จากในอดีตที่ผลิตภัณฑ์สำหรับการสูดลมเพื่อดมกลิ่นเย็น ๆ อย่าง ‘ยาดม’ เคยมีภาพลักษณ์เป็นสินค้าที่ดูแก่ มีแต่คนที่ร่างกายไม่ไหวเท่านั้นแหละที่ใช้กัน กลับกลายเป็นสินค้าที่ค่อย ๆ เข้ามากลมกลืนกับชีวิตผู้คนเรื่อย ๆ ในวัยเด็กหลายคนอาจเคยเห็นเพื่อนเอาชิ้นพลาสติกสี ๆ ตรง
กลางยาดมมาต่อกับเป็นแท่งยาว หรือเคยเห็นเพื่อนเอาน้ำพิมเสนที่ส่วนท้ายของยาดมมาป้ายตามาบ้าง เพราะยาดมก็วนเวียนอยู่ในชีวิตเรามาตั้งแต่เด็กจนโต
และดูเหมือนว่าในฐานะของความเป็นยา มันทำหน้าที่ของมันได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเสมอมา พร้อม ๆ กันกับหน้าที่ใหม่ที่ ‘ยาดม’ กำลังสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองได้อย่างเต็มกำลัง นั่นคือการเป็น ‘ไอเทม’ สำคัญในชีวิตของผู้คนทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ทำให้ยาดมก็ต้องพัฒนาตัวเองให้เข้ากับทุกไลฟ์สไตล์ของผู้คน และพัฒนารูปแบบของตัวเองให้หลากหลายเพื่อดึงดูดผู้คนมาเข้าถึงสิ่งนี้กันมากขึ้น

ในนิทรรศการ ‘ยาดม (Yadom)’ งานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดขึ้นภายใต้โครงการ Creative & Design Showcase กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ก็เป็นงานเล็ก ๆ น่ารักงานหนึ่งที่หยิบเอาความคิดสร้างสรรค์ในแวดวงนี้มานำเสนอให้ได้ดูและเข้าถึงกันแบบง่าย ๆ ผ่านการแบ่งโซนนิทรรศการออกเป็นสองฟากฝั่ง
เมื่อเราเดินไปยังชั้น 5 ของอาคาร TCDC กรุงเทพฯ ภายในอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก เราจะเห็นนิทรรศการขนาดย่อมนี้วางตัวอยู่ทางด้านซ้ายและขวาของโซนพื้นที่สาธารณะ ทางกำแพงฝั่งหนึ่งนำเสนอเรื่องความคิดสร้างสรรค์ของ ‘กลิ่น’ ของยาดม ในขณะที่กำแพงอีกฝั่งนำเสนอเรื่องงาน ‘ดีไซน์’ ของยาดม ผ่านแบรนด์ยาดมและสินค้า Accessories ของยาดมมากมาย
เริ่มกันที่ฝั่งแรกคือเรื่องของ ‘กลิ่น’ ความหอมเย็นที่ช่วยให้สมองโล่งจากสมุนไพรพื้นบ้านของไทยนั้นถือเป็นจุดแข็งสำคัญทำให้สรรพคุณทางยาของมันออกฤทธิ์ได้แบบทันตาเห็น ในแบบที่ไม่ว่าใครได้ลองเป็นต้องติดใจ และอยากมีไว้ติดตัว ซึ่งในโซนจัดแสดงมีแบรนด์ยาดมเจ้าตลาดวางให้เราเห็นอยู่หลายชนิด ทั้ง ‘เซียงเพียว’ แบรนด์ยาดมในตำนานกว่า 70 ปี ที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์, ‘เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์’ แบรนด์ยาดมที่เจาะตลาดวัยรุ่น ผ่านกลิ่นเปปเปอร์มิ้นต์ที่ไม่เหมือนใคร หรือ ‘เอี๊ยะแซ’ แบรนด์ยาดมต้นตำรับแบบขวดอายุกว่า 100 ปี


หากมามองกันยังส่วนประกอบหลักของยาดมส่วนใหญ่นั้น พื้นฐานส่วนใหญ่อันเป็นที่มาของกลิ่นและสรรพคุณทั้งการบูร เมนทอล น้ำมันยูคาลิปตัส หรือพิมเสนเองก็ตาม ทั้งหมดคือสารสกัดจากธรรมชาติที่ประกอบรวมกันให้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช่วยฟื้นฟูอาการวิงเวียน คัดจมูก หน้ามืด หรืออาการหวัดได้เหมือน ๆ กัน แต่สิ่งที่จะทำให้ยาดมแต่ละแบบสร้าง ‘กลิ่น’ ที่มีความแตกต่างเฉพาะตัวได้ นั่นคือเพิ่มส่วนผสมอีกหลายชนิดเข้าไปเพื่อให้เกิดโน้ตบางอย่างที่สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวเองได้ ซึ่งนั่นเองคือความคิดสร้างสรรค์ที่ผู้คิดค้นสูตรยาดมต่างค่อย ๆ พัฒนากันเรื่อยมาตามกาลเวลา
บนช่องโชว์สินค้าทั้ง 12 แบรนด์ในฝั่งของกลิ่นนี้ ก็มีอยู่หลายแบรนด์เหมือนกันที่สิ่งนี้เปนความโดดเด่นเฉพาะตัวของเขา และเราอยากหยิบมาแนะนำ แบรนด์นั้นคือ ‘อัสสาสะ (asasa)’ ยาดมที่ปรุงกลิ่นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย จากการนำเครื่องต้มยำมาทำเป็นยาดม แถมยังมีการ Collaboration กับแบรนด์และร้านค้าต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์กลิ่นใหม่เพิ่มเติม อย่างขวดที่โชว์อยู่ในตู้คือกลิ่นข้าวหน้าเป็ดย่าง ที่ร่วมคิดสูตรยาดมกับร้านประจักษ์เป็ดย่าง บางรัก จนได้เป็นยาดมหอมกลิ่นเครื่องเทศที่ไม่มีใครเหมือนออกมา

