“กริ๊งงงงงง” เสียงกริ่งดังบอกว่าถึงคาบเรียนต่อไป เชื่อว่าอดีตนักเรียนหลายคนที่กำลังอ่านสิ่งนี้อยู่จะตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อรู้ว่าคาบเรียนต่อไปคือวิชาคอมพิวเตอร์ แอร์เย็น ๆ คอมพิวเตอร์มีอินเตอร์เน็ต เกมที่มีติดเครื่อง หรือบางครั้งครูก็เลิกก่อนเวลา แล้วปล่อยให้เราใช้เวลากับคอมพิวเตอร์อย่างเต็มที่ก่อนเสียงกริ่งจะดังอีกครั้ง ช่วงเวลาแห่งความสบายนั้นน่าจะเป็นวิชาชุบชูใจความเหนื่อยจากการเรียนได้เป็นอย่างดี

สิ่งหนึ่งที่เป็น Iconic แห่งยุคสมัยที่ติดเครื่องคอมพิวเตอร์เลยคือ ‘Microsoft Office’ โปรแกรมทำงานคู่ใจผู้คนมารุ่นสู่รุ่น แต่วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับเครื่องไม้เครื่องมือภายในที่คุณต้องเคยใช้อย่างแน่นอนอย่าง ‘WordArt’ หรือที่เรียกว่า ‘อักษรศิลป์’ นั่นเอง

ภาพจาก It's Nice That
ภาพจาก It’s Nice That

‘WordArt’ ถือกำเนิดขึ้นจากโปรเจกต์เล็ก ๆ ในช่วงฝึกงานในปี 1991 ระหว่าง ‘Scott Forstall’ วิศวกรซอฟต์แวร์ชาวอเมริกันที่เข้าฝึกงานใน Microsoft จากการที่พี่ชายของเขาเป็นวิศวกรออกแบบซอฟต์แวร์อาวุโสอยู่ที่นั่น ก่อนที่ในปีถัดมาเขาจะออกมาอยู่กับ Apple Inc. แล้วก็กลายเป็นบุคคลผู้มีส่วนสำคัญกับการเกิดขึ้นของ iPhone รวมถึง iPad และ ‘Nat Brown’ พนักงานฝึกงานในยุคเดียวกัน ที่หลังจากเขาฝึกเสร็จก็ทำงานอยู่ที่ Micrrosoft อีกราว 8 ปี โดยระหว่างการทำงานเขามีบทบาทหลักในการสร้าง XML, DHTML และปลุกปั้น XBox ในเวอร์ชันแรกอีกด้วย

Scott Forstall (ซ้าย) และ Nat Brown (ขวา)
Scott Forstall (ซ้าย) และ Nat Brown (ขวา) – ภาพจาก Business Insider และ LinkedIn

‘Wordart’ ถือเป็นค่ามาตรฐานแรก ๆ ของรูปแบบกราฟิกที่มีบน Microsoft Office ชุดโปรแกรมสำนักงานที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมานานหลายศตวรรษ นับตั้งแต่การออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 1989 มันก็ช่วยให้การทำงานบนคอมพิวเตอร์เป็นระบบมากขึ้นหลายเท่า เพียงแต่ความเป็น Wordart อาจจะไม่ได้สอดรับกับรูปแบบการทำงานมากเท่าไหร่นัก

เพราะที่เราคุ้นเคยกันนั้น ค่ามาตรฐานของชุดสี ฟอนต์ การใส่เงา การใส่ลายพิเศษ หรือแม้แต่รูปแบบการทำตัวอักษร 3 มิติทั้งหมดถูกทำมาไว้เพียง 30 รูปแบบเท่านั้น และส่วนมากรูปแบบจะเต็มไปด้วยความฉูดฉาดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้รูปแบบการนำไปใช้จริงมีโอกาสน้อยกว่า

WordArt
รูปแบบตายตัวของ WordArt ทั้ง 30 รูปแบบ – ภาพจาก Electric Teacher

แต่อย่างไรก็ตามในหมู่ผู้ใช้ด้านอื่นที่ไม่ได้เคร่งกับรูปแบบที่ฉูดฉาดเหล่านั้นมากเท่าไหร่ เลยทำให้ยุคหนึ่งเจ้า WordArt กลายเป็นค่ามาตรฐานของผู้ใช้งานโดยทั่วไปมากมาย ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เหมือนอย่างที่เราใช้มันบนปกรายงาน ปกสไลด์นำเสนอ โบรชัวร์ บอร์ดโรงเรียน หรือป้ายประกาศอย่างง่ายจนกลายเป็นภาพจำ

ซึ่งยุครุ่งเรืองของมันอยู่ในเวอร์ชัน Office 2003 เป็นต้นมา จนกระทั่งหลังจากนั้นในเวอร์ชันถัด ๆ มา ผู้ใช้สามารถใช้เอฟเฟ็กต์การจัดรูปแบบ เช่น การใส่เงา ยกนูนตัวอักษรหรือรูปภาพ ใส่สีเรืองแสง และใส่สีรูปร่าง หรือตัวอักษรแบบไล่ระดับเพิ่มเติมได้เอง

และใน Office 2007 หน้าตาของค่ามาตรฐานเดิมทั้ง 30 รูปแบบก็ได้รับการยกเครื่องใหม่ด้วยสไตล์และเอฟเฟ็กต์แบบใหม่ ที่ทำให้มีความจริงจังมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการหยิบไปใช้จริงมากขึ้นด้วยเช่นกัน

WordArt Office 2007
หน้าตาใหม่ของ WordArt ใน Office 2007 เป็นต้นมา – ภาพจาก Electric Teacher

จะเห็นว่าหน้าตาใหม่ของ WordArt มีความเข้าถึงง่ายมากขึ้นหลายเท่า แตกต่างจาก WordArt ในช่วงแรกที่เต็มไปด้วยความไม่ประนีประนอมทางการออกแบบ แต่แง่หนึ่งก็ทำให้มันถูกจดจำมากพอสมควรในความ Iconic ของมันที่มองกลับไปผ่านสายตาคนยุคนี้ WordArt ในยุคแรกกลับกลายเป็น Sense ของความตลกขบขัน ยียวน และก็ยังแฝงเร้นความโบราณคร่ำครึ ความหลงยุคหลุดสมัย ซึ่งสุดท้ายมันยังคงถูกพูดถึงเสมอจากความผูกพันของผู้คนที่เคยใช้งาน และความเป็นตัวเองแบบไม่มีใครเหมือนของหน้าตากราฟิกที่มันเป็นอยู่

จนมีผู้ทำเว็บไซต์ชื่อว่า ‘Mike McMillan’ Creative Director และ Developer ที่ One Design Company ที่สร้างสรรค์เว็บ www.makewordart.com ขึ้นมา ล้อเลียนหน้าตาของ Desktop ของ Windows 2000 ได้อย่างเรียบง่าย โดยภายในเว็บคุณสามารถเลือก 15 รูปแบบ WordArt และพิมพ์คำภาษาอะไรก็ได้เพื่อ Generrate เป็นคำขึ้นมาเหมือนอย่างที่เราทำตัวอย่างขึ้นมาในรูปด้้านล่าง และดาวน์โหลดภาพเหล่านั้นมาใช้ได้ หากคุณอ่านบทความนี้แล้วอยากรำลึกความหลังในวัยหวานวัยจ๊าบ ก็ลองกดเข้าเว็บไปเล่นกันได้เลย

ตัวอย่างเว็บไซต์ www.makewordart.com

อ้างอิง

CREATED BY

Content Creator : Play
พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป