สืบเนื่องจากคดีที่ ‘ศิริชัย’ ชายวัย 33 ปี ก่อเหตุฆาตกรรมแฟนสาว ‘ชลดา’ หรือนุ่น โดยการนำหินทุบที่ศีรษะ ก่อนอำพรางศพด้วยการเผาทำลายร่างกายต่อหน้าลูกสาววัยเพียง 1 ขวบ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความสลดหดหู่ให้กับสังคมในช่วงที่ผ่านมา นำมาสู่การตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์แบบ Toxic แต่กลับไม่หนีออกมา ปล่อยให้ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษนี้กัดกินเราจนถึงแก่ชีวิตได้อย่างไร ซึ่งคำตอบของคำถามมันอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหากมันง่ายดายอย่างนั้นเราคงไม่เห็นคดีสะเทือนขวัญอันมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์รุนแรงได้บ่อยขนาดนี้
จากการสำรวจสถิติความรุนแรงในครอบครัวประจำปี 2024 ระบุว่า 1 ใน 5 ของคดีฆาตกรรมมีสาเหตุมาจากคนรัก และเหยื่อจากคดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้หญิงกว่า 47.3% และสิ่งที่น่าเศร้าไปกว่านั้นคือผู้ที่ได้รับความรุนแรงจากความสัมพันธ์ Toxic กว่า 93.1% เป็นหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามีความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์อยู่เป็นจำนวนมาก
นั่นอาจเป็นเพราะเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่ Toxic มันสลับซับซ้อนมากกว่าความสัมพันธ์แบบปกติ เพราะมีปัจจัยจากการถูกกดทับ การถูกข่มขู่คุกคาม รวมถึงการทำร้ายร่างกายเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งทุกอย่างประกอบสร้างเป็น ‘ความกลัว’ ขึ้นมาในจิตใจ จนเหยื่อกลัวที่จะหนี กลัวที่จะจบความสัมพันธ์ กลัวที่จะเลิกรักกับคนนั้น เพราะกลัวที่จะบาดเจ็บทั้งทางกายและทางใจ
ถูกข่มขู่และคุกคาม
มีความเป็นไปได้สูงที่เหล่าคน Toxic มักสร้างเงื่อนไขในความสัมพันธ์เพื่อบีบบังคับให้อีกฝ่ายรู้สึกหวาดกลัวโดยการข่มขู่และคุกคาม หากไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ได้ ผู้คนเหล่านี้อาจทำร้ายอีกฝ่ายโดยการทำร้ายทางคำพูดหรือการกระทำ เช่น ข่มขู่ว่าจะเปิดเผยความลับส่วนตัว ข่มขู่ว่าจะเผยแพร่คลิปลามกอนาจารของอีกฝ่าย ข่มขู่ว่าจะทำร้ายคนใกล้ชิด รวมถึงการทำร้ายร่างกายของอีกฝ่ายด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างพันธนาการทางจิตให้กับเหยื่อ และทำให้พวกเขาไม่กล้าจบความสัมพันธ์ ทั้งที่ Toxic มากเหลือเกิน
ถูก Gaslighting จนสูญเสียความเป็นตัวเอง
หลังจากถูกข่มขู่และคุกคามมาสักระยะ เหยื่อจะรู้สึกเฟลและเริ่มด้อยค่าตัวเองจากการที่ถูกอีกฝ่าย ‘Gaslighting’ หรือปลุกปั่นให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตัวเองผิด รู้สึกสงสัยและไม่มั่นใจในความคิดของตนเอง กระทั่งหลงเชื่อว่าทุกครั้งที่โดนทำร้ายนั้นตัวเองเป็นฝ่ายผิด และสมควรได้รับการลงโทษ สิ่งเหล่านี้จะยิ่งสะสมเหมือนแม่กุญแจที่เกรอะกรังไปด้วยสนิมที่ยากจะไขออกได้ง่าย นั่นยิ่งเป็นการเน้นย้ำว่าทำไมพวกเขาเดินออกมาจากความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ได้ยากเหลือเกิน
ถูกบีบให้ไร้ทางเลือก
หากวิเคราะห์จากกรณีของนุ่น อาจพออนุมานได้ว่าหนึ่งในสาเหตุที่เธอไม่เลือกจบความสัมพันธ์กับชายคนนี้ น่าจะเป็นเพราะทั้งคู่มี ‘ลูก’ ด้วยกัน ซึ่งมายาคติของสังคมไทยที่วาดภาพให้เราเห็นว่า ‘ครอบครัวที่ดี’ ควรประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกเท่านั้น มันเป็นสิ่งที่ทำร้ายผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย การอยากเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความสมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริงที่สังคมพยายามตั้งมาตรฐานเอาไว้ ทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่ปล่อยมือคนรักถึงแม้จะมีความ Toxic อยู่ก็ตาม ยังไม่รวมถึงปัจจัยยิบย่อย เช่น การหย่าร้างเป็นสิ่งไม่ดี หรือการมีครอบครัวใหม่เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งบีบบังคับให้คู่สามีภรรยาเลือกที่จะ ‘อดทน’ อยู่กับความสัมพันธ์ Toxic มากกว่าเลิกรากันไป
จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของผู้คนมันสลับซับซ้อนมากกว่าเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ตามแบบฉบับนวนิยายยุคกลางที่เราคุ้นชิน มันมีปัจจัยและเหตุผลมากมายที่คนหนึ่งคนยอมอดทนเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจอยู่กับคนที่ทำร้ายพวกเขาทุกวัน หากมันง่ายดายขนาดนั้นเราคงไม่เห็นคดีการทำร้ายร่างกายระหว่างคู่รักกันรายสัปดาห์ขนาดนี้
วิธีการแก้ไขที่ได้ผลแบบหยั่งรากลึกที่สุดคือการปลูกฝังให้คนรู้สึกผิดจากการกระทำที่เห็นแก่ตัว รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนรู้สึกเกรงกลัวเมื่อทำร้ายใครสักคนผ่านทางคำพูดและการกระทำ เพื่อเป็นการสร้างอุปนิสัยที่จะไม่เป็นภัยต่อมนุษย์คนอื่นในอนาคต ที่สำคัญคือเหยื่อทุกคนควรมี ‘ความกล้า’ กล้าที่จะก้าวออกมา กล้าที่จะยอมเจ็บแต่มันจบ ในวันที่ยังไม่สายเกินกว่าจะถอนตัว
อ้างอิง
- https://www.thehotline.org/support-others/why-people-stay-in-an-abusive-relationship/
- https://techreport.com/statistics/domestic-violence-statistics/