อย่างที่เรารู้กันดีว่าพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ใจกลางกรุงนั้นมีจำนวนไม่มาก แทบไล่นับรายชื่อได้เลย ต่างจากสถานที่เพื่อการท่องเที่ยวอื่นที่มีเต็มไปหมด และกลายเป็นตัวเลือกหลักที่พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะพาน้อง ๆ ไปเที่ยวกัน

โชคดีที่นโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ’12 เทศกาลตลอดปีกรุงเทพฯ’ ได้ดำเนินการสร้างพื้นที่หลากหลายให้กับคนเมืองมาโดยตลอด จนกระทั่งเวลาวนกลับมายังเดือนสิงหาคม เดือนที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของทุกคน ภายใต้ธีมหลักอย่าง ‘กรุงเทพวิทยา’ งานที่ถึงจะดูค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้เข้าร่วมงานกลุ่มครอบครัวและผู้คนหลากหลายเข้าร่วมงานอยู่ทุกปี

เดือนสิงหาคมนี้ถือเป็นปีที่ 3 ที่มีการจัดเทศกาลนี้ขึ้นมา และเลือกใช้ธีม ‘Wit in Bangkok 2024’ มานำเสนอเรื่องราววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตและเมือง ผ่านแนวคิด ‘Up Sci Town: วิทย์ทุกมุมเมือง’ ในรูปแบบกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดทั้งงาน

จุดเด่นของงานในครั้งนี้คือการร่วมมือกับภาคีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science Communicator Association) เพื่อสร้างเนื้อหาในการสื่อสารองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปยังคนดูได้แบบง่าย ๆ ผ่านเวทีเสวนาหลากหลายประเด็น หรือบูธ Science influencers ของไทยที่จะทำให้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้พบปะกับแฟน ๆ แบบถึงเนื้อถึงตัวกันได้เลย

อีกทั้งยังมีโซนกิจการน่าสนใจที่ขับเคลื่อนเมืองผ่านแง่มุมทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มานำเสนอ อย่าง บูธของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่หยิบเอา Board Game ‘Survival Species’ มาให้ทดลองเล่นและซื้อกันในงาน ซึ่งเป็นเกมที่เล่นง่าย สนุก และทำให้เราได้เห็นศักยภาพของการนำองค์ความรู้ที่ยากมาทำให้เข้าใจง่ายได้ด้วย

หรืออย่างบูธของ ‘Rudi’ ธุรกิจที่ทำ Chatbot มาผสมผสานกับ AI จนได้ออกมาเป็นบริการที่ทำขึ้นเพื่อตอบสนององค์กรในการตอบคำถามผู้ใช้งานที่มีข้อสงสัยบนเว็บไซต์แตกต่างหลากหลาย และบางครั้งการใส่คำถามคำตอบแบบล็อกชุดไว้อาจไม่พอ การให้เทคโนโลยี AI เจนคำตอบจากชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องในแบบแบรนด์นี้จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับธุรกิจ

รวมถึงบูธ ‘Namtang’ แอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลทางการเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้มากที่สุดของ สนข. ที่พัฒนาจากฐานข้อมูล ระบบสารสนเทศ และโปรแกรมประยุกต์ โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางทุกรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อมากที่สุด

‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่งของการเปิดงานเมื่อวานนี้ (10 สิงหาคม 2567) ว่ากรุงเทพฯ ยังขาดพื้นที่สำหรับการเรียนรู้อยู่อีกมาก แม้คำว่าการเรียนรู้จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ นั่นคือ ‘Education’ หรือการเรียนรู้ในระบบการศึกษาตามที่ทางการกำหนดหัวข้อและขอบเขตในการศึกษาไว้ให้ และ ‘Learning’ หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกเรื่องราว ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ในระบบการศึกษาในกรุงเทพฯ ค่อนข้างมีเพียงพอ ต่างจากแหล่งเรียนรู้ทั่วไปที่มีจำนวนน้อยกว่า และส่วนมากเก็บค่าเข้าชม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ กทม. จะต้องเปิดพื้นที่สาธารณะแบบนี้ให้กับเมืองมากขึ้น

และงานนี้ก็ถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุผลนั้น ฉะนั้นแล้วสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองและน้อง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมงานนี้ เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว วันนี้เป็นวันสุดท้าย หากพลาดก็คงต้องรอกันอีกทีปีหน้าเลยทีเดียว

เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกรุงเทพมหานคร 2567 ‘Wit in Bangkok 2024’ จัดขึ้นที่อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ (โรงงานผลิตยาสูบ 5) สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เวลา 11:00 – 20.00 น. เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป

ความสำเร็จอยู่ที่ไหน
ความสำเร็จอยู่ที่ไหน