หรืออย่างแบรนด์ ‘FreshLuck’ ยาดมที่คิดค้นขึ้นผ่านการผสมผสานกับความเชื่อแบบสายมู ที่มีการคิดค้นยาดมกลิ่น Pride ซึ่งเป็นรุ่น Limited Edition ที่ให้กลิ่นหอมหวานสดชื่น แตกต่างจากยาดมอื่นในท้องตลาด ผ่านการรวมกลิ่นเบอร์รี่ และวานิลลาเป็น Top notes สอดแทรกด้วยกลิ่นเปรี้ยวนิด ๆ จากส้มซิตรัสเป็น Middle Notes และตบท้ายด้วยกลิ่นอบเชยเป็น Bottom Notes
จุดสำคัญของงานที่หยิบมาโชว์บนฝั่งนี้คือสามารถทดลองสูดดมได้ และทดลองหยดน้ำพิมเสนลงบนกระดาษเพื่อทดลองกลิ่นได้ด้วยเช่นกัน หากใครเดินทางไปดูงานนี้ก็สามารถลองเช็คความชอบความใช่กับกลิ่นของยาดมที่คุณอาจไม่คุ้นเคยเหล่านี้ได้เลย

ถัดมาที่ฝั่งตรงข้ามกันอีก 12 ตู้ ซึ่งนำเสนอเรื่อง ‘สไตล์’ ซึ่งช่วยในการสร้างภาพลักษณ์แบบใหม่ ๆ ให้ยาดมดูไม่แก่ และกลายเป็นไอเทมติดตัวตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ ผ่านการสร้างสรรค์หน้าตาของ ‘บรรจุภัณฑ์’ ใหม่ทั้งหมด เพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของความเป็นยาดมของแบรนด์นั้น ๆ โดดเด่นขึ้น อย่างเช่นแบรนด์ ‘Arma Herbal’ ที่บิดวิธีดมจากด้านบนหลอด เป็นด้านข้างหลอด จากรูปแบบการดมซิการ์ซึ่งเป็นท่าทางที่เท่กว่า ซึ่งก็นำมาสู่การออกแบบแนวคิดใหม่ทั้งหมด ทั้งวัสดุในการออกแบบ การสร้างสรรค์กลิ่นภายในใหม่ ๆ และทำให้เปลี่ยนไส้ในได้ หรือแบรนด์ ‘Sandt’ ที่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากแบบหลอดให้กลายเป็นแบบตลับ ที่ทำให้ดมได้ทีเดียวทั้งสองข้าง ลดการเสียบเข้ารูจมูกที่อาจส่งผลเสียกับร่างกาย และทำให้ดูโมเดิร์น หรูหราขึ้น พร้อมออกแบบกลิ่นให้เปลี่ยนได้ อีกทั้งยังมีการขายเคสยาง และสายคล้องคอเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีก

นอกจากนั้นยังมีแบรนด์เล็กอีกหลายแบรนด์ที่ทำสินค้าทำมือในรูปแบบของ ‘เคสยาดม’ ออกมาเพื่อให้ผู้คนเอาไปใช้งานกับยาดมที่มีอยู่เดิมอยู่แล้ว ซึ่งก็ใช้เทคนิคหลายแบบในการสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งรูปแบบของงานปั้นเพ้นท์ลายของแบรนด์ ‘เซรา เซรา (Cera_Ce.Ra)’, รูปแบบงานดินปั้นบนคอนเซปต์กล่องขนมหลากสีสันของแบรนด์ ‘Holyblueboo’ หรือรูปแบบ 3D Printing ของแบรนด์ ‘Seonmoon.bkk’ ที่มาในลวดลายดอกไม้ และแบรนด์ ‘Boxator’ ที่ใช้ 3D Printing เหมือนกัน แต่วัสดุที่ใช้เป็น PLA จากพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็มี
เมื่อถอยออกมาดูมูลค่าทางเศรษฐกิจของยาดมในประเทศไทยแล้ว ข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่าในปี 2566 มูลค่าการส่งออกยาสมุนไพรของไทยมีถึง 76.36 ล้านบาทและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง สิ่งนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า ‘ยาดม’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าประเภทนี้นั้นกำลังกลายเป็นสินค้ายอดนิยมที่คนทั่วโลกเชื่อมั่น เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการแข่งขันและขยายตลาดไปสู่ผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก แล้วยิ่งสินค้าที่เคยดูแก่ในสายตาคนไทย ถูกความคิดสร้างสรรค์เปลี่ยนโฉมแปลงกายหน้าตาในดูน่าคบหามากขึ้น มีหรือที่สินค้าเหล่านี้จะไม่ถูกให้ความสนใจอย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้




Creative & Design Showcase ‘ยาดม YADOM – Thai Herbal Inhaler’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม – 29 กันยายน 2567 เวลา 10.30 – 19.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์) ที่ TCDC กรุงเทพฯ บริเวณ Creative Space ชั้น 5 เข้าชมฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ด้อมรักยาดมต้องห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง