นับเวลาถอยหลังอีกเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นี้ ซึ่งยังคงเป็นที่น่าจับตามองว่าสุดท้ายแล้วใครกันแน่ที่จะขึ้นมากุมบังเหียนหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลก และเข้ามามีบทบาทต่อความเป็นไปโดยส่วนใหญ่ของสังคมยุคปัจจุบัน โดยแคนดิเดตตัวเต็งเพียงสองคนยังคงมาจากพรรคที่ฟาดฟันกันมาอย่างยาวนาน อย่าง โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) จากพรรคริพับลิกัน (Republican) และ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) จากพรรคเดโมแครต (Democrat) ที่ดูเหมือนว่าคะแนนความนิยมของทั้งสองจะค่อนข้างสูสีกันเป็นอย่างมาก
อ้างอิงจากผลสำรวจคะแนนความนิยมระหว่างทรัมป์และกมลา ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศของเว็บไซต์ abc NEWS (อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567) ที่ถูกจัดทำขึ้นโดยบริษัทนักวิเคราะห์ข้อมูลหลายแห่งระบุว่า คะแนนความนิยมของกมลาในระดับประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 47.9% ขณะที่คะแนนความนิยมของทรัมป์ในระดับประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 46.9% ซึ่งจะเห็นได้ว่าคะแนนความนิยมของทั้งคู่ต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าในวันเลือกตั้งจริงอาจเกิดการพลิกโพลล์ได้ โดยสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของเครือข่ายเก็บรวบรวมข้อมูลที่ว่า ในความเป็นจริงตัวเลขดังกล่าวมีโอกาสคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 3-4%
ถึงกระนั้นข้อมูลดังกล่าวอาจช่วยให้เราคาดคะเนทิศทางการเลือกตั้งได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจะใช้ระบบ ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ หรือ Electoral Colleges กล่าวอย่างเข้าใจง่ายคือ ประชาชนไม่ได้เลือกประธานาธิบดีได้โดยตรง แต่เลือกผู้แทนไปเลือกประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง ร่วมกับระบบขวัญใจมหาชน หรือ Popular Votes จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง นั่นหมายความว่า หากใครได้คะแนนความนิยมมากกว่าก็ไม่ได้การันตีเสมอไปว่าเขาคนนั้นจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
เนื่องจากผลการเลือกตั้งแบบ Popular Votes ไม่ได้ตัดสินชี้ขาดว่าใครจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่จะมีคะแนนผูกมัดที่ให้คณะผู้เลือกตั้งจากรัฐนั้น ๆ เข้าไปโหวตบุคคลที่ชนะการเลือกตั้งในรัฐนั้นแทน ซึ่งจำนวนคณะผู้แทนที่ลงคะแนนให้ประธานาธิบดีก็จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนคนของแต่ละรัฐ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้บรรดาแคนดิเดตประธานาธิบดีของทุกปีพยายามสร้างคะแนนความนิยมในรัฐใหญ่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตนมีสิทธิ์ถูกโหวตจากคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐมากขึ้น และความดุเดือดมันอยู่ตรงจุดนี้แหละ เพราะแค่คุณแพ้คะแนนโหวตจากคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐเพียงแค่คะแนนเดียว ก็สามารถทำให้คุณเลือกตั้งแพ้ในรัฐนั้น ๆ ได้เลย
พอมาดูข้อมูลคะแนนความนิยมระหว่างทรัมป์และกมลาของคณะผู้แทนเลือกตั้งจากบางรัฐ อาทิ รัฐเพนซิลเวเนีย (คณะผู้เลือกตั้ง 19 คน), รัฐวิสคอนซิล (คณะผู้เลือกตั้ง 10 คน), รัฐมิชิแกน (คณะผู้เลือกตั้ง 15 คน), รัฐเนวาดา (คณะผู้เลือกตั้ง 6 คน), รัฐจอร์เจีย (คณะผู้เลือกตั้ง 16 คน), รัฐนอร์ทแคโรไลนา (คณะผู้เลือกตั้ง 16 คน) และรัฐแอริโซนา (คณะผู้เลือกตั้ง 11 คน) ผลปรากฏว่าทรัมป์มีคะแนนความนิยมถึง 5 จาก 7 รัฐ ขณะที่กมลามีคะแนนนำเพียงเล็กน้อยในรัฐวิสคอนซิลและรัฐมิชิแกน ถึงแม้กมลาอาจมีคะแนนค่อนข้างดีในภาพรวมและในฐานะขวัญใจมหาชน ทว่าคะแนนจากแต่ละรัฐยังคงสำคัญและอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมได้ทุกเมื่อ
อย่างไรก็ตามการเลือกผู้นำประเทศ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกานั้นมีความสำคัญต่อประชากรโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขาคนนั้นมีสิทธิ์กำหนดทิศทางความเป็นไปตั้งแต่ในแง่เศรษฐกิจโลก วิสัยทัศน์โลก หรือแม้กระทั่งมหาสงคราม ดังนั้นนี่ไม่ใช่แค่เรื่องของคนประเทศเขา แต่เป็นเรื่องของเราทุกคนที่หากสนใจไว้ก็ไม่เสียหาย ถึงแม้เราไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการโหวตใครก็ตาม แต่อย่างน้อยเราอาจสามารถเดาทิศทางความเป็นไปของโลกในอีก 4 ปีข้างหน้าได้
ที่มา