ทุก ๆ วันที่ 15 มีนาคม ถูกกำหนดไว้ให้เป็น ‘วันสิทธิผู้บริโภค’ (World Consumer Rights Day) โดยการเกิดขึ้นของวันนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิแก่ผู้บริโภค ซึ่งการกำหนดวันสิทธิผู้บริโภคสากลเกิดขึ้นในรัฐบาลของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1962 และใช้ชื่อว่า Consumer Rights Day แต่วันนี้ได้เป็นที่รู้จักของภาคประชาชนในปี 1983 เนื่องจากในปีนั้นได้มีการจัดแคมเปญอย่างจริงจังมากขึ้น

สิทธิผู้บริโภคสากล คือ อะไร?

สิทธิผู้บริโภคแปลความหมายตรงตัวเลยก็คือ สิทธิของผู้บริโภค นั่นก็คือ ‘ลูกค้า’ แบบเรา ๆ โดยสิทธิผู้บริโภคสากล ถูกกำหนดสาระสำคัญไว้ทั้งหมด 8 ประการ ประกอบไปด้วย

  • สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็น อาหารที่ปลอดภัย หรือสถานพยาบาลที่เพียงพอ เป็นต้น
  • สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีในการผลิต และบริการที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต
  • สิทธิที่จะคุ้มครองการหลอกลวงผู้บริโภคจากการโฆษณา
  • สิทธิจะได้เลือกซื้อสินค้าและบริการในราคายุติธรรม
  • สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้บริโภค
  • สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่ถูกละเมิด หลอกลวงให้ได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ
  • สิทธิที่จะได้รับความรู้ที่จำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน
  • สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีชีวิตที่ปลอดภัย

‘สิทธิผู้บริโภคในไทย’

ในประเทศไทยก็ได้มีกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคเช่นกัน โดยจะอยู่ใน พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่ตรงไปตรงมา หรือผู้บริโภคไม่ทราบข้อเท็จจริงของสินค้าอย่างครบถ้วนและถูกต้อง ซึ่งมีการกำหนดการคุ้มครองสิทธิ 5 ประการได้แก่

  • สิทธิที่จะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับทุกอย่างของสินค้าและบริการอย่างตรงไปตรงมา
  • สิทธิที่จะได้รับการเลือกหาสินค้าและบริการด้วยความสมัครใจและไม่ถูกชักจูง
  • สิทธิที่จะใช้สินค้าและบริการได้อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน
  • สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญาและไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ
  • สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิ

จากการทำผลสำรวจของบ้านสมเด็จโพลล์พบว่า ผู้บริโภค 54.7% ถูกละเมิดสิทธิ์จากการซื้อสินค้าและบริการ อันดับหนึ่งคือ ‘การโฆษณาสินค้าเกินจริง’ และกรณีตัวอย่างของการที่ผู้บริโภคหรือประชาชนถูกละเมิดสิทธิ์ เช่น สินค้าประเภทเครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณว่าใช้แล้วจะขาวขึ้นใน 7 วัน หรือเห็นผลได้ภายใน 3 วัน ซึ่งแน่นอนว่าโฆษณาเหล่านี้เป็นการโฆษณาที่เกินความเป็นจริงและผิดกฏหมาย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยออกมากำหนดว่าห้ามใช้คำเพื่อการโฆษณาเครื่องสำอางที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค เช่นคำว่า ช่วยลดสิวในทันที สวยเพรียว เป็นต้น ส่วนทาง สำนักงาน กสทช. ก็มีการประกาศว่าการออกรายการโดยมีเนื้อหาสาระในลักษณะจูงใจ หลอกลวง หรือใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ เข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เป็นอีกหนึ่งวันที่ให้ความสำคัญกับ ‘ผู้บริโภค’ และผู้บริโภคควรรู้สิทธิของตนเองเป็นอย่างดี เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงจากทางผู้ประกอบการ

อ้างอิง