ซีรีส์วายไทย

ยังอยู่ในช่วง Pride Month เดือนแห่งการเฉลิมฉลองของชาว LGBTQIA+ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน วันนี้จึงอยากจะชวนมาพูดคุยถึงอุตสาหกรรมซีรีส์วาย (Y Series) เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในช่วงนี้ว่าทำไมซีรีส์วายถึงได้รับกระแสความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ซีรีส์วาย หรือ Boy’s Love ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมซีรีส์ไทย การพัฒนาคอนเทนต์เจาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานมากขึ้นจนกลายเป็นกระแสหลัก ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ที่เรียกว่า Y Economy

สำหรับอุตสาหกรรมซีรีส์วายเป็นอุตสาหกรรมที่นำเสนอรูปแบบความรักที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับการหยิบยกประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมมาสะท้อนให้เห็นภาพ ไม่ต่างจากแนวทางการนำเสนอผลงานละครชาย – หญิงแต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า LGBTQIA+ ที่เราเข้าใจ และไม่ได้มีเพียงแค่ความสัมพันธ์ชายรักชายหรือหญิงรักหญิงอีกต่อไป ทั้งนี้ ซีรีส์วายไม่ใช่ตลาดน้องใหม่ แต่เป็นตลาดที่มีมานานแล้ว และไม่ได้เป็นที่พูดถึงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี หรือฝั่งอเมริกาเองก็มีอุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

ในช่วงปี 2564 ประเทศไทยถือเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียในด้านการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายซึ่งส่งออกความจิ้นไปยังต่างประเทศ โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท ถือได้ว่าอุตสาหกรรมซีรีส์วายกลายเป็นจักรวาลอันยิ่งใหญ่ในวงการบันเทิง และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)  ที่ช่วยกู้เศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19 ต่อเนื่องหลังโควิด-19 คลี่คลาย 

ในช่วงปลายปี 2562 โควิด-19 ได้เริ่มแพร่ระบาดในไทยต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจของไทยในห้วง 2 ปีกว่า มีการขยายตัวต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งยังมาจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ห้ามการเดินทางเข้า-ออกต่างประเทศ และมาตรการเคอร์ฟิวในประเทศเพื่อควบคุมโรคของรัฐบาล ทำให้เศรษฐกิจที่อาการไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ปี 2562 เริ่มได้รับผลกระทบ และช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 โควิด-19 ได้กลับมาระบาดอีกระลอก ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวต้องติดลบทุกไตรมาส ส่งผลให้การขยายตัวตลอดทั้งปีติดลบถึง 6.1% เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศทั้งการส่งออก การลงทุน การบริโภค ต่างได้รับผลกระทบในเวลานั้น  

แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ในขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจฝืดไร้ซึ่งน้ำมันหล่อลื่นที่จะเข้ามาต่อเติมให้กลไกเดินต่อไปได้นั้น ยังมีอีกเครื่องยนต์เสริมที่เข้ามาหนุนเศรษฐกิจในยามยาก นั่นก็คืออุตสาหกรรมซีรีส์วายที่เติบโตสวนทาง เพราะผลดีของมาตรการล็อกดาวน์ นโยบาย Work From Home หรือทำงานที่บ้าน และสารพัดมาตรการเพื่อควบคุมเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้คนมีเวลาใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น รวมถึงมีเวลาทำงานอดิเรกมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ภาพยนตร์ ซีรีส์ รวมถึงซีรีส์วายจึงได้รับความนิยมและเติบโตอย่างน่าจับตามอง โดยเฉพาะตลาดแฟนคลับซีรีส์วายไทยในญี่ปุ่น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ขนทัพผู้ประกอบการคอนเทนต์วายของไทยจำนวน 10 ราย ไปจัดงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายไทย ระหว่าง 29 – 30 มิถุนายน 2564 และในงานนั้นสามารถทำรายได้กว่า 360 ล้านบาท ขณะที่ในแง่ของผู้ชม #ThaiNuma ที่แปลว่าการเสพติดคอนเทนต์ของไทยนั้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่เสมอ 

ปัจจุบัน “ซีรีส์วาย” ของไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายฐานแฟนคลับไปได้ทั่วโลก เห็นได้จาก “เพราะเราคู่กัน” (2gether The Series) หรือ “คั่นกู” ซีรีส์วายที่นำแสดงโดย “ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี” และ “วิน- เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร” ที่มักจะขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยและอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์โลกเกือบทุกตอนที่ออกอากาศ หรืออย่างเรื่อง “SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” ที่นำแสดงโดย “คริส-พีรวัส แสงโพธิรัตน์” และ “สิงโต-ปราชญา เรืองโรจน์” ก็เป็นอีกเรื่องที่จุดประกายอุตสาหกรรม Y Series ให้เติบโตจนเป็นที่รู้จัก และที่ผ่านมาซีรีส์วายไทยยังคงคว้าอันดับ 1 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาใต้

จากความสำเร็จที่สะสมมาหลายปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนทั้งโลกยกให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิตซีรีส์วาย ยิ่งในปีนี้ซีรีส์วายเริ่มมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ยึดติดอยู่เพียงแค่เรื่องราวความรักของวัยรุ่นชายในวัยเรียนภายใต้กรอบของซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้เท่านั้น แต่ขยายขอบเขตออกไปถึงช่วงวัยทำงาน เพิ่มแนวของซีรีส์มากขึ้น เช่น พีเรียด แฟนตาซี แอ็กชัน ไปจนถึงดรามาเข้มข้นก็มีให้เห็นมาแล้ว  

จากข้อมูลของสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ซีรีส์วายไทยได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และลาตินอเมริกา มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ถือได้ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายระดับโลก และเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ซึ่งในปี 2564 มีผู้ชมเพิ่มขึ้นกว่า 328% ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ตอกย้ำให้เห็นถึงคุณภาพและความเป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงที่มีศักยภาพของประเทศไทย 

อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อีกมาก ซึ่งในอนาคตหากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมและมีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนอาจจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล ทั้งการดึงดูดนักท่องเที่ยวตามรอยซีรีส์ ภาพยนตร์ ดึงดูดการลงทุนกองถ่ายหนังต่างชาติ รวมถึงสร้างรายได้ต่อซีรีส์ไทย นอกจากนั้น อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ยังมีศักยภาพสูงเป็นผู้นำในอาเซียนและระดับต้นของภูมิภาค การเจาะตลาดสากลจึงเป็นสิ่งที่ไม่เกินความสามารถของคนไทยที่จะก้าวไปถึงในระยะเวลาไม่นานได้

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ ดนตรี ศิลปะ หนังสือ หรือแม้กระทั่งแฟชั่น ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในพลัง “ซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งในอดีตคนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยผ่านการท่องเที่ยว อาหารไทย และแพทย์แผนไทย แต่ด้วยคลื่นพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่กำลังมาแรงในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีมาจากซีรีส์ประเภท Boy’s Love หรือซีรีส์วาย ที่ได้พัฒนาก้าวกระโดดเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย อาทิ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, Sotus The Series กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คอนเทนต์ ของประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับเอเชีย

จึงเป็นที่มาของการนำเสนอศักยภาพของกลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ผ่านบริบทของการพัฒนาซีรีส์วายในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริม ร่วมมือ และยกระดับการผลิตคอนเทนต์ให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ดำเนินต่อไปได้ และในอนาคตหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อผลักดันให้เป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญในการดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศ ทั้งในแง่ของนักท่องเที่ยว กองถ่ายภาพยนตร์ ซีรีส์ และมิวสิควิดีโอ

เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์​ ได้ประสานความร่วมกับผู้ประกอบการซีรีส์วายเพื่อส่งออกซีรีย์วายไปขายยังต่างประเทศ หวังเป็นอีกหนึ่งรายได้สินค้าส่งออกของไทยหลังรัฐบาลพยายามผลักเรื่องซอฟต์เพาเวอร์และอุตสาหกรรมซีรีส์วายให้เป็นหนึ่งในแผนขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ไทยสู่สายตายชาวโลกอีกด้วย โดยปี 2566 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซีรีส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท และในปี 2567 นี้ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มภาพยนตร์และซีรีส์วายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1,000 ล้านบาท เป็น 2,000 ล้านบาท จากความร่วมมือและการทำงานเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังคาดว่าจะสามารถผลักดันสินค้าบริการและการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาท ภายในปี 2569