่งจะมีคดีเกี่ยวกับเยาวชนไป 2 คดีใหญ่ คดีแรกเป็นคดีเด็กวัย 14 กราดยิงที่พารากอน จนมีคนเสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บ 5 ราย ส่วนคดีที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวกับฆาตกรรม ‘ป้าบัวผัน’ ที่ตอนแรกจับแพะเป็นสามีของป้า แต่สิ่งที่น่าหดหู่คือ ตัวคนร้ายจริง ๆ มีทั้งหมด 5 คน ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนทั้งหมด โดยอายุอยู่ระหว่าง 13-16 ปี เท่านั้น ความคืบหน้าล่าสุดทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปฝากขังที่ศาลจังหวัดสระแก้ว และส่งฟ้องผู้ปกครองตาม พ.ร.บ.เด็ก (พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546) ฐาน ‘เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดนำไปสู่การลงโทษผู้ปกครอง’ ส่วนเด็กและเยาวชนผู้ก่อเหตุจะได้รับโทษสูงสุดแค่ ‘คุมประพฤติ’ เท่านั้น

โดยความรุนแรงของเหตุการณ์นี้นำมาสู่การมีคำสั่งเคอร์ฟิวเด็กทั่วประเทศ ห้ามเด็กอายุ 10-15 ปีออกจากบ้านหลัง 22.00 น. โดยเน้นไปที่จังหวัดสระแก้วเป็นหลัก ทั้งสองเหตุการณ์นำมาสู่การตั้งคำถามของคนในสังคมว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้วกฎหมายเด็กกำลังโตไม่ทันเด็กหรือเปล่านะ

‘กฏหมายเยาวชน’ ปัจจุบัน

เด็กและเยาวชนไม่มีสิทธิได้รับโทษทางอาญาแต่ต้องได้รับโทษทางแพ่ง โดยต้องพ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย หากเด็กผู้กระทำผิดอายุไม่ถึง 10 ปี พนักงานสอบสวนจะรวบรวมข้อเท็จจริงและพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ที่ต้องรับสงเคราะห์หรือไม่ หากเด็กผู้กระทำความผิดอายุอยู่ระหว่าง 10-15 ปี จะไล่ระดับการลงโทษตั้งแต่ ตักเตือน คุมประพฤติ ส่งไปอยู่กับองค์กรที่ยอมรับเด็ก ส่งตัวไปอยู่โรงเรียนหรือสถานฝึกอบรม ซึ่งจะอยู่ได้ถึงแค่ 18 ปีเท่านั้น หรือใช้มาตรการพิเศษร่วมด้วย เช่น มาตรการบำบัดและการฟื้นฟู เป็นต้น หากผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จะใช้วิธีการเดียวกับเด็ก หรืออาจจะลดโทษกึ่งหนึ่งของที่กฏหมายกำหนดไว้ หากเยาวชนผู้กระทำความผิดอายุระหว่าง 18-20 ปี ศาลอาจจะใช้ดุลนิจลดโทษ 1 ใน 3 หรือครึ่งหนึ่งของที่กฏหมายกำหนดไว้ แต่หากเยาวชนอายุเกิน 18 มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อผู้อื่นศาลจะสั่งควบคุมไว้ที่เรือนจำ

การเฆี่ยนตีเยาวชนด้วย ‘กฏหมายที่แรงขึ้น’ อาจจะไม่ใช่คำตอบ

ในสังคมที่กำลังตั้งคำถามและเสนอว่าควรปรับกฏหมายการรับโทษของเด็กและเยาวชนให้แรงขึ้นหรือให้มีโทษเท่ากับผู้ใหญ่ไปเลย โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องมารับโทษด้วยจะดีกว่าหรือไม่

โดยเรื่องนี้ทางคุณคุณโชติมา สุรฤทธิธรรม (ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเด็กและเยาวชน กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม) ได้ออกเคยออกมาพูดถึงประเด็น ‘ภูมิหลังของเด็ก’ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้ เพราะจากแนวโน้มการก่อความรุนแรงผลงานวิจัยชี้ว่าเพราะเด็กเหล่านั้นก็เคยเป็นเหยื่อของความรุนแรงเช่นกัน และต้นเหตุอย่างครอบครัวที่ไม่พร้อมทำให้เกิดการละเลย ทอดทิ้ง หรือเลี้ยงดูเด็กมาด้วยความรุนแรง จนทำให้พวกเขาเคยชินและรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตด้วยความรุนแรง นอกเหนือจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องล้มเหลวทางการศึกษาที่ผลักให้เด็กออกมาเป็นคนนอกระบบ ส่วนปัญหาที่เกิดจากตัวพื้นฐานอารมณ์ของเด็กเองตั้งแต่ต้น เช่น พื้นฐานเป็นคนใจร้อน ถูกกระตุ้นทางอารมณ์ได้ง่าย เป็นต้น ก็มีเช่นกัน แต่เปอร์เซ็นต์จะน้อยมาก ๆ หากเทียบกับสาเหตุประเภทอื่น ๆ

ส่วนทาง ‘ป้ามล’ หรือทิชา ณ นคร (ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก) ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่า ‘ไม่มีเด็กคนไหนอยากเกิดมาเป็นอาชญากร’ และการพยายามแก้ปัญหาที่เด็กดูเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เพราะการที่มีอาชญากรเด็กในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตมาแบบบกพร่องของเด็ก ๆ ในสังคม และนั่นมีสาเหตุมาจากผู้ใหญ่ในประเทศอยู่ดี รวมถึงหากจะแก้กฏหมายกันจริงๆ ต่อให้แก้โทษของกฎหมายเยาวชนให้รุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตก็จะมีอาชญากรเด็กกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ดี เพราะนั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

อย่างไรก็ดี การถกเถียงกันในแง่ของกฏหมายดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและในทางปฏิบัติก็ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่สิ่งที่ควรจะพิจารณาเพิ่มเติมคือต้นตอของการก่อความรุนแรงของเด็กหรือเยาวชน ว่าอะไรเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คำว่าผ้าขาวแปรเปลี่ยนไปเป็นอาชญกรตัวน้อย และแน่นอนว่าสถาบันที่ควรจะยื่นมือเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้ที่สุดก็คือสถาบันครอบครัวนั่นเอง

อ้างอิง