ภาระคนกรุงเทพ

ขณะที่คุณนอนฝันหวานอยู่บนเตียงที่แถมมาพร้อมอะพาร์ตเมนต์ที่มีขนาดกว้างเท่ารูหนูแต่ราคาเช่าสูงเกือบหมื่น เสียงนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์ iPhone รุ่นล่าสุดที่ยังผ่อนไม่หมดก็ดังขึ้น หน้าจอแสดงให้เห็นว่าตอนนี้เป็นเวลา 7 โมงเช้า คุณไม่สามารถยกมือขอเวลาอีก 5 นาทีได้ เพราะช้าเพียง 5 นาที คุณอาจไปทำงานสายครึ่งชั่วโมงได้ คุณรีบอาบน้ำสวมเสื้อผ้าที่สั่งมาช่วงลดราคาจากแอปพลิเคชัน แล้ววิ่งด้วยแรงทั้งหมดที่มีเพื่อตามรถประจำทางที่ครึ่งชั่วโมงวิ่งผ่านครั้งหนึ่ง คุณโชคดีที่ขึ้นรถมาได้แต่นี่เพิ่งถึงปราการด่านแรก เพราะคุณต้องเผชิญกับอีกหลากหลายชะตากรรมที่มีเพียง ‘คนกรุงเทพฯ’ เท่านั้นที่เข้าใจ

การเข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยโอกาสและการเข้าถึงที่มากกว่าพื้นที่ในต่างจังหวัดก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล แต่แนวคิดและแนวปฏิบัตินี้ถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนืออพยพเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็กินเวลากว่า 50 -60 ปีแล้ว แต่ค่านิยมการส่งลูกหลานเข้ามาเรียนหรือมาทำงานในกรุงเทพฯก็ยังถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ ทว่าในกรุงเทพมหานครนี้มีพื้นที่เพียง 1,569 ตร.กม. มีคนอาศัยอยู่ 5,527,994 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 3,524 คนต่อตร.กม. ซึ่งค่อนข้างแออัดถ้าเทียบกับการอยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงกว่ารายได้ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยค่อนข้างลำบาก จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า นอกจากความแออัดของพื้นที่แล้วคนกรุงเทพฯ ต้องแบกรับอะไรบ้าง?

สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องแบกรับและทุกข์ทรมานกับมันเป็นลำดับแรกคือเรื่อง ‘ค่าใช้จ่าย’ ซึ่งพื้นที่เมืองหลวงขึ้นชื่อเรื่องค่าครองชีพสูงอยู่แล้ว แต่มันก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกมากมายหลายรายการ เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างรวมเข้าด้วยกัน มันยิ่งขับเน้นให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ แย่ลง

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า แต่ละครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 17,984 บาท โดยแบ่งเป็นค่ารถโดยสาธารณะและค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 4,110 บาท (22.88%) ค่าเช่าบ้านและค่าไฟฟ้า 3,989 บาท (22.18%) ค่ารักษาพยาบาล 987 บาท (5.49%) ค่าอาหารในบ้าน 1,650 บาท (9.18%) ค่าอาหารนอกบ้าน 1,259 (7.00%) ค่าบุหรี่และค่าแอลกอฮอล์ 243 บาท (1.35%) ซึ่งจากตัวเลขเหล่านี้จะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับค่าเดินทางและค่าที่พักมากกว่าค่าอาหารเสียอีก มันราวกับว่าพวกเราทำงานกันอย่างรากเลือดเพื่อเอาเงินมาโปรยลงบนถนนที่รถติดทั้งวัน และจ่ายให้กับบ้านหรือคอนโดที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย อีกหนึ่งสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องแบกรับคือ ‘ค่าฝุ่น PM2.5’ ที่ตอนนี้พุ่งสูงถึง 69.1 มคก/ลบ.ม จากค่ามาตรฐาน 25 มคก/ลบ.ม ที่กรมอนามัยโลกกำหนด ถึงแม้ว่ากรมควบคุมมลพิษของไทยจะกำหนดให้ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก/ลบ.ม แต่ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯและปริมณฑลโดยเฉลี่ยก็สูงกว่าค่ามาตรฐานอยู่ดี ซึ่งในระดับ 51 – 90 มคก/ลบ.ม จะจัดอยู่ในระดับที่อากาศเริ่มแย่และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยปกติแล้วค่าฝุ่นในระดับนี้ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5

จะเห็นได้ว่าคนกรุงเทพฯ แบกรับอะไรหลายอย่าง ซึ่งยังไม่รวมถึงปัญหาหรือค่าใช้จ่ายยิบย่อยของแต่ละบุคคลอีก วันนี้คุณลองเปิดกระเป๋าของตัวดูว่า นอกจากในกระเป๋าจะมีแล็ปท็อปหนาเตอะของบริษัทและสารพัดยารักษาโรคอีกมากมาย ยังมีอะไรอีกที่คุณแบกมันเอาไว้คนเดียวอีก ถ้ามันหนักจนเกินไปเราอาจต้องปล่อยวางบางอย่างหรือบางปัญหาลงก่อนชั่วครู่

ภาระคนกรุงเทพ

ภาพ : วัชระ รอดวัตร์

ที่มา