อาจฟังดูขัดหูขัดตาไปบ้าง เวลาพูดถึงประเด็นสิทธิในเลือดเนื้อและเรือนร่างของผู้หญิง เพราะเอาเข้าจริงแล้วแม้แต่ตัวของผู้หญิงเองบางครั้งก็ไม่รู้ว่าในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง เราสามารถทำหรือไม่ทำอะไรได้บ้าง เติบโตมากับการถูกยัดเหยียดให้กลายเป็นเพศที่อ่อนแอ ถูกตีกรอบให้สวมบทบาทเป็นกุลสตรีที่เลอค่า ถูกตราหน้าว่าเป็นเพศแห่งความสลับซับซ้อนที่หลายคนยากจะเข้าใจ เหมือนที่ไม่มีใครเข้าใจการกระทำของ ‘เบลลา แบ็กซ์เตอร์’ หญิงสาวผู้ถูกปลูกถ่ายสมองในภาพยนตร์เรื่อง POOR THINGS ผู้ซึ่งถ่ายทอดอิสรภาพแห่งความหญิง ที่ใครหลายคนมองว่าสุดโต่ง ร่าน และรุนแรง เพียงเพราะขัดต่อขนบและภาพจำความเป็นผู้หญิงตามบรรทัดฐานของสังคมทั่วไป
POOR THINGS เป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติกดราม่า เน้นหนักไปที่การเสียดสีสังคมยุควิคตอเรีย ที่สร้างภาพจำความเป็นกุลสตรีสูงส่งในลอนดอน ผลงานการกำกับชิ้นโบแดงจาก ยอร์โกส ลันติมอส เจ้าพ่อทำหนังสายรางวัล โดยอ้างอิงเนื้อเรื่องมาจากนวนิยายในชื่อเดียวกันซึ่งตีพิมพ์ในปี 1992 จากปลายปากกาของนักเขียนชาวสกอตแลนด์ อลาสเดียร์ เกรย์ บอกเล่าเรื่องราวของ เบลลา แบ็กซ์เตอร์ หญิงสาวที่ถูกปลูกถ่ายสมองจากศัลยแพทย์ชื่อดังในกรุงลอนดอนช่วงยุควิคตอเรีย เธอได้ออกเดินทางไปผจญภัยกับชายแปลกหน้าที่ปรารถนาในเรือนร่างของเธอ ก่อนที่เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและสัญญะที่แฝงไว้ในเรื่อง
พ่อ พระเจ้า และสัญญะผู้ลิขิตชีวิตหญิงสาว
ดร.ก็อตวิน แบ็กซ์เตอร์ (มาร์ค รัฟฟาโล) ศัลยแพทย์มือหนึ่งผู้คลั่งไคล้วิทยาการความก้าวหน้าด้านการผ่าตัดและความลึกลับทางชีววิทยา เขามักทำการผ่าตัดเอาหัวของสัตว์อีกชนิดไปใส่ไว้ในร่างของสัตว์ที่ต่างสปีชีส์กัน ราวกับว่าเขาคือพระเจ้าผู้สรรค์สร้างและออกแบบชีวิตใหม่ด้วยตนเอง กระทั่งเขาทำการอันยิ่งใหญ่กว่าการผ่าตัดนำหัวของสุนัขไปใส่ไว้ในร่างของไก่ นั่นคือการนำสมองของมนุษย์อีกคนมาใส่ไว้ในร่างของมนุษย์อีกคน ก็อตวินพบเจอร่างไร้วิญญาณของหญิงสาวที่กำลังตั้งท้องโดยบังเอิญ เขานำสมองของเด็กในท้องมาใส่ไว้ในร่างไร้วิญญาณของผู้เป็นแม่ กระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้ารุนแรง ก่อนที่จะเลี้ยงดูและเรียกขานเธอด้วยนามใหม่ เบลลา แบ็กซ์เตอร์ (เอ็มมา สโตน) หญิงสาววัยกลางคนที่มีสมองของเด็กแรกเกิด
ก็อตวินเลี้ยงดูและสังเกตพฤติกรรมของเบลลาราวกับว่าเธอคือผลงานการทดลองชิ้นเอก ทว่าความรักและความผูกพันต่อหญิงสาวนั้นเหนือกว่าความเป็น ‘นักประดิษฐ์’ และ ‘สิ่งประดิษฐ์’ ก็อตวินรักเบลลาดั่งลูกสาวคนหนึ่งที่เขาไม่เคยมี ขณะที่เบลลาก็รักก็อตวินเฉกเช่นเดียวกัน สายสัมพันธ์ของทั้งคู่ดูปกติเหมือนพ่อลูกทั่วไป ทว่าขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งความแปลกประหลาด ถึงแม้ก็อตวินจะรักและเอ็นดูเบลลา แต่บ่อยครั้งเขายังคงกักขัง เหนี่ยวรั้ง เฝ้ามองเธอ ไม่ต่างจากหนูทดลองในตู้กระจก ด้วยความเกรงกลัวต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับเบลลา และด้วยความห่วงหาอาทรหญิงสาวผู้เป็นที่รักหนึ่งเดียว
ความสัมพันธ์ระหว่างก็อตวินและเบลลา เปรียบเสมือนสิ่งที่สะท้อนว่า ชายคนแรกที่พยายามเหนี่ยวรั้งหญิงสาวเอาไว้ก็คือ ‘พ่อ’ ของเธอเอง พ่อผู้ที่คิดว่าลูกสาวคือสินทรัพย์ส่วนตน ต้องอยู่ในการปกครองของตน และมีค่าแค่เครื่องมือเพื่อใฝ่หาผลประโยชน์หรือสนองความต้องการอะไรบางอย่างเท่านั้น ซึ่งสะท้อนภาพสังคมสมัยยุควิกตอเรียที่พ่อมักมองลูกชายเป็นผู้สืบตระกูล ทว่ากลับมองลูกสาวเป็นเพียงเครื่องมือต่อรองทางสังคม โดยการบีบบังคับให้แต่งงานกับคนที่ตนเองต้องการ สัญญะอีกสิ่งหนึ่งอย่างที่ค่อนข้างน่าสนใจคือการที่เบลลามักเรียกชื่อก็อตวินว่า “ก็อต” (God) มันเหมือนเป็นการเปรียบเปรยแบบอ้อม ๆ ในทำนองว่า พ่อผู้สร้างและเลี้ยงดูตนคือ ‘พระเจ้า’ ผู้เป็นเจ้าของชีวิต นี่จึงเป็นเหมือนการเสียดสีเล็ก ๆ น้อย ๆ
ความใคร่ของหญิงสาว และการโหยหาอิสรภาพ
หลังจากเบลลาถูก แม็กซ์ แมคแคนเดิล ชายหนุ่มนักเรียนแพทย์ผู้ช่วยคนสนิทของก็อตวินขอแต่งงาน (จากการขอร้องของก็อตวินเอง) เธอได้พบกับทนาย จอมเสเพล ดันแคน เวดเดอร์เบิร์น ผู้ซึ่งหลงใหลในเรือนร่างของเบลลาและต้องการมีเซ็กส์กับเธอ ดันแคนล่อหลวงโดยการอ้างว่าจะพาเบลลาออกไปผจญภัยในโลกกว้างตามความปรารถนาของเธอเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเบลลาที่มีความใคร่ต่อการแสดงออกทางเพศอันไร้ยางอายของดันแคนและโหยหาอิสรภาพก็ตอบตกลงอย่างทันควัน ด้วยความไร้เดียงสาของสมองเด็กอายุ 3 ขวบที่อยู่ภายในหัว ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้ก็อตวินผู้เป็นพ่อเจ็บปวดเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความดื้อดึงและไร้ประสบการณ์ของเบลลา สุดท้ายเธอก็ได้ออกผจญภัยไปกับดันแคนดั่งใจหวัง
เบลลาและดันแคนมีเซ็กส์ด้วยกันบ่อยกว่าการออกไปท่องเที่ยวตามที่สัญญา ดันแคนสมปรารถนาในการร่วมรักกับเบลลาอย่างบ้าคลั่ง ทว่าเบลลารู้สึกว่าเธอถูกลิดรอนอิสรภาพ นั่นทำให้เธอมักออกไปผจญภัยด้วยตนเองอยู่บ่อยครั้ง และได้พบเจอกับสารพัดผู้คนมากหน้าหลายตา ซึ่งสิ่งนี้ดันแคนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องกับการแสดงออกและกระทำตามใจชอบของเธอ เพราะเขารู้สึกหลงรักเบลลาขึ้นมาจริง ๆ และต้องการให้เบลลามาคบหากับเขาอย่างจริงจัง แน่นอนว่าดันแคนเป็นชายคนที่สองในชีวิตของเบลลาที่พยายามจะฉุดรั้งเธอไว้ในอ้อมอกและสร้างความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
ทว่าเบลลาผู้ไร้เดียงสาโหยหาอิสรภาพมากกว่าภาพลักษณ์ความเป็นหญิงในสังคมที่ดันแคนหยิบยื่นให้ เธอเริ่มอ่านหนังสือปรัชญาแทนการมีเซ็กส์กับเขา คบหาสมาคมกับนักคิดและหญิงชราเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตมากกว่าการใช้เวลาร่วมกันกับดันแคน สิ่งนี้ทำให้ดันแคนโกรธเกรี้ยวและทั้งสองแตกคอกันหลังจากถูกโยนลงจากเรือและนั่งจมปลักแบบไม่มีเงินติดตัวสักแดงเดียวที่ปารีส ซึ่งจังหวะนั้นเองที่เบลลาไปขายตัวและกลายเป็นโสเภณี ถึงแม้ดันแคนจะพยายามดูถูกเธอว่า โสเภณีคือจุดต่ำสุดของชีวิตผู้หญิง แต่เบลลาไม่สนใจ เพราะเธอไม่เข้าใจว่าการมีเซ็กส์แล้วได้เงินคือความตกต่ำอย่างไร
ในช่วงหนึ่งชั่วโมงสุดท้ายของหนังที่ฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างดันแคนและเบลลา เหมือนกับว่าเราได้เห็นวิธีคิดแบบนอกกรอบว่า ถ้าผู้หญิงใช้ชีวิตแบบผู้ชายจะถูกมองว่าอย่างไร กระหายเซ็กส์ เปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อย สนใจในเรื่องวิชาการ คบหาสมาคมกับเหล่านักคิด ใช้ชีวิตเสเพลตามใจฉัน ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นกุลสตรีตามแบบฉบับสาวผู้ดีเมืองลอนดอน จุดนี้เองที่ทำให้เรารู้สึกทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นสมควรกับตัวของเบลลา ทว่าทุกสิ่งเป็นไปเพราะความเยาว์ในตัวของเธอเอง สุดท้ายเราจะพบว่าเบลลาค่อย ๆ โตขึ้นผ่านประสบการณ์ที่เธอเจอมา และการเป็นหญิงสาวที่สามารถครอบครองความรักในตนเอง ความรักในอิสรภาพ และความรักต่อผู้อื่นได้อย่างเต็มภาคภูมิ
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการตีความจากผู้เขียนผ่านมุมมองเพียงมุมมองเดียว บางคนอาจมองว่าเบลลาคือหญิงร่านที่ไม่ทำตามขนบและโยนคำว่าศีลธรรมลงไปในถังขยะ ขณะที่บางคนอาจมองว่าเธอคือตัวแทนแห่งความสุดโต่งในหญิงสาวที่ไม่มีโอกาสได้เผยออกมาจากมาตรวัดและการตีกรอบของสังคม ถึงกระนั้นภาพยนตร์ POOR THINGS เองก็ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ และกวาดรางวัลกว่า 3 สาขาในออสการ์ปีที่ผ่านมา ซึ่งการันตีว่าต่อให้เป็นหนังที่ดูแล้วมึนงง เข้าใจยาก กระอักกระอ่วน และไม่เข้าใจการกระทำของตัวละครบางอย่าง แต่ก็คู่ควรกับการได้เปิดใจดูสักครั้งหนึ่ง