หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับความสะอาดและความเป็นระเบียบในชีวิตของ ‘ชาวญี่ปุ่น’ กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะในสายตาของผู้คนทั่วโลก เวลาเห็นชาวญี่ปุ่นไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ‘วินัย’ จะติดตามพวกเขาไปทั่วทุกที่ จนเรียกได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ Stereotype ได้อย่างชัดเจน
แต่ขณะเดียวกันในด้านหนึ่งของชาวญี่ปุ่น ผู้คนก็มีรูปแบบการใช้ชีวิตสุดโต่งในอีกด้าน นั่นคือการปล่อยให้พื้นที่อยู่อาศัยของตัวเองรกรุงรัง เต็มไปด้วยขยะที่ไม่น่าอภิรมย์แม้แต่น้อย จนมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการเลยว่า ‘บ้านขยะ’ ปรากฏการณ์นี้คืออะไร วันนี้เราจะมา SUM UP ให้ได้รู้จักกัน
การแบ่งคำเรียกพื้นที่รกในที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่น
ก่อนอื่นมารู้จักกับชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นของปรากฏการณ์นี้กันก่อน เมื่อเราแยกหลักเกณฑ์ของการสะสมของไว้ในบ้านตามพื้นที่ในที่อยู่อาศัย จะมีคำเรียกด้วยกัน 4 คำ ได้แก่
1. Obeya (汚部屋) หรือ ห้องรก ที่หมายถึงพื้นที่บางจุดภายในที่อยู่อาศัยที่อาจจะแค่รกและไม่เป็นระเบียบ มีสิ่งของวางระเกะระกะกีดขวางทางเดิน ไปจนถึงขยะที่ไม่ได้เอาไปทิ้งบางส่วน ซึ่งคำนี้จะใช้เรียกห้องรก แต่ไม่ได้รกมาก และน่าจะใช้เวลาเก็บให้เรียบร้อยได้ในระยะเวลาไม่นานนัก
2. Gomi Heya (ごみ部屋) หรือ พื้นที่แห่งขยะ ในแง่การอธิบายง่าย ๆ มันคือขั้นกว่าของคำว่าห้องรกเฉย ๆ หรือการที่พื้นที่ในหลายส่วนของห้องหลาย ๆ ห้องเริ่มมีขยะและข้าวของมาอยู่จนเต็มพื้นที่ โดยห้องที่มักจะพบภาวะนี้ได้มากที่สุดคือห้องครัว หรือห้องนั่งเล่น เป็นต้น ซึ่งมักเป็นพื้นที่ที่ผู้คนวนเวียนเข้าไปใช้งานกันบ่อย และมักทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดห้องให้เป็นระเบียบได้ง่ายกว่าเดิม
3. Gomi Yashiki (ごみ屋敷) หรือ บ้านขยะ นี่คือระดับขั้นสุดของพื้นที่อยู่อาศัยที่หนึ่งจะรกได้จากการสะสมขยะ หรือข้าวของที่มากเกินความจำเป็น จนกลายเป็นความยุ่งเหยิงภายในบ้านที่ค่อนข้างร้ายแรงและจัดการได้ยากที่สุด ส่วนมากแล้วข้าวของก็จะสุมรวมกัน และมีพื้นที่ทางเดินแคบมาก ๆ หรือไม่มีทางเดินให้เข้าไปในบริเวณนั้นได้เลย ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขอนามัย และอาจส่งผลร้ายต่อชีวิตผู้ที่อยู่ในบ้านได้ โดยมากแล้วในที่อยู่อาศัยระดับนี้มักถูกหน่วยงานในพื้นที่ หรือบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยจัดการสถานการณ์นี้ให้แทน
4. Mono Yashiki (もの屋敷) หรือ บ้านสะสมของ นี่ก็เป็นกรณีที่ใกล้เคียงกันกับบ้านขยะ เพียงแต่ของที่สะสมไว้ไม่ได้เป็นเพียงขยะที่รอวันจัดการทิ้ง มันคือสิ่งของจำพวกหนังสือ ของเล่น เสื้อผ้า หรือของสะสมที่ถูกหาพื้นที่จัดวางเอาไว้ในที่อยู่อาศัย ซึ่งมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในพื้นที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีขนาดแคบเท่าเดิม
อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นมี ‘บ้านขยะ’ จำนวนมาก
‘ซาซากิ ฮิซาชิ (Sasaki Hisashi)’ เจ้าของบริษัทเอกชน Magonote ที่ให้บริการจัดการพื้นที่บ้านขยะมากมายในญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ถึงสถิติของบ้านขยะในประเทศญี่ปุ่นกับ Nippon Communications ว่าเขามีเจ้าของบ้านที่มาใช้บริการทำความสะอาดบ้านขยะเหล่านี้ถึง 850 หลังต่อปี อีกทั้งปัญหานี้ยังเป็นปัญหาปมใหญ่ปมหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น จนการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้ามาแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ ผ่านการใช้ข้อกฎหมายและสวัสดิการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ รวมถึงยังมีการส่งเรื่องไปยังส่วนกลางของประเทศอย่างรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้มีการกำกับดูแลประเด็นนี้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นกว่าเดิม
หากมองประเด็นนี้ผ่านวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นเอง จะพบว่ามีหลากหลายประเด็นที่เป็นส่วนประกอบของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นี้ ทั้งอุปนิสัยส่วนตัว อย่างการใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นระเบียบเป็นทุนเดิม การผัดวันประกันพรุ่งเรื่องการทำความสะอาดหรือจัดระเบียบบ้านจนทุกอย่างพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ หรือความรู้สึกผูกพันกับสิ่งของจนไม่กล้าทิ้งของในบ้านเหล่านั้นไป
ปัญหาสังคมที่ใหญ่กว่านั้นก็เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์บ้านขยะได้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการทำงานหนักของผู้คนบางอาชีพ ยกตัวอย่างพยาบาลที่ทำงานในแผนกฉุกเฉิน หรือผู้ที่ทำงานระดับสูงบางส่วนเอานั้นเวลาไปลงกับงานทั้งหมดจนไม่มีเวลาดูแลพื้นที่ส่วนตัว และกลายเป็นบ้านขยะที่ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจแต่อย่างใด
เรื่องปัญหาเรื่องสุขภาพของผู้คนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดบ้านขยะได้เช่นกัน ทั้งปัญหาที่มองเห็นได้ภายนอกและภายใน อย่างเช่นปัญหาความเจ็บป่วยของผู้คน ที่มักจะพบมากในรายที่เป็นคนแก่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงคนเดียว สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาจัดการเรื่องความเป็นระเบียบภายในบ้านได้ยากกว่าเดิมจากการเคลื่อนไหวที่ถูกจำกัด หรือปัญหาสุขภาพจิตเองก็ทำให้ผู้คนขาดแรงจูงใจในการทำอะไรต่อมิอะไร รวมไปถึงการทำงานบ้านด้วย
หรือปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวของผู้คนที่อาศัยอยู่คนเดียว เก็บตัวอยู่เพียงในบ้าน หรือในห้องส่วนตัว กินนอนอยู่กับที่ ก็อาจทำให้พวกเขาเพิกเฉยต่อความสะอาดและความเป็นระเบียบภายในห้องได้ ซึ่งเมื่อพวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตด้วยการออกไปข้างนอกมากเท่าไหร่นัก นอกจากปัญหาบ้านขยะแล้ว บางครั้งก็จะตามมาด้วยปัญหาการเสียชีวิตโดยลำพังภายในบ้าน เพราะผู้คนภายนอกในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของเขา
ไปจนถึงเรื่องของไลฟ์สไตล์ยุคใหม่อย่างการซื้อของมาใช้แล้วทิ้งมากขึ้น ทั้งการเกิดขึ้นของร้านขายของ 100 เยน ที่ทำให้ผู้คนเริ่มซื้อของที่อาจจะดูไร้สาระเข้าบ้านมากขึ้น ใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งเป็นขยะไว้ในบ้าน หรืออย่างกระแสข่าวที่เราเคยได้ยินว่าชาวญี่ปุ่นชอบลืมร่มไว้นอกบ้านเป็นจำนวนมาก พวกเขาก็ลืมมันตอนอยู่ในบ้านเช่นกัน นึกไม่ออกว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน จนต้องซื้อร่มใหม่มาใช้ในบ้านอยู่เรื่อย ๆ กลายเป็นขยะในบ้านไปโดยปริยาย
ซาซากิ เจ้าของบริษัทรับทำความสะอาดบ้านขยะให้ความเห็นเอาไว้ในประเด็นนี้ว่า “บางครั้งผมคิดว่าหากไม่มีร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าร้อยเยน หรือร้านค้าออนไลน์ งานทำความสะอาดบ้านของผมคงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ การซื้อของถูก ๆ เป็นประจำทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนเราลดลง” เพราะเขาเชื่อว่าหากเราตั้งใจซื้อของใช้ราคาดี ๆ สักชิ้นไปเลย นั่นน่าจะทำให้ปัญหาการซื้อของมาใช้แล้วทิ้งไว้ในบ้านจนกลายเป็นขยะลดลงได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้กำลังถูกแก้ไขมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้คนในทุกระดับ ทั้งส่วนกลาง ภาครัฐ ไปจนถึงการแก้ปัญหาในระดับชุมชนเมือง ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาจากความใกล้ชิดกับผู้อยู่อาศัยในบ้านขยะโดยตรง อีกทั้งเทรนด์การใช้ชีวิตแบบมินิมอล เรียบง่าย และเป็นระเบียบเรียบร้อยกำลังจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้น่าจะพอช่วยให้ปัญหาบ้านขยะลดลงตามลำดับ และทำให้ผู้คนหันกลับมาดูแลพื้นที่อยู่อาศัยของตัวเอง เพื่อทำให้พื้นที่กลับมาน่าอยู่ น่าใช้ชีวิตมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน
ที่มา
- https://www.infinitidy.com/2024/04/26/japans-dirty-room-the-phenomenon-of-cluttered-homes-in-japan/
- https://www.nippon.com/en/japan-topics/g00699/no-spark-of-joy-for-people-living-in-trash-houses.html
- https://en.wikipedia.org/wiki/Hoarder_house