พื้นที่เก็บข้อมูล, Cloud, HDD, SSD, NAS, Photo Backup Device

หากใครกำลังประสบปัญหาหน่วยความจำเต็ม ไม่ว่าจะบนโทรศัพท์ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ วันนี้จะมาแนะนำ Solution ในการจัดเก็บข้อมูลกันว่า เรามีทางเลือกอะไรบ้างในการเพิ่มพื้นที่สำหรับการจัดเก็บไฟล์ที่มหาศาลของเรา เริ่มตั้งแต่แบบที่ง่ายที่สุด ไปจนถึงแบบที่ราคาต่อความจุดีที่สุดกัน

ตัวเลือกที่ 1: การเก็บบน Cloud

การเก็บข้อมูลบน Cloud น่าจะเป็นตัวเลือกที่หลาย ๆ คนใช้เป็นตัวเลือกแรก เนื่องจากเป็นตัวเลือกที่เริ่มต้นได้ง่าย ไม่ต้องซื้อ Hardware อะไรให้ยุ่งยาก สามารถ Backup และเข้าถึงข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ในแบบที่ไม่ต้องมานั่งเซตอะไรทั้งสิ้น

เรามีตัวเลือกสำหรับการใช้งาน Cloud อยู่หลากหลายยี่ห้อด้วยกัน เช่น หากเราใช้อุปกรณ์จาก Apple เราก็จะเลือกใช้ iCloud หรือถ้าเป็น Android ก็จะเป็นฝั่ง Google One หรือกระทั่ง OneDrive จาก Microsoft  เป็นต้น ซึ่งแต่ละเจ้าเขาจะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป และส่วนใหญ่เขาก็จะมีการออกแบบมาเพื่อให้เข้ากันได้กับอุปกรณ์ของตนเอง เช่น iCloud จะทำงานได้สะดวกมาก ๆ กับอุปกรณ์ของ Apple แต่หากต้องการไปใช้งานกับ Android อาจจะเป็นไปไม่ได้หรือวิธีใช้งานยุ่งยากมาก ๆ ส่งผลให้หากเราต้องการความง่ายในการใช้งานจริง ๆ การเลือกผู้ให้บริการ Cloud ที่ออกแบบระบบมาเพื่อรองรับอุปกรณ์ที่เราใช้งาน จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก ๆ โดยเราจำเป็นต้องเสียค่าบริการรายเดือน ยิ่งใช้งานพื้นที่จัดเก็บมากขึ้นเท่าไหร่ ราคาค่าใช้บริการต่อเดือนย่อมต้องสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ข้อดีของการใช้งาน Cloud คือ ความง่ายในการใช้งานและ Setup เพียงแค่เราจ่ายเงินและเปิดใช้งาน มันก็จะจัดการทุกอย่างให้เราทั้งหมด แถมข้อมูลต่าง ๆ ยังถูกดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญและได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดีภายใน Data Center และอีกข้อดีคือ เราไม่จำเป็นต้องลงเงินก้อน เราแค่จ่ายค่าใช้บริการรายเดือนเท่านั้น เรายังสามารถเลือกจ่าย Package ความจุต่ำ ๆ ที่พอดีกับการใช้งานได้ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อเราต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บเพิ่มเติม

แต่ข้อเสียมีเช่นกันคือ ค่าใช้จ่ายสะสมที่เราจะต้องค่อย ๆ จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อความต้องการใช้งานของเราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเราใช้งานไป เราก็ต้องการพื้นที่การจัดเก็บมากขึ้น เราก็ยิ่งต้องสมัครความจุเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ส่งผลให้เรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเช่นกัน เมื่อถึงจุดหนึ่ง การเลือกใช้งานตัวเลือกอื่นอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า และอีกข้อเสียคือ การเข้าถึงข้อมูลจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต มันจะมีปัญหาเมื่อเราใช้งาน 5G ที่มีการจำกัด Bandwidth ต่อเดือนด้วยแล้ว ทำให้ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นอีก

ดังนั้น การใช้งานตัวเลือกนี้เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องตั้งค่าหรือติดตั้ง Server ใด ๆ เหมือนเราไปเช่า Server คนอื่นเขาจัดเก็บไป หรือต้องการเข้าถึงข้อมูลภายนอกบ่อย ๆ แต่ไม่เหมาะกับคนที่ต้องเก็บข้อมูลจำนวนมาก เนื่องจากเมื่อมันมากถึงจุดหนึ่ง ค่าใช้จ่ายต่อเดือนมันก็จะมากกว่าการที่เราใช้ตัวเลือกอื่น

ตัวเลือกที่ 2: External HDD/SSD

อีกหนึ่งตัวเลือกที่หลาย ๆ คนเลือกใช้งานกันคือ การซื้อ External HDD หรือ SSD มาใช้งานกันซะเลย เน้นการเสียบเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์และทำการ Backup ลงไป ซึ่งผู้ผลิตบางเจ้าอาจจะแถมโปรแกรมสำหรับช่วยเรา Backup ไว้ด้วย แต่หากไม่มี ผู้ใช้ก็จำเป็นต้องทำการคัดลอกไฟล์ลงไปในอุปกรณ์จัดเก็บเองแทน โดยเราสามารถหาซื้ออุปกรณ์พวกนี้ได้จากร้านค้าที่จำหน่ายอุปกรณ์ไอทีทั่วไปได้ เขาจะมีให้เราเลือกตามขนาดความจุที่ต้องการ แนะนำให้ซื้อเผื่อไปในระยะยาวเลยจะดีมาก เนื่องจากอายุของมันอยู่ได้ประมาณ 5-6 ปี ขึ้นกับการใช้งานและการจัดเก็บ

ข้อดีของการใช้งานการจัดเก็บข้อมูลลักษณะนี้คือ การจ่ายเงินเพียงครั้งเดียวที่อาจจะเป็นข้อดีสำหรับหลาย ๆ คน รวมไปถึงราคาต่อพื้นที่การจัดเก็บค่อนข้างถูกที่สุดในระยะยาว จึงมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลจะอยู่ที่ตัวเราทั้งหมด ไม่ได้อยู่บน Cloud ที่ไหนก็ไม่รู้ หากใครกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเรียกว่าสามารถไว้ใจได้

แต่ข้อเสียหลัก ๆ อยู่ที่เราจะต้องเก็บรักษาอุปกรณ์และข้อมูลด้วยตัวเอง มันอาจจะมีเหตุที่ทำให้อุปกรณ์จัดเก็บของเราได้รับความเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งแตกต่างจากฝั่งการใช้งาน Cloud ที่มีการสำรองข้อมูลและทำซ้ำอยู่ตลอดเวลาเพื่อเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เราสามารถซื้อ HDD หรือ SSD มาเพิ่มเพื่อทำซ้ำและเก็บไว้อีกที่ ทำให้หากข้อมูลในลูกแรกเกิดเสียหายขึ้นมา เราก็ยังมีข้อมูลในลูกที่ 2 สำรองไว้อยู่ นอกจากนั้นเหตุผลที่หลาย ๆ คนไม่อยากเลือกวิธีนี้คือ เราจำเป็นต้องกดสำรองข้อมูลด้วยตัวเอง พอมันไม่ได้จัดการให้เราอัตโนมัติ บางทีเราอาจจะลืมสำรองข้อมูล แล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นพอดี เท่ากับว่าข้อมูลตรงนั้นหายไปตลอดกาล

ดังนั้น มันเหมาะกับคนที่ต้องการพื้นที่การจัดเก็บในราคาย่อมเยา ใครที่กำลังมองหาตัวเลือกแรก ๆ ในการสำรองข้อมูล วิธีการใช้งาน External HDD หรือ SSD ถือว่าเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่น่าลงทุนเลยทีเดียว แต่ต้องยอมรับว่ามันแลกมากับความยุ่งยากในการจัดการและดูแลในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลมีจำนวนมากกว่าขนาดความจุของ HDD เราจนต้องมี HDD มากกว่า 1 ลูก

ตัวเลือกที่ 3: Photo Backup Device

อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ พวก Photo Backup Device มันเป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลลักษณะใหม่ที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาจากการใช้ External HDD และ SSD โดยเฉพาะ หลักการของมันเหมือนกันเป๊ะ ๆ แค่เพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อแบบไร้สายและมี Application ที่ช่วยเราสำรองข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการสำรองรูปภาพและวิดีโอที่เราถ่ายมาเก็บไว้ ตัวอย่างของอุปกรณ์กลุ่มนี้คือ Synology BeeDrive ที่มีขนาดเล็กและสามารถพกพาไปได้ทุกที่

ข้อดีของอุปกรณ์กลุ่มนี้คือ เราไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้บริการรายเดือน จ่ายเงินซื้ออุปกรณ์เพียงครั้งเดียว ทั้งยังมั่นใจได้ในเรื่องความเป็นส่วนตัวของเราที่จะอยู่เหมือนเดิม แถมยังมีระบบการสำรองข้อมูลแบบอัตโนมัติให้ เพียงแค่เราติดอุปกรณ์เก็บข้อมูลไปด้วย เช่น อาจจะไว้ที่บ้าน พอกลับมาถึงบ้านค่อยมาสำรองข้อมูลรายวัน หรือจะพกออกไปข้างนอกด้วยก็ได้เช่นกันหากเราซื้อตัวเล็ก ๆ พกพาง่าย ๆ

แต่ข้อเสียก็มีในเรื่องของการเก็บรักษาตัวอุปกรณ์และการทำสำเนาข้อมูลยังคงอยู่เหมือนเดิมทุกประการ ส่วนอีกข้อเสียคือหากเราเก็บจนเต็มแล้ว เราไม่สามารถขยายหรือเพิ่มขนาดพื้นที่การจัดเก็บได้เลย สิ่งที่เราทำได้คือการซื้ออุปกรณ์ใหม่เข้ามาเก็บเพิ่ม บางเคสที่มีข้อมูลเยอะมากจริง ๆ พอรู้ตัวอีกทีก็อาจจะมีอยู่ประมาณ 10 ลูกกันไปแล้ว เมื่อจะเข้าถึงไฟล์ก็ต้องมานั่งหาว่าไฟล์นี้อยู่ลูกไหน เรียกว่าลำบากสุด ๆ หรืออีกตัวเลือกหากเราไม่อยากซื้อ Photo Backup Device เพิ่มคือ เราสามารถใช้ร่วมกับ External HDD ที่ใช้ระบบการสำรองข้อมูลของ Photo Backup Device แล้วพอมันเต็มเราก็ค่อยย้ายไฟล์ทั้งหมดลงไปเก็บใน External HDD อีกทีหนึ่ง ก็จะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เนื่องจากอุปกรณ์อย่าง External HDD นั้นมีราคาถูกมากกว่า Photo Backup Device อยู่พอสมควร

ตัวเลือกนี้ถือว่าสะดวกสบายกว่าการใช้งาน External HDD และ SSD อยู่มากพอสมควร แต่สิ่งที่แตกต่างนั้นมันอยู่ที่ Software และวิธีการเชื่อมต่อมากกว่า หากเราต้องการอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมขนาดเล็ก ๆ ที่ช่วยย้ายไฟล์ภาพ, วิดีโอ และเอกสารของเราออกจากอุปกรณ์ของเราได้ง่าย ๆ คิดว่าตัวเลือกนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ตัวเลือกที่ 4: NAS

และทางเลือกสุดท้ายที่นำมาเสนอคือ การใช้ NAS หรือ Network Attached Storage เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่จัดเก็บเข้าสู่ระบบเครือข่าย อาจจะอ่านแล้วดู งง แต่สั้น ๆ ง่าย ๆ คือมันเป็น Server ที่ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลให้เราสามารถเข้ามาอ่านเขียนข้อมูลได้นั่นเอง มันสามารถเข้าถึงได้จากอุปกรณ์ใดก็ได้ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเดียวกันและยังสามารถเข้าถึงได้จากหลาย ๆ เครื่องพร้อมกันได้อีก เช่น เราอาจจะมีสมาชิกในบ้านของเราหลายคน เรามี NAS เครื่องเดียว ทุกคนในบ้านก็สามารถเข้าถึงและสำรองข้อมูลได้พร้อม ๆ กันไปเลย

โดย NAS ที่สามารถหาซื้อกันได้มีทั้งแบบสำเร็จรูปที่ซื้อมาแล้วเราแค่เอา HDD เสียบเข้าไปก็ใช้งานได้เลย มาพร้อมกับ Software ที่ช่วยทำให้เราสามารถใช้งาน NAS ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวเครื่อง NAS เองจริง ๆ เป็นเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเท่านั้น ทำให้จริง ๆ แล้วเราสามารถเอาโปรแกรมต่าง ๆ มาทำงานบนนั้นก็ได้เช่นกัน อย่าง การเอา Home Assistant มาทำ Smart Home หรือการติดตั้ง Plex ที่เป็น Media Server ทำให้เราสามารถดูหนังได้โดยไม่ต้องติดเครื่องอ่าน Blu-Ray กับทีวีทุก ๆ เครื่องในบ้านได้ เพียงแค่ทีวีเชื่อมต่อเครือข่ายเดียวกับ NAS ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้น NAS จริง ๆ มันไม่ได้เป็นแค่ Server สำหรับเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่มันยังเป็นเหมือน Home Server ที่ให้บริการต่าง ๆ ภายในบ้านของเราได้ด้วย

ข้อดีของการใช้ NAS คือ เรามีแค่เครื่องเดียวก็สามารถแชร์กันใช้งานภายในบ้านได้อย่างง่ายดาย ทำให้การบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ภายในบ้านทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมเยอะมาก มีความสามารถในการสเกลพื้นที่การจัดเก็บได้ค่อนข้างยืดหยุ่นและใช้งานได้อย่างสะดวกเมื่อพื้นที่เกิดไม่พอขึ้นมา และยังทำให้เราสามารถติดตั้งและใช้งานโปรแกรมหลาย ๆ อย่างเพื่ออำนวยความสะดวกได้อีกมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนั้นการเก็บข้อมูลบน NAS ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใช้งาน RAID เพื่อลดโอกาสการสูญหายของข้อมูลที่เกิดจากความเสียหายของ HDD ได้ แต่ยังไงก็ยังแนะนำให้มีการทำซ้ำอย่างน้อยอีก 1 ชุด เพื่อป้องกันการสูญหายของข้อมูลสูงสุด

ข้อเสียของการใช้ NAS เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ มี 2 เรื่องใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ เม็ดเงินที่ต้องลงทุนครั้งแรก และค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่อ เนื่องจากการที่เราจะใช้งาน NAS ได้ เราไม่ได้ซื้อแค่ตัวจัดเก็บข้อมูลอย่าง HDD เท่านั้น แต่เรายังต้องซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องเข้ามาด้วย ทำให้จำนวนเงินที่ต้องใช้ลงทุนมันเพิ่มขึ้นมหาศาลมาก ๆ เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ และเมื่อเราติดตั้งจนมาใช้งานจริง เครื่องมันจะต้องถูกเปิดทิ้งไว้ตลอดเพื่อรอเราเชื่อมต่อเข้าไป ทำให้มันมีการกินไฟอยู่ตลอดเวลา ส่งผลโดยตรงถึงค่าไฟบ้านที่อาจจะเพิ่มขึ้นราว ๆ 150 บาทหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสเปกเครื่องและการใช้งานของเรา เช่น เรามีการเข้าถึงข้อมูล หรือมีการใช้งานเครื่องเต็มอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้เครื่องกินไฟมากกว่าเครื่องที่ส่วนใหญ่จะอยู่นิ่ง ๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไร

ดังนั้นคนที่น่าจะเหมาะกับการใช้ NAS น่าจะเป็นคนที่ต้องการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก ๆ เรากำลังพูดถึงหลัก 6 TB หรือมากกว่านั้น พร้อมกับมีแนวโน้มความต้องการพื้นที่การจัดเก็บสูงขึ้นเรื่อย ๆ และต้องการใช้งานพื้นที่การเก็บข้อมูลร่วมกันภายในบ้านของเรา

สรุป

ทั้ง 4 ตัวเลือกที่นำมาเสนอในบทความนี้เป็นตัวเลือกที่น่าจะทำให้ใครหลาย ๆ คนที่มองหาตัวเลือกในการจัดเก็บข้อมูลได้นำไปพิจารณาเป็นตัวเลือกในการใช้กับตัวเองต่อไป เราคงบอกไม่ได้ว่าตัวเลือกใดเหมาะกับคุณมากกว่ากัน แต่อยากให้ดูจากการใช้งานของเราเป็นหลัก บางทีการใช้งาน Cloud อาจจะตอบโจทย์การใช้งานของเราแล้ว ไม่ต้องไปตัวเลือกที่ใหญ่กว่านี้ หรือวันหนึ่งที่จำนวนข้อมูลของเรามันเยอะขึ้น เราอาจจะพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลไปก็ได้เช่นกัน ดังนั้น ให้เน้นการพิจารณาจากการใช้งานจริงจะดีที่สุด

AUTHOR

I believe in technology and sharing, as they enable us with a better world via several clicks. Especially, programming is one of the most powerful tools which inspire people to make their dreams come true. I want to share, publicise and innovate new technology so as to change our world in the way we could hardly imagine